Eng |
กนกพร อะทะวงษา สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนถึงต้นเดือนธันวาคม บัวตองจะผลิดอกบาน มองไกลๆ เห็นเป็นภูเขาสีเหลืองทองที่ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมชมและเก็บภาพเป็นที่ระลึก จนเกิดเป็นเทศกาลดอกบัวตองบานสัญลักษณ์การเข้าสู่ฤดูหนาวของหลายจังหวัดทางภาคเหนือ
ภาพจาก : http://st1.thehealthsite.com/wp-content/uploads/2017/09/ocps-655x353.jpg
บัวตอง (Tithonia diversifolia (Hemsl.) A. Gray.) มีถิ่นกำเนิดในประเทศเม็กซิโกและแถบอเมริกากลาง เริ่มแรกถูกนำเข้ามาปลูกเพื่อความสวยงาม แต่ปัจจุบันแพร่กระจายทั่วไปในที่โล่งและไร่ร้างทางภาคเหนือในพื้นที่สูงประมาณ 600 - 1200 ม. เหนือระดับน้ำทะเล บัวตองเป็นไม้ล้มลุก มีไหลใต้ดิน ใบ เป็นใบเดี่ยวออกสลับ รูปไข่หรือรูปไข่แกมขอบขนาน ด้านบนสีเขียวเข้ม ด้านล่างสีเขียวอมเทา มีขนประปรายทั้ง 2 ด้าน ดอก สีเหลืองทองออกที่ปลายกิ่ง(1) แต่มีใครจะทราบไหมว่าแท้จริงแล้วบัวตองถือเป็นวัชพืชต่างถิ่นที่เข้ามารุกรานพืชในบ้านเรา เนื่องจากส่วนรากสามารถปล่อยสารเคมีที่เป็นพิษต่อพืชชนิดอื่น (phytotoxic) ทำให้พืชอื่นไม่สามารถเจริญเติบโตในพื้นที่เดียวกับบัวตอง (allelopathy)(2) อีกทั้งบัวตองยังเป็นพืชที่สามารถขยายพันธุ์ได้รวดเร็ว กระจายพันธุ์ได้ง่ายทั้งจากเมล็ด และการเจริญเติบโตของไหลใต้ดิน ส่งผลให้เมื่อบัวตองเจริญเติบโตขึ้นที่ใด จะค่อยๆ ขยายอาณาเขตเข้าครอบครองพื้นที่นั้นที่ละน้อยจนเต็มถาวรในที่สุด อย่างไรก็ตามมีหลายหน่วยงานที่ตระหนักถึงเหตุการณ์นี้จึงมีการเข้าควบคุมบัวตองให้อยู่ภายในพื้นที่ที่จำกัด และติดตามการกระจายพันธุ์อย่างใกล้ชิด เพื่อลดปัญหาการถูกรุกรานพืชอื่นในพื้นที่ใกล้เคียง
แต่นอกจากความสวยงามแล้วใช่ว่าบัวตองจะไม่มีประโยชน์ด้านอื่น การศึกษาวิจัยหลายฉบับพบว่าใบบัวตองมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ โดยสาร sesquiterpene ได้แก่ diversifolin, diversifolin methyl ether และ tirotundin ที่พบในส่วนใบมีฤทธิ์อย่างแรงในการยับยั้งการทำงานของ nuclear factor kappa-beta ซึ่งเป็นไซโตคายน์ที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบ(3) และสารสกัดเมทานอลจากใบบัวตอง ขนาด 50 - 200 มก. สามารถต้านการอักเสบในหนูแรทที่ถูกกระตุ้นให้เกิดการบวมที่อุ้งเท้าด้วยการฉีดสารคาราจีแนน และการต้านอักเสบแบบเรื้อรังจากการเหนี่ยวนำด้วยวิธี cotton pellet-induced granuloma รวมทั้งบรรเทาอาการปวดในหนูแรทเมื่อทดสอบด้วยวิธีให้ยืนบนแท่นร้อน(4) การศึกษาเปรียบเทียบฤทธิ์ของสารสกัดน้ำจากใบบัวตอง เมื่อทดสอบโดยการทาสารสกัดบริเวณหูของหนูแรทที่เหนี่ยวนำให้เกิดการบวมด้วยน้ำมันสลอด พบว่าสามารถออกฤทธิ์ยับยั้งการอักเสบได้ใกล้เคียงกับการใช้ยา indomethacin และยังสามารถยับยั้ง neutrophil migration ซึ่งกลไกนี้ไม่พบในกลุ่มที่ใช้ยา indomethacin(5)
นอกจากนี้ยังพบฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดของสารสกัด 70% เอทานอลจากต้นบัวตองขนาด 500 มก./กก. ช่วยลดน้ำตาลในหมูเม้าส์ที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 (KK-Ay-mice) ได้ภายใน 7 ชม. หลังจากป้อนเพียงครั้งเดียว และเมื่อป้อนในขนาดเดียวกัน ติดต่อกันนาน 3 สัปดาห์ ยังช่วยลดปริมาณอินซูลิน รวมทั้งปรับปรุงความทนต่ออินซูลิน (insulin tolerance) ในหนูเม้าส์ที่เป็นเบาหวานได้ แต่ไม่มีผลต่อระดับน้ำตาลในหนูปกติ(6) การศึกษาต่อมาพบว่าสาร sesquiterpene ที่แยกได้จากสารสกัด 70% เอทานอลจากดอกบัวตอง มีผลเพิ่มการนำกลูโคสเข้าสู่เซลล์ (glucose uptake) ในเซลล์ 3T3-L1 adipocytes(7) รวมทั้งสามารถออกฤทธิ์เพิ่มการทำงานของ peroxisome proliferatior-activaterd receptors (PPARs) และการแสดงออกของยีน hydrosteroid sulfotransferase (SULT2A1) ซึ่งมีบทบาทในการควบคุมกระบวนการเมทาบอลิสมน้ำตาลและคาร์โบไฮเดรตในร่างกาย(8) สารซาโปนินจากใบของบัวตอง ยังสามารถลดระดับไขมันในสัตว์ทดลองที่มีระดับไขมันปกติ โดยลดทั้งคอเลสเตอรอลรวม คอลเลสเตอรอล ชนิด LDL และไตรกลีเซอร์ไรด์ รวมถึงเพิ่มระดับคอเลสเตอรอล ชนิด HDL ด้วย(9) และยังมีผลป้องกันการเกิดอนุมูลอิสระ ปกป้องการเปลี่ยนแปลงเซลล์ต้นกำเนิดชนิด มีเซนไคม์ (mesenchymal stem cell) ให้เป็นเซลล์ไขมัน adipocyte สะสมในร่างกาย(10) จากการศึกษาความเป็นพิษแบบเฉียบพลันในหนูแรท โดยป้อนสารสกัด 70% เอทานอลจากต้นบัวตองขนาด 400 – 1,600 มก./กก. น้ำหนักตัว ซึ่งมากกว่าขนาดที่ให้ผลในการออกฤทธิ์ลดน้ำตาลถึง 3 เท่า ไม่พบอาการความเป็นพิษในสัตว์ทดลอง(11)
จากรายงานข้างต้นจะเห็นว่าแม้บัวตองจะเป็นวัชพืชและอาจเป็นภัยต่อพืชบางชนิด แต่ก็มีฤทธิ์ทางยาที่น่าสนใจและควรมีการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อไป