เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


ยาต้านเกล็ดเลือด รู้ไว้...ปลอดภัยเมื่อใช้ยา


อาจารย์ ดร. ภก. สุรศักดิ์ วิชัยโย ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล


ภาพประกอบจาก: https://www.drugoffice.gov.hk/eps/do/en/...mbosis.jpg
อ่านแล้ว 89,854 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 20/05/2564
อ่านล่าสุด 1 วันที่แล้ว

Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
 


ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ หรือหลอดเลือดสมองตีบ (เรียกว่า stroke) หลังจากที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลแล้ว ส่วนใหญ่มักจะได้รับยาต้านเกล็ดเลือด หรือบางครั้งเรียกชื่อให้ผู้ป่วยเข้าใจง่าย ๆ ว่า “ยาละลายลิ่มเลือด” 1-2 ชนิดมารับประทานต่อที่บ้าน โดยยากลุ่มนี้มีประโยชน์ช่วยป้องกันไม่ให้เกล็ดเลือดในหลอดเลือดเกาะกลุ่มกันจนขัดขวางทางไหลเวียนของเลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ (ตามรูปด้านล่าง) โดยเฉพาะที่หัวใจและสมองซึ่งเคยขาดเลือดจากภาวะหลอดเลือดตีบมาก่อน บทความนี้ขอนำเสนอข้อมูลสำคัญบางส่วนของยาต้านเกล็ดเลือด เพื่อให้ผู้ป่วยและผู้ดูแลทราบเกี่ยวกับข้อควรปฏิบัติและข้อระวังต่าง ๆ ขณะใช้ยาเหล่านี้ 
 
ยาต้านเกล็ดเลือดมีอะไรบ้าง 
ยาต้านเกล็ดเลือดชนิดรับประทานที่ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดตีบมักรู้จักกันดี คือ aspirin (รูปภาพ) ซึ่งเป็นยาที่ใช้มาอย่างยาวนานมากกว่า 100 ปี ยามีฤทธิ์ทั้งแก้ไข้ บรรเทาปวด และลดการอักเสบ แต่ปริมาณยาที่ใช้สำหรับต้านเกล็ดเลือดนั้นมักเป็นขนาดต่ำ ภาษาอังกฤษเรียกว่า “baby aspirin” โดยพบว่ายามีฤทธิ์แรง และออกฤทธิ์เร็วในการยับยั้งไม่ให้เกล็ดเลือดมาเกาะกลุ่มอุดตันหลอดเลือด 
ปัจจุบันมียาต้านเกล็ดเลือดชนิดรับประทานที่ถูกพัฒนาขึ้นมาใหม่มากขึ้น และบางกรณียาเหล่านี้ถูกใช้แทน aspirin ในผู้ป่วยที่ไม่สามารถใช้ aspirin ได้ เช่น ผู้ป่วยบางคนไม่ค่อยตอบสนองต่อยาหรืออาจแพ้ aspirin หรือเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากยา ซึ่งจะกล่าวถึงรายละเอียดต่อไป ยาใหม่เหล่านี้มีฤทธิ์แรง และออกฤทธิ์เร็วเช่นกัน (ตามรูปด้านบน) แต่พบว่าทำให้เกิดแผลและเลือดออกในทางเดินอาหารได้น้อยกว่า aspirin อย่างไรก็ตาม ยังอาจพบการมีเลือดออกบริเวณอื่นได้บ้าง ซึ่งบางกรณีเกิดรุนแรงเท่ากับยา aspirin 
หากลืมรับประทานยาต้านเกล็ดเลือด อันตรายหรือไม่ และทำอย่างไร 
เนื่องจากยากลุ่มนี้มีความสำคัญในการป้องกันหลอดเลือดตีบซ้ำ ซึ่งหากยาออกฤทธิ์ได้ไม่เต็มที่จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ยากลุ่มนี้ (ยกเว้น ticagrelor) มักออกฤทธิ์ยาว เนื่องจากสามารถจับอยู่กับเกล็ดเลือดได้ตลอดอายุขัยของเกล็ดเลือด (ประมาณ 7-10 วัน) แต่ยังคงต้องรับประทานยาทุกวัน เนื่องจากร่างกายของเราสร้างเกล็ดเลือดใหม่ขึ้นมาทดแทนทุกวันประมาณร้อยละ 10-15 จึงต้องมีปริมาณยาอย่างเพียงพอที่จะยับยั้งการทำงานของเกล็ดเลือดเหล่านี้ในทุก ๆ วัน ซึ่งควรรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอและรับประทานยาในเวลาเดียวกันทุกวัน สำหรับกรณีลืมรับประทานยา ให้รีบรับประทานยาทันทีที่นึกได้ แต่หากเป็นเวลาที่ใกล้เคียงกับมื้อต่อไป ให้ข้ามไปรับประทานยามื้อต่อไปได้เลย โดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่าหรือมากกว่าปกติ 
อาการไม่พึงประสงค์จากยาต้านเกล็ดเลือด มีอะไรบ้าง 
อาการไม่พึงประสงค์ หรือเรียกว่าอาการข้างเคียงที่พบจากยาต้านเกล็ดเลือด แบ่งออกเป็น

  • อาการไม่รุนแรง ได้แก่
    1. คลื่นไส้ อาเจียน
    2. ปวดท้องเล็กน้อย และหายได้เองในระยะเวลาอันสั้น
  • อาการรุนแรงปานกลาง ได้แก่
    1. เกิดแผลในทางเดินอาหาร ซึ่งอาจปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียนมากขึ้น และทำให้มีเลือดออกในทางเดินอาหารได้ โดยเฉพาะจากยา aspirin
    2. ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ หรืออ่อนเพลีย โดยเฉพาะจากยา cilostazol และ dipyridamole
    3. แน่นหน้าอก และใจสั่น เช่น จากยา ticagrelor
    4. เลือดออกเล็กน้อยบริเวณต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น จุดจ้ำเลือดเล็ก ๆ ตามผิวหนังที่ไม่กระจายทั่วตัว หรือมีเลือดออกตามไรฟันเล็กน้อย หรือเลือดกำเดาไหลเล็กน้อย เป็นต้น
  • อาการรุนแรงมาก ได้แก่
    1. เลือดออกรุนแรง เช่น อุจจาระหรือปัสสาวะเป็นเลือด อาเจียนเป็นเลือด มีเลือดออกที่อวัยวะภายใน โดยเฉพาะในกะโหลกศีรษะ ซึ่งอาจมีอาการแสดงแตกต่างกันไป เช่น ปวดศีรษะรุนแรงเฉียบพลัน สูญเสียการทรงตัว หรือมีอาการคล้ายอัมพาฒ เป็นต้น และต้องรีบเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลอย่างเร่งด่วน
    2. อาการแพ้ยา เช่น ผื่นตามตัว มีอาการบวมบริเวณใบหน้า ปาก ทางเดินหายใจ และบางคนอาจมีความดันโลหิตต่ำมาก ร่วมกับหายใจติดขัดได้
    3. เซลล์เม็ดเลือดต่ำ เกิดได้ทั้งเม็ดเลือดขาวและเกล็ดเลือด เช่น จากยา ticlopidine

ทั้งนี้ หากผู้ที่กำลังรับประทานยาต้านเกล็ดเลือดแล้วเกิดอาการต่าง ๆ ดังที่กล่าวมา โดยเฉพาะอาการรุนแรงปานกลางถึงรุนแรงมาก ควรรีบปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร เพื่อให้ได้รับคำแนะนำในการปฏิบัติตัวหรือการรักษาที่เหมาะสม นอกจากนี้ การผ่าตัดบางประเภท ทีมบุคลากรทางการแพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยต้องหยุดยาต้านเกล็ดเลือดก่อนเข้ารับการผ่าตัด 3-7 วัน เพื่อป้องกันการเสียเลือดมากขณะผ่าตัด เนื่องจากผู้ที่กำลังใช้ยาเหล่านี้อาจทำให้เลือดหยุดไหลยากกว่าปกติ 
ใครบ้างที่เสี่ยงเลือดออกได้ง่าย ขณะใช้ยาต้านเกล็ดเลือด 
บุคคลเหล่านี้ จัดเป็นผู้มีความเสี่ยงในการเกิดเลือดออกได้ง่ายขณะใช้ยาต้านเกล็ดเลือด โดยเฉพาะผู้ที่ใส่ขดลวดขยายหลอดเลือด ซึ่งมักได้รับยาต้านเกล็ดเลือดร่วมกัน 2 ชนิด นานอย่างน้อย 6 เดือน ถึง 1 ปี

  1. อายุตั้งแต่ 75 ปีขึ้นไป
  2. เพศหญิง
  3. เป็นโรคตับ โรคไต หรือโรคมะเร็งร่วมด้วย
  4. มีภาวะโลหิตจาง หรือเกล็ดเลือดต่ำ
  5. เคยเกิด stroke หรือเคยมีเลือดออกในกะโหลกศีรษะ
  6. มีประวัติเคยเกิดเลือดออก โดยเฉพาะกรณีรุนแรงจนต้องให้เลือด
  7. กำลังใช้ยา สมุนไพร หรืออาหารที่มีฤทธิ์ต้านเกล็ดเลือด และต้านการแข็งตัวของเลือดร่วมด้วย ซึ่งจะกล่าวถึงต่อไป

โดยทั่วไปแล้ว แพทย์จะตรวจหาปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้แล้วประเมินภาพรวมของความเสี่ยง (ไม่ใช่เพียงข้อใดข้อหนึ่ง) ก่อนสั่งจ่ายยาต้านเกล็ดเลือด นอกจากนี้ ในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดแผลในกระเพาะอาหารได้ง่าย ซึ่งสามารถนำมาสู่การมีเลือดออกในทางเดินอาหารรุนแรง แพทย์อาจสั่งจ่ายยายับยั้งการหลั่งกรดในกระเพาะอาหารร่วมด้วยเพื่อป้องกันการเกิดผลเสียดังกล่าว 
ยา หรือสมุนไพรประเภทใดบ้างที่อาจรบวนการออกฤทธิ์ของยาต้านเกล็ดเลือด 
เนื่องจากยา สมุนไพร และอาหารหลายชนิดมีฤทธิ์ทั้งต้านเกล็ดเลือด และต้านการแข็งตัวของเลือด นอกจากนี้ ยังอาจเกิดปฏิกิริยากับยาต้านเกล็ดเลือดโดยตรง (ยาตีกัน) ซึ่งส่งเสริมให้มีเลือดออกได้ง่าย (ตัวอย่างแสดงในตาราง) ในทางตรงกันข้าม ยาบางชนิดอาจลดฤทธิ์ของยาต้านเกล็ดเลือด ทำให้ไม่ได้ผลในการรักษา ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดหลอดเลือดอุดตันซ้ำได้ง่าย เช่น ยายับยั้งการหลั่งกรดบางชนิด เมื่อใช้ร่วมกับยา clopidogrel เป็นต้น และหลายครั้งพบว่าผู้ป่วยมักหาซื้อผลิตภัณฑ์สุขภาพมารับประทานเอง ดังนั้น หากกำลังใช้ยา หรือผลิตภัณฑ์สุขภาพใด ๆ ควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบ 
 
จากข้อมูลของยาต้านเกล็ดเลือด ผู้อ่านคงเห็นได้ว่ายากลุ่มนี้มีส่วนสำคัญในการช่วยชีวิตผู้ป่วยที่มีภาวะหลอดเลือดตีบ อย่างไรก็ตาม มีข้อควรระวังต่าง ๆ ที่ต้องตระหนัก (แต่ไม่ใช่ตระหนกตื่นกลัว) เมื่อใช้ยากลุ่มนี้ โดยเฉพาะการเกิดเลือดออกรุนแรง ซึ่งมีปัจจัยส่งเสริมหลายประการ ทั้งนี้ หากผู้ป่วยมีคำถามหรือข้อสงสัยเกี่ยวกับยาต้านเกล็ดเลือด สามารถสอบถามข้อมูลเบื้องต้นจากเภสัชกรร้านยา ซึ่งเป็นบุคลากรทางการแพทย์ใกล้บ้านที่สามารถให้ข้อมูลด้านยาอย่างถูกต้อง รวมทั้งอาจช่วยส่งต่อผู้ป่วยเข้าสู่การรักษาที่เหมาะสม 
 

แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. สุรศักดิ์ วิชัยโย. ยาต้านภาวะหลอดเลือดมีลิ่มเลือด. ใน: วริสรา ปาริชาติกานนท์, บรรณธิการ. เภสัชวิทยาของยารักษาโรคหัวใจและหลอดเลือด. ห้างหุ้นส่วนจํากัด ทริปเปิ้ล เอ ก๊อปปี้. กรุงเทพฯ. 2563.
  2. Ang-Lee MK, Moss J, Yuan CS. Herbal medicines and perioperative care. JAMA 2001;286:208-16.
  3. Violi F, Pignatelli P, Basili S. Nutrition, supplements, and vitamins in platelet function and bleeding. Circulation 2010;121:1033-44.
  4. Wang CZ, Moss J, Yuan CS. Commonly Used Dietary Supplements on Coagulation Function during Surgery. Medicines (Basel) 2015;2:157-85.
  5. Vitseva O, Varghese S, Chakrabarti S, Folts JD, Freedman JE. Grape seed and skin extracts inhibit platelet function and release of reactive oxygen intermediates. J Cardiovasc Pharmacol 2005;46:445-51.


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


สัตว์เลี้ยงกับยา 1 นาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้