เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


เด็กกับมือถือ อันตรายหรือไม่?


รองศาสตราจารย์ ดร.ภญ. จิรภรณ์ อังวิทยาธร ภาควิชาเภสัชเคมี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล


ภาพประกอบจาก: http://images.globes.co.il/images/NewGlo...ock800.jpg
อ่านแล้ว 43,809 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 07/07/2560
อ่านล่าสุด 18 นาทีที่แล้ว

Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
 


หลายท่านคงเคยเห็นเด็กเล็ก ๆ วัยไม่ถึง 2 ขวบ บางคนยังพูดไม่ได้ด้วยซ้ำ แต่กลับใช้มือปัดหน้าจอสมาร์ทโฟน แท็บเบล็ต หรือเครื่องมือสื่อสารอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆอย่างคล่องแคล่ว ซึ่งเป็นภาพที่เห็นกันคุ้นตาในสมัยนี้ ตัวเด็กเองยังไร้เดียงสา แต่ผู้ปกครองควรทราบว่าเทคโนโลยีเหล่านี้ มีคุณอนันต์ และมีโทษมหันต์ 
 
ภาพจาก : https://images.hardocp.com/images/news/1492353955VY0Ti196H9_1_1.jpg 
มีข้อมูลที่แสดงว่าคนจะหยิบมือถือขึ้นมาดูเฉลี่ยถึง 150 ครั้งต่อวัน เทคโนโลยีใหม่ๆ มีไว้เพื่ออำนวยสะดวก และช่วยแก้ไขปัญหาเก่า ๆ ที่มีขอบเขตการใช้งานที่จำกัด แต่ขณะเดียวกัน เทคโนโลยีเหล่านี้ ก็จะสร้างปัญหาใหม่ๆ ขึ้นเช่นกัน ผู้ใหญ่ต้องไม่ติดเทคโนโลยีเหล่านี้เสียเอง เพราะจะเป็นแบบอย่างให้แก่เด็ก ทำให้เด็กมีพฤติกรรมเลียนแบบ เราคงเคยเห็นพ่อแม่นั่งกดโทรศัพท์มือถือ คุยในไลน์ หรือเล่นเกมส์ แทนที่จะพูดคุยหรือเล่นกับลูก บางครั้ง พ่อ แม่ ลูก ต่างคนต่างก้มหน้ากดมือถือของตนเอง อยู่ในโลกเสมือนจริงของตัวเอง การไม่มีปฏิสัมพันธ์กันจะทำให้พ่อแม่ลดความผูกพันและความสนใจในตัวลูก พ่อแม่บางคนอาจคิดว่าการที่ลูกเล่นเครื่องมือเหล่านี้ได้ แสดงว่าลูกเป็นเด็กฉลาด หรือเมื่อเด็กอยุ่กับหน้าจอสมาร์ทโฟน แท็บเบล็ตแล้ว เด็กจะไม่ซน และอยู่กับที่ได้ พ่อแม่ก็สามารถทำกิจกรรมหรืองานในบ้านอื่น ๆ ได้ โดยไม่ต้องมัวพะวงกับลูก 
จากการศึกษาของ Dr. Jenny Radesky กุมารแพทย์แห่งศูนย์การแพทย์บอสตัน สหรัฐอเมริกา และเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านพัฒนาการของเด็ก ได้ศึกษาพฤติกรรมของพ่อแม่ที่มีลูกเล็ก ๆ ที่รับประทานอาหารในร้านอาหาร พบว่า พ่อแม่ 55 คนใช้สมาร์ทโฟนในระหว่างการรับประทานอาหาร แม้ว่าเด็กจะร้องไห้ หรือแสดงพฤติกรรมที่เรียกร้องความสนใจจากพ่อแม่อย่างไรก็ตาม พ่อแม่จะสนใจการพูดคุยโทรศัพท์มากกว่าลูก Dr. Radesky กล่าวว่า เด็กเรียนรู้ภาษา เรียนรู้เกี่ยวกับอารมณ์และการควบคุมอารมณ์ของตนเองโดยการเฝ้าดูอากัปกิริยา การสนทนา และการแสดงออกทางสีหน้าของผู้คนที่อยู่รอบตัว หากเด็กหรือพ่อแม่ใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่หน้าจอ เด็กจะขาดการเรียนรู้ดังกล่าวซึ่งส่งผลต่อพัฒนาการในด้านต่างๆ เด็กจะต้องการให้ผู้อื่นตอบสนองต่อตนเองในแบบอย่างเดียวกับที่สมาร์ทโฟนตอบสนอง คือ ต้องเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว มีสีสัน บางครั้งอาจถึงขั้นก้าวร้าว 
ในเรื่องของอันตรายจากรังสีที่แผ่จากหน้าจอของเครื่องมือสื่อสารอิเล็กทรอนิกส์ ผลการวิจัยต่าง ๆ ยังมีข้อขัดแย้งกันว่า รังสีนั้นมีผลต่อสมองหรือไม่ อย่างไร บางรายงานกล่าวว่ารังสีจากหน้าจอเครื่องมือดังกล่าว ไม่มากพอที่จะเป็นอันตรายต่อสมอง ถึงกระนั้นก็ตาม อย่าเพิ่งรู้สึกโล่งใจ มีรายงานด้วยว่าความถี่คลื่นวิทยุที่ปลดปล่อยออกมา อาจเป็นอันตรายต่อการพัฒนาสมองของเด็ก 
สมองส่วน frontal lobe ทำหน้าที่ควบคุม ความคิด ความจำ สติปัญญา บุคลิก ความรู้สึก การรับรู้ ความเข้าใจและการใช้เหตุผล การแก้ไขปัญหาและความจำในระยะยาว และส่วน temporal ทำหน้าที่ควบคุมการมองเห็น การพูด การได้ยิน และความจำเรื่องใหม่ๆ สมองทั้ง 2 ส่วนจะมีพัฒนาการไปเรื่อยๆ จนถึงช่วงวัยรุ่น ซึ่งเป็นวัยที่มีการพัฒนามากกว่าวัยอื่น สมองส่วนดังกล่าวอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกับส่วนของหู วัยรุ่นเป็นวัยที่มักใช้สมาร์ทโฟนติดต่อกันเป็นเวลานานๆ จึงอาจมีผลต่อสมองซึ่งเกี่ยวข้องการเรียนรู้ และการทำงานขั้นสูง 
บทความนี้มิได้ต่อต้าน หรือห้ามการใช้หรือเล่นสมาร์ทโฟนของเด็กโดยสิ้นเชิง เนื่องจากการก้าวทันเทคโนโลยีใหม่ๆ ยังมีความจำเป็นในโลกปัจจุบัน ประโยชน์ของเครื่องมือสื่อสารอิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้ ก็มีอยู่ ตัวย่างเช่น เกมส์ต่างๆ ช่วยเสริมสร้างพัฒนาการทางสายตา การใช้สายตาค้นหาสิ่งของ ช่วยในการตัดสินใจแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็ว นักวิจัยพบว่า การใช้อินเทอร์เน็ตและการเล่นเกมส์มีประโยชน์ในเรื่องการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เล่น ช่วยพัฒนาการเรียนรู้ สื่อสาร เกิดความสัมพันธ์ในระหว่างเพื่อน 
อย่างไรก็ตาม ในเด็กวัยต่ำกว่า 2 ขวบ ไม่ควรให้ใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งรวมถึงสมาร์ทโฟน ทีวี คอมพิวเตอร์ ฯลฯ ในเด็กที่โตขึ้น ควรจำกัดเวลาการเล่นในแต่ละวัน ไม่ควรเกิน 2 ชั่วโมง ผู้ปกครองควรเล่นไปด้วยกัน มีการพูดคุย โต้ตอบ เห็นหน้ากัน ไม่ควรมีสมาร์ทโฟนในห้องนอน ควรหาเกมส์ที่ส่งเสริมการสร้างคำศัพท์ต่างๆ ช่วยในการเรียนรู้คณิตศาสตร์ แนวคิดทางวิทยาศาสตร์ และเรียนรู้ทางด้านภาษา เกมส์ที่ไม่รุนแรงก้าวร้าว ไม่มีการใช้กำลังต่อสู้ห้ำหั่น ทำร้ายกัน 
ในวันหยุดต่างๆ ควรมีวันที่เด็กและผู้ใหญ่ ปลอดสมาร์ทโฟน ปลอดแท็บเบล็ต พาเด็กออกไปทำกิจกรรมนอกบ้าน ให้เด็กได้สัมผัสกับธรรมชาติ ดิน โคลน ต้นไม้ใบหญ้า ให้เท้าของเด็กได้สัมผัส ดิน โคลน หรือหญ้าบ้าง ตลอดจนเดินชมพิพิธภัณฑ์ต่างๆ อย่าให้ภาพในจอมาแทนภาพในชีวิตจริง อย่าให้สมาร์ทโฟนเป็นของเล่นของเด็กแทนลูกบอลหรือตุ๊กตา อย่าให้สมาร์ทโฟนหรือแท็บเบล็ต เลี้ยงดูลูกแทนพ่อแม่ 
 

แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. How Do Smartphones Affect Childhood Psychology?(https://psychcentral.com/lib/how-do-smartphones-affect-childhood-psychology/)
  2. Is screen time good or bad for babies and children?(https://www.babycentre.co.uk/a25006035/is-screen-time-good-or-bad-for-babies-and-children)
  3. What Screen Time Can Really Do to Kids' Brains (https://www.psychologytoday.com/blog/behind-online-behavior/201604/what-screen-time-can-really-do-kids-brains)


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด



อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้