เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


ซูโดเอฟีดรีน (pseudoephedrine) พระเอกหรือผู้ร้าย?


อ.ภก.พงศธร มีสวัสดิ์สม ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

อ่านแล้ว 409,829 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 22/04/2555
อ่านล่าสุด 1 วันที่แล้ว

Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
 

ข่าวจากสื่อต่างๆในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาทำให้หลายท่านคงคุ้นเคยกับชื่อของยา “ซูโดเอฟีดรีน” ในฐานะของสารตั้งต้นในการผลิตยาบ้า แต่ซูโดเอฟีดรีนจริงๆแล้วยังมีประโยชน์ทางการแพทย์ ซึ่งจะได้กล่าวถึงในบทความนี้

ซูโดเอฟีดรีนมีประโยชน์ทางการแพทย์อย่างไร? 

          “ซูโดเอฟีดรีน” เป็นสารที่ออกฤทธิ์คล้ายคลึงกับสารที่มีอยู่แล้วในร่างกายมนุษย์ชื่อนอร์อะดรีนาลิน (noradrenaline) ฤทธิ์ที่สำคัญของซูโดเอฟีดรีนคือทำให้เกิดการหดตัวของหลอดเลือด โดยเฉพาะหลอดเลือดในโพรงจมูก หลอดเลือดในท่อที่เชื่อมต่อระหว่างโพรงจมูกและหูชั้นในหรือท่อยูสเตเชียน และหลอดเลือดบริเวณเยื่อหุ่มตาขาว 

 

          เมื่อมีอาการแพ้หรือเป็นหวัดหลอดเลือดเหล่านี้จะขยายตัวทำให้เกิดอาการคัดจมูก แน่นในหูหูอื้อ หรือเคืองตา จากการที่ซูโดเอฟีดรีนมีฤทธิ์หดหลอดเลือดได้ทำให้มีผลรักษาอาการต่างๆเหล่านี้ อาการข้างเคียงของซูโดเอฟีดรีนที่อาจพบได้ ได้แก่ ใจสั่น นอนไม่หลับ และความดันโลหิตเพิ่ม  

          ซูโดเอฟีดรีนเป็นยาที่ใช้กันมานานหลานสิบปี ซูโดเอฟีดรีนชนิดรับประทานมีทั้งแบบยาเม็ดและยาน้ำสำหรับเด็ก มีใช้ทั้งในแบบตำรับยาเดี่ยว คือมีซูโดเอฟีดรีนเป็นตัวยาสำคัญเพียงชนิดเดียวในตำรับยา และแบบยาสูตรผสม คือมีตัวยาสำคัญอื่นๆร่วมด้วย สูตรผสมที่ใช้กันมากเป็นยาสูตรผสมแก้หวัด (ตัวอย่างในตารางที่ 1) โดยเฉพาะสูตรผสมระหว่างซูโดเอฟีดรีนและยาต้านฮิสตามีน เหตุที่ต้องผสมซูโดเอฟีดรีนร่วมกับยาต้านฮิสตามีน เพราะยาต้านฮิสตามีนมีฤทธิ์เพียงลดน้ำมูก แต่มีฤทธิ์แก้คัดจมูกน้อยมาก จึงต้องผสมซูโดเอฟีดรีนมีลงไปด้วยเพื่อให้ยามีฤทธิ์แก้คัดจมูก บางยี่ห้ออาจผสมยาอื่นๆลงไปด้วยเช่นพาราเซตามอลเพื่อลดไข้ หรือยาแก้ไอ 


 


เหตุใดจึงมีการนำซูโดเอฟีดรีนไปเป็นสารตั้งต้นในการผลิตยาบ้า? 

          สูตรโครงสร้างทางเคมีของซูโดเอฟีดรีนมีลักษณะคล้ายคลึงกับเมธแอมเฟตามีน (methaphetamine) ซึ่งเป็นสารสำคัญในยาบ้า (รูปที่ 1) โดยซูโดเอฟีดรีนมีสูตรโครงสร้างที่แตกต่างจากเมธแอมเฟตามีนเพียงตำแหน่งเดียวคือมีหมู่ hydroxyl (-OH) ที่อะตอมของคาร์บอนซึ่งแสดงด้วยวงกลมสีแดงในรูป ดังนั้นเมื่อนำซูโดเอฟีดรีนที่อยู่ในเภสัชภัณฑ์ยาเม็ดหรือยาน้ำไปสกัดและทำปฏิกิริยาทางเคมีที่กำจัดเอาหมู่ hydroxyl ออกจะได้เมธแอมเฟตามีน ด้วยเหตุนี้เองจึงมีการลักลอบนำซูโดเอฟีดรีนไปเป็นสารตั้งต้นในการผลิตยาบ้า 


 

การมียาที่มีส่วนผสมของซูโดเอฟีดรีนไว้ในครอบครองจะผิดกฏหมายคือไม่?

          แต่เดิมซูโดเอฟีดรีนแบบยาสูตรผสมนั้นจัดเป็นยาอันตราย และสามารถจ่ายได้ในร้านยา ก่อนหน้านี้ผู้ที่มีอาการหวัดและคัดจมูกส่วนใหญ่จะได้รับซูโดเอฟีดรีนแบบตำรับยาสูตรผสมกับยาต้านฮิสตามีนจากร้านยา แต่หลังจากที่มีการจับกุมผู้ลักลอบนำยาซูโดเอฟีดรีนแบบตำรับยาสูตรผสมไปใช้ในทางที่ผิดจึงทำให้ทางกระทรวงสาธารณสุขยกระดับความเข้มงวดในการควบคุมการใช้ซูโดเอฟีดรีนมาโดยลำดับโดยในวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2555 ได้ประกาศให้ตำรับยาทุกตำรับที่มีซูโดเอฟีดรีนเป็นส่วนผสมจัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทประเภทที่ 2 ซึ่งจะมีใช้เฉพาะในโรงพยาบาลเท่านั้น ทำให้ในปัจจุบันไม่สามารถซื้อหายาซูโดเอฟีดรีนแบบตำรับยาสูตรผสมในร้านยาได้อีกต่อไป กองควบคุมวัตถุเสพติด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้ให้คำแนะนำสำหรับประชาชนที่จำเป็นต้องใช้ยาที่มีซูโดเอฟีดรีนเป็นส่วนผสม โดยมีใจความสำคัญคือ ต้องได้รับการสั่งใช้โดยแพทย์โดยมีเอกสารหลักฐานยืนยัน เช่น ใบรับรองแพทย์ ใบสั่งยา หรือเอกสารกํากับบนซองยา ซึ่งแสดงชื่อและที่อยู่ ของสถานพยาบาลที่สั่งจ่าย และ ชื่อของผู้ป่วย นอกจากนี้ หากมีไว้ในครอบครองโดยมาเป็นไปตามที่กล่าวมาจะถือว่าผิดกฏหมาย (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://narcotic.fda.moph.go.th/welcome ดังนั้นผู้ที่มีอาการคัดจมูกหากพบแพทย์และได้รับยาซูโดเอฟีดรีนจากโรงพยาบาลที่มีการระบุชื่อของท่าน และแสดงข้อมูลต่างๆดังที่กล่าวมาจึงไม่ผิดกฏหมายแต่อย่างใด

 

ไม่มีซูโดเอฟีดรีนขายในร้านยา หากคัดจมูกเล็กๆน้อยๆไม่อยากไปโรงพยาบาลแล้วจะทำอย่างไร?

          สำหรับผู้ที่เป็นหวัดมีอาการคัดจมูกและเคยใช้ยาสูตรที่มีซูโดเอฟีดรีนผสมดังกล่าวได้ผลดีอาจได้รับผลกระทบจากการควบคุมดังกล่าว และมีความยากลำบากในการดูแลรักษาตนเองอยู่บ้าง แต่อย่างไรก็ตามหากต้องการดูแลรักษาตนเองในเบื้องต้น และไปรับบริการที่ร้านยา ยังมียาแก้คัดจมูกอื่นๆเป็นทางเลือกดังนี้ี้

  • ยารับประทาน เช่น ฟีนิลเอฟรีน (phenylephrine) ซึ่งมีประโยชน์ทางการแพทย์ และรูปแบบเภสัชภัณฑ์ในลักษณะเดียวกับยาซูโดเอฟีดรีน ยาฟีนิลเอฟรินอาจมีประสิทธิภาพในการทำให้จมูกโล่งด้อยกว่ายาซูโดเอฟีดรีนอยู่บ้าง และอาจต้องรับประทานยาบ่อยคือทุก 4 ชั่วโมงในรายที่คัดจมูกมาก
  • ยาพ่นจมูก เช่น ฟีนิลเอฟรีน (phenylephrine), ออกซี่เมตาโซลีน (oxymetazoline), หรือ ไซโลเมตาโซลีน (xylometazoline) การใช้ยาพ่นจมูกนี้ต้องใช้อย่างถูกวิธี และใช้ในระยะสั้นที่สุด (3-5 วัน) ท่านจะได้รับคำแนะนำการใช้เมื่อรับบริการที่ร้านยาที่มีเภสัชกรปฏิบัติการ

          สำหรับผู้ที่มีอาการคัดจมูกจากสาเหตุอื่นเช่นโพรงจมูกอักเสบเรื้อรัง ซึ่งจำเป็นต้องใช้ซูโดเอฟีดรีนติดต่อกันเป็นเวลานานให้ท่านไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลเพื่อตรวจรักษาและรับยาดังกล่าว

 

บทสรุป 

          จากสถานการณ์เกี่ยวกับยาซูโดเอฟีดรีนที่เป็นข่าวตามสื่อต่างๆส่วนใหญ่มุ่งความสนใจไปที่โทษของซูโดเอฟิดรีนที่เป็นสารตั้งต้นในการผลิตยาบ้า ทำให้ต้องมีมาตรการควบคุมการใช้อย่างเข้มงวด แต่อย่างไรก็ตามยาซูโดเอฟีดรีนก็มีประโยชน์ในทางการแพทย์อย่างมากคือเป็นยาแก้คัดจมูกที่มีประสิทธิภาพดี หากใช้ยาซูโดเอฟีดรีนถูกคน ถูกโรค ถูกขนาด ถูกวิธี ซูโดเอฟีดรีนก็จะเปรียบเสมือนพระเอก แต่หากใช้ในทางที่ผิดก็จะเปรียบเสมือนผู้ร้าย สถานการณ์ดังกล่าวจึงเป็นตัวอย่างที่ดีของคำกล่าวที่ว่า “ยามีคุณอนันต์ แต่ก็มีโทษมหันต์” ซึ่งอยู่ที่เจตนาว่าจะนำไปใช้ในทางใด

 

แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. กองควบคุมวัตถุเสพติด. แนวทางปฏิบัติสำหรับผู้เกี่ยวข้องเมื่อยกระดับการควบคุม Pseudoephedrine เป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2. จาก http://narcotic.fda.moph.go.th/welcome/?p=1614
  2. ศูนย์อำนวยการพลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติดแห่งชาติ (ศพส.). สถานการณปัญหายาเสพติดและแนวโน้ มของปัญหาช่ วงตั้งแต่ ปีพ.ศ. 2549-2553. จาก http://www.nccd.go.th/upload/content/sujjj.pdf.pdf
  3. Eccles R. Substitution of phenylephrine for pseudoephedrine as a nasal decongeststant. An illogical way to control methamphetamine abuse. Br J Clin Pharmacol 2007;63(1):10-4.
  4. Eccles R, Jawad MS, Jawad SS, Angello JT, Druce HM. Efficacy and safety of single and multiple doses of pseudoephedrine in the treatment of nasal congestion associated with common cold. Am J Rhinol 2005;19(1):25-31.
  5. Kollar C, Schneider H, Waksman J, Krusinska E. Meta-analysis of the efficacy of a single dose of phenylephrine 10 mg compared with placebo in adults with acute nasal congestion due to the common cold. Clin Ther 2007;29(6):1057-70.
  6. Hatton RC, Winterstein AG, McKelvey RP, Shuster J, Hendeles L. Efficacy and safety of oral phenylephrine: systematic review and meta-analysis. Ann Pharmacother 2007;41(3):381-90.
เปิดอ่านด้วย Google Doc Viewer ดาวน์โหลดบทความ (pdf) ดูบทความอื่นๆ

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


2 วินาทีที่แล้ว
ทานตะวัน 4 วินาทีที่แล้ว
โรคไลม์ (Lyme disease) 1 นาทีที่แล้ว
ต้อลม-ต้อเนื้อ 1 นาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้