เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


มะเร็งตับ รู้เร็ว วินิจฉัยเร็ว รักษาหายได้


ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.คณิสส์ เสงี่ยมสุนทร ภาควิชาชีวเคมี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพประกอบจาก: https://2nznub4x5d61ra4q12fyu67t-wpengin...ancer1.gif
อ่านแล้ว 59,924 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 21/02/2561
อ่านล่าสุด 1 วันที่แล้ว
https://tinyurl.com/ycdp67t4
Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ https://tinyurl.com/ycdp67t4
 

ร่างกายของคนเรานั้นจะดำรงอยู่ได้เพราะอาศัยการทำงานร่วมกันของอวัยวะสำคัญอยู่หลายชนิด หากเราพิจารณาถึงอวัยวะที่มีความสำคัญต่อชีวิต (vital organs) อวัยวะเหล่านี้ได้แก่ สมอง หัวใจ ไต ตับ และ ปอด ถ้าหากเกิดโรคหรือความผิดปกติกับอวัยวะเหล่านี้ เราจะไม่สามารถมีชีวิตอย่างปกติสุขได้ จากสภาพแวดล้อมและสังคมในปัจจุบัน อวัยวะที่รับบทหนักในการทำงานเพื่อรักษาสมดุลร่างกาย กำจัดสารพิษ หรือแม้แต่การเปลี่ยนแปลงทางเคมีของยาให้ออกฤทธิ์ในการรักษาโรค ย่อมหนีไม่พ้น ตับ ที่ทำหน้าที่ครอบจักรวาลเหล่านี้ ตำแหน่งของตับจะอยู่บริเวณช่องท้องใต้ชายโครงด้านขวา หน้าที่ของตับที่สำคัญได้แก่ การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด การสร้างและเก็บสะสมแป้งและไขมันเพื่อเป็นพลังงาน การสร้างกรดอะมิโนรวมทั้งวิตามิน ผลิตน้ำดี และการกำจัดของเสียในระบบไหลเวียนเลือด

ภาพจาก : http://liverandpancreassurgeon.com/wp-content/uploads/2016/11/
primary-secondary-liver-cancer-surgeon-baltimore-md.jpg

มะเร็งตับ (liver cancer) จะเกิดขึ้นเมื่อเซลล์ในบริเวณตับมีการแบ่งตัวเพิ่มจำนวนอย่างผิดปกติและพัฒนาเป็นมะเร็งในที่สุด หรืออาจเกิดจากการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งจากอวัยวะอื่น ๆ มายังตับก็ได้ ผู้ป่วยโรคมะเร็งตับจะไม่แสดงอาการจนกว่าก้อนมะเร็งจะมีขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นระยะที่ยากต่อการรักษา จากการรายงานขององค์การอนามัยโลกพบว่ามะเร็งตับเป็นมะเร็งที่พบเป็นอันดับที่ 6 จากมะเร็งทั้งหมด นอกจากนั้นยังเป็นสาเหตุการเสียชีวิตจากมะเร็งเป็นอันดับที่ 3 ในประเทศไทยจะพบอัตราการป่วยจากมะเร็งตับเป็นอันดับ 3 ในเพศชายและอันดับ 7 ในเพศหญิง
มะเร็งตับมีอาการของโรคอย่างไรบ้าง ?
เนื่องจากโรคมะเร็งตับจะไม่มีอาการบ่งบอกในระยะแรกเริ่ม จนกระทั่งก้อนมะเร็งพัฒนาจนเกิดพยาธิสภาพหรือความผิดปกติของหน้าที่ตับจึงจะพบอาการเหล่านี้ เช่น น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน เจ็บช่องท้องส่วนบน โดยมักปวดบริเวณด้านขวา มีอาการบวมที่ช่องท้องหรือคลำพบก้อนใต้ชายโครงด้านขวาเนื่องจากตับโต ผิวหนังและตาเหลือง (ดีซ่าน) อุจจาระมีสีซีดลง อ่อนแรงและรู้สึกไม่สบายตัวและอาจมีไข้
ปัจจัยใดบ้างเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดมะเร็งตับ ?
ปัจจัยที่อาจจะส่งเสริมต่อการเกิดโรคมะเร็งตับ ได้แก่ ภาวะตับแข็งจากสาเหตุต่าง ๆ โดยปัจจัยที่พบได้บ่อย คือ การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ไวรัสตับอักเสบซี และตับแข็งจากการดื่มสุรา นอกจากนั้นแล้วภาวะตับแข็งอาจเกิดจากภาวะไขมันเกาะตับ ภาวะมีโลหะสะสมในตับเช่นเหล็กและทองแดง ภาวะภูมิคุ้มกันต่อต้านตับตนเอง การรับประทานอาหารที่ปนเปื้อน อะฟลาทอกซิน (aflatoxin) จากราที่พบในอาหารแห้ง เช่น ถั่วลิสง หรือ พริกป่นแห้ง ภาวะโรคเบาหวานและการได้รับสารกำจัดศัตรูพืช สิ่งเหล่านี้นับว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งตับ
ท่านใดบ้างควรเข้ารับการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งตับ ?
วัตถุประสงค์ของการตรวจหาโรคมะเร็งตับในช่วงระยะเริ่มต้น เพื่อหวังให้ผู้ป่วยได้เข้ารับการรักษาอย่างทันท่วงที เพิ่มโอกาสในหายขาดจากโรคและลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งให้ได้มากที่สุด โดยผู้ที่ควรเข้ารับการตรวจคัดกรองได้แก่บุคคลเหล่านี้
  1. ผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดบีเรื้อรัง หรือ มีญาติสายเลือดตรงเป็นมะเร็งตับ
  2. ผู้ป่วยโรคไวรัสตับอักเสบชนิดซีเรื้อรังและตรวจพบพยาธิสภาพของเนื้อตับว่ามีพังผืดมาก
  3. ผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดบี เพศชายที่มีอายุมากกว่า 40 ปี และเพศหญิงที่มีอายุมากกว่า 50 ปี
  4. ผู้ป่วยทุกรายที่มีอาการตับแข็ง โดยการเกิดมะเร็งตับไม่ขึ้นอยู่กับสาเหตุการเกิดภาวะตับแข็ง
การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งตับมีกี่วิธี อะไรบ้าง ?
การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งตับที่นิยมในปัจจุบันแบ่งออกเป็น 4 วิธีดังนี้
  1. การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (computer tomography) เป็นวิธีการถ่ายภาพด้วยรังสีเอกซเรย์ (CT scan) จากหลาย ๆ มุมของร่างกายคนไข้ในเครื่องตรวจ จากนั้นเครื่องคอมพิวเตอร์จะนำภาพที่ได้มาประมวลผลและสร้างเป็นภาพตัดขวางที่มองเห็นอวัยวะต่าง ๆ ได้อย่างชัดเจน ส่วนใหญ่ต้องอาศัยการฉีดสารทึบรังสีเพื่อให้ได้ภาพที่ชัดเจนมากขึ้น เพื่อทำให้การวินิจฉัยแม่นยำ ข้อควรระวังในการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ คือ ผู้ป่วยจะได้รับรังสีจากการทำเอกซเรย์และสารทึบแสงที่ฉีดเข้าร่างกายอาจส่งผลต่อการทำงานของไต จึงไม่ควรใช้วิธีนี้ในผู้ป่วยโรคไตและไม่ควรตรวจบ่อยถ้าไม่จำเป็น
  2. การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (magnetic resonance imaging) หรือ MRI เป็นวิธีการตรวจโดยอาศัยสนามแม่เหล็กพลังงานสูงในการสร้างภาพของอวัยวะต่าง ๆ ภายในร่างกาย เนื่องจากตับมีขนาดใหญ่จึงสามารถตรวจเห็นความผิดปกติด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าได้อย่างชัดเจน ข้อดีของวิธีตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าคือไม่มีรังสีตกค้างในร่างกาย อีกทั้งสารทึบแสงที่ใช้ไม่ส่งผลเสียต่อไต แต่ข้อจำกัดของวิธีนี้คือต้องใช้เวลาในการตรวจนาน เสียงเครื่องตรวจดังรบกวนผู้ป่วย และไม่สามารถทำการตรวจผู้ป่วยที่มีการฝังโลหะอยู่ในร่างกายได้
  3. การตรวจด้วยเครื่องความถี่สูงหรืออัลตร้าซาวด์ (ultrasonography) วิธีนี้จะอาศัยการให้พลังงานคลื่นเสียงความถี่สูงส่งไปยังอวัยวะเป้าหมายที่ต้องการตรวจ และตรวจจับคลื่นเสียงสะท้อนกลับมาสร้างเป็นภาพ สามารถตรวจได้ง่ายและไม่เป็นอันตราย การตรวจอัลตร้าซาวด์ตับจะสามารถมองเห็นก้อนหรือความผิดปกติที่ตับได้โดยไม่ต้องอาศัยสารทึบแสงเหมือนการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ อย่างไรก็ตามวิธีนี้จะไม่สามารถระบุลักษณะของก้อนได้อย่างชัดเจนว่าเป็นมะเร็งหรือไม่ ดังนั้นหากตรวจพบก้อนด้วยวิธีอัลตร้าซาวด์แล้ว จะต้องตรวจเพิ่มเติมเพื่อวินิจฉัยโรคด้วยวิธีอื่น ๆ อีกครั้ง
  4. การตรวจสารบ่งชี้โรคมะเร็งตับ (liver tumor marker) สารบ่งชี้มะเร็งคือสารที่เซลล์มะเร็งสร้างขึ้นและปลดปล่อยเข้าสู่ระบบไหลเวียนในร่ายกาย สารเหล่านี้สามารถตรวจพบได้ในเลือด สารคัดหลั่ง และเนื้อเยื่อต่าง ๆ การตรวจพบระดับสารบ่งชี้มะเร็งในระดับสูง อาจหมายถึงการมีเซลล์มะเร็งบางชนิดในร่างกาย แต่อย่างไรก็ตามค่าสารบ่งชี้มะเร็งไม่ได้มีความจำเพาะทุกครั้ง เช่นค่าสารบ่งชี้มะเร็งสูงอาจเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ และในบางครั้งผู้ที่เป็นมะเร็งอาจตรวจพบค่าสารบ่งชี้มะเร็งในปริมาณที่ต่ำก็ได้
การตรวจสารบ่งชี้มะเร็งตับจะนิยมตรวจ ค่าอัลฟาฟีโตโปรตีน (alpha-fetoprotein, AFP) เป็นค่าที่ใช้ในการบ่งชี้ที่ค่อนข้างจำเพาะกับมะเร็งตับและใช้ในการตรวจคัดกรองมะเร็งตับเบื้องต้นได้ อย่างไรก็ตามภาวะอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นในร่างกาย เช่น ตับอักเสบจากสาเหตุต่าง ๆ ภาวะการตั้งครรภ์ มะเร็งอัณฑะบางชนิด สามารถทำให้ค่าอัลฟาฟีโตโปรตีนในเลือดสูงขึ้นได้ ถ้าหากผู้เข้ารับการตรวจไม่พบก้อนในตับ แต่มีค่าอัลฟาฟีโตโปรตีนสูงจะยังไม่สามารถวินิจฉัยได้ว่าเป็นมะเร็งตับ
หากท่านเป็นผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงโรคมะเร็งตับจะมีวิธีเฝ้าระวังอย่างไร ?
สำหรับท่านที่มีปัจจัยเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งตับควรเข้ารับการตรวจคัดกรองด้วยคลื่นความถี่สูงหรืออัลตราซาวด์ บริเวณช่องท้องส่วนบนเป็นประจำทุก ๆ 6 – 12 เดือน และควรตรวจค่าสารบ่งชี้มะเร็งตับ อัลฟาฟีโตโปรตีน ในเลือดร่วมด้วย หากเมื่อท่านตรวจคัดกรองแล้วพบก้อนในตับจากวิธีอัลตราซาวด์ แพทย์จะส่งตรวจเพิ่มเติมด้วยวิธีเอกซเรย์คอมพิวเตอร์หรือการตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเพื่อวินิจฉัยก้อนว่าเป็นเนื้องอกธรรมดาหรือเป็นมะเร็ง หากผู้ตรวจคัดกรองพบอัลฟาฟีโตโปรตีนในเลือดสูง โดยไม่พบก้อนจากการอัลตราซาวด์ให้ผู้ป่วยเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดและตรวจหาค่าอัลฟาฟีโตโปรตีนซ้ำอีกครั้งภายในระยะเวลา 3 – 4 เดือน และหากค่ายังสูงอยู่ควรตรวจเพิ่มเติมด้วยวิธีเอกซเรย์คอมพิวเตอร์หรือการตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเพื่อตรวจหาก้อนในตับอย่างละเอียด
หากผู้อ่านท่านใดมี พ่อ แม่ พี่ น้อง หรือ ญาติ เป็นผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอับเสบชนิด บี หรือ ซี เป็นโรคตับแข็ง หรือดื่มสุราเป็นประจำ มีอายุมากกว่า 40 ปี ในเพศชาย หรือ มากกว่า 50 ปี ในเพศหญิง หรือมีญาติร่วมสายเลือดเป็นมะเร็งตับ บุคคลเหล่านี้ควรเข้าพบแพทย์เพื่อตรวจคัดกรองมะเร็งตับด้วยวิธีการอัลตราซาวด์บริเวณช่องท้องส่วนบน พร้อมทั้งเจาะเลือดตรวจค่าอัลฟาฟีโตโปรตีนทุก ๆ 6 เดือน อย่าลืมนะครับ โรคมะเร็งตับ รู้เร็ว วินิจฉัยเร็ว รักษาได้ เพื่อสุขภาพที่ดีของท่านผู้อ่านเองและบุคคลที่คุณรัก สวัสดีครับ
แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. https://www.cancer.org/cancer/liver-cancer/detection-diagnosis-staging.html
  2. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/liver-cancer/diagnosis-treatment/drc-20353664
  3. https://www.nhs.uk/conditions/liver-cancer/diagnosis/
  4. https://www.medicinenet.com/liver_cancer_hepatocellular_carcinoma/article.htm
  5. รู้ทันโรคมะเร็ง ผ่าตัดได้หายขาด ก่อนตับจะป่วย รู้ก่อนป้องกันได้ อ.นพ.ชุติวิชัย โตวิกกัย 99 ปี ศัลยศาสตร์ศิริราช “สุขภาพน่ารู้สู่ประชาชน” 2559
เปิดอ่านด้วย Google Doc Viewer ดาวน์โหลดบทความ (pdf) ดูบทความอื่นๆ

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้

งานประชุมวิชาการที่กำลังเปิดรับสมัคร


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


มะระขี้นก 11 วินาทีที่แล้ว
ยาคุมกำเนิดชนิดฉีด 12 วินาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้