ภาวะไอเรื้อรัง
เป็นอาการที่พบได้บ่อยภายหลังการติดเชื้อบริเวณทางเดินหายใจส่วนบน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการติดเชื้อไวรัส ได้แก่ ไข้หวัด (Rhinovirus), ไข้หวัดใหญ่ (Influenza), Adenovirus, และ Respiratory syncytial virus (RSV) ภาวะดังกล่าวเรียกว่า “post-infectious cough” โดยส่วนมากผู้ป่วยจะมีอาการไอแห้ง และมีอาการในลักษณะกึ่งเฉียบพลัน คืออาการไอจะคงอยู่นานกว่า 3 สัปดาห์หลังการติดเชื้อแต่ไม่เกิน 8 สัปดาห์(1) โดยทั่วไปการติดเชื้อบริเวณทางเดินหายใจส่วนบนจะมีอาการไม่รุนแรงและสามารถหายได้ภายใน 7-14 วัน อย่างไรก็ตามอาการไอเรื้อรังที่เกิดขึ้นหลังการติดเชื้อเชื่อกันว่ามีสาเหตุมาจากเสมหะหรือน้ำมูกที่ไหลลงคอ หรืออาจเกิดจากการอักเสบอันเนื่องมาจากการติดเชื้อในตอนแรก นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่เพิ่มความน่าจะเป็นในการเกิดภาวะไอเรื้อรังคือการติดเชื้อที่บริเวณทางเดินหายใจส่วนบนทำให้เกิดเมือกปริมาณมากซึ่งไม่สามารถกำจัดออกไปทางปอดได้อย่างเพียงพอ ภาวะไอเรื้อรังที่เกิดขึ้นดังกล่าวอาจส่งผลทำให้ระยะเวลาในการติดเชื้อของผู้ป่วยยาวนานขึ้นด้วย(2)
ภาพจาก : https://i0.wp.com/allergylosangeles.com/wp-content/uploads/2019/07/man-cough.jpg?fit=710%2C474&ssl=1
ในการวินิจฉัยภาวะไอเรื้อรังหลังการติดเชื้อ แพทย์จะมีการตรวจร่างกายและซักถามประวัติความเจ็บป่วย เช่น เวลาที่เริ่มเป็นหวัดหรือติดเชื้อ ลักษณะของการไอในปัจจุบัน และอาการอื่นๆ และทำการพิจารณาแยกแยะสาเหตุอื่นที่เป็นไปได้ซึ่งทำให้เกิดอาการไอเรื้อรัง ได้แก่ โรคกรดไหลย้อน (GERD), หอบหืด, ปอดอักเสบหรือหลอดลมอักเสบ, ไซนัสอักเสบจากแบคทีเรีย, การสูบบุหรี่, การใช้ยาลดความดันโลหิตในกลุ่ม Angiotensin-converting enzyme (ACE) inhibitor เช่น enalapril, captopril, ramipril การวินิจฉัยอาการจะมีการถามถึงลักษณะการไอเพื่อพิจารณาถึงสาเหตุว่ามาจากการมีเมือกเหลวในทางเดินหายใจไหลลงคอ (postnasal drip) หรือมีการอักเสบจากการติดเชื้อหรือไม่ เพื่อพิจารณาเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสม
ยาที่ใช้รักษาอาการไอเรื้อรัง
ยาที่ใช้รักษาอาการไอเรื้อรังหลังการติดเชื้อ(3) ได้แก่
- กลุ่มยาที่ช่วยลดการเกิด postnasal drip ได้แก่ ยากลุ่ม anti-histamine เช่น chlorpheniramine, cetirizine, loratadine, fexofenadine โดยพบว่ายา anti-histamine ในกลุ่ม first generation ซึ่งมีผลข้างเคียงทำให้ง่วงซึมจะมีประสิทธิภาพในการลด post-infectious cough ได้ค่อนข้างดีกว่า และหากผู้ป่วยไม่สามารถทนต่อผลข้างเคียงที่ทำให้เกิดอาการง่วงซึมได้อาจมีการพิจารณาใช้ยาในรูปแบบพ่นจมูก เช่น fluticasone propionate, ipratropium bromide
- กลุ่มยาที่ช่วยต้านการอักเสบบริเวณเยื่อบุทางเดินหายใจ การไอหลังการติดเชื้ออาจเกิดจากการอักเสบที่บริเวณเยื่อบุทางเดินหายใจ ทำให้เยื่อบุทางเดินหายใจตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้นได้ไวขึ้น การรักษาจึงสามารถใช้ยาที่ใช้รักษาในโรคหอบหืดโดยขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ(4) ยาในกลุ่มดังกล่าวได้แก่ corticosteroids ชนิดสูดพ่น, Leukotriene receptor antagonist เช่น montalukast, และ corticosteroids ชนิดรับประทาน เช่น prednisolone
- กลุ่มยาที่ช่วยบรรเทาอาการไอ ได้แก่ ยาระงับการไอที่มีส่วนผสมของ dextromethorphan ในกรณีที่มีการไอแห้ง หรือยาที่ช่วยลดความข้นของเมือกเสมหะเพื่อทำให้เสมหะถูกกำจัดได้ง่ายขึ้น เช่น guaifenesin ในกรณีไอมีเสมหะ
- การบรรเทาอาการเบื้องต้นด้วยตนเอง เช่น
การใช้น้ำมันยูคาลิปตัส เชื่อว่าน้ำมันยูคาลิปตัสสามารถบรรเทาอาการไอได้โดยทำให้ความข้นของเสมหะลดลง วิธีใช้โดยการสูดดมไอน้ำที่ผสมน้ำมันยูคาลิปตัส ในสัดส่วนน้ำมันยูคาลิปตัส 12 หยดต่อน้ำเดือดประมาณ 150 มิลลิลิตร หรือการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของน้ำมันยูคาลิปตัสเพื่อสูดดมหรือทาบริเวณหน้าอก หลัง และลำคอ อย่างไรก็ตามข้อควรระวังคือไม่ควรใช้น้ำมันยูคาลิปตัสในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 2 ปี หญิงตั้งครรภ์ และให้นมบุตร และห้ามรับประทานเนื่องจากอาจก่อให้เกิดความเป็นพิษได้(5)
การดื่มชาหรือกาแฟผสมน้ำผึ้ง อาจช่วยบรรเทาอาการไอเรื้อรังได้ อันเนื่องมาจากฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระ ต้านเชื้อจุลชีพ และต้านการอักเสบ
การกลั้วคอด้วยน้ำเกลือ จะช่วยลดการไอ ช่วยชะล้างและลดความข้นของเสมหะ โดยการผสมเกลือครึ่งช้อนชาในน้ำเปล่า 1 ถ้วยตวง หรืออาจใช้ Sodium Chloride 0.9% Irrigation Solution ทำการกลั้วคอเป็นเวลา 10 วินาที
หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงหรือสภาวะที่ก่อให้เกิดการระคายเคืองในทางเดินหายใจ เช่น ฝุ่น มลภาวะ การสูบบุหรี่