Eng |
อาจารย์ ดร.ภก. วสุ ศุภรัตนสิทธิ ภาควิชาสรีรวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
เคยสงสัยกันหรือไม่ว่า ทำไมหลังจากรักษาโรคติดเชื้อ SARS CoV-2 หรือโคโรน่าไวรัส 2019 (COVID-19) หายแล้ว ยังมีอาการไอ หรือเหนื่อยเพลียอยู่ทั้งที่กักตัวครบ 10 วันแล้วและไม่มีสาเหตุอื่น องค์การอนามัยโลก (World health organization; WHO) ให้คำนิยามภาวะดังกล่าวว่า “Post COVID-19 condition” หรือที่เราเรียกกันว่า “Long COVID” หรือ “Post COVID syndrome” ซึ่งภาวะดังกล่าวจะปรากฏในผู้ที่มีประวัติยืนยันการติดเชื้อ SARS CoV-2 มักเกิดขึ้น 3 เดือนหลังมีอาการ และเป็นอย่างน้อย 2 เดือนโดยไม่สามารถหาสาเหตุอื่นได้ อาจเกิดต่อเนื่องจากการติดเชื้อหรือเกิดขึ้นภายหลังก็ได้เช่นกัน
ปัจจุบันยังไม่ทราบกลไกการเกิดของภาวะนี้อย่างแน่ชัด สันนิษฐานว่าอาจเกิดจากระบบภูมิคุ้มกัน ซึ่งจะมีการตอบสนองของร่างกายโดยการหลั่ง cytokine ชนิดต่าง ๆ ในระหว่างติดเชื้อไวรัส SARS CoV-2 ส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อเนื้อเยื่อของอวัยวะต่าง ๆ เช่น ปอด สมอง หัวใจ และเกิดอาการต่าง ๆ ตามมาภายหลังการติดเชื้อ ปัจจัยเสี่ยงที่พบในหลาย ๆ การศึกษาคือ ผู้ป่วยเพศหญิง อายุมาก ภาวะอ้วน มีโรคประจำตัว มีอาการมากกว่า 5 อาการในช่วง 1 สัปดาห์แรก เป็นต้น
สำหรับอาการที่พบบ่อยในผู้ที่มีภาวะ Long COVID ได้แก่
แพทย์จะประเมินผู้ป่วยจากการซักประวัติ ตรวจร่างกาย และส่งตรวจเพิ่มเติมเพื่อหาสาเหตุอื่นก่อนที่จะวินิจฉัยว่าเป็นภาวะ Long COVID เมื่อวินิจฉัยภาวะ Long COVID แล้ว แพทย์จะประเมินระดับความรุนแรงตามอาการแสดงของผู้ป่วย และรักษาตามแนวทางปฏิบัติต่อไป
การรักษาโดยส่วนใหญ่จะเป็นการให้ความรู้เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าใจในภาวะดังกล่าว เพื่อเป็นการลดความเครียดและกังวลของผู้ป่วยและครอบครัวจากภาวะดังกล่าวด้วย โดยการรักษาจะเป็นการดูแลแบบองค์รวมกับสหสาขาวิชาชีพ ซึ่งอาจจะมีทั้งการใช้ยา เช่น การใช้ยาในกลุ่ม Benzodiazepines ในกรณีที่ผู้ป่วยมีปัญหานอนไม่หลับ และการรักษาที่ไม่ใช่ยา เช่น ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย จะแนะนำการทำกายภาพบำบัด การออกกำลังกาย และการทำจิตบำบัดมาใช้ในการรักษาตามระดับความรุนแรงของผู้ป่วย เป็นต้น
จากการสำรวจของกรมการแพทย์พบว่า ผู้ที่เคยติดเชื้อ SARS CoV-2 แม้ขณะติดเชื้อจะมีอาการไม่มาก แต่ก็ส่งผลกระทบต่อชีวิตในระยะยาว ทำให้คุณภาพชีวิตด้านสุขภาพทั่วไปลดลงจากก่อนการติดเชื้อ แม้ว่าในระลอกนี้ (ตั้งแต่ประมาณเดือนมกราคม พ.ศ.2565) จะเป็นการติดเชื้อ SARS CoV-2 สายพันธุ์โอมิครอน (Omicron) ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการไม่ค่อยมาก แต่มีผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยที่พบภาวะ Long COVID ซึ่งจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาและอาจส่งผลกระทบต่อชีวิตในระยะยาว
ถ้าท่านหรือคนใกล้ชิดติดเชื้อ SARS CoV-2 แล้วควรหมั่นสังเกตอาการผิดปกติอื่น ๆ ภายหลังการติดเชื้อ หากมีความผิดปกติควรเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ส่วนท่านที่ยังไม่เคยติดเชื้อดังกล่าว ควรยึดข้อปฏิบัติตามมาตรการ DMHTTA ได้แก่
Distancing | เว้นระยะระหว่างบุคคล หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้อื่น |
Mask wearing | สวมใส่หน้ากากผ้า หรือหน้ากากอนามัยตลอดเวลา |
Hand washing | ล้างมือบ่อย ๆ |
Temperature | ตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายก่อนเข้าใช้บริการ เพื่อคัดกรองผู้ที่อาจไม่สบาย |
Testing | ตรวจหาเชื้อ SARS CoV-2 |
Application | ติดตั้งและใช้แอปพลิเคชัน “ไทยชนะ” และ “หมอชนะ” ก่อนเข้า-ออกสถานที่ทุกครั้งและเข้ารับการฉีดวัคซีนตามความเหมาะสม |
หากรู้สึกมีอาการผิดปกติให้รีบพามาโรงพยาบาล รวมทั้งการใช้ยาทุกครั้งควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ เช่น แพทย์ หรือเภสัชกร เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการใช้ยากับท่านเอง และอย่าลืมว่า “มีปัญหาเรื่องยา ปรึกษาเภสัชกรนะครับ”