แจ้งงดให้บริการเว็บไซต์ เนื่องจากมีการปรับปรุงระบบการจ่ายกระแสไฟฟ้าของอาคาร ตั้งแต่วันศุกร์ที่ 17 ม.ค. 2568 เวลา 17.00 น. ถึงวันจันทร์ที่ 20 ม.ค. 2568 เวลา 08.00 น.
ขออภัยในความไม่สะดวกมา ณ ที่นี้

เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


การปฏิบัติตัวเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการตั้งครรภ์


ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภญ.ศยามล สุขขา

ภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล


ภาพประกอบจาก: https://www.freepik.com/free-photo/top-v...574822.htm
อ่านแล้ว 6,363 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 08/11/2566
อ่านล่าสุด 2 ช.ม.ที่แล้ว

Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
 

จากข้อมูลในประเทศสหรัฐอเมริกาพบว่า เกือบครึ่งหนึ่งของการตั้งครรภ์นั้นเกิดขึ้นโดยที่ไม่ได้ตั้งใจมาก่อน โดยปกติแล้วหญิงตั้งครรภ์จะทราบว่าตนเองมีการตั้งครรภ์เกิดขึ้นจะเป็นช่วงเวลาสัปดาห์แรกหลังจากที่เกิดการปฏิสนธิขึ้น ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่อวัยวะสำคัญ ๆ กำลังสร้างหรือเกิดการพัฒนาขึ้นแล้ว ดังนั้นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งสำหรับหญิงวัยเจริญพันธุ์ที่ต้องการตั้งครรภ์คือการเตรียมตัวสำหรับการตั้งครรภ์ เพื่อให้เกิดทารกที่แข็งแรงสมบูรณ์ และมีความปลอดภัยต่อทั้งทารก และมารดาตลอดการตั้งครรภ์ ในบทความนี้จะกล่าวถึงสารอาหารที่จำเป็นสำหรับการเตรียมตัวตั้งครรภ์ พฤติกรรมที่ควรหลีกเลี่ยง และการปฏิบัติตัวเพื่อเตรียมพร้อมก่อนการตั้งครรภ์

สารอาหารที่จำเป็นสำหรับการเตรียมตัวตั้งครรภ์1

การได้รับสารอาหารที่เหมาะสมตั้งแต่ก่อนเริ่มการตั้งครรภ์จะช่วยส่งเสริมสุขภาพที่ดีของมารดา และลดความเสี่ยงต่อความผิดปกติของทารก โดยสารอาหารที่แนะนำ เพื่อส่งเสริมการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ ลดความเสี่ยงต่อความพิการแต่กำเนิด และเพื่อให้มารดามีสุขภาพที่ดีมีดังนี้

  1. กรดโฟลิก ในหญิงวัยเจริญพันธุ์ควรรับประทานกรดโฟลิกในขนาด 0.4 มิลลิกรัม/วัน และอาจพิจารณาในขนาดที่สูงขึ้นหากมีความเสี่ยงต่อการขาดกรดโฟลิกที่อาจส่งผลต่อทารกในครรภ์ได้ เช่น หญิงที่มีภาวะเบาหวาน สูบบุหรี่ ภาวะอ้วน (BMI > 35 กิโลกรัม/ตารางเมตร) หรือรับประทานยากันชัก โดยกรดโฟลิกนี้ควรรับประทานเสริมก่อนการวางแผนตั้งครรภ์ 1 เดือน และควรรับประทานต่อเนื่องไปตลอดการตั้งครรภ์ในไตรมาสแรก
  2. เหล็ก มีส่วนสำคัญในการเพิ่มปริมาณของเม็ดเลือดแดง การเพิ่มปริมาณสารน้ำ และจำเป็นสำหรับการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ ในหญิงที่ต้องการตั้งครรภ์ควรรับประทานอาหารที่มีเหล็กอย่างเพียงพอ ได้แก่ เนื้อแดง เนื้อปลา ถั่วตระกูลนัท หรือผัก และควรได้รับธาตุเหล็กเสริม รวมทั้งการค้นหาว่ามีภาวะขาดเหล็กร่วมด้วยหรือไม่

กรมอนามัยได้ส่งเสริมวิตามินให้หญิงวัยเจริญพันธุ์รับประทานก่อนการตั้งครรภ์ คือวิตามินที่มีส่วนประกอบของธาตุเหล็ก ขนาด 60 มิลลิกรัม และกรดโฟลิก ขนาด 2.8 มิลลิกรัม โดยรับประทานครั้งละ 1 เม็ด สัปดาห์ละ 1 ครั้ง ก่อนการตั้งครรภ์ 1-3 เดือน และเมื่อเริ่มตั้งครรภ์สามารถรับประทานทั้งธาตุเหล็ก กรดโฟลิกต่อได้ และให้ร่วมกับการเสริมไอโอดีนเพิ่มเติมเมื่อมีการตั้งครรภ์2

  1. แคลเซียม ในระหว่างการตั้งครรภ์ แคลเซียมมีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างกระดูก ทั้งในหญิงตั้งครรภ์ และทารก จากคำแนะนำการรับประทานแคลเซียมในหญิงอายุ 19-50 ปี อยู่ที่ 800 มิลลิกรัม/วัน3 โดยแหล่งของแคลเซียมนั้นมาจากผลิตภัณฑ์จำพวกนม กะหล่ำปลี บล็อคโคลี เป็นต้น
  2. อาหารทะเล และเนื้อปลา เนื่องจาก omega-3 fatty acid นั้นมีความจำเป็นในช่วงตั้งครรภ์ โดยเสริมสร้างการพัฒนาของสมองของทารก หญิงที่ต้องการตั้งครรภ์จึงควรรับประทานอาหารทะเลอย่างสม่ำเสมอ และควรระวังอาหารทะเลบางประเภทที่อาจพบการปนเปื้อนของสารปรอทซึ่งทำให้เกิดความผิดปกติของทารกได้ สำหรับอาหารทะเลที่พบว่ามีการปนเปื้อนของสารปรอทน้อย ได้แก่ กุ้ง ปลาทูน่า ปลาแซลม่อน ปลาดุก ปลาบึก เป็นต้น

พฤติกรรมที่ควรหลีกเลี่ยงในหญิงที่ต้องการตั้งครรภ์1

  1. จำกัดการดื่มคาเฟอีน แม้ข้อมูลของคาเฟอีนต่อผลของทารกในครรภ์ยังไม่แน่ชัดและมีความแปรปรวนในงานวิจัยที่ทำการศึกษา อย่างไรก็ตามคาเฟอีนนั้นสามารถผ่านไปยังทารก และทำให้ทารกได้รับผลจากสารคาเฟอีนไปด้วย คำแนะนำปริมาณคาเฟอีนที่สามารถรับประทานได้ในหญิงที่ต้องการตั้งครรภ์คือไม่เกิน 200 มิลลิกรัม/วัน (เทียบเท่ากับกาแฟปริมาณ 350 มิลลิลิตร) นอกจากนี้ต้องระวังคาเฟอีนที่มีอยู่ในผลิตภัณฑ์ชนิดอื่น เช่น ชา น้ำอัดลม เครื่องดื่มชูกำลัง เช่นเดียวกัน
  2. การหยุดสูบบุหรี่ มีหลักฐานชี้ชัดว่าการสูบบุหรี่จะทำให้การตั้งครรภ์เกิดได้ช้า หรือนำมาสู่ภาวะการมีบุตรยาก และเมื่อมีการตั้งครรภ์เกิดขึ้นแล้วแต่ยังคงมีการสูบบุหรี่อย่างต่อเนื่องนั้นจะเกิดผลเสียต่อทั้งมารดาและทารกในครรภ์ และเกิดความเสียหายต่อระบบสมอง ระบบประสาท ระบบหัวใจของทารก วิธีการที่ดีที่สุดคือการหยุดสูบบุหรี่ตั้งแต่ก่อนเริ่มตั้งครรภ์ (อย่างน้อย 3 เดือน)2 ดังนั้นหญิงที่ต้องการตั้งครรภ์จึงควรขอรับคำแนะนำจากบุคลากรทางการแพทย์เพื่อการหยุดบุหรี่อย่างเหมาะสม
  3. หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ จากข้อมูลหญิงที่ต้องการตั้งครรภ์และมีการดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณ 5 drinks/สัปดาห์ จะส่งผลเสียต่อความสำเร็จในการตั้งครรภ์ ดังนั้นหญิงที่ต้องการตั้งครรภ์จึงควรหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ไปจนถึงช่วงที่มีการตั้งครรภ์

การปฏิบัติตัวเพื่อเตรียมพร้อมก่อนการตั้งครรภ์1

สิ่งสำคัญมากของหญิงที่ต้องการตั้งครรภ์คือการขอรับคำปรึกษาจากแพทย์เพื่อวางแผนการตั้งครรภ์ ซึ่งประโยชน์ของการวางแผนตั้งครรภ์มีดังนี้

  1. แพทย์จะทำการซักประวัติโรคประจำตัวผู้ป่วยที่อาจมีความเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์ เช่น โรคเบาหวาน ไทรอยด์ ฟีนิลคีโตนูเรีย และโรคชัก โดยผู้ป่วยควรควบคุมอาการได้คงที่ก่อนการตั้งครรภ์ อีกทั้งแพทย์จะทำการค้นหาโรคทางพันธุกรรมทั้งสามี และภรรยา ที่อาจส่งผลต่อทารกในครรภ์ได้
  2. ยาบางชนิดควรหลีกเลี่ยงการใช้ในหญิงตั้งครรภ์ เนื่องจากอาจส่งผลเสียต่อทารกในครรภ์ ดังนั้นหากหญิงที่ต้องการตั้งครรภ์มีโรคประจำตัว และมีการใช้ยารักษาโรคประจำตัวอย่างสม่ำเสมอต้องรีบปรึกษาแพทย์แต่เนิ่น ๆ เนื่องจากยาบางชนิดต้องหยุดก่อนการตั้งครรภ์เป็นเวลานาน ยกตัวอย่างยาที่ส่งผลต่อทารกในครรภ์ได้แก่ 1) ยาลดความดันกลุ่ม angiotensin converting enzyme inhibitors/angiotensin receptor blockers 2) ยาวาร์ฟาริน ซึ่งเป็นยาต้านการแข็งตัวของเลือด 3) ยาไขมันกลุ่มสแตติน 4) ยากันชักเช่น valproic acid, phenytoin, carbamazepine, topiramate 5) ยารักษาสิวกลุ่มเรตินอยด์ (isotretinoin) 6) ยารักษาโรคทางภูมิคุ้มกัน methotrexate เป็นต้น รวมถึงหลีกเลี่ยงการใช้สมุนไพรทุกชนิด
  3. ป้องกันโรคติดเชื้อที่อาจส่งผลต่อทารกเมื่อมีการตั้งครรภ์ โดยแพทย์จะทำการค้นหาว่าผู้ป่วยมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อบางชนิด เช่นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์หรือไม่ เนื่องจากอาจมีการถ่ายทอดจากมารดาไปสู่ทารกในครรภ์ได้ ร่วมกับการพิจารณาวัคซีนที่ควรได้รับก่อนการตั้งครรภ์ นอกจากนี้หญิงที่ต้องการตั้งครรภ์ควรมีการปฏิบัติตัวเพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ เช่นการรับประทานอาหารปรุงสุกและสะอาด ล้างผัก ผลไม้ให้สะอาดก่อนการรับประทาน การหลีกเลี่ยงการสัมผัสดิน หรืออุจจาระของสัตว์เลี้ยงโดยตรง เลี่ยงการใช้ช้อนส้อม แปรงสีฟัน ผ้าเช็ดตัว ร่วมกับผู้อื่น เป็นต้น
  4. วางแผนวิธีในการคุมกำเนิดอย่างเหมาะสม โดยพิจารณาจากช่วงเวลาที่ต้องการให้เกิดการตั้งครรภ์ เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้วิธีการคุมกำเนิดที่มีระยะเวลาออกฤทธิ์นานเกินไป

สรุป

    การตั้งครรภ์ที่สมบูรณ์และมีสุขภาพที่ดีนั้น เริ่มต้นตั้งแต่การเตรียมตัวก่อนการตั้งครรภ์ ดังนั้นหญิงวัยเจริญพันธุ์จึงควรเตรียมตัวให้พร้อมก่อนการตั้งครรภ์ ทั้งการรับประทานสารอาหารที่จำเป็นสำหรับการตั้งครรภ์อย่างเหมาะสม หลีกเลี่ยงพฤติกรรมบางอย่างเนื่องจากอาจส่งผลลัพธ์ต่อการตั้งครรภ์ และเข้ารับการปรึกษาจากแพทย์เพื่อการวางแผนตั้งครรภ์อย่างเหมาะสม

Image by Freepik

แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. Mager N. Pregnancy planning and care. In: O'Connell M, Smith JA. eds. Women's health across the lifespan, 2e. McGraw Hill; 2019. [cited 2023 Oct 22]. Available from: https://accesspharmacy.mhmedical.com/content.aspx?bookid=2575&sectionid=213571150.
  2. สำนักอนามัยการเจริญพันธุ์. คู่มือการเตรียมความพร้อมก่อนใช้ชีวิตคู่และก่อนการตั้งครรภ์ เพื่อรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข. 2564.
  3. คณะกรรมการและคณะทำงานปรับปรุงข้อกำหนดสารอาหารที่ควรได้รับประจำวันสำหรับคนไทย สำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข. ตารางปริมาณสารอาหารอ้างอิงที่ควรได้รับประจำวัน สำหรับคนไทย พ.ศ. 2563. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ: สำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข. 2563.
เปิดอ่านด้วย Google Doc Viewer ดาวน์โหลดบทความ (pdf) ดูบทความอื่นๆ

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


ยาแก้ไอ ... มีกี่แบบ ?? 3 วินาทีที่แล้ว
แพ้ยา ป้องกันได้ 4 วินาทีที่แล้ว
4 วินาทีที่แล้ว
ยาคุมกำเนิดชนิดฉีด 1 นาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2025
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้