เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


น้ำมันหอมระเหยไล่แมลงสาบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม


ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ภญ.กชพรรณ ชูลักษณ์

ภาควิชาเภสัชอุตสาหกรรม

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล


ภาพประกอบจาก: https://www.pexels.com/photo/cockroach-i...-11022142/
อ่านแล้ว 16,246 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 04/07/2566
อ่านล่าสุด 3 ช.ม.ที่แล้ว

Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
 

แมลงสาบถือเป็นแมลงรบกวนชนิดหนึ่งที่พบได้บ่อยที่สุดตามบ้านเรือน คอนโด และร้านอาหาร โดยตัวแมลงสาบเองยังเป็นพาหะของเชื้อก่อโรคต่าง ๆ เช่น แบคทีเรีย เชื้อรา และโปรโตซัว โดยมีรายงานว่าแมลงสาบเยอรมัน (German cockroach, Blattella germanica) จะมีสายพันธุ์แบคทีเรียหลากหลายชนิดอยู่ในตัวมากที่สุด หากเชื้อเหล่านี้ปนเปื้อนในภาชนะใส่อาหารหรืออาหาร ก็จะแพร่เชื้อโรคมาสู่มนุษย์ได้ นอกจากนี้ตัวแมลงสาบยังเป็นสารก่อภูมิแพ้ที่สำคัญของการเกิดอาการโรคภูมิแพ้ เช่น โรคหืด และโรคภูมิแพ้แมลงสาบ (cockroach allergy) อีกด้วย โดยสารก่อภูมิแพ้จากแมลงสาบจะพบได้ในอุจจาระ น้ำลาย สารคัดหลั่ง รวมถึงซากและส่วนที่ลอกคราบ ดังนั้นแม้ว่าจะมีการใช้ยาฆ่าแมลงเพื่อกำจัดแมลงสาบ แต่หากไม่สามารถกำจัดซากแมลงสาบออกไปได้หมด ผู้ที่อยู่อาศัยก็จะยังคงได้รับสารก่อภูมิแพ้อย่างต่อเนื่อง

จากงานวิจัยที่ทำการทดสอบภูมิแพ้โดยการสะกิดผิวหนัง (skin prick test) ในเด็กไทย ช่วงอายุ 2-18 ปี ที่มีประวัติเป็นโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ และ/หรือโรคหืด จำนวน 688 คน พบว่าสารก่อภูมิแพ้ชนิดภายในบ้าน (indoor allergens) ที่มักก่อให้เกิดการแพ้ในเด็กไทยสูงเป็นอันดับ 1 คือ ไรฝุ่น รองลงมาคือ แมลงสาบเยอรมัน  แมลงสาบอเมริกัน (American cockroach, Periplaneta americana) และแมว ตามลำดับ (5) ซึ่งสารก่อภูมิแพ้จากแมลงสาบสามารถพบได้ทั่วบ้าน และพบมากที่สุดในห้องครัว แต่การแพ้จะสัมพันธ์กันกับความเข้มข้นของสารก่อภูมิแพ้จากแมลงสาบที่พบในห้องนอนมากที่สุด

Credit: Monsetra (https://www.pexels.com/photo/sink-with-skincare-products-in-bathroom-6781117/) 

ผลิตภัณฑ์ยาฆ่าแมลงที่ใช้ในการควบคุมสัตว์รบกวนมักเป็นสารเคมีสังเคราะห์ เช่น สารกลุ่ม organophosphates, carbamates และ pyrethroids เมื่อใช้ซ้ำบ่อย ๆ มักทำให้แมลงดื้อยา ทำให้ต้องใช้ในรูปสารผสม หรือใช้ในปริมาณที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งต้องมีวิธีกำจัดภาชนะบรรจุผลิตภัณฑ์ไล่แมลงสาบอย่างเหมาะสม มิฉะนั้นอาจทำให้เกิดปัญหาสารพิษตกค้างในแหล่งน้ำหรือสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะส่งผลต่อสุขภาพและความปลอดภัยของมนุษย์ในระยะยาว ด้วยเหตุนี้จึงมีแนวคิดในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ไล่ และ/หรือ กำจัดแมลงสาบ โดยใช้สารจากธรรมชาติที่ไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งรายงานวิจัยหลายฉบับพบว่าน้ำมันหอมระเหยจากพืชหลากหลายชนิด มีฤทธิ์ไล่และเป็นพิษต่อแมลงหลาย ๆ ชนิด รวมทั้งแมลงสาบ เช่น

  • ตะไคร้หอม (Cymbopogon winterianus)
  • ยูคาลิปตัส (Eucalyptus globulus)
  • มะกรูด (Citrus hystrix
  • สะระแหน่ (Mentha piperita
  • โรสแมรี่ (Rosmarinus officinalis)
  • ลาเวนเดอร์ (Lavandula angustifolia)

ซึ่งน้ำมันหอมระเหยเหล่านี้ได้มีการนำมาใช้ในอุตสาหกรรมยา อาหาร เครื่องสำอาง รวมทั้งสุคนธบำบัด (aromatherapy) มาอย่างยาวนาน มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว และเสื่อมสลายได้ง่ายเมื่อสัมผัสกับความร้อน แสง และอากาศ จึงช่วยลดความกังวลในแง่ของสารเคมีตกค้างในสิ่งแวดล้อม ด้วยเหตุนี้จึงมีศักยภาพในการนำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ไล่แมลงสาบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสำหรับใช้ในครัวเรือน

อย่างไรก็ตาม ระยะเวลาในการออกฤทธิ์ของน้ำมันหอมระเหยขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ความเข้มข้นของน้ำมันหอมระเหยในสูตรตำรับ ปริมาณที่ใช้ ขนาดและอุณหภูมิของห้อง เป็นต้น ทั้งนี้การที่น้ำมันหอมระเหยเสื่อมสลายได้ง่ายจึงทำให้มีฤทธิ์สั้น ซึ่งจำเป็นต้องมีการพัฒนานวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหาตรงจุดนี้ต่อไป รวมทั้งหาวิธีควบคุมคุณภาพของน้ำมันหอมระเหย เพื่อให้ผลิตภัณฑ์มีความสม่ำเสมอในทุกรุ่นที่ผลิต

แม้ว่าน้ำมันหอมระเหยหรือสารออกฤทธิ์อื่น ๆ จากธรรมชาติมักถูกมองว่าปลอดภัย แต่แท้จริงแล้วอาจก่อให้เกิดการระคายเคืองที่ผิวหนัง หรือทางเดินหายใจได้เช่นกัน โดยความระดับรุนแรงจะขึ้นอยู่กับการตอบสนองของร่างกายที่ไวต่อสารของแต่ละบุคคล ปริมาณที่สัมผัส หรือสูดดม ในกรณีที่ต้องการนำมาเตรียมเป็นสเปรย์สำหรับไล่แมลงสาบ และ/หรือแมลงอื่น ๆ ควรนำน้ำมันหอมระเหยมาเจือจางด้วยตัวทำละลายก่อนใช้ เช่น 10-30% ในแอลกอฮอล์ และทดลองใช้ในปริมาณน้อย ๆ ก่อน โดยทดลองพ่นที่พื้นหรือซอกหลืบที่พบแมลงสาบ และหลีกเลี่ยงการพ่นในอากาศเพื่อป้องกันไม่ให้ผลิตภัณฑ์ฟุ้งกระจายจนอาจระคายเคืองดวงตาและทางเดินหายใจ หรืออาจพ่นสเปรย์ในห้องให้ทั่วทุกจุดก่อนออกไปทำงานหรือออกไปนอกบ้าน เพื่อป้องกันไม่ให้สูดดมมากเกินไปจนระคายเคืองทางเดินหายใจ ทั้งนี้การดูแลรักษาความสะอาดและสุขอนามัยภายในครัวเรือนยังคงเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องทำควบคู่ไปด้วยในการควบคุมแมลงรบกวนในครัวเรือน

แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. Chooluck K, Teeranachaideekul V, Jintapattanakit A, Lomarat P, Phechkrajang C. Repellency effects of essential oils of Cymbopogon winterianus, Eucalyptus globulus, Citrus hystrix and their major constituents against adult German cockroach (Blattella germanica Linnaeus (Blattaria: Blattellidae). Jordan Journal of Biological Sciences (JJBS). 2019;12(4):519-23.
  2. Kulalert P, Poachanukoon O, Nanthapisal S, Sritipsukho P, Thanborisutkul K, Termworasin P, et al. Minimum number and types of allergens for a skin prick test panel in Thai children with allergic respiratory diseases. Allergy, Asthma & Clinical Immunology. 2022;18(1):77
  3. Nasirian H. Infestation of cockroaches (Insecta: Blattaria) in the human dwelling environments: A systematic review and meta-analysis. Acta Trop. 2017;167:86-98.
  4. Nasirian H. Contamination of Cockroaches (Insecta: Blattaria) by Medically Important Bacteriae: A Systematic Review and Meta-analysis. J Med Entomol. 2019;56(6):1534-54.
  5. Chai RY, Lee CY. Insecticide resistance profiles and synergism in field populations of the German cockroach (Dictyoptera: Blattellidae) from Singapore. J Econ Entomol. 2010;103(2):460-71.
เปิดอ่านด้วย Google Doc Viewer ดาวน์โหลดบทความ (pdf) ดูบทความอื่นๆ

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


1 วินาทีที่แล้ว
1 นาทีที่แล้ว
1 นาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้