เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


หญ้าปักกิ่ง


รองศาสตราจารย์ ดร. วีณา จิรัจฉริยากูล ภาควิชาเภสัชวินิจฉัย คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

อ่านแล้ว 121,526 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 28/04/2556
อ่านล่าสุด 16 นาทีที่แล้ว

Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
 

 
หญ้าปักกิ่ง เป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว วงศ์ Commelinaceae ชื่อวิทยาศาสตร์ Murdannia loriformis (Hassk.) Rolla Rao et Kammathy ถิ่นกำเนิดของหญ้าปักกิ่งอยู่ในแคว้นสิบสองปันนา มณฑลยูนนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน ปัจจุบันมีการปลูกหญ้าปักกิ่งทั่วไปในประเทศไทย หญ้าปักกิ่งสูงประมาณ 10 ซม. ใบเดี่ยว เกลี้ยง เรียงสลับ ใบออกเป็นกระจุกใกล้ราก แผ่นใบเป็นแถบกว้าง 1.5-2.0 ซม. ยาว 15-20 ซม. ใบที่ปลายยอดสั้นกว่า ขอบใบและกาบใบเป็นขนครุย (ciliate) ช่อดอกอยู่ที่ยอดตามซอก เป็นช่อแยกแขนงแน่น วงใบประดับมีลักษณะคล้ายใบแต่เล็กกว่า ก้านดอกโค้งเล็กน้อย ใบประดับโปร่งแสงมีขนาดประมาณ 4 มม. กลีบเลี้ยงรูปไข่หรือรี ขนาดประมาณ 3 มม. กลีบดอกสีน้ำเงินหรือม่วงน้ำเงิน ร่วงง่าย เกสรเพศผู้ที่สมบูรณ์ 2 อัน เกสรเพศผู้ที่เป็นหมัน 3 อัน ก้านชูอับเรณูมีขน รังไข่ยาว 1 มม. ก้านเกสรเพศเมีย ยาว 3 มม. ผลเป็นแคปซูลยาว 3-4 ซม. รูปไข่ แต่ละช่อง (locule) มี 2 เมล็ด 
ยาจีนใช้หญ้าปักกิ่งบรรเทาอาการเกี่ยวกับทางเดินหายใจและขับพิษ ส่วนในประเทศไทย ผู้ป่วยมะเร็งประเภทต่างๆ ดื่มน้ำคั้นจากส่วนเหนือดินของหญ้าปักกิ่งรักษาตนเอง เพื่อช่วยยืดชีวิตและลดผลข้างเคียงจากการรักษาแผนปัจจุบันมานานกว่า 30 ปี งานวิจัยหญ้าปักกิ่งได้รับการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยมหิดล (พ.ศ. 2532-2537) องค์การเภสัชกรรม (พ.ศ. 2542-2543) กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ (พ.ศ. 2546) มหาวิทยาลัย เชียงใหม่ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ และเงินบริจาคจากภาคเอกชน ก่อให้เกิดองค์ความรู้ด้านการต้านมะเร็งของหญ้าปักกิ่ง สารที่แสดงฤทธิ์ยับยั้งเซลล์มะเร็งในหญ้าปักกิ่ง คือ กลัยโคสฟิงโกไลปิด (Glycosphingolipid) ที่มีชื่อว่า G1b ซึ่งเป็นกลุ่มไขมันที่มีขั้วเป็นองค์ประกอบของเซลล์ผิว กลัยโคสฟิงโกไลปิดมีหน้าที่เกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน พบว่า กลัยโคสฟิงโกไลปิดของเซลล์มะเร็งแตกต่างจากเซลล์ปกติ จึงคาดว่า นอกจากฤทธิ์ยับยั้งเซลล์มะเร็งโดยตรงต่อเซลล์มะเร็งเต้านม ปอด ลำไส้ใหญ่และตับ ระดับปานกลางในหลอดทดลอง G1b อาจมีฤทธิ์ปรับระบบภูมิคุ้มกัน ซึ่งจากการทดลองเบื้องต้นพบว่า G1b เพิ่มอัตราส่วนของ CD 3, 4 : CD 3, 8 ที่ผิวของเซลล์เม็ดเลือดขาวเพาะเลี้ยงในวันที่ 3 และ 7 จากการตรวจความเป็นพิษเฉียบพลันและความเป็นพิษกึ่งเรื้อรังของน้ำคั้น พบว่ามีความปลอดภัย

การเตรียมน้ำคั้นหญ้าปักกิ่ง 
การเตรียมน้ำคั้นหญ้าปักกิ่ง หญ้าปักกิ่งส่วนเหนือดิน 100-120 กรัม นำไปแช่น้ำเกลือหรือน้ำด่างทับทิม 10 – 15 นาทีและล้างน้ำให้สะอาด หั่นเป็นชิ้นเล็กๆ นำไปคั้นน้ำ ด้วยเครื่องปั่นแยกกาก น้ำคั้นที่ได้เทผ่านผ้าขาวบาง และบีบน้ำคั้นออกจากกาก จะได้น้ำคั้นประมาณ 60 มลลิลิตร ให้แบ่งดื่มก่อนอาหารเช้า-เย็น ดื่มติดต่อกัน 7 วัน แล้วหยุด 4 วัน เพื่อป้องกันการรับประทานเกินขนาด การเตรียมน้ำคั้นหญ้าปักกิ่งสามารถเตรียมให้ใช้ได้ 2-3 วัน โดยเก็บรักษาน้ำคั้นไว้ในตู้เย็น

แหล่งอ้างอิง/ที่มา
เปิดอ่านด้วย Google Doc Viewer ดาวน์โหลดบทความ (pdf) ดูบทความอื่นๆ

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


หญ้าปักกิ่ง 1 วินาทีที่แล้ว
ยาแก้ไอ ... มีกี่แบบ ?? 1 นาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้