เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


น้ำมันระเหยยากที่ใช้ในเครื่องสำอาง


ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ปองทิพย์ สิทธิสาร ภาควิชาเภสัชวินิจฉัย คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล


ภาพประกอบจาก: http://blackgirllonghair.com/wp-content/...l_oils.jpg
อ่านแล้ว 16,248 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 14/10/2558
อ่านล่าสุด 1 วันที่แล้ว

Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
 


มีคำกล่าวว่าผิวพรรณเป็นกระจกส่องให้เห็นถึงจิตใจ ร่างการและผิวพรรณต้องการสารอาหารเพื่อมาบำรุง ฟื้นฟูและคงสภาพ สารอาหารโมเลกุลใหญ่ที่ร่างการต้องการได้แก่ โปรตีน ไขมัน และคาร์โบไฮเดรต รวมทั้งสารโมเลกุลเล็กเช่นวิตามิน และสารอาหารต่างๆ รวมทั้งการได้รับน้ำในปริมาณพอเหมาะ โดยไขมัน (lipids) เป็นสารอาหารที่สำคัญต่อเยื่อหุ้มเซลล์และผิวหนังชั้น stratum corneum ซึ่งจำเป็นสำหรับการปกป้องผิวหนัง กรดไขมันยังมีบทบาทในการควบคุมการเกิดการอักเสบ ระบบภูมิคุ้มกัน และการไหลเวียนของสารชนิดต่างๆในร่างกาย การมีระดับไขมันที่ไม่เหมาะสม ทำให้เกิดความผิดปกติต่อผิวหนังชนิดต่างๆได้ เช่น การเกิด สิว ผิวหนังแห้งเนื่องจากการขาดน้ำ หรือโรคสะเก็ดเงิน 
การใช้เครื่องสำอางมีการบันทึกไว้ตั้งแต่สมันอียิปต์โบราณประมาณ 3500 ปีก่อนคริสตศักราช มีการใช้เครื่องบำรุงผิว เส้นผม และการตกแต่งเพื่อเสริมความงาม ความหมายของเครื่องสำอางตามที่ระบุไว้ในพระราชบัญญัติ เครื่องสำอาง พ.ศ. 2535 คือ วัตถุที่มุ่งหมายสำหรับใช้ทา ถูนวด โรย พ่น หยอด ใส่อบ หรือกระทำด้วย วิธีอื่นใด ต่อส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกายเพื่อความสะอาด ความสวยงาม หรือส่งเสริมให้เกิดความ สวยงามและรวมตลอดทั้งเครื่องประทินผิวต่างๆ ด้วย แต่ไม่รวมถึงเครื่องประดับและเครื่องแต่งตัวซึ่งเป็นอุปกรณ์ภายนอกร่างกาย นอกจากนี้เครื่องสำอางยังรวมถึงวัตถุที่มุ่งหมายสำหรับใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอางโดยเฉพาะ หรือวัตถุอื่นที่กำหนดโดยกฎกระทรวงให้เป็นเครื่องสำอาง ซึ่งรูปแบบของเครื่องสำอางที่มีอยู่ในปัจจุบันมีหลากหลาย แต่สามารถแบ่งได้เป็นรูปแบบหลัก 3 ประเภท ได้แก่ ของแข็ง (solids) เช่น แป้งผัดหน้า แป้งรองพื้น mask แป้งแข็ง eye shadow lipstick เกลืออาบน้ำ, ของกึ่งแข็ง (semisolids) เช่น ครีม ointment เจลแต่งผม สีย้อมผม และของเหลว (liquids) เช่น โลชั่น moisturizer น้ำมันใส่ผม แชมพู ผลิตภัณฑ์บำรุงผม น้ำหอม สเปรย์ น้ำยาทาเล็บ 
ไขมันที่นำมาใช้ประโยชน์ในทางเครื่องสำอาง มีทั้งเป็นน้ำมันระเหยยากจากธรรมชาติ (natural fixed oils) ที่ประกอบด้วยไตรกลีเซอร์ไรด์ที่มีองค์ประกอบหลักเป็นกรดไขมันชนิดอิ่มตัว เช่น น้ำมันมะพร้าว น้ำมันเมล็ดฝ้าย น้ำมันปาล์ม และชนิดที่มีองค์ประกอบหลักเป็นกรดไขมันชนิดไม่อิ่มตัว เช่น น้ำมันมะกอก น้ำมันข้าวโพด น้ำมันอัลมอนด์ น้ำมันทานตะวัน น้ำมันละหุ่ง น้ำมันเรปซีด (rapeseed oil) และน้ำมันอะโวคาโด น้ำมันที่มีกรดไขมันชนิดอิ่มตัวจะมีความคงตัวดีและทนต่อการเกิดเหม็นหืนได้ดีกว่าน้ำมันที่มีกรดไขมันชนิดไม่อิ่มตัว อย่างไรก็ตามน้ำมันที่ประกอบด้วยกรดไขมันชนิดไม่อิ่มตัว จะให้ผลิตภัณฑ์ที่มีความนุ่มเรียบ ให้ความรู้สึกที่ดี ไม่เหนียวเหนอะหนะและถูกดูดซึมเข้าสู่ผิวหนังได้ดีกว่าน้ำมันที่มีกรดไขมันชนิดอิ่มตัวเป็นหลัก ไขมันอีกประเภทที่ได้จากธรรมชาติได้แก่ เนยธรรมชาติ (natural butter) เช่น shea butter, avocado butter และ cocoa butter ส่วนใหญ่จะเป็นสารที่ช่วยทำให้ผิวหนังอ่อนนุ่ม (emollient) ที่ดีมาก และเพิ่มความข้นหนืดให้ผลิตภัณฑ์ 
หน้าที่หลักของน้ำมันระเหยยากในเครื่องสำอาง ได้แก่ 

  1. เป็นตัวกลางทำหน้าที่กระจายสารสำคัญ ควบคุมความข้นหนืดและความคงรูปของผลิตภัณฑ์ เช่น น้ำมันปาล์ม น้ำมันมะพร้าว น้ำมันถั่วเหลือง shea butter cocoa butter
  2. ทำให้ผิวหนังอ่อนนุ่มปกป้องการระเหยของน้ำออกจากผิวหนัง ช่วยหล่อลื่นทำให้ผิวหนังนุ่มเรียบ เช่น น้ำมันมะกอกน้ำมันข้าวโพด น้ำมันทานตะวัน น้ำมันโฮโฮบา (jojoba oil)
  3. ให้ความชุ่มชื้นแก่ผิวหนัง (humectant) หรือมีคุณสมบัติเป็นสารคงความชุ่มชื้น (moisturizer) เช่น น้ำมันมะพร้าว น้ำมันรำข้าว น้ำมันโฮโฮบา
  4. บำรุงและให้สารอาหารแก่ส่วนต่างๆของร่างกาย ปรับสภาพผิวหนังหรือเส้นผมที่เสียสภาพ เช่น น้ำมันมะกอก น้ำมันถั่วลิสง น้ำมันแมคคาดีเมีย น้ำมันเมล็ดองุ่น shea butter
  5. ปกป้องรังสีอัลตร้าไวโอเลต กระตุ้นการทำงานของเซลล์ผิว และเพิ่มการสร้างเซลล์ผลัดเปลี่ยน เช่น น้ำมันงา น้ำมันมะกอก น้ำมันเมล็ดฝ้าย น้ำมันสวีทอัลมอนด์ น้ำมันถั่วลิสง
  6. เป็นสารต้านออกซิเดชั่น เช่น น้ำมันต้นอ่อนข้าวสาลี (wheat germ oil) น้ำมันเมล็ดฟักทอง น้ำมันงา น้ำมันมะกอก น้ำมันเมล็ดฝ้าย

การเลือกใช้เครื่องสำอางที่มีน้ำมันระเหยยากเป็นองค์ประกอบควรคำนึงถึงปัจจัยดังต่อไปนี้

  1. การเลือกผลิตภัณฑ์ให้เหมาะกับสภาพผิว เช่น ผู้ที่มีผิวมัน ควรพิจารณาเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีเนื้อบางเบา ไม่เข้มข้นเกินไป ไม่มีส่วนผสมของน้ำมันหรือ moisturizer มากนัก ส่วนผู้ที่มีผิวแห้ง ควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีความอ่อนโยนต่อผิว เนื้อครีมเข้มข้น มี moisturizer เพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิว ปกป้องผิวจากการสูญเสียความชุ่มชื้น และมี pH ใกล้เคียงกับผิว หรือผู้ที่มีผิวบอบบางควรเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีความอ่อนโยนต่อผิว ไม่ก่อให้เกิดการแพ้หรือระคายเคือง เสริมสร้างความแข็งแรงให้เซลล์ผิว
  2. พิจารณาที่ตัวผลิตภัณฑ์ โดยดูจากเครื่องหมายรับรองจากหน่วยงานที่เชื่อถือได้ เช่น เลขที่ใบรับแจ้ง, วันหมดอายุ ส่วนผสม ชื่อบริษัทผู้ผลิต ที่อยู่ หรือบริษัทผู้นำเข้า, ลักษณะทางกายภาพของผลิตภัณฑ์
  3. อ่านวิธีใช้ ข้อควรระวัง หรือคำเตือนบนฉลาก
  4. ทดสอบการแพ้เครื่องสำอางก่อนตัดสินใจซื้อ เลือกซื้อเครื่องสำอางจากแหล่งที่เชื่อถือได้ และหากใช้เครื่องสำอางแล้วมีความผิดปกติเกิดขึ้น ต้องหยุดใช้ทันที


 

แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. Anitha T. Medicinal plants used in skin protection. Asian J Pharm Clin Res. 2012; 5(3);35-8.
  2. Bouwstra JA, Dubbelaar FER, Gooris GS, Ponec M. The lipid organisation in the skin barrier. Acta.Derm.Venereol. 2000; Supp.208:23-30.
  3. Humbert P, Binda D, Robin S, Krutmann J.Beauty from Inside: Nutrition-based strategies in cosmetic dermatology. In: Nutrition for healthy skin. Berlin Heidelberg: Springer-Verlag; 2011. p. 189-96.
  4. Kapoor VP. Herbal cosmetics for skinand hair care, Indian J Nat Prod Resour. 2005; 4(4):306-14.
  5. Idson B. Dry skin: moisturizing and emolliency. Cosmet toiletries.1992; 107:69-78.
  6. Reddy PM, Gobinath M, Rao KM, Venugopalaiah P, Reena N. A review on importance of herbal drugs in cosmetics. Int J Adv Pharm Nanotechnol. 2011; 1(3): 121-39.
  7. Reiger M. Skin constituents as cosmetic ingredients. Cosmet toiletries.1992; 107:85-94.
  8. Ziboh VA. The significance of polyunsaturated fatty acidsin cutaneous biology. Lipids. 1996; 31:S249-53.
  9. พระราชบัญญัติ เครื่องสำอาง พ.ศ. 2535. สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา. 2535.
  10. วราภรณ์ จรรยาประเสริฐ. ครีมและโลชั่น ใน กระบวนการผลิตยาสมุนไพรด้วยเทคโลโลยีที่ทันสมัย. สุมาลย์ สาระยาและนพมาศ สุนทรเจริญนนท์ บรรณาธิการ. โครงการการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยาสมุนไพรไทยเพื่อลดผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า AFTA ด้วยสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ 2554. คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์. กรุงเทพฯ. 2554.


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


ยาหอม กับคนวัยทำงาน 14 วินาทีที่แล้ว
สารกันราในขนมปัง 14 วินาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้