Eng |
อาจารย์ ดร. กภ.ยิ่งรัก บุญดำ ภาควิชาสรีรวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
กล้ามเนื้อแกนกลางลำตัว (core muscles) เป็นกล้ามเนื้อที่อยู่ใกล้กับแกนกลางของลำตัว ทำหน้าที่ในการเคลื่อนไหวกระดูกสันหลัง ก่อให้เกิดกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การเอี้ยวตัวหยิบของ การยกของ หรือการหันหลังกลับไปมองวัตถุ นอกจากนี้ขณะมีการเคลื่อนไหวแขนหรือขา กล้ามเนื้อแกนกลางลำตัวยังมีหน้าที่ในการทรงท่า ทำให้แกนกลางลำตัวอยู่นิ่ง เพิ่มความมั่นคงให้กับกระดูกสันหลัง ช่วยให้การเคลื่อนไหวไม่ว่าจะเป็นการเดินหรือวิ่งทำได้อย่างราบรื่น ความสัมพันธ์ในการทำงานของโครงสร้างต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นนั้นเนื่องมาจากกล้ามเนื้อในร่างกายจะมีการเชื่อมต่อกันด้วยพังผืด (รูปที่ 1) ดังนั้นหากกล้ามเนื้อแกนกลางลำตัวอ่อนแรงหรือไม่ยืดหยุ่นจะสามารถทำให้กำลังของกล้ามเนื้อแขนหรือขาลดลงในขณะทำกิจกรรม ในทางกลับกันหากกล้ามเนื้อแกนกลางลำตัวแข็งแรงก็สามารถเพิ่มกำลังของกล้ามเนื้อแขนหรือขาได้
กล้ามเนื้อแกนกลางลำตัวอยู่ตรงไหนและประกอบด้วยกล้ามเนื้อมัดใดบ้าง ?
เราสามารถรับรู้ตำแหน่งของกล้ามเนื้อแกนกลางลำตัวได้ด้วยการวางมือทั้งสองข้างบริเวณเอว จากนั้นให้แขม่วหรือเกร็งหน้าท้อง พยายามดึงสะดือเข้าหากระดูกสันหลัง เราจะรู้สึกถึงความแน่นของกล้ามเนื้อใต้ผิวหนังบริเวณนั้น ซึ่งตรงตำแหน่งนั้นเองคือกล้ามเนื้อแกนกลางลำตัว โดยกล้ามเนื้อแกนกลางลำตัวจะประกอบด้วยกล้ามเนื้อต่าง ๆ ที่มีส่วนเชื่อมต่อกับกระดูกสันหลัง มีกลุ่มกล้ามเนื้อสำคัญ ๆ ได้แก่ กล้ามเนื้อหลัง กล้ามเนื้อหน้าท้อง กล้ามเนื้อสะโพกและอุ้งเชิงกราน (รูปที่ 2) และอาจรวมถึงกล้ามเนื้อกะบังลมและกล้ามเนื้อบริเวณไหล่ด้วย
กล้ามเนื้อแกนกลางลำตัวกับกิจกรรมต่าง ๆ
แม้ว่ากล้ามเนื้อแกนกลางลำตัวจะมีบทบาทในการทำกิจกรรมหลายประเภท แต่บ่อยครั้งที่เรามักจะไม่ให้ความสนใจกล้ามเนื้อกลุ่มนี้ เราจะตระหนักได้ว่ามีกล้ามเนื้อกลุ่มนี้อยู่ก็ต่อเมื่อความสามารถในการทำกิจกรรมลดลงหรือมีอาการปวดเกิดขึ้นที่บริเวณดังกล่าว กิจกรรมที่อาศัยการทำงานของกล้ามเนื้อแกนกลางลำตัวมีมากมายหลายอย่าง เช่น การก้มใส่รองเท้า การยกของ การปลูกต้นไม้ การนั่งทำงาน การใช้คอมพิวเตอร์ การเล่นกีฬา เป็นต้น จะเห็นได้ว่าเกือบทุกกิจกรรมในชีวิตประจำวันอาศัยการทำงานของกล้ามเนื้อแกนกลางลำตัวร่วมด้วยทั้งสิ้น
ประโยชน์ของการมีกล้ามเนื้อแกนกลางลำตัวที่แข็งแรง
การมีกล้ามเนื้อแกนกลางลำตัวที่แข็งแรงเปรียบเหมือนการล็อคกระดูกสันหลังรอบทิศทาง 360 องศา ทำให้ขณะที่มีการเคลื่อนไหวร่างกายกล้ามเนื้อแกนกลางลำตัวเหล่านี้จะคอยพยุงตัวกระดูกสันหลังให้อยู่ในแนวที่ถูกต้อง โดยการที่มีกล้ามเนื้อแข็งแรงจะทำให้เราทรงท่าหรือเคลื่อนไหวได้อย่างสมดุลและมั่นคง ท่าทางการวางตัวของร่างกายอยู่ในลักษณะที่ถูกต้อง ทำให้จุดศูนย์ถ่วงของร่างกายอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมอันเป็นการลดแรงกระทำต่อกระดูกสันหลัง จึงสามารถลดอาการบาดเจ็บที่อาจจะเกิดขึ้นกับกล้ามเนื้อและโครงสร้างต่าง ๆ ของกระดูกสันหลังได้ ผลของการมีกล้ามเนื้อแกนกลางลำตัวที่แข็งแรงยังช่วยให้การทำงานของแขนขาขณะทำกิจกรรมต่าง ๆ เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น ทำให้นักวิ่งมีช่วงก้าวเท้าที่ยาวขึ้น นักกีฬากอล์ฟสามารถหวดวงสวิงได้ดีขึ้น เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยที่แสดงถึงประโยชน์ของการมีกล้ามเนื้อแกนกลางลำตัวลำตัวที่แข็งแรงต่อการบาดเจ็บที่พบได้บ่อย ดังนี้
การออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความแข็งแรงกล้ามเนื้อแกนกลางลำตัว
สำหรับบทความนี้ ผู้เขียนจะเน้นท่าทางในการออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อแกนกลางลำตัวที่ไม่ต้องใช้อุปกรณ์และสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันและสามารถใช้ได้กับผู้สูงอายุ โดยการออกกำลังกายในผู้สูงอายุนั้นจะเน้นท่าทางที่ถูกต้อง และทำซ้ำในแต่ละท่าจนรู้สึกว่าเหนื่อยระดับปานกลาง โดยหากแบ่งระดับความเหนื่อยจาก 0 ถึง 10 ค่า 0 คือไม่เหนื่อย ความรู้สึกเหมือนนั่งปกติ ค่า 5-6 คือเหนื่อยระดับปานกลาง และค่า 10 คือเหนื่อยจนทนไม่ไหว ท่าทางในการออกกำลังกายมี 4 ท่าด้วยกัน ดังนี้