เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


ยารักษาโรคกระดูกพรุน...เหตุใดจึงกินหลังตื่นตอนเช้าโดยกลืนยาทั้งเม็ดพร้อมน้ำเปล่า?


รองศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรหญิง นงลักษณ์ สุขวาณิชย์ศิลป์
หน่วยคลังข้อมูลยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพประกอบจาก : https://www.heart.org/-/media/images/news/2019/april-2019/0425osteoporosisstroke_sc.jpg?h=600&w=800&la=en&hash=A8E0994DC3601115C49548D2BD233376106FAC34
อ่านแล้ว 46,440 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 22/11/2562
อ่านล่าสุด 12 นาทีที่แล้ว
https://tinyurl.com/y785aoes
Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ https://tinyurl.com/y785aoes
 


ยาที่จะกล่าวถึงในที่นี้เป็นยาในกลุ่ม “บิสฟอสโฟเนต (bisphosphonates)” ซึ่งมีบทบาทมากในการรักษาโรคกระดูกพรุน ยาในกลุ่มนี้ถูกดูดซึมจากทางเดินอาหารได้น้อยมาก อีกทั้งมีผลไม่พึงประสงค์ที่อาจทำให้หลอดอาหารเป็นแผล ดังรายละเอียดที่กล่าวถึงข้างล่างนี้

ตัวอย่างยารักษาโรคกระดูกพรุนในกลุ่มบิสฟอสโฟเนตชนิดรับประทาน

ยาในกลุ่มบิสฟอสโฟเนตที่วางจำหน่ายมีทั้งชนิดฉีดและชนิดรับประทาน ตัวอย่างยาชนิดรับประทานที่ใช้กันมากในการรักรักษาโรคกระดูกพรุน เช่น อะเลนโดรเนต (alendronate), ไอแบนโดรเนต (ibandronate), ไรเซโดรเนต (risedronate) บางชนิดมีทั้งตำรับที่เป็นยาเดี่ยวและตำรับยาสูตรผสมร่วมกับวิตามินดี ยามีหลายความแรงให้เลือกใช้ มีทั้งแบบรับประทานทุกวัน หรือทุกสัปดาห์ หรือทุกเดือน การรับประทานยาทุกสัปดาห์หรือทุกเดือนเป็นการเพิ่มความสะดวกและลดปัญหาเรื่องการลืมรับประทานยา อย่างไรก็ตามการรับประทานยาปริมาณมากในคราวเดียวอาจเกิดผลไม่พึงประสงค์ได้มากขึ้น โดยเฉพาะผลที่ทางเดินอาหาร

ยาในกลุ่มบิสฟอสโฟเนตมีการดูดซึมจากทางเดินอาหารได้น้อยมาก

ยาในกลุ่มบิสฟอสโฟเนตชนิดรับประทานไม่ว่าจะเป็น อะเลนโดรเนต ไอแบนโดรเนต หรือไรเซโดรเนต ดังกล่าวข้างต้น ล้วนถูกดูดซึมจากทางเดินอาหารได้น้อยมากกล่าวคือน้อยกว่า 1% (ดูรูปที่ 1) ซึ่งถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับยาในกลุ่มอื่น และราว 60% ของปริมาณที่ถูกดูดซึมนี้ (หรือ 0.6% ของปริมาณที่รับประทาน) เท่านั้นที่ไปถึงยังกระดูกและสะสมอยู่ที่นั่น ที่เหลือจะถูกขับออกทางไต อย่างไรก็ตามการรับประทานยาตามขนาดที่แนะนำต่อเนื่องเป็นเวลานานนั้นเพียงพอสำหรับให้ผลในการป้องกันและรักษาโรคกระดูกพรุน อาหารต่าง ๆ รวมถึงยาบางชนิดลดการดูดซึมยาในกลุ่มบิสฟอสโฟเนตได้ โดยเฉพาะอาหารหรือยาที่มีสารไอออนชนิดประจุบวกสองหรือบวกสาม เช่น แคลเซียม แมกนีเซียม อะลูมิเนียม (พบได้ในยาเม็ดแคลเซียม ยาลดกรด) จะยับยั้งการดูดซึมยาในกลุ่มบิสฟอสโฟเนตที่กล่าวถึงโดยสิ้นเชิง นอกจากนี้เครื่องดื่ม เช่น นม กาแฟ น้ำผลไม้ น้ำแร่ ลดการดูดซึมยาได้เช่นเดียวกัน ดังนั้นจึงแนะนำให้รับประทานยาในกลุ่มบิสฟอสโฟเนตขณะท้องว่าง ซึ่งควรเป็นเวลาหลังตื่นนอนตอนเช้า โดยรับประทานพร้อมน้ำเปล่าประมาณ 1 แก้ว (หรือราว 180-240 มิลลิลิตร) หลังจากนั้นไม่ควรรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มประเภทใด ๆ จนกว่าจะพ้น 30-60 นาทีไปแล้ว



ผลไม่พึงประสงค์ของยาในกลุ่มบิสฟอสโฟเนต

ผลไม่พึงประสงค์ของยาในกลุ่มบิสฟอสโฟเนตมีหลายอย่าง ชนิดที่เกิดรุนแรงพบได้น้อย โดยรวมถือเป็นยาที่ค่อนข้างปลอดภัย ผลไม่พึงประสงค์ที่อาจพบ เช่น ระคายทางเดินอาหาร เกิดแผลในปาก หลอดอาหารเป็นแผล หัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว ภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำ กระดูกขากรรไกรตาย การหักของกระดูกต้นขาผิดแบบ ปวดกล้ามเนื้อและกระดูก รบกวนการซ่อมแซมกระดูกที่หัก ซึ่งการที่ยาในกลุ่มบิสฟอสโฟเนตอาจทำให้เกิดแผลในปากและหลอดอาหาร (ดูรูปที่ 2) ซึ่งการเกิดแผลในหลอดอาหาร ทำให้มีอาการแสบหรือเจ็บในลำคอ กลืนอาหารลำบาก จึงมีข้อแนะนำให้กลืนยาทั้งเม็ด (โดยไม่อม ไม่ดูด ไม่เคี้ยว และไม่บดเม็ดยา) พร้อมน้ำเปล่าจำนวนมากพอ (ประมาณ 1 แก้วหรือราว 180-240 มิลลิลิตร) และให้อยู่ในท่าที่คอและหลังตั้งตรง อาจนั่ง ยืน หรือเดิน โดยไม่ให้นอนหรือเอนหลังหรือโน้มตัว เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 30-60 นาที เพื่อลดความเสี่ยงที่ยาจะไหลย้อนมายังหลอดอาหาร



สรุปเหตุผลที่ให้รับประทานยาหลังตื่นนอนตอนเช้าโดยกลืนทั้งเม็ดพร้อมน้ำเปล่า
  • หลังตื่นนอนตอนเช้าเป็นช่วงที่ท้องว่าง ยาถูกดูดซึมจากทางเดินอาหารได้ดี นอกจากนี้โดยทั่วไปแล้วภายหลังการตื่นนอน คนส่วนใหญ่จะมีการปฏิบัติกิจวัตรต่าง ๆ อาจนั่ง ยืน หรือเดิน ซึ่งคอและหลังอยู่ในลักษณะตั้งตรง จึงลดความเสี่ยงต่อผลไม่พึงประสงค์ของยาที่อาจทำให้เกิดแผลที่หลอดอาหาร ดังได้อธิบายข้างต้น
  • การกลืนยาทั้งเม็ด (โดยไม่อม ไม่ดูด ไม่เคี้ยว และไม่บดเม็ดยา) เพื่อไม่ให้เหลือยาตกค้างภายในปากหรือหลอดอาหาร ซึ่งยาทำให้ระคายเยื่อเมือกและอาจเกิดแผลได้
  • การรับประทานยาพร้อมน้ำเปล่า เนื่องจากในเครื่องดื่ม เช่น นม กาแฟ น้ำผลไม้ น้ำแร่ อาจมีสารที่จับกับตัวยาได้ จึงขัดขวางการดูดซึมยาจากทางเดินอาหาร ซึ่งยาในกลุ่มบิสฟอสโฟเนตถูกดูดซึมจากทางเดินอาหารได้น้อยมากอยู่แล้ว
ด้วยเหตุนี้หากผู้ที่ใช้ยามีความเข้าใจถึงวิธีการใช้ยาและปฏิบัติอย่างถูกต้องจะช่วยให้ได้รับประโยชน์สูงสุดจากการใช้ยารักษาโรคกระดูกพรุนในกลุ่มบิสฟอสโฟเนต

เอกสารอ้างอิง
  1. นงลักษณ์ สุขวาณิชย์ศิลป์. ยารักษาโรคกระดูกพรุนกลุ่ม Bisphosphonates. สารคลังข้อมูลยา 2560; 19(1):15-32.
  2. Bartl R, Frisch B, von Tresckow E, Bartl C, editors. Bisphosphonates. In: Bisphosphonates in Medical Practice: Actions–Side Effects–Indications–Strategies. Berlin: Springer, 2007, pp. 33-70.
  3. Ganesan K, Roane D. Bisphosphonate. Treasure Island (FL): StatPearls Publishing, 2019. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK470248/. Accessed: October 2019.
  4. Skj∅dt MK, Frost M, Abrahamsen B. Side effects of drugs for osteoporosis and metastatic bone disease. Br J Clin Pharmacol 2019; 85:1063-71.
  5. Lengfeld J, Buder-Bakhaya K, Goebeler M, Wobser M. Bisphosphonate-mediated oral ulcers: a rare differential diagnosis of erosive oral lesions. Dermatology 2016; 232:117-21.
  6. Reyes C, Hitz M, Prieto-Alhambra D, Abrahamsen B. Risks and benefits of bisphosphonate therapies. J Cell Biochem 2016; 117:20-8.
  7. Ueda K, Muto M, Chiba T. A case of esophageal ulcer caused by alendronate sodium tablets. Gastrointest Endosc 2011; 73:1037-8.


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


โรคน้ำหนีบ (Decompression sickness) 1 วินาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้