เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


มะเร็งยูเวีย หรือมะเร็งผนังลูกตาชั้นกลาง


อาจารย์ ดร.ภก.วสุ ศุภรัตนสิทธิ ภาควิชาสรีรวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล


ภาพประกอบจาก: https://areaoftalmologica.com/wp-content...24x768.jpg
อ่านแล้ว 6,892 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 19/05/2564
อ่านล่าสุด 1 วันที่แล้ว

Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
 


ยูเวีย (uvea) คือเนื้อเยื่อชั้นกลางของผนังลูกตาประกอบด้วย ม่านตา (iris) เนื้อเยื่อซิลเลียรี่ (ciliary) และคอรอยด์ (choroid) โดยหน้าที่จะแตกต่างกันไปตามส่วนต่าง ๆ คือ ม่านตา มีหน้าที่ ควบคุมแสงให้เข้ามาในตาอย่างเหมาะสม เนื้อเยื่อซิลเลียรี่ มีหน้าที่สร้างน้ำหล่อเลี้ยงลูกตา ปรับระยะโฟกัส (focus) ใกล้ไกล และมีกล้ามเนื้อที่ใช้ในการควบคุมการไหลเวียนน้ำหล่อเลี้ยงลูกตา ส่วนคอรอยด์จะมีเส้นเลือดปริมาณมาก จึงมีหน้าที่หล่อเลี้ยงเส้นประสาทและจอประสาทตา 
 
ภาพจาก : https://images.ctfassets.net/u4vv676b8z52/NynW9QHIfw9IEDtld2TpR/00e99c219fdcca53b4cc4451a61307c5/uvea-1200x630.png?fm=jpg&q=80 
มะเร็งผนังลูกตาชั้นกลาง (uveal melanoma) เป็นมะเร็งที่พบน้อยในโลก โดยจะพบ 4.3 คนในประชากร 1 ล้านคน มักพบในชาวคอเคเซียนร้อยละ 98 กลุ่มละตินอเมริการ้อยละ 1 กลุ่มเอเชีย แอฟริกันและชนพื้นเมืองอเมริกา น้อยกว่าร้อยละ 1 สาเหตุการเกิดโรคนี้ยังไม่มีหลักฐานชัดเจน อาจเกิดจากเม็ดสีในตาที่ผิดปกติ และสันนิษฐานว่าสัมพันธ์กับปัจจัยเสี่ยง คือ เชื้อชาติ อายุ ละติจูดการอยู่อาศัย สำหรับการสัมผัสรังสีอัลตราไวโอเลต (ultraviolet) ไม่ใช่ปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งผนังลูกตาชั้นกลางส่วนหลัง (posterior melanoma) 
อย่างไรก็ตามมะเร็งชนิดนี้มักไม่มีอาการแสดงที่กระทบการมองเห็นในชีวิตประจำวัน โดยหากเกิดมะเร็งบริเวณม่านตา อาจจะพบลักษณเพียงจุดดำ ๆ หรือสีผิดปกติขึ้น ซึ่งบางจุดจะมีลักษณะคล้ายคลึงกับไฝในตา และหากเกิดบริเวณเนื้อเยื่อซิลเลียรี่หรือคอรอยด์อาจจะไม่พบความผิดปกติภายนอกเลยก็ได้ ต้องอาศัยการตรวจพิเศษอย่างชนิด เช่น การตรวจอัลตราซาวน์ดวงตา (high-frequency ultrasonography), การตรวจจอประสาทตาโดยการฉีดสี (fluorescein angiography) เป็นต้น 
การที่ไม่มีอาการแสดงชัดเจน ทำให้ผู้ป่วยอาจจะไม่ได้คำนึงถึงความสำคัญมากนัก ซึ่งหากตรวจพบได้เร็วจะมีการรักษาและมีการพยากรณ์โรคที่ดี เช่น มะเร็งผนังลูกตาส่วนม่านตาพบอัตราการตายเพียงร้อยละ 1 – 4 แต่ถ้าหากตรวจวินิจฉัยโรคพบในระยะท้าย หรือระยะแพร่กระจายแล้ว มีการศึกษาพบว่า มะเร็งชนิดนี้มักมีการแพร่กระจายไปที่ตับประมาณร้อยละ 90 ของมะเร็งผนังลูกตาชั้นกลางระยะแพร่กระจายทั้งหมด และหากตรวจพบในระยะนี้อัตราการรอดชีวิตจะค่อนข้างต่ำ โดยมักจะเสียชีวิตภายใน 12 เดือนหลังตรวจพบ 
การวินิจฉัยจะพิจารณาจากประวัติ ตรวจร่างกาย และตรวจโดยใช้เครื่องมือพิเศษโดยจักษุแพทย์ และอาจจะมีการเจาะนำชิ้นเนื้อไปตรวจด้วย 
ปัจจุบันยังไม่มีการรักษาโดยใช้ยาเคมีบำบัด แต่มีแนวทางวิธีการรักษาดังนี้

  • การผ่าตัด
  • การฉายรังสี
  • การฝังแร่กัมมันตภาพรังสี

ถึงแม้โรคมะเร็งผนังลูกตาชั้นกลาง เป็นโรคที่พบไม่บ่อย แต่หากสังเกตว่ามีความผิดปกติในตา แม้ว่าจะไม่พบการผิดปกติทางการมองเห็น ควรปรึกษาแพทย์ หากมีความผิดปกติจริงจะทำให้ผู้ป่วยสามารถเข้ารับการรักษาตั้งแต่ระยะเริ่มต้น เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีในระยะยาว ดังนั้นหากมีปัญหาทางสายตา และกระทบการใช้ชีวิตประจำวัน รวมไปถึงการใช้ยาทุกครั้งควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ เช่น แพทย์ หรือเภสัชกร เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับท่านเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการใช้ยา และอย่าลืมว่า “มีปัญหาเรื่องยา ปรึกษาเภสัชกรนะครับ” 
 

แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. American Academy of Ophthalmology. 2019. 2019-2020 BCSC: Basic and Clinical Science Course. American Academy of Ophthalmology.
  2. Grisanti S, and Ayseguel Tura. 2018. “Uveal Melanoma.” In Noncutaneous Melanoma, eds. Jeffrey F. Scott, and Meg R. Gerstenblith (AU): Codon Publications.
  3. Hassel, Jessica C, and Alexander H Enk. 2019. “Melanoma.” In Fitzpatrick’s Dermatology, 9e, eds. Sewon Kang et al. New York, NY: McGraw-Hill Education.
  4. Kaliki, S, and Carol L Shields. 2017. “Uveal Melanoma: Relatively Rare but Deadly Cancer.” Eye (Basingstoke) 31(2): 241–57.


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


ยาที่ผู้หญิงพึงระวัง 24 วินาทีที่แล้ว
ขยับกาย สบายชีวี 1 นาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้