เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


ปวดสะโพกร้าวลงขา หมอนรองกระดูกเคลื่อนทับเส้นประสาทจริงหรือไม่


อาจารย์ ดร. กภ. ยิ่งรัก บุญดำ ภาควิชาสรีรวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล


ภาพประกอบจาก: https://www.spineuniverse.com/sites/defa...524_ml.jpg
อ่านแล้ว 130,516 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 23/12/2563
อ่านล่าสุด 1 ช.ม.ที่แล้ว

Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
 


อาการปวดสะโพกร้าวลงขา เป็นอาการที่พบได้บ่อยในบุคคลที่นั่งทำงานเป็นระยะเวลานาน มีการทำกิจวัตรประจำวันที่ต้องยกของหนัก มีการเคลื่อนไหวของลำตัวในลักษณะที่ไม่ถูกต้อง มีภาวะอ้วน หรือสตรีตั้งครรภ์ อาการปวดจะเริ่มจากบริเวณหลังส่วนล่างซีกใดซีกหนึ่งและไล่ลงมายังสะโพก ก้น ต้นขาด้านหลัง น่อง และอาจร้าวไปถึงบริเวณข้อเท้าและนิ้วหัวแม่เท้าได้ โดยในบางรายอาจจะมีอาการชา รู้สึกเสียวซ่า บริเวณเท้าและนิ้วหัวแม่เท้าร่วมด้วย ความผิดปกติที่ปรากฏนี้มีชื่อเรียกทางการแพทย์ว่า “ไซอาติกา (Sciatica)” หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า “โรคปวดสะโพกร้าวลงขา” 
 
ไซอาติกา เป็นอาการปวดสะโพกร้าวลงขาที่มีสาเหตุจากการที่เส้นประสาทไซอาติก (Sciatic nerve) เกิดการบาดเจ็บ ระคายเคือง หรือมีการอักเสบ อันเนื่องมาจากการถูกกดทับหรือโดนหนีบ เส้นประสาทไซอาติกเป็นเส้นประสาทที่ยาวที่สุดในร่างกายและมีขนาดใหญ่ กว้างประมาณหนึ่งนิ้วชี้ เกิดจากการรวมตัวกันของเส้นประสาทไขสันหลังระดับเอวที่ 4-5 และระดับกระเบนเหน็บ 1-3 โดยเส้นประสาททั้ง 5 เส้นจะรวมตัวกันเป็นเส้นประสาทไซอาติกข้างซ้ายและขวาบริเวณหน้าต่อกล้ามเนื้อพิริฟอร์มิส (Piriformis) ข้างนั้น ๆ จากนั้นเส้นประสาทไซอาติกจะวิ่งทอดยาวผ่านสะโพก ก้น ต้นขาด้านหลัง ไปสิ้นสุดที่บริเวณข้อพับเข่า และแตกแขนงเป็นเส้นประสาทสาขาวิ่งยาวไปยังบริเวณขา เท้า และนิ้วหัวแม่เท้า 
สาเหตุของอาการปวดส่วนใหญ่ (85%) เกิดจากหมอนรองกระดูกสันหลังส่วนเอวเคลื่อนทับเส้นประสาท ส่วนสาเหตุอื่นอาจเกิดจากการมีกระดูกงอกหรือโพรงกระดูกแคบลง ภาวะกระดูกสันหลังส่วนเอวเคลื่อน หรือมีถุงน้ำบริเวณกระดูกสันหลังส่วนเอว ซึ่งสาเหตุเหล่านี้ก็สามารถกดทับเส้นประสาทไซอาติกได้เช่นเดียวกัน โดยอาการปวดจากหมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาทไซอาติกจะแย่ลงเมื่อมีการยืน เดิน หรือนั่งเป็นระยะเวลานาน 
อย่างไรก็ตาม ในผู้ป่วยหลายรายพบว่าอาการปวดที่ปรากฏเกิดจากการบาดเจ็บหรือการอักเสบของกล้ามเนื้อพิริฟอร์มิส เนื่องจากการนั่งเป็นระยะเวลานาน การใส่สิ่งของบริเวณกระเป๋ากางเกงด้านหลัง หรือการใช้งานกล้ามเนื้อมัดนี้มากเกินไปซึ่งพบได้ในนักวิ่ง การบาดเจ็บและอักเสบของกล้ามเนื้อส่งผลให้กล้ามเนื้อมีอาการบวม เกิดการหดเกร็ง จึงกดหนีบเส้นประสาทไซอาติกซึ่งวางตัวอยู่หน้าต่อกล้ามเนื้อได้ โดยผู้ป่วยที่มีอาการปวดจากกล้ามเนื้อพิริฟอร์มิสจะมีอาการปวดเรื้อรังบริเวณก้นและสะโพก ปวดขณะเดินขึ้นบันได ปวดหลังจากตื่นนอน ปวดเมื่อนั่งเป็นระยะเวลานาน และอาการปวดบริเวณบริเวณก้นจะแย่ลงเมื่อมีการเคลื่อนไหวของข้อสะโพกร่วมด้วย จะเห็นได้ว่าไซอาติกาสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ดังนั้นการตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุที่แท้จริงจึงมีความจำเป็นอย่างมากสำหรับการให้การรักษาที่ถูกต้องและตรงจุด 
การรักษาเพื่อบรรเทาอาการปวด

  1. การประคบร้อน ประคบเย็น เพื่อลดอาการอักเสบ
  2. การให้ยากลุ่ม NSAIDs เพื่อลดอาการอักเสบ ยาคลายกล้ามเนื้อ (muscle relaxant) เพื่อทำให้กล้ามเนื้อคลายตัว หรือ ยากลุ่มกันชัก (anticonvulsant) และยาต้านเศร้า (antidepressant) เพื่อรักษาอาการปวดจากการที่มีกระแสประสาทผิดปกติ (neuropathic pain)
  3. การยืดเหยียดกล้ามเนื้อกล้ามเนื้อพิริฟอร์มิสและกล้ามเนื้อต้นขาด้านหลัง เพื่อบรรเทาอาการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ
  4. การรักษาทางกายภาพบำบัด
  5. การให้ความรู้แก่ผู้ป่วยในการรักษาท่าทางของร่างกายให้ถูกต้อง
  6. การผ่าตัด

 
 

แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. Ropper AH, Zafonte RD. Sciatica. N Engl J Med. 2015;372(13):1240-8.
  2. Ostelo RW. Physiotherapy management of sciatica. J Physiother. 2020;66(2):83-8.
  3. Cass SP. Piriformis syndrome: a cause of nondiscogenic sciatica. Curr Sports Med Rep. 2015;14(1):41-4.
  4. Davis D, Maini K, Vasudevan A. Sciatica. [Updated 2020 Nov 20]. In: StatPearls [Internet]. Treasure Island (FL): StatPearls Publishing; 2020 Jan-. Available from: https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK507908
  5. Cleveland clinic. Sciatica [Internet]. [cited 2020 Dec 18]. Available from: https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/12792-sciatica


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


40 วินาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้