เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


บัวตอง ... ดอกไม้บนยอดดอย


กนกพร อะทะวงษา สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล


ภาพประกอบจาก: https://cdn.pixabay.com/photo/2012/08/07...60_720.jpg
อ่านแล้ว 13,443 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 16/02/2561
อ่านล่าสุด 1 วันที่แล้ว

Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
 


ในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนถึงต้นเดือนธันวาคม บัวตองจะผลิดอกบาน มองไกลๆ เห็นเป็นภูเขาสีเหลืองทองที่ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมชมและเก็บภาพเป็นที่ระลึก จนเกิดเป็นเทศกาลดอกบัวตองบานสัญลักษณ์การเข้าสู่ฤดูหนาวของหลายจังหวัดทางภาคเหนือ 
 
ภาพจาก : http://st1.thehealthsite.com/wp-content/uploads/2017/09/ocps-655x353.jpg 
บัวตอง (Tithonia diversifolia (Hemsl.) A. Gray.) มีถิ่นกำเนิดในประเทศเม็กซิโกและแถบอเมริกากลาง เริ่มแรกถูกนำเข้ามาปลูกเพื่อความสวยงาม แต่ปัจจุบันแพร่กระจายทั่วไปในที่โล่งและไร่ร้างทางภาคเหนือในพื้นที่สูงประมาณ 600 - 1200 ม. เหนือระดับน้ำทะเล บัวตองเป็นไม้ล้มลุก มีไหลใต้ดิน ใบ เป็นใบเดี่ยวออกสลับ รูปไข่หรือรูปไข่แกมขอบขนาน ด้านบนสีเขียวเข้ม ด้านล่างสีเขียวอมเทา มีขนประปรายทั้ง 2 ด้าน ดอก สีเหลืองทองออกที่ปลายกิ่ง(1) แต่มีใครจะทราบไหมว่าแท้จริงแล้วบัวตองถือเป็นวัชพืชต่างถิ่นที่เข้ามารุกรานพืชในบ้านเรา เนื่องจากส่วนรากสามารถปล่อยสารเคมีที่เป็นพิษต่อพืชชนิดอื่น (phytotoxic) ทำให้พืชอื่นไม่สามารถเจริญเติบโตในพื้นที่เดียวกับบัวตอง (allelopathy)(2) อีกทั้งบัวตองยังเป็นพืชที่สามารถขยายพันธุ์ได้รวดเร็ว กระจายพันธุ์ได้ง่ายทั้งจากเมล็ด และการเจริญเติบโตของไหลใต้ดิน ส่งผลให้เมื่อบัวตองเจริญเติบโตขึ้นที่ใด จะค่อยๆ ขยายอาณาเขตเข้าครอบครองพื้นที่นั้นที่ละน้อยจนเต็มถาวรในที่สุด อย่างไรก็ตามมีหลายหน่วยงานที่ตระหนักถึงเหตุการณ์นี้จึงมีการเข้าควบคุมบัวตองให้อยู่ภายในพื้นที่ที่จำกัด และติดตามการกระจายพันธุ์อย่างใกล้ชิด เพื่อลดปัญหาการถูกรุกรานพืชอื่นในพื้นที่ใกล้เคียง 
แต่นอกจากความสวยงามแล้วใช่ว่าบัวตองจะไม่มีประโยชน์ด้านอื่น การศึกษาวิจัยหลายฉบับพบว่าใบบัวตองมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ โดยสาร sesquiterpene ได้แก่ diversifolin, diversifolin methyl ether และ tirotundin ที่พบในส่วนใบมีฤทธิ์อย่างแรงในการยับยั้งการทำงานของ nuclear factor kappa-beta ซึ่งเป็นไซโตคายน์ที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบ(3) และสารสกัดเมทานอลจากใบบัวตอง ขนาด 50 - 200 มก. สามารถต้านการอักเสบในหนูแรทที่ถูกกระตุ้นให้เกิดการบวมที่อุ้งเท้าด้วยการฉีดสารคาราจีแนน และการต้านอักเสบแบบเรื้อรังจากการเหนี่ยวนำด้วยวิธี cotton pellet-induced granuloma รวมทั้งบรรเทาอาการปวดในหนูแรทเมื่อทดสอบด้วยวิธีให้ยืนบนแท่นร้อน(4) การศึกษาเปรียบเทียบฤทธิ์ของสารสกัดน้ำจากใบบัวตอง เมื่อทดสอบโดยการทาสารสกัดบริเวณหูของหนูแรทที่เหนี่ยวนำให้เกิดการบวมด้วยน้ำมันสลอด พบว่าสามารถออกฤทธิ์ยับยั้งการอักเสบได้ใกล้เคียงกับการใช้ยา indomethacin และยังสามารถยับยั้ง neutrophil migration ซึ่งกลไกนี้ไม่พบในกลุ่มที่ใช้ยา indomethacin(5) 
นอกจากนี้ยังพบฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดของสารสกัด 70% เอทานอลจากต้นบัวตองขนาด 500 มก./กก. ช่วยลดน้ำตาลในหมูเม้าส์ที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 (KK-Ay-mice) ได้ภายใน 7 ชม. หลังจากป้อนเพียงครั้งเดียว และเมื่อป้อนในขนาดเดียวกัน ติดต่อกันนาน 3 สัปดาห์ ยังช่วยลดปริมาณอินซูลิน รวมทั้งปรับปรุงความทนต่ออินซูลิน (insulin tolerance) ในหนูเม้าส์ที่เป็นเบาหวานได้ แต่ไม่มีผลต่อระดับน้ำตาลในหนูปกติ(6) การศึกษาต่อมาพบว่าสาร sesquiterpene ที่แยกได้จากสารสกัด 70% เอทานอลจากดอกบัวตอง มีผลเพิ่มการนำกลูโคสเข้าสู่เซลล์ (glucose uptake) ในเซลล์ 3T3-L1 adipocytes(7) รวมทั้งสามารถออกฤทธิ์เพิ่มการทำงานของ peroxisome proliferatior-activaterd receptors (PPARs) และการแสดงออกของยีน hydrosteroid sulfotransferase (SULT2A1) ซึ่งมีบทบาทในการควบคุมกระบวนการเมทาบอลิสมน้ำตาลและคาร์โบไฮเดรตในร่างกาย(8) สารซาโปนินจากใบของบัวตอง ยังสามารถลดระดับไขมันในสัตว์ทดลองที่มีระดับไขมันปกติ โดยลดทั้งคอเลสเตอรอลรวม คอลเลสเตอรอล ชนิด LDL และไตรกลีเซอร์ไรด์ รวมถึงเพิ่มระดับคอเลสเตอรอล ชนิด HDL ด้วย(9) และยังมีผลป้องกันการเกิดอนุมูลอิสระ ปกป้องการเปลี่ยนแปลงเซลล์ต้นกำเนิดชนิด มีเซนไคม์ (mesenchymal stem cell) ให้เป็นเซลล์ไขมัน adipocyte สะสมในร่างกาย(10) จากการศึกษาความเป็นพิษแบบเฉียบพลันในหนูแรท โดยป้อนสารสกัด 70% เอทานอลจากต้นบัวตองขนาด 400 – 1,600 มก./กก. น้ำหนักตัว ซึ่งมากกว่าขนาดที่ให้ผลในการออกฤทธิ์ลดน้ำตาลถึง 3 เท่า ไม่พบอาการความเป็นพิษในสัตว์ทดลอง(11) 
จากรายงานข้างต้นจะเห็นว่าแม้บัวตองจะเป็นวัชพืชและอาจเป็นภัยต่อพืชบางชนิด แต่ก็มีฤทธิ์ทางยาที่น่าสนใจและควรมีการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อไป 
 

แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. สุธรรม อารีกุล. องค์ความรู้เรื่องพืชป่าที่ใช้ประโยชน์ทางภาคเหนือของประเทศไทย เล่ม 3. เชียงใหม่: มูลนิธิโครงการหลวง; 2552.
  2. Suzuki M, Iwasaki A, Suenaga K, Kato-Noguchi H. Phytotoxic property of the invasive plant Tithonia diversifolia and a phytotoxic substance. Acta Biol Hung. 2017;68(2):187-95.
  3. Rüngeler P, Lyss G, Castro V, Mora G, Pahl HL, Merfort I. Study of three sesquiterpene lactones from Tithonia diversifolia on their anti-inflammatory activity using the transcription factor NF-kappa β and enzymes of the arachidonic acid pathway as targets. Planta Med 1998;64(7):588-93.
  4. Owoyele VB, Wuraola CO, Soladoye AO, Olaleye SB. Studies on the anti-inflammatory and analgesic properties of Tithonia diversifolia leaf extract. J Ethnopharmacol 2004;90(2-3):317-21.
  5. Chagas-Paula DA, Oliveira RB, da Silva VC, et al. Chlorogenic acids from Tithonia diversifolia demonstrate better anti-inflammatory effect than indomethacin and its sesquiterpene lactones. J Ethnopharmacol 2011;136(2):355-62
  6. Miura T, Nosaka K, Ishii H, Ishida T. Antidiabetic effect of Nitobegiku, the herb Tithonia diversifolia, in KK-Ay diabetic mice. Biol Pharm Bull 2005;28(11):2152-4.
  7. Zhao G, Li X, Chen W, Xi Z, Sun L. Three new sesquiterpenes from Tithonia diversifolia and their anti-hyperglycemic activity. Fitoterapia 2012;83(8):1590-7
  8. Lin HR. Sesquiterpene lactones from Tithonia diversifolia act as peroxisome proliferator-activated receptor agonists. Bioorg Med Chem Lett 2012;22(8):2954-8.
  9. Ejelonu OC, Elekofehinti OO, Adanlawo IG. Tithonia diversifolia saponin-blood lipid interaction and its influence on immune system of normal wistar rats. Biomed Pharmacother. 2017;87:589-595.
  10. Di Giacomo C, Vanella L, Sorrenti V, Santangelo R, Barbagallo I, Calabrese G, et al. Effects of Tithonia diversifolia (Hemsl.) A. Gray extract on adipocyte differentiation of human mesenchymal stem cells. PLoS One. 2015;7;10(4):e0122320.
  11. Elufioye TO, Alatise OI, Fakoya FA, Agbedahunsi JM, Houghton PJ. Toxicity studies of Tithonia diversifolia A. Gray (Asteraceae) in rats. J Ethnopharmacol 2009;122(2):410-5


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด



อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้