เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


ยารักษาโรคเบาหวานกับภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ


นศภ. ปาณิสรา อุทัยสินศักดิ์ นักศึกษาฝึกปฏิบัติงานคลังข้อมูลยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล (สอบทานความสมบูรณ์และถูกต้อง : อาจารย์ ดร.ภก. สุรศักดิ์ วิชัยโย)


ภาพประกอบจาก: https://www.gvokeglucagon.com/assets/ima...y-icon.png
อ่านแล้ว 46,021 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 15/06/2563
อ่านล่าสุด 1 ช.ม.ที่แล้ว

Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
 


ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ เป็นหนึ่งในอาการไม่พึงประสงค์ที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยโรคเบาหวาน ซึ่งเกิดจากร่างกายมีระดับกลูโคสในเลือดต่ำกว่าปกติ (ต่ำกว่า 70 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร) โดยภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำอาจรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ป่วย และในบางกรณีอาจเกิดความรุนแรงถึงขั้นพิการและเสียชีวิตได้หากได้รับการรักษาไม่ทันท่วงที ดังนั้น ผู้ป่วยโรคเบาหวานจึงควรสังเกตอาการของตนเองอยู่เสมอ[1,2] 
ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำมีอาการอะไรบ้าง 
อาการที่อาจพบจากภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ได้แก่ ใจสั่น รู้สึกหิว เหงื่อออก มือสั่น กระสับกระส่าย คลื่นไส้ และชา เป็นต้น ส่วนกรณีที่ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำรุนแรงอาจเกิดอาการอ่อนเพลีย มึนงง ปวดศีรษะ ตาพร่ามัว ง่วงซึม หลงลืม เกิดอัมพฤกษ์ครึ่งซีก หมดสติ และชักได้จากการที่สมองขาดกลูโคส[1,2] 
ยารักษาโรคเบาหวานตัวไหนบ้างที่ทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ 
ยารักษาโรคเบาหวานที่มีรายงานการเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำมากที่สุด คือ ยาฉีดอินซูลิน (insulin) และยารับประทานกลุ่มที่มีฤทธิ์กระตุ้นการหลั่งอินซูลินจากตับอ่อนในร่างกาย (ตารางที่ 1) โดยเฉพาะยาในกลุ่มซัลโฟนีลยูเรีย (sulfonylureas) ซึ่งยา glibenclamide อาจทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำมากที่สุดในกลุ่มนี้ เนื่องจากเป็นยาที่ออกฤทธิ์ได้นาน[3] และยากลุ่มที่ไม่ใช่ซัลโฟนีลยูเรีย เช่น repaglinide และ nateglinide เป็นต้น ในขณะที่ยากลุ่มอื่นนั้นมีโอกาสทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำน้อยกว่า (ตารางที่ 1) แต่สามารถเกิดได้เช่นกัน โดยเฉพาะหากใช้ร่วมกับยาฉีดอินซูลินหรือยาที่มีฤทธิ์กระตุ้นการหลั่งอินซูลิน[1,2,4] 
 
ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำจากยารักษาโรคเบาหวานเกิดได้อย่างไร 
เมื่อผู้ป่วยได้รับยาฉีดอินซูลินหรือยากลุ่มที่มีฤทธิ์กระตุ้นการหลั่งอินซูลินเข้าไปในร่างกายจะทำให้มีระดับของอินซูลินในเลือดสูงขึ้น ซึ่งทำให้ตับสร้างน้ำตาลกลูโคสลดลง และเพิ่มการเก็บกลูโคสเข้าสู่เซลล์เพื่อนำไปใช้สร้างพลังงาน ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำลง ทั้งนี้ ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำที่เกิดจากยารักษาโรคเบาหวานนั้น ขึ้นกับชนิดของยา ขนาดยา (ขนาดสูงขึ้นอาจเสี่ยงมากขึ้น) หรือการได้รับยาในช่วงเวลาที่ไม่เหมาะสม รวมถึงมีการรับประทานอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตน้อยกว่าปกติ หรือมีการออกกำลังกายมากกว่าปกติระหว่างที่ใช้ยา[5,6] 
การป้องกันภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ

  1. รับประทานยาตามแพทย์สั่งอย่างครบถ้วนและตรงเวลา[1] โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับยาฉีดอินซูลินและยา กลุ่มที่มีฤทธิ์กระตุ้นการหลั่งอินซูลิน ซึ่งยาแต่ละชนิดถูกออกแบบวิธีการรับประทานมาให้เหมาะสมกับการออกฤทธิ์ของยาเพื่อให้ผู้ป่วยมีระดับอินซูลินในเลือดเพิ่มขึ้นในช่วงที่ระดับน้ำตาลในเลือดกำลังสูงขึ้นจากการรับประทานอาหาร แต่ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่ได้รับประทานอาหาร หรือรับประทานยาและอาหารไม่ตรงเวลา อาจทำให้ผู้ป่วยเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำได้[5]
  2. ควรรับประทานอาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรตในปริมาณเท่าเดิม เช่นเดียวกันกับการออกกำลังกาย โดยหากมีการปรับเปลี่ยนการรับประทานอาหารหรือการออกกำลังกายควรปรึกษาแพทย์[1]
  3. หมั่นวัดระดับน้ำตาลในเลือดอย่างสม่ำเสมอร่วมกับสังเกตอาการของตนเอง[1]

การแก้ไขภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำเบื้องต้น 
หากมีอาการของภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ให้รับประทานอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรต 15 กรัม (ตารางที่ 2) แล้วติดตามอาการหลังจากรับประทานคาร์โบไฮเดรต 15 นาที โดยสามารถใช้เครื่องตรวจระดับน้ำตาลในเลือดชนิดพกพา หากระดับน้ำตาลในเลือดยังคงต่ำอยู่ (ต่ำกว่า 70 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร) ให้รับประทานคาร์โบไฮเดรตอีก 15 กรัม แล้วติดตามอาการและระดับน้ำตาลในเลือดอีกครั้งหลังจากนั้น 15 นาที[1] 
 
กรณีที่ผู้ป่วยมีอาการรุนแรง เช่น หมดสติ หรือไม่ตอบสนองต่อวิธีการแก้ไขข้างต้น หรือเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำบ่อยแม้รับประทานยาและอาหารครบถ้วนตามเวลา และไม่ได้ปรับเปลี่ยนปริมาณการรับประทานอาหารรวมถึงการออกกำลังกาย แนะนำให้ปรึกษาแพทย์เพื่อปรับเปลี่ยนยา[1] โดยห้ามปรับเพิ่มหรือลดขนาดยาเอง 
 

แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. แนวทางเวชปฏิบัติสำหรับโรคเบาหวาน 2560. พิมพ์ครั้งที่ 3. ปทุมธานี: ร่มเย็น มีเดีย, 2560.
  2. Brunton LL, Dandan RH, Knollmann BC. Goodman & Gliman's the pharmacological basis of therapeutics. 13th ed. New York: McGraw-Hill, 2018.
  3. Gangji AS, Cukierman T, Gerstein HC, Goldsmith CH, Clase CM. A systematic review and meta-analysis of hypoglycemia and cardiovascular events: a comparison of glyburide with other secretagogues and with insulin. Diabetes Care 2007; 30(2): 389-94.
  4. American Diabetes Association. Standards of medical care in diabetes—2020. Diabetes Care 2020; 43 (Suppl 1): S1-S212.
  5. Kumar V, Abbas AK, Aster JC. Robbins basic pathology. 10th ed. Pennsylvania: Elsevier, 2018.
  6. Hammer GD, Mcphee SJ. Pathophysiology of disease: an introduction to clinical medicine. 7th ed. New York: McGraw-Hill, 2014.
  7. Whitney E, Debruyne LK, Pinna K, Rolfes SR. Nutrition for health and health care. 4th ed. Belmont: Wadsworth, 2011.
เปิดอ่านด้วย Google Doc Viewer ดาวน์โหลดบทความ (pdf) ดูบทความอื่นๆ

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด



อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้