เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


ไอโอดีน, เบตาดีน ป้องกันสารกัมมันตรังสีได้จริงหรือ


เภสัชกรมรุพงษ์ พชรโชค (เภสัชกรรม)เภสัชกรหญิงลักขณา สุวรรณน้อย (เภสัชกรรม)ผศ. ดร. เภสัชกร กิตติศักดิ์ ศรีภา (เภสัชเคมี)ผศ. ดร. เภสัชกรหญิง ดวงดาว ฉันทศาสตร์ (เภสัชกรรม) คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

อ่านแล้ว 147,151 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 20/03/2554
อ่านล่าสุด 4 นาทีที่แล้ว

Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
 

จากข่าวการระเบิดของโรงงานกัมมันตรังสีที่ฟูกูชิมาในประเทศญี่ปุ่นที่สร้างความตื่นตระหนกไปทั่วโลก เนื่องจากกัมมันตภาพรังสีหลายชนิดเช่น ซีเซียม 137 (Cesium-137 [137Ce]), (ไอโอดีน 131 (Iodine-131 [131I]) มีการฟุ้งกระจายและออกมาปะปนกับชั้นบรรยากาศของพื้นที่ใกล้เคียง โดยเฉพาะ ไอโอดีน 131 ที่มีความสามารถในฟุ้งกระจายในอากาศได้สูงกว่าสารกัมมันตรังสีชนิดอื่นๆ ดังนั้นรัฐบาลญี่ปุ่นจึงมีมาตรการป้องกันการได้รับสารกัมมันตรังสีดังกล่าวตามหลักการสากล โดยมาตรการป้องกันดังกล่าวแนะนำสำหรับประชาชนที่มีความเสี่ยงสูง
Iodine-131 (131I) คือ แร่ธาตุไอโอดีนที่มีคุณสมบัติเป็นสารกัมมันตรังสี ที่มีความคงตัวต่ำ มีค่าครึ่งชีวิตของการสลายตัวประมาณ 8 วัน โดยการสลายตัวของไอโอดีน 131 สามารถสลายตัวได้อนุภาคหลายชนิดรวมถึงรังสีเบต้าและรังสีแกมมา ซึ่งรังสีเบต้าดังกล่าวนี้เองที่มีคุณสมบัติในการทำลายเนื้อเยื่อต่างๆ ได้ดี จึงมีการประยุกต์ใช้คุณสมบัติดังกล่าวของไอโอดีน 131 มาใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ เพื่อทำลายเนื้อเยื่อที่ผิดปกติ ทั้งนี้มีการนำเอาไอโอดีน 131 มาใช้ในการรักษาผู้ป่วยมะเร็งต่อมไทรอยด์ หรือกลุ่มผู้ป่วยที่เป็นคอหอยพอกซึ่งมีการผลิตฮอร์โมนไทรอยด์สูงผิดปกติ เนื่องจากโดยปกติ เนื้อเยื่อของต่อมไทรอยด์เป็นเนื้อเยื่อที่มีความสามารถสูงในการจับกับไอโอดีน (ซึ่งหมายความรวมถึงไอโอดีนทุกชนิด) เพื่อนำไปใช้เป็นสารตั้งต้นในการผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ในการทำหน้าที่ควบคุมระบบต่างๆ ภายในร่างกาย ดังนั้นเมื่อต่อมไทรอยด์มีขนาดโตผิดปกติเนื่องจากมะเร็งหรือเป็นคอหอยพอก ไอโอดีน 131 ที่ให้เข้าไปก็จะถูกจับไว้ในเนื้อเยื่อของต่อมไทรอยด์และไปทำลายมะเร็งหรือเนื้อเยื่อที่ผิดปกตินั้นได้
หลายคนคงสงสัยว่า ในคนปกติหากได้รับ ไอโอดีน 131 แล้วจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง แล้วเราสามารถหาวิธีป้องกัน หรือลดความเสี่ยงนั้นได้อย่างไร จากที่ได้กล่าวข้างต้นแล้วว่า ไอโอดีน 131 สลายตัวได้รังสีที่สามารถทำลายเนื้อเยื่อได้ ดังนั้นหากในคนปกติที่ได้รับสารกัมมันตรังสีชนิดนี้ ร่างกายจะมีการดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดและถูกดักจับเพื่อขนส่งเข้าสู่ต่อมไทรอยด์ต่อไป ผลที่เกิดขึ้นก็คือ เนื้อเยื่อของต่อมไทรอยด์อาจถูกทำลาย และกลายไปเป็นภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมนได้ นอกจากนี้ยังอาจเกิดผลในอีกด้านหนึ่งคือทำให้เป็นมะเร็ง การศึกษาทางระบาดวิทยาพบว่ากลุ่มประชากรที่อยู่บริเวณที่มีสารกัมมันตรังสีชนิด ไอโอดีน 131 สูง โดยเฉพาะเด็กทารก มีโอกาสเกิดมะเร็งต่อมไทรอยด์ได้สูงกว่าคนทั่วไป อีกทั้งยังมีโอกาสเกิดมะเร็งเม็ดเลือดขาว (leukemia) ได้อีกด้วย จากความเสี่ยงดังกล่าวนี้เอง มาตรการการป้องกันต่างๆ จึงถูกนำมาใช้เพื่อลดความเสี่ยงให้มากที่สุด โดยวิธีการลดความเสี่ยงที่กำลังเป็นที่พูดถึงกันอย่างมากในขณะนี้คือการใช้ไอโอดีนทั้งในรูปแบบการรับประทานและการทาผิวหนังนั่นเอง
เกลือโปแตสเซียม ไอโอไดด์ (potassium iodide) ได้รับการอนุมัติจากองค์การอาหารและยา สหรัฐอเมริกา เพื่อใช้สำหรับการป้องกันการได้รับ ไอโอดีน 131 (radiation exposure) แต่ไม่มีผลป้องกันในสารกัมมันตรังสีชนิดอื่นๆ โดยขนาดที่แนะนำคือ โปแตสเซียม ไอโอไดด์ 130 มิลลิกรัมต่อวัน โดยรับประทานก่อนที่จะเข้าเขตกัมมันตภาพรังสีอย่างน้อย 12 ชั่วโมง ซึ่งจะให้ประสิทธิภาพในการป้องกันได้มากกว่าร้อยละ 90 และแนะนำให้รับประทานต่อเนื่องจนกว่าจะออกจากบริเวณพื้นที่ที่มีความเสี่ยง อย่างไรก็ตาม หากรับประทาน โปแตสเซียม ไอโอไดด์ หลังจากที่ได้รับ ไอโอดีน 131 แล้วภายใน 3-4 ชั่วโมง ยังพบว่ามีประสิทธิภาพในการป้องกันได้ร้อยละ 50 แต่หากรับประทานหลังจากนั้นเกิน 6 ชั่วโมง ยังไม่มีการศึกษายืนยันถึงประสิทธิภาพ
สำหรับประสิทธิภาพในการป้องกันอันตรายจาก ไอโอดีน 131 นั้นสามารถอธิบายได้จากการที่ต่อมไทรอยด์นั้นสามารถดักจับแร่ธาตุไอโอดีนได้ในทุกรูปแบบ อย่างไรก็ตามต่อมไทรอยด์นั้นจะจับกับไอโอดีนได้ในปริมาณจำกัด ดังนั้นจึงอาศัยหลักการนี้ในการให้แร่ธาตุไอโอดีนในรูปที่มีความคงตัวสูงในปริมาณสูง เพื่อให้เนื้อเยื่อของต่อมไทรอยด์จับกับไอโอดีนจนอิ่มตัว ดังนั้นหากมีการเข้าพื้นที่ที่มีสารกัมมันตรังสี ไอโอดีน 131 จะไม่สามารถจับกับเนื้อเยื่อในต่อมไทรอยด์ได้อีก แต่จะถูกขับออกจากร่างกายทางปัสสาวะ อย่างไรก็ตามการรับประทานไอโอดีนในปริมาณสูงนั้นมีข้อควรระวังหลายประการ เช่น เกิดการแพ้อย่างรุนแรง หัวใจเต้นผิดปกติ ระดับฮอร์โมนไทรอยด์ผิดปกติ นอกจากนี้ควรพิจารณาใช้ในกรณีที่มีข้อบ่งใช้ที่ชัดเจน ซี่งควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์เท่านั้น นอกจากนี้ในกรณีที่ไม่สามารถหา เกลือโปแตสเซียม ไอโอไดด์ได้ มีบางคำแนะนำที่แนะนำให้ใช้ lugol’s solution ซึ่งเป็นสารละลายที่มีเกลือโปแตสเซียม ไอโอไดด์อยู่ร้อยละ 10
ในปัจจุบันมีการกล่าวกันว่า การใช้ยาเบตาดีนซึ่งเป็นยาทาแผล หากนำมาทาผิวหนังจะสามารถป้องกันอันตรายจาก ไอโอดีน 131 คำกล่าวนี้มีข้อควรพิจารณาหลายประเด็น เช่น การใช้ยาทาจะได้ผลหรือไม่ ขนาดใช้ควรเป็นเท่าใด

เบตาดีน คืออะไร? เบตาดีน (betadine) เป็นชื่อการค้าของยาโพวิโดนไอโอดีน (povidone iodine) ผลิตภัณฑ์เป็นสารละลายมีความเข้มข้น 10%

โพวิโดน ไอโอดีน คืออะไร? โพวิโดน ไอโอดีน เป็นยาฆ่าเชื้อใช้ภายนอก (topical antiseptic) ที่มีส่วนประกอบของไอโอดีน มีประสิทธิภาพดีต่อการฆ่าเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา เชื้อไวรัส และโปรโตซัว
โพวิโดน ไอโอดีน ชนิดสารละลาย ที่จำหน่ายในประเทศไทยมีความเข้มข้นของโพวิโดน ไอโอดีน 10% ซึ่งเทียบเท่ากับไอโอดีนความเข้มข้น 1%

โพวิโดน ไอโอดีนมีการใช้ประโยชน์ทางการแพทย์อย่างไร เนื่องจากโพวิโดน ไอโอดีนเป็นยาฆ่าเชื้อใช้ภายนอกที่มีประสิทธิภาพดี จึงนิยมนำมาใช้เพื่อรักษาแผลสด หรือใช้ในโรงพยาบาลเพื่อฆ่าเชื้อก่อนและ/หลังผ่าตัด เป็นต้น

มีข้อควระวังการใช้โพวิโดน ไอโอดีนอะไรบ้าง การใช้โพวิโดน ไอโอดีนอาจมีอาการแพ้เกิดขึ้นได้ ซึ่งมีตั้งแต่ผื่นคัน ไปจนถึงปากบวม หายใจไม่ออก นอกจากนี้หญิงตั้งครรภ์ และมารดาที่ให้นมบุตรก็ควรหลีกเลี่ยงการใช้โพวิโดน ไอโอดีน

การใช้โพวิโดน ไอโอดีนเพื่อป้องกันสารกัมมันตรังสี การใช้ โพวิโดน ไอโอดีน ทาที่ผิวหนัง เช่น แขน หรือคอ โดยหวังว่าจะป้องกันไม่ให้สารกัมมันตรังสีดูดซึมเข้าไปสะสมที่ต่อมไทรอยด์ได้นั้น ไม่ใช่วิธีที่เป็นมาตรฐาน การทายาดังกล่าวอาจมีไอโอดีนดูดซึมผ่านผิวหนังเข้าสู่กระแสเลือดได้บ้าง แต่ปริมาณไอโอดีนที่เข้าสู่กระแสเลือดดังกล่าวต่ำกว่าการรับประทานยาโปแตสเซียมไอโอไดด์ซึ่งเป็นวิธีการที่ได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยามาก นอกจากนี้ยังมีปัจจัยหลายประการที่มีผลต่อการดูดซึมของโพวิโดนไอโอดีน เช่น ขนาดความเข้มข้นของตัวยา ปริมาณยา รูปแบบของยาเตรียม บริเวณที่ทายา หากทายาบริเวณที่มีชั้นไขมันมาก การดูดซึมจะต่ำ นอกจากนี้สภาพอากาศ เช่น อุณหภูมิและความชื้นสัมพัทธ์ขณะทายายังมีผลต่อการดูดซึมยาได้อีกด้วย จากปัจจัยต่างๆที่กล่าวมาแล้วข้างต้นจึงไม่สามารถรับประกันได้ว่าผู้ที่ทายารูปแบบดังกล่าวที่ผิวหนังจะได้รับไอโอดีนในปริมาณที่สามารถป้องกัน ไอโอดีน 131 ได้ นอกจากนี้ ปัจจุบันยังขาดข้อมูลสนับสนุนทางคลินิกเกี่ยวกับ ปริมาณโพวิโดน ไอโอดีน และระยะเวลาที่เหมาะสม เพื่อใช้ป้องกันสารกัมมันตรังสีชนิด ไอโอดีน 131 ดังนั้นจึงไม่แนะนำการใช้ยาดังกล่าวในข้อบ่งใช้นี้

แหล่งอ้างอิง/ที่มา


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


การตรวจปัสสาวะ 19 วินาทีที่แล้ว
23 วินาทีที่แล้ว
เชื้อโรคในห้องสุขา 31 วินาทีที่แล้ว
33 วินาทีที่แล้ว
แกงเลียง อาหารเป็นยา 46 วินาทีที่แล้ว
1 นาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้