เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


“ม่วงเทพรัตน์”…ไม้มงคลที่มิใช่เป็นเพียงไม้ประดับ


รองศาสตราจารย์ นพมาศ สุนทรเจริญนนท์ ภาควิชาเภสัชวินิจฉัย คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

อ่านแล้ว 53,583 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 06/03/2558
อ่านล่าสุด 1 วันที่แล้ว

Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
 


สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงสนพระทัยการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช การเก็บรวบรวมข้อมูลพืชและเทคโนโลยีที่ทันสมัย เสด็จพระราชดำเนินไปทรงดูงานด้านนี้ในต่างประเทศเนื่อง ๆ และทรงนำสิ่งที่เป็นประโยชน์มาพระราชทานแก่นักวิชาการไทยเสมอ เมื่อวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ.2551 ได้พระราชทานเนื้อเยื่อพืช “ม่วงเทพรัตน์” หรือ Persian Violet ให้โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ฯ (อพ.สธ.) เก็บรักษาและขยายพันธุ์ตามศักยภาพ จนบัดนี้ ประสบความสำเร็จในการขยายพันธุ์เป็นอย่างดี ด้วยลักษณะดอกที่มีสีม่วงงดงาม จึงมีผู้นิยมนำไปขยายพันธุ์ปลูกไว้ชื่นชม ช่วงนี้ใกล้จะถึงวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมายุ 5 รอบ ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จึงรวบรวมเรื่องราวที่น่าสนใจของพืชชนิดนี้ ซึ่งมิใช่เป็นเพียงไม้ประดับ แต่ยังมีสรรพคุณเป็นสมุนไพรด้วย 
 
จาก http://en.hortipedia.com/wiki/Exacum_affine


“ม่วงเทพรัตน์” คืออะไร 
“ม่วงเทพรัตน์”หรือ Persian gentian หรือ Persian, Arabian, German violet ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Exacum affine Balf.f. ex Regel วงศ์ Gentianaceae เป็นพืชที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานชื่อไทยว่า“ม่วงเทพรัตน์” เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2552 นับว่าเป็นมงคลนาม เพราะสีม่วงเป็นสีประจำพระองค์ด้วยเช่นกัน และสืบเนื่องจากที่คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้รับพระราชทานนามอาคารและศูนย์การแพทย์ด้วยพระนาม “สมเด็จพระเทพรัตน์” ทางคณะกรรมการประจำคณะฯ จึงพิจารณาให้ขอใช้ดอกม่วงเทพรัตน์เป็นสัญลักษณ์ประจำอาคารสมเด็จพระเทพรัตน์ ซึ่งทางโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ อนุญาตให้ใช้ได้เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2553 
“ม่วงเทพรัตน์” เป็นพืชท้องถิ่นที่หายากของเกาะ Socotra ซึ่งอยู่ในหมู่เกาะYemen ในมหาสมุทรอินเดีย เป็นไม้ล้มลุกที่มีความสูงในสภาพธรรมชาติประมาณ 60 เซนติเมตร ใบมีสีเขียวเข้ม รูปไข่ ยาวไม่เกิน 4 เซนติเมตร โดยทั่วไปจะออกดอกในช่วงหน้าร้อนและฤดูใบไม้ผลิ ดอกมีสีม่วงอมฟ้า รูปร่างของดอกเมื่อบานเต็มที่แล้วมีทรงคล้ายดาว มีเกสรตัวผู้สีเหลืองสามารถเห็นได้ชัดเจน มีกลิ่นหอมอ่อนๆ การขยายพันธุ์ทำได้ทั้งการเพาะเมล็ด การปักชำ ดินที่ปลูกต้องโปร่ง ระบายน้ำได้ดี รดน้ำในตอนเช้า และเมื่อดอกเริ่มเหี่ยวให้เด็ดดอกทิ้งเพื่อกระตุ้นการออกดอกรุ่นใหม่ แม้ว่าเป็นไม้ต่างถิ่น แต่สภาพอากาศในประเทศไทย “ม่วงเทพรัตน์” สามารถเจริญเติบโตได้เป็นอย่างดี เป็นไม้ดอกที่มีความสวยงาม และโดดเด่นด้วยกลีบดอกสีม่วงอมฟ้า ตัดด้วยสีเหลืองของเกสร เหมาะอย่างยิ่งที่จะเป็นไม้ดอก ไม้ประดับ 
นอกจากการขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ดและปักชำ โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) ได้ทำการผลิตพืชชนิดนี้โดยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อและออกดอกในขวดสวยงาม ซึ่งสามารถนำไปออกปลูกในสภาพธรรมชาติเพื่อเป็นไม้ประดับต่อไป 
“ม่วงเทพรัตน์”ไม้มงคลที่มิใช่เป็นเพียงไม้ประดับ 
ถึงแม้ว่าในหลายประเทศ “ม่วงเทพรัตน์” เป็นไม้ประดับ แต่ภูมิปัญญาพื้นบ้านของชาว Yemeni ระบุว่าใช้เป็นสมุนไพรรักษาโรคติดเชื้อทางเดินหายใจและผิวหนัง1 และโรคดีซ่าน2 นอกจากนี้ยังมีรายงานวิจัยหลายฉบับได้กล่าวถึงสารสำคัญและฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของ “ม่วงเทพรัตน์” ดังนี้ 
สารสำคัญ 
ส่วนเหนือดิน (aerial part) ประกอบด้วย สารกลุ่ม phenolic acids (protocatechuic acid เป็นสารหลัก และสารอื่นๆ ได้แก่ caffeic, chlorogenic, ferulic, gallic, gentisic, o-coumaric, p-coumaric, p-hydroxybenzoic, rosmarinic, salicylic, sinapic, syringic, vanillicacids)3,4 สารกลุ่ม acetophenone glycosides (affinoside, gentiopicroside, 2'-O-EIZ-p-coumaroylloganin, glucopaeonol)5, paeonol6 และสารกลุ่มแทนนิน1 
ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา 
ฤทธิ์ต้านไวรัส: งานวิจัยในหลอดทดลองได้พิสูจน์พบว่าสารสกัดเมทานอลจากส่วนเหนือดินมีฤทธิ์ต้านเชื้อไวรัสหวัด [human influenza virus A/WSN/33 (H1N1)] และเชื้อไวรัสเริม (herpes simplex virus; HSV-1 strain KOS) ด้วยค่า IC50 เท่ากับ 0.7 และ 12.5 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร ตามลำดับ ส่วนสารสกัดน้ำมีฤทธิ์ต้านเชื้อไวรัสหวัด ด้วยค่า IC50 เท่ากับ 3.1 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร แต่ไม่มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อไวรัสเริม1,3 และสารสำคัญคือ สารกลุ่ม phenolic acids3 
ฤทธิ์ต้านจุลชีพ สารสกัดคลอโรฟอร์ม เมทานอล และน้ำของส่วนดอกและใบ ไม่มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย Staphylococcus aureus ATCC 6538; Bacillus subtilis ATCC 6051; Micrococcus flavus SBUG 16; Escherichia coli ATCC 11229; Pseudomonas aeruginosa ATCC 27853; multiresistant Staphylococcus epidermidis; multiresistant Staphylococcus haemolyticus; multiresistant Staphylococcus aureus และเชื้อรา Candida maltose SBUG7 
ฤทธิ์ insect attractivity สารสำคัญที่มีฤทธิ์ดึงดูดแมลง โดยเฉพาะผีเสื้อ คือ สาร paeonol6 
ฤทธิ์เป็นพิษต่อเซลล์ หรือ ฤทธิ์ฆ่าเซลล์มะเร็งในหลอดทดลอง การทดสอบในหลอดทดลองพบว่าสารสกัดเมทานอลของส่วนดอกและใบ ไม่มีฤทธิ์เป็นพิษต่อเซลล์มะเร็งของคนชนิดมะเร็งปอด 2 ชนิด (A-427 และ LCLC-103H), มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ 2 ชนิด (5637 และ RT-112) และมะเร็งเต้านม (MCF-7)8 
จากข้อมูลงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ข้างต้นจะเห็นได้ว่า “ม่วงเทพรัตน์” มีฤทธิ์ต้านไวรัสหวัดได้ตามการใช้แบบภูมิปัญญา ถึงแม้ว่างานวิจัยฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาด้านอื่น ๆ อาจมีไม่มาก แต่จะเป็นโอกาสของนักวิจัยที่จะศึกษาเพิ่มเติมทั้งในส่วนของพืชที่มีการวิจัยแล้ว (ใบและดอก) และส่วนรากที่ยังไม่มีผู้ศึกษา ซึ่งอาจจะได้ข้อมูลที่จะเป็นประโยชน์กับมนุษยชาติต่อไป 
สกุล Exacum ในประเทศไทย 
สําหรับประเทศไทย พืชในสกุล Exacum วงศ์ Gentianaceae มีอยู่ 4 ชนิด ที่รายงานในหนังสือ Flora of Thailand vol 5 part I และหนังสือ ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย โดย เต็ม สมิตินันทน์ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2544 ได้แก่ E. bicolor Roxb. (ฉัตรพระอินทร์), E. pteranthum Wall. Ex Griseb. [ไส้ปลาเข็ม หรือสะเลี่ยมดิน หรือ ตะคาพอ (ชื่อกระเหรี่ยง)], E. sutaepense Hosseus ex Craib (นางอั้วดอย) และ E. tetragonum Roxb. (หญ้าเหลี่ยม เทียนป่า ไส้ปลาไหล) ทั้งหมดนี้เป็นไม้ล้มลุก 
“นางอั้วดอย” เป็นไม้ถิ่นเดียวของประเทศไทยพบได้ในทุ่งหญ้าโล่งและบริเวณพื้นที่มีความสูง 1,500–1,700 เมตร ได้แก่ ดอยสุเทพฯ จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดกาญจนบุรี มีรายงานการใช้ในตํารายาแผนโบราณในหนังสือ Medicinal Plant of East and Southeast Asia: Attributed Properties and Uses ของ L. M. Cerry (1980) ว่าในประเทศสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ ใช้ทั้งต้นปรุงแก้ไข้9 ชาวเขาเผ่ากระเหรี่ยงใช้ส่วนใบนางอั้วดอยเป็นผักสดจิ้มน้ำพริก10 และใช้ “ต้นตะคาพอหรือไส้ปลาเข็ม” แก้ไข้10 “ฉัตรพระอินทร์” เป็นพืชที่พบได้ในทางเหนือของรัฐ Kerala ประเทศอินเดีย ภูมิปัญญาใช้รักษาโรคทางผิวหนัง ตา เบาหวาน แก้ไข้ และแก้ไข้มาลาเรีย งานวิจัยพบว่าประกอบด้วยสารกลุ่ม polyphenolic, alkaloids, flavonoids และ steroids11,12 และสารสกัดเฮกเซนจากใบมีฤทธิ์ฆ่าพยาธิได้ดีกว่าสารสกัดคลอโรฟอร์ม เอทิลอะซิเตรท น้ำ และเมทานอล12


 

แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. Mothana RAA, Mentel R, Reiss C, Lindequist U. Phytochemical screening and antiviral activity of some medicinal plants from the island Soqotra. Phytotherapy Res 2006;20:298-302.
  2. Shankar R, Rawat MS, Deb S, Sharma BK. Jaundice and its traditional cure in Arunachal Pradesh. JPSI 2012;1(3):93-7.
  3. Skrzypczak-Pietraszek E, Slota J, Pietraszek J. The influence of L-phenylalanine, methyl jasmonate and sucrose concentration on the accumulation of phenolic acids in Exacum affine Balf. f. ex Regel shoot culture. Acta Biochimica Polonica 2014;61(1):47-53.
  4. Khadem S, Marles RJ. Monocyclic phenolic acids; hydroxy-and polyhydroxybenzoic acids: occurrence and recent bioactivity studies. Molecules 2010;15:7985-8005.
  5. Kuwajima H, Shibano N, Baba T, Takaishi K, Inoue K, Shingu T. An acetophenone glycoside from Exacum affine. Phytochemistry 1996;41(1):289-92.
  6. Matsumoto M. 2'-Hydroxy-4'-methoxyacetophenone (Paeonol) in Exacum affine ev. Biosci Biotech Biochem 1994;58(10):1892-3.
  7. Mothana RAA, Lindequist U. Antimicrobial activity of some medicinal plants of the island Soqotra. J Ethnopharmacol 2005;96:177-181.
  8. Mothana RAA, Grunert R, Lindequist U, Bednarski PJ. Study of the anticancer potential of Yemeni plants used in folk medicine. Pharmazie 2007;62(4):305-7.
  9. http://dmsc2.dmsc.moph.go.th/webroot/Plant/Mpri2013/pdf/Persian%20Violet.pdf
  10. Trisonthi C, Trisonthi P. Ethnobotanical study in Thailand, a case study in Khun Yuam District Maehongson Province. Thai Journal of Botany 2009;1(1):1-23.
  11. Jeeshna MV, Paulsamy S. Phytochemistry and bioinformatics approach for the evaluation of medicinal properties of the herb, Exacum bicolor Roxb. IRJP 2011;2(8):163-8.
  12. Ashwini AM, Majumdar M. Qualitative phytochemical screening and in vitro anthelmintic activity of Exacum bicolor Roxb., an endemic medicinal plant from Western Ghats in India. Acta Biologica Indica 2014;3(1):510-4.


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


หญ้าปักกิ่ง 18 วินาทีที่แล้ว
จิบชายามบ่าย 30 วินาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้