เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


ยาธาตุอบเชย...เชยหรือไม่ที่จะใช้


รองศาสตราจารย์ ภญ. รุ่งระวี เต็มศิริฤกษ์กุล ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล


ภาพประกอบจาก: http://www.goosiam.com/health/html/00086...08674.html
อ่านแล้ว 68,925 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 21/09/2559
อ่านล่าสุด 1 วันที่แล้ว

Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
 


ยาธาตุอบเชยคืออะไร 
ถ้าพูดถึงยาธาตุ ทุกคนคงคิดถึงยาธาตุน้ำแดง หรือยาธาตุน้ำขาว ซึ่งเป็นยาที่ใช้กันมานานเพื่อรักษาอาการท้องอืดท้องเฟ้อ อาหารไม่ย่อย ที่จริงแล้วคำว่า “ยาธาตุ” ในการแพทย์แผนไทย หมายถึง กลุ่มยารักษาธาตุในร่างกายของเราให้เป็นปกติ โดยเริ่มจากการปรับสมดุลย์ธาตุลม และธาตุไฟ ยาธาตุอบเชยเป็นหนึ่งในยาธาตุ ซึ่งมีสรรพคุณในการบรรเทาอาการท้องอืดท้องเฟ้อ ปรับการทำงานของธาตุลมและไฟให้เป็นปกติ ทำให้ร่างกายเข้าสู่สมดุลได้ 
 
ยาธาตุอบเชย บางครั้งเรียกว่า ยาธาตุเปลือกอบเชย เป็นยาธาตุที่ตั้งตำรับขึ้น โดยมี เปลือกอบเชยเทศ เปลือกสมุลแว้ง ลูกกระวาน ดอกกานพลู รากชะเอมเทศ เป็นตัวยาหลัก พร้อมกับ เกล็ดสะระแหน่ และการบูร องค์ประกอบทุกตัวมีสรรพคุณขับลม เปลือกอบเชยเทศเทศและสมุลแว้งนอกจากขับลมแล้ว ยังมีรสหวาน และมีรสฝาด ทำให้มีฤทธิ์สมานไปในตัว ยาธาตุอบเชยเตรียมโดยการต้มเคี่ยว หลังจากนั้นจึงเติมเกล็ดสะระแหน่ การบูรภายหลัง การเตรียมแบบนี้ทำให้น้ำมันหอมระเหยส่วนใหญ่ระเหยออกไปเกือบหมด เหลือแต่สารจำพวกเรซินหลอมละลายออกมาขณะต้ม อย่างไรก็ดียาธาตุอบเชยที่มีคุณภาพดีเมื่อชิมรสแล้ว จะรู้สึกเผ็ดร้อน พอควร และเมื่อรับประทานเข้าไป จะรู้สึกท้องอุ่น กระตุ้นการทำงานของกระเพาะอาหารและลำไส้ มีสรรพคุณบรรเทาอาการท้องขึ้น ท้องอืดท้องเฟ้อ 
เปรียบเทียบยาธาตุน้ำแดงและยาธาตุอบเชย 
ยาธาตุน้ำแดง เป็นตำรับยาผสมสารสกัดสมุนไพรที่ผลิตกันมานานกว่า 50 ปี พบในเภสัชตำรับต่างประเทศเกือบทุกประเทศ มีการปรับใช้สมุนไพรของประเทศไทยเข้าไปผสมเพื่อให้เกิดประโยชน์ตามที่ต้องการ นอกจากใช้บรรเทาอาการท้องอืดท้องเฟ้อแล้ว ยาธาตุน้ำแดงยังมีองค์ประกอบที่เป็นพืชสมุนไพรที่ช่วยเจริญอาหาร เช่น บอระเพ็ด และผสมยาระบายอย่างอ่อน เช่น โกฐน้ำเต้า อีกด้วย แต่เนื่องจากยาธาตุน้ำแดงบางชนิดมีสารลดกรดโซดามิ้น อยู่ด้วย จึงทำให้ต้องระวังเมื่อใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน เพราะอาจมีปัญหาการดูดซึมเกลือโซเดียม และความเป็นกรดด่างในเลือดได้ หรือบางตำรับมีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ ซึ่งไม่เหมาะสำหรับคนที่แพ้แอลกอฮอล์ ยาธาตุอบเชย ไม่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ และโซเดียมคาร์บอเนต จึงอาจเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการบรรเทาอาการดังกล่าวได้ แต่ควรระวังการใช้ยาอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของตับ ไต เนื่องจากอาจเกิดการสะสมของการบูรและเกิดพิษได้ 
การวิจัยทางคลินิกของยาธาตุอบเชย 
การวิจัยประเมินประสิทธิผลและความปลอดภัยของยาธาตุอบเชย ต่อภาวะ functional dyspepsia ซึ่งหมายถึง ภาวะผิดปกติในทางเดินอาหารส่วนต้น แสดงออกด้วย อาการจุกแน่นหลังมื้ออาหาร อิ่มเร็วกว่าปกติ ปวด หรือแสบร้อนบริเวณลิ้นปี่ เป็นๆ หายๆ เกิดอาการอย่างน้อย 2 ครั้งต่อสัปดาห์ นานอย่างน้อย 3 เดือน อาจพบร่วมกับโรคกรดไหลย้อน หรือลำไส้แปรปรวน การวิจัยนี้ เปรียบเทียบกับยา ธาตุอบเชย กับยา simethicone โดยใช้รูปแบบ Randomized controlled study โดยผู้ป่วย functional dyspepsia แบ่งเป็น 2 กลุ่ม โดยทั้ง 2 กลุ่ม ใช้ยาติดต่อกันนาน 14 วัน ประเมินผลการรักษาภายหลังการรักษาหลัง 7 วัน และ 14 วัน พบว่าลักษณะทั่วไปของผู้ป่วยทั้ง 2 กลุ่มไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ อาการของผู้ป่วยและความรุนแรงเฉลี่ยอาการของผู้ป่วยภายหลังการรักษาด้วยยาทั้งสองชนิดไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ จำนวนผู้ป่วยที่อาการดีขึ้นมากหรืออาการหายไปภายหลังการรักษาเพิ่มขึ้นจากก่อนการรักษาอย่างมีนัยสำคัญ ผลการรักษาของยาทั้งสองชนิดไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ มีผลข้างเคียงของการรักษาร้อยละ 9.3 ในกลุ่ม simethicone และร้อยละ 9.5 ในกลุ่มยาธาตุอบเชย ผู้ป่วยส่วนมากพึงพอใจต่อการรักษาไม่แตกต่างกัน ค่าใช้จ่ายของยาธาตุอบเชยถูกกว่ายา simethicone สรุปได้ว่า การรับประทานยาธาตุอบเชยติดต่อกัน 14 วัน มีประสิทธิผลและความปลอดภัยในการรักษาผู้ป่วย functional dyspepsia ไม่แตกต่างจากการรักษาด้วย simethicone

ขนาดที่ใช้105 มก. วันละ 3 ครั้งหลังอาหาร30 มล. วันละ 3 ครั้งหลังอาหาร
จำนวนผู้ป่วย150 คน168 คน
ร้อยละของผู้ป่วยที่รับประทานยาครบทุกมื้อ8289.3
ผลการรักษาอาการดีขึ้นมากหรืออาการหายไปอาการดีขึ้นมากหรืออาการหายไป
ผลข้างเคียงพบได้ร้อยละ9.39.5
ค่าใช้จ่าย84 บาท36 บาท


บทสรุป 
อาการท้องอืดท้องเฟ้อ อาหารไม่ย่อย เป็นอาการที่พบได้บ่อย แม้เป็นอาการที่ไม่รุนแรง แต่ก็ทำให้รู้สึกไม่สบาย เป็นปัญหากระทบต่อสุขภาพได้ และหากทิ้งไว้อาจลุกลามเป็นโรคทางเดินอาหารที่รักษาได้ยากขึ้น ยาธาตุอบเชยเป็นยาแผนไทย ที่มีการใช้บรรเทาอาการเหล่านี้กันมานาน และการวิจัยทางคลินิก สนับสนุนว่า ให้ผลการรักษาเท่าๆ กับยาแผนปัจจุบัน แต่ค่าใช้จ่ายน้อยกว่า ยาธาตุอบเชยจึงอาจเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการบรรเทาอาการเหล่านั้นทดแทนยาแผนปัจจุบัน และประหยัดค่าใช้จ่ายโดยรวมอีกด้วย

สูตรตำรับยาธาตุอบเชย
ในยาน้ำ 100 มิลลิลิตร ประกอบด้วย 
1. เปลือกอบเชยเทศ เปลือกสมุลแว้ง ลูกกระวาน ดอกกานพลู รากชะเอมเทศ อย่างละ 800 มิลลิกรัม 
2. เกล็ดสะระแหน่ การบูร หนักสิ่งละ 50 มิลลิกรัม
ข้อบ่งใช้ ขับลม บรรเทาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ
ขนาดและวิธีใช้ รับประทานครั้งละ 15 - 30 มิลลิลิตร วันละ ๓ ครั้ง หลังอาหาร
ข้อควรระวัง ควรระวังการใช้ยาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของตับ ไต เนื่องจากอาจเกิดการสะสมของการบูรและเกิดพิษได้


 

แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. รุ่งระวี เต็มศิริฤกษ์กุล สมภพ ประธานธุรารักษ์ วงศ์สถิตย์ ฉั่วกุล และจุฑาธิป เขียววงศ์จันทร์. สมุนไพร และตำรับยาไทย: การเลือกใช้ตามหลักวิชาการ. กทม: หจก.สามลดาจำกัด, 2555.
  2. คณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ. ยาสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ พ.ศ. 2559. ประกาศ ณ วันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559.
  3. กำไร กฤตศิลป์, กุลลณา ตันติประวรรณ, ขนิษฐา วัลลีพงษ์, จิรัญญา มุขขันธ์, ฉวีวรรณ ม่วงน้อย และคณะ ประสิทธิผลและความปลอดภัยของยาธาตุอบเชยในการรักษาผู้ป่วย Functional Dyspepsia. สารศิริราช 2006; 58(11): 1103–1106.


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


1 วินาทีที่แล้ว
สารบ่งชี้มะเร็ง (tumor markers) 6 วินาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้