เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
อ่านแล้ว 60,913 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 2014-09-18 16:40:00
อ่านล่าสุด 5 ช.ม.ที่แล้ว
ปัจจุบันคนไทยมักเกิดฝ้า กระ หรือริ้วรอยหมองคล้ำ อันเนื่องมาจากรังสีอุลตร้าไวโอเลตเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้การพัฒนาผลิตภัณฑ์ทำให้ผิวขาวจากสารธรรมชาติได้รับความสนใจเพิ่มมากขึ้น ซึ่งสารทำให้ผิวขาวหลายชนิดจะมีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนสและ/หรือฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ จึงส่งผลให้การสร้างเมลานินในผิวหนังลดลงและทำให้ผิวพรรณกระจ่างใสขึ้นกว่าเดิม  สารสกัดจากธรรมชาติที่ทำให้ผิวกระจ่างใส ได้แก่ สารสกัดเปลือกสน สารสกัดเมล็ดองุ่น สารสกัดเมล็ดลำไย สารสกัดเมล็ดลิ้นจี่ สารสกัดรังไหม สารสกัดใบหม่อน สารสกัดแก่นมะหาด สารสกัดผลมะขามป้อม และสารสกัดรากชะเอมเทศ เป็นต้น สารสกัดจากธรรมชาติเหล่านี้มีศักยภาพสูงในการนำไปเป็นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางทำให้หน้าขาว

ผิวหนังมีสีคล้ำขึ้นได้อย่างไร

ผิวหนังที่ปกคลุมร่างกายมีเม็ดสี ที่เรียกว่า “เมลานิน” ทำหน้าที่ปกป้องผิวหนังจากการถูกทำลายด้วยแสงแดด และเป็นสารสำคัญที่ทำให้เกิดสีที่ผิวหนัง  สีผิวของคนเราจะแตกต่างกันแล้วแต่เชื้อชาติและกรรมพันธุ์ โดยอาศัยกระบวนการในการสร้างเม็ดสีในร่างกาย เรียกว่า melanogenesis  เมลานินถูกสร้างในออกาแนลสีน้ำตาลที่มีชื่อว่า melanosome ที่อยู่ใน cytoplasm ของเซลล์สร้างเม็ดสี (melanocyte) และมีเอนไซม์ที่มีทองแดงเป็นส่วนประกอบอยู่ในโมเลกุล ชื่อ tyrosinase  เป็นตัวสำคัญในการควบคุมการสร้างเมลานินโดยเป็นเอนไซม์ออกซิเดส ที่จะช่วยเร่งปฏิกิริยาออกซิเดชันของ tyrosine เป็น dopa และ dopa เป็น dopaquinone ด้วยปฏิกิริยา oxidation และ dehydrogenation ตามลำดับ ตามด้วยการเปลี่ยน dopaquinone ผ่าน intermediate อีกหลายตัวแล้วเกิด polymerization ให้สารที่ไม่ละลายที่สามารถจับกับโมเลกุลของโปรตีนได้อย่างแน่นหนาโดย sulhydryl bond เกิดเป็น melanoprotein melanin polymer ทำให้สีผิวเข้มขึ้น1

สารที่ใช้เป็น Whitening agent (Lightening agent)

สารจากธรรมชาติที่มีฤทธิ์ทำให้ผิวขาว (Whitening agent) สามารถแบ่งได้ตามกลไกทางชีวเคมี ดังนี้
  1. กดความสามารถของเอนไซม์ไทโรซิเนส ได้แก่ สารกลุ่ม lactic acid และ lactates ซึ่งเป็นกรดชนิดหนึ่งในกลุ่มกรด AHA (Alpha-hydroxy acid) ที่ทำมาจากนม สาร isoimperatorin และ imperatorin เป็นสารที่สกัดจาก โกฐสอ (Angelica dahurica)
  2. ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ไทโรซิเนส ได้แก่ สาร ?-Arbutin สกัดจาก bearberry (Arctostaphylos uva ursi) เป็น hydroquinone glycoside ชนิดหนึ่ง มีฤทธิ์ดีกว่า kojic acid และ วิตามินซี (ascorbic acid) สาร kojic acid เป็นผลผลิตจาก fungal metabolite สารสกัดจากรากของ Paper mulberry (Broussonetia kazinoki x B. papyrifera, วงศ์ Moraceae) สาร ellagic acid เป็นสารที่ได้มาจากทับทิม และเมล็ดลำไย และสาร curcurmin และอนุพันธ์กึ่งสังเคราะห์ คือ tetrahydrocurcurmin เป็นสารสกัดจากขมิ้นชัน (Curcuma longa L.) ซึ่งมีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์เอนไซม์ไทโรซิเนสและมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระอีกด้วย2-11


สารต้านอนุมูลอิสระ

อนุมูลอิสระ คือ อะตอมหรือโมเลกุลที่มีอิเล็คตรอนไม่เป็นคู่ อยู่ในวงอิเล็คตรอนวงนอกสุด (outer orbital) เนื่องจากการมีอิเล็กตรอนที่โดดเดี่ยว (unpaired electron) อยู่ในวงโคจรของโมเลกุลทำให้ไม่เสถียร ทำให้อนุมูลอิสระเป็นสารที่มีความไวในการเข้าทำปฏิกิริยาทางเคมีกับสารอื่นสูงมาก โดยอนุมูลอิสระจะไปแย่งจับหรือดึงเอาอิเล็กตรอนจากโมเลกุลหรืออะตอมสารที่อยู่ข้างเคียงเพื่อให้ตัวมันเสถียร โมเลกุลที่อยู่ข้างเคียงที่สูญเสียหรือรับอิเล็กตรอนจะกลายเป็นอนุมูลอิสระชนิดใหม่ ซึ่งอนุมูลอิสระที่เกิดมาใหม่นี้จะไปทำปฏิกิริยากับสารโมเลกุลอื่นต่อไป เกิดเป็นปฏิกิริยาลูกโซ่ (chain reaction) ต่อกันไปเรื่อยๆ โดยที่อนุมูลอิสระก็มีสมบัติเหมือนสารทั่วๆไป ตรงที่ความสามารถในการเข้าทำปฏิกิริยากับสารอื่นสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามอุณหภูมิ ความเป็นกรดด่าง (pH) และความชื้น เป็นต้น  เชื่อกันว่าอนุมูลอิสระ มีผลต่อการอักเสบ และการทำลายเนื้อเยื่อในระยะสั้น ระยะยาว อาจมีผลต่อความเสื่อมหรือการแก่ของเซลล์ และอาจเป็นสารก่อมะเร็ง และโรคหัวใจ ต้อกระจก  สารต้านอนุมูลอิสระพบได้มากในผักและผลไม้บางชนิด จึงมีการสนับสนุนให้ทานสิ่งเหล่านี้เพิ่มมากชึ้น โดยมีความเชื่อว่าอาจลดภาวะโรคต่างๆดังกล่าว และลดความแก่ ความเสื่อมของเซลล์ ในมิติของเครื่องสำอาง เชื่อว่าเครื่องสำอางที่ประกอบด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ จะมีส่วนช่วยบำรุงผิว ทำให้ผิวเต่งตึง ไม่เหี่ยวย่นก่อนวัยอันควร12

ครีมตรีผลา

สมุนไพรตรีผลา ประกอบด้วยสมุนไพร 3 ชนิด ได้แก่ สมอไทย สมอพิเภก และมะขามป้อม เป็นสมุนไพรกลุ่มใหม่ที่สามารถจะนำมาใช้ในผลิตภัณฑ์บำรุงผิวพรรณ และทำให้ผิวกระจ่างใสได้ ทั้งนี้เนื่องจากสมุนไพรทั้งสามชนิดนี้มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระได้ดี ซึ่งจากผลงานวิจัยของ นพมาศ สุนทรเจริญนนท์และคณะ (2547) พบว่าสารสกัดน้ำของสมุนไพรตรีผลามีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ (ในหลอดทดลอง) ได้ดีกว่าสารมาตรฐาน BHT, BHA, vitamin C  นอกจากนี้ยังพบว่ามีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียและเชื้อราที่ก่อเกิดโรคที่ผิวหนังได้ และสมุนไพรตรีผลาเป็นสมุนไพรที่มีการใช้อย่างมากในประเทศอินเดีย เป็นตำรับยาอายุรเวท ใช้เป็นยาอายุวัฒนะ บำรุงร่างกายและอีกหลายโรค ในประเทศไทยมีสมุนไพรตรีผลาที่สามารถพบได้ในป่า และพื้นที่ปลูกทั่วประเทศ ถือได้ว่าเป็นสมุนไพรที่มีศักยภาพที่จะพัฒนาเป็นยา ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและเครื่องสำอาง  มะขามป้อม เป็นสมุนไพรที่มีการศึกษาวิจัยฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ และต้านเอนไซม์ไทโรซิเนส มากกว่าสมอไทย และสมอพิเภก ปัจจุบันในท้องตลาดก็มีผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของมะขามป้อมเป็นจำนวนมาก แต่ไม่มีผลิตภัณฑ์ที่เป็นส่วนผสมของสมุนไพรทั้ง 3 ชนิด (ตรีผลา) ดังนั้นงานวิจัยนี้จึงมุ่งวิจัยครีมตรีผลาเป็นผลิตภัณฑ์บำรุงผิว ทำให้ผิวกระจ่างใส เพื่อเป็นผลิตภัณฑ์อีกทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้บริโภค งานวิจัยนี้ได้ทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและเอนไซม์ไทโรซิเนสของสมุนไพรตรีผลา คือ มะขามป้อม (Phyllanthus emblica L.), สมอไทย (Terminalia chebula Retz.) และ สมอพิเภก (Terminalia bellirica Roxb.) พบว่าสมุนไพรทั้ง 3 ชนิด มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระได้น้อยกว่าสารเปรียบเทียบเล็กน้อย (Vitamin C) โดยมะขามป้อมมีฤทธิ์ดีที่สุด (ค่า ED50 ของ Vitamin C, มะขามป้อม, สมอพิเภก, และสมอไทย เท่ากับ 1.78, 2.28, และ 5.06 ?g/ml, ตามลำดับ) และมีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนสได้น้อยกว่าสารมาตรฐาน kojic acid โดยสมอพิเภกมีฤทธิ์ดีที่สุด (ค่า ED50 ของ kojic acid, สมอพิเภก, สมอไทย, มะขามป้อม เท่ากับ 0.04, 1.18, 1.50, 1.75 ?g/ml, ตามลำดับ) และผลตรวจสอบทางเคมีเบื้องต้นพบว่า สมุนไพรทั้ง 3 ชนิด ประกอบด้วยสารกลุ่ม hydrolyzable tannins, alkaloids และ coumarins และปริมาณสาร gallic acid (โดยวิธี High Pressure Liquid Chromatography) ในสารสกัดมะขามป้อม สมอพิเภก และสมอไทย มีค่าเท่ากับ11.72, 6.90, 3.88%w/w ตามลำดับ หลังจากนั้นเตรียมสารสกัดตรีผลาเป็น 2 สูตร คือ สูตรที่ 1 ประกอบด้วย มะขามป้อม:สมอพิเภก:สมอไทย อัตราส่วน 3:2:1 และสูตรที่ 2 อัตราส่วน 1:1:1 แล้วนำไปทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนส พบว่า สูตรที่ 1 มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนส ได้ดีกว่าสูตรที่ 2 สารสกัดตรีผลาสูตรที่ 1 มี % gallic acid เท่ากับ 9.86 % สูตรที่ 2 มีปริมาณ 8.43 %  ส่วนการเตรียมครีมตรีผลา ได้เตรียมด้วยกระบวนการที่ใช้ความร้อน และไม่ใช้ความร้อน โดยเตรียมเป็น 4 ความเข้มข้นคือ 0.05%, 0.1%, 0.2% และ 0.5% แล้วทดสอบลักษณะทางกายภาพและเคมีของตำรับครีมตรีผลา และทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ พบว่าตำรับครีมตรีผลา สูตรที่ 1 ความเข้มข้น 0.2% มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสูงสุด และเหมาะเป็นครีมที่จะพัฒนาต่อไปเป็นครีมบำรุงผิว ทำให้ผิวกระจ่างใส13 งานวิจัยนี้ถือได้ว่าเป็นงานวิจัยที่ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางสมุนไพรที่มีในประเทศไทย เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสมุนไพร และเป็นการสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรผู้ปลูกสมุนไพร เป็นการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติของประเทศให้ยังอยู่ต่อไป

เอกสารอ้างอิง

  1. นันทนา พฤกษ์คุ้มวงศ์, บรรณาธิการ.  การพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางผิวหนัง.  กรุงเทพฯ: อาร์พิดดี, 2533.
  2. วิฑูรย์ กรชาลกุล สมศักดิ์ ปราชญ์วัฒนกิจ.  การตั้งตำรับครีมช่วยให้หน้าขาว.  โครงการพิเศษปริญญาเภสัชศาสตร์บัณฑิต.  กรุงเทพฯ: คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, 2534.
  3. Smit N, Vicanova J, Pavel S.  The hunt for natural skin whitening agents.  Int J Mol Sci 2009; 10: 5326-49.
  4. Cho YH, Kim JH, Park SM, Lee B, Pyo HB, Park HD.  New cosmetic agents for skin whitening from Angelica dahurica.  J Cosmet Sci 2006; 57(1): 11-21.
  5. Boissy RE, Visscher M, Delong MA.  Deoxy arbutin: a novel reversible tyrosinase inhibitor with effective skin lightening potency.  Exp Dermatol 2005; 14(8): 601-8.
  6. Nohynek GL, Kirkland D, Marzin D, Toutain H, Leclerc-Ribaud C, Jinnai H.  An assessment of the genotoxicity and human health risk of topical use of kojic acid.  Food Chem toxicol 2004; 42(1): 93-105.
  7. Shibuya T, Murota T, Sakamoto K, Ivahara H, Ikino M.  Mutagenicity and dominant lethal test of kojic acid.  J Toxicol Sci 1998; 7(4): 255-62.
  8. Kameyama K, Sakai C, Kondoh S.  Inhibitory effect of magnesium L-ascorbyl-2-phosphate (VC-PMG) on melanogenesis in vitro and in vivo.  J Am Acad Dermatol 1996; 34(1): 29-33.
  9. Wang CC, Wu SM.  Simultaneous determination of L-ascorbic acid, ascorbic acid-s-phosphate magnesium salt, and ascorbic acid-6-palmitate in commercial cosmetics by micellar electrokinetric capillary electrophoresis.  Anal Chim Acta 2006; 576(1): 124-9.
  10. Yoshimura M, Watanabe Y, Kasai K.  Inhibitory effect of an ellagic acid-rich pomegranate extract on tyrosinase activity and ultraviolet-induced pigmentation.  Biosci Viotechonol Biochem 2005; 69(12): 2368-73.
  11. วราภรณ์ จรรยาประเสริฐ.  เครื่องสำอางทำให้ผิวขาว.  กรุงเทพ: ภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล; 2550.
  12. มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. ทบทวนเอกสาร. Avialiable at: http://archive.lib.cmu.ac.th/full/T/2551/biol0451tp_ch2.pdf . Accessed July, 15, 2013.
  13. ปฏิมา บุญมาลี  ปัทมา เทียนวรรณ.  ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและเอนไซม์ไทโรซิเนสของครีมตรีผลา.  โครงการพิเศษปริญญาเภสัชศาสตร์บัณฑิต.  กรุงเทพฯ: คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, 2556.
ภาพประกอบจาก http://www.herbdb.com/wp-content/uploads/2011/05/000000.jpg


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


ยาหอม กับคนวัยทำงาน 1 วินาทีที่แล้ว
จิบชายามบ่าย 1 นาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2025
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้