เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


คอนแทคเลนส์ ภัยใกล้ตา


บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง จากนักศึกษาเภสัชศาสตร์ชั้นปีที่ 3 เพื่อประกอบการเรียนวิชาเภสัชจุลชีววิทยา ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล


ภาพประกอบจาก: http://www.geteyesmart.org/eyesmart/imag...t-lens.jpg
อ่านแล้ว 32,952 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 18/10/2558
อ่านล่าสุด 1 วันที่แล้ว

Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
 


คอนแทคเลนส์คืออะไร ? 
ในปัจจุบันหากพูดถึงคอนแทคเลนส์หรือเลนส์สัมผัสคงจะเป็นคำที่คุ้นเคยสำหรับใครหลายคน เนื่องจากผู้คนหันมานิยมใช้คอนแทคเลนส์แทนแว่นสายตากันมากขึ้น ซึ่งคอนแทคเลนส์มีความคมชัดในการมองภาพและสะดวกสบายในการใส่มากกว่า รวมถึงหาซื้อได้ง่าย คอนแทคเลนส์เป็นเครื่องมือแพทย์อย่างหนึ่ง ผลิตจากโพลิเมอร์หรือวัสดุอื่นๆ ลักษณะเป็นแผ่นโค้ง ใช้ครอบบริเวณกระจกตาเพื่อแก้ไขปัญหาสายตา รักษาโรคตาบางอย่าง หรือเพื่อความสวยงาม 
คอนแทคเลนส์หากแบ่งตามชนิดวัสดุอาจแบ่งได้ 2 แบบคือ คอนแทคเลนส์ชนิดแข็ง ทำจากพลาสติกพิเศษทำให้มีการซึมผ่านของออกซิเจนได้ คงทนต่อการขีดข่วน และมีราคาถูก แต่ในระยะแรกจะรู้สึกไม่สบาย และคอนแทคเลนส์แบบนิ่ม ทำจากวัสดุที่มีลักษณะนิ่ม บิดงอได้ ทำให้ออกซิเจนสามารถผ่านเข้าสู่กระจกตาได้ ใช้ง่ายและสะดวกกว่าชนิดแข็ง สำหรับคอนแทคเลนส์ชนิดนิ่มสามารถแบ่งตามลักษณะการใช้งานได้ 5 แบบ คือ รายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน สามแบบนี้เป็นที่นิยมใช้มากในปัจจุบัน ส่วนรายปี นิยมใช้น้อยกว่าเนื่องจากต้องใช้การดูแลที่เข้มงวดมากกว่า และชนิดใส่ต่อเนื่อง ซึ่งปกติจะไม่แนะนำให้ใช้ เนื่องจากต้องใส่ติดต่อกัน 2-4 สัปดาห์แล้วจึงเปลี่ยน ทำให้มีโอกาสเสี่ยงติดเชื้อได้มากกว่าแบบที่ใส่แล้วถอดทุกวัน ปัจจัยสำคัญในการใช้คอนแทคเลนส์คือความจำเป็นในการใช้ เข้าใจการปฏิบัติตนในการใส่ ถอด และเปลี่ยนคอนแทคเลนส์ 
ใครบ้างที่ห้ามใส่คอนแทคเลนส์ ? 
ผู้ป่วยโรคตา ได้แก่ ผู้ที่มีสภาวะของดวงตาผิดปกติ เช่น ต้อเนื้อ ต้อลม ตาแดง กระจกตาไวต่อความรู้สึกลดลง ตาแห้ง กระพริบตาไม่เต็มที่ ผู้ที่มีการติดเชื้อที่ดวงตาบ่อย ผู้ที่มีประวัติภูมิแพ้ที่ดวงตา ผู้ที่ทำงานในสภาวะแวดล้อมที่มีฝุ่นควัน หรือละอองสิ่งสกปรกในปริมาณมาก ห้ามใส่คอนแทคเลนส์ 
ใช้คอนแทคเลนส์อย่างไรให้ถูกต้อง ? 
การใช้คอนแทคเลนส์ควรใช้อย่างถูกวิธี ล้างมือด้วยสบู่ให้สะอาดทุกครั้งก่อนใส่คอนแทคเลนส์ ใส่คอนแทคเลนส์ครอบกระจกตาทั้งหมด หากใส่แล้วมีอาการแสบให้หลับตาลงสักครู่ หากไม่หายให้ถอดคอนแทคเลนส์ออกทันที ทุกครั้งที่ถอดคอนแทคเลนส์ให้ล้างด้วยน้ำเกลือหรือน้ำยาล้างคอนแทคเลนส์ ถูเบาๆเพื่อเป็นการกำจัดคราบโปรตีนและไบโอฟิล์ม ใส่ลงในตลับสำหรับคอนแทคเลนส์แล้วแช่ด้วยน้ำยาแช่คอนแทคเลนส์ น้ำยาล้างและแช่คอนแทคเลนส์อาจใช้ได้ทั้งแบบล้าง แช่และกำจัดคราบโปรตีนในขวดเดียว หรือล้าง แช่และกำจัดคราบโปรตีนแยกขวดกัน ซึ่งแบบหลังนิยมและมีกระสิทธิภาพดีกว่า น้ำเกลือสามารถใช้ล้างคอนแทคเลนส์ได้แต่ไม่นิยมใช้แช่คอนแทคเลนส์ เนื่องจากไม่ฆ่าเชื้อและยังทำให้เชื้อเจริญได้ดีอีกด้วย สำหรับน้ำยาไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ (hydrogen peroxide) มี 2 ขวด คือใช้ล้างเลนส์และใช้แช่เลนส์ในขวดพิเศษ แต่ไม่นิยมเพราะมีหลายขั้นตอนและต้องแช่ให้ครบเวลาที่กำหนด ไม่เช่นนั้นอาจเกิดอาการเจ็บตาได้ ผู้ใช้ควรใช้ คอนแทคเลนส์อย่างถูกวิธี เพราะหากใช้ผิดวิธีอาจทำให้เกิดปัญหาตามมา เช่น การติดเชื้อที่กระจกตาจากการใส่คอนแทคเลนส์ ติดเชื้อจากคอนแทคเลนส์ได้อย่างไร ? 
ปกติกระจกตาดำจะต้องการออกซิเจนจากอากาศที่ละลายผ่านน้ำตาเข้ามา การใส่คอนแทคเลนส์ลดการส่งผ่านออกซิเจนระหว่างอากาศกับกระจกตาดำ ส่งผลให้กระจกตาดำขาดออกซิเจน เซลล์เยื่อบุผิวกระจกตาดำลดจำนวนลง และภูมิคุ้มกันของกระจกตาดำแย่ลง จึงเกิดการติดเชื้อและโรคกระจกตาอักเสบ (Keratitis) ได้ง่ายขึ้น ในกรณีที่ติดเชื้อรุนแรงทำให้สูญเสียการมองเห็นอย่างถาวร ปัจจัยหลักที่เป็นเหตุให้เกิดการติดเชื้อคือการใส่คอนแทคเลนส์เวลานอนหลับ ปัจจัยอื่นๆ เช่น การปนเปื้อนในน้ำยาล้างหรือตลับใส่คอนแทคเลนส์ 
ติดเชื้ออะไรได้บ้าง ? 
การติดเชื้อส่วนใหญ่เกิดจากแบคทีเรียแกรมลบ แผลติดเชื้อมักอยู่ตรงกลางกระจกตา มีหนองและขี้ตา เช่น ซูโดโมแนส (Pseudomonas spp.) นอกจากนี้ยังพบการติดเชื้ออื่นๆได้ ได้แก่ โปรโตซัว พบได้ในน้ำบาดาล น้ำทิ้ง น้ำในสระว่ายน้ำที่ทำความสะอาดไม่ดี ดินและฝุ่นละออง ผู้ใช้คอนแทคเลนส์ที่ทำความสะอาดโดยใช้น้ำเกลือผสมเอง มีโอกาสติดเชื้อ เช่น อะแคนทามีบา (Acanthamoeba spp.) อีกชนิดหนึ่งคือเชื้อรา แผลติดเชื้อมีขอบเขตไม่ชัดเจน ลึก พบในคอนแทคเลนส์และน้ำยาล้างคอนแทคเลนส์ที่ปนเปื้อน เช่น ฟิวซาเรียม (Fusarium spp.) 
รู้ได้อย่างไรว่าติดเชื้อจากคอนแทคเลนส์ ? 
เริ่มต้นมีอาการคัน ระคายเคือง หรือมีน้ำตาไหล ต่อมามีอาการตาแดง ปวดตา ตามัว น้ำตาไหล มองสู้แสงไม่ได้ มีขี้ตา เปลือกตาบวม อาจเห็นจุดสีขาวอยู่บนกระจกตาได้ ผู้ที่ใช้คอนแทคเลนส์และมีอาการต่างๆเหล่านี้ มีความเป็นไปได้สูงว่าจะติดเชื้อจากคอนแทคเลนส์ หากไม่รักษาตั้งแต่เริ่มต้น จุดขาวที่เกิดขึ้นจะลุกลามเป็นหนองสีขาวในช่องหน้าลูกตา ทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆที่ดวงตา เช่น กระจกตาทะลุ ต้อหิน ต้อกระจก ไปจนถึงสูญเสียการมองเห็นอย่างถาวรได้ 
ทำอย่างไรเมื่อติดเชื้อจากคอนแทคเลนส์แล้ว ? 
ผู้ใช้คอนแทคเลนส์ หากมีอาการผิดปกติ เช่น ตาแดง เจ็บตา มีขี้ตา เห็นภาพไม่ชัด ควรหยุดใส่คอนแทคเลนส์ และรีบไปพบจักษุแพทย์ทันที 
น้ำตาเทียมจำเป็นหรือไม่สำหรับผู้ใช้คอนแทคเลนส์ ? 
ขึ้นอยู่กับอาการของแต่ละบุคคลเมื่อใช้คอนแทคเลนส์ หากมีอาการตาแห้งอาจใช้น้ำตาเทียมช่วยได้ 
ป้องกันการติดเชื้อจากคอนแทคเลนส์ได้อย่างไร ? 
การป้องกันการติดเชื้อจากคอนแทคเลนส์สามารถทำได้โดยใช้คอนแทคเลนส์อย่างถูกวิธี และรักษาความสะอาดของคอนแทคเลนส์ โดยใส่คอนแทคเลนส์เมื่อจำเป็นและอยู่ในความดูแลของจักษุแพทย์ ล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนสัมผัสคอนแทคเลนส์และดวงตา ทำความสะอาดคอนแทคเลนส์ด้วยน้ำยาล้างคอนแทคเลนส์ทุกครั้ง ไม่ใส่คอนแทคเลนส์ขณะนอนหลับและขณะว่ายน้ำ ไม่ใช้น้ำประปา น้ำบาดาล น้ำเกลือที่ไม่ได้ฆ่าเชื้อในการทำความสะอาด ไม่ใช้คอนแทคเลนส์ร่วมกับผู้อื่นและไม่ใช้ต่อเนื่องนานเกิน 8-10 ชั่วโมงต่อวัน รวมถึงเปลี่ยนคอนแทคเลนส์ตามระยะเวลาที่กำหนด 
สำหรับตลับใส่คอนแทคเลนส์ ควรเปลี่ยนตลับทุกๆ 3-6 เดือน หมั่นทำความสะอาดตลับใส่คอนแทคเลนส์ ไม่ควรใช้น้ำประปาในการล้างตลับใส่คอนแทคเลนส์ การทำความสะอาดตลับใส่คอนแทคเลนส์ที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดคือ ล้างด้วยน้ำร้อนหรือน้ำยาฆ่าเชื้อ แล้วทิ้งไว้ให้แห้ง และคว่ำตลับคอนแทคเลนส์ลงทุกครั้งหลังใช้งาน 
ในการป้องกันการติดเชื้อจากน้ำยาล้างคอนแทคเลนส์ทำได้โดยเลือกใช้น้ำยาล้างคอนแทคเลนส์ที่ได้มาตรฐาน และเปลี่ยนนำยาล้างคอนแทคเลนส์ทุกครั้ง เมื่อใช้แล้วควรทิ้งทันที ไม่ใช้ซ้ำ 
เห็นได้ว่าการใช้คอนแทคเลนส์แม้จะมีประโยชน์ แต่ถ้าใช้ไม่ถูกต้องอาจทำให้เกิดการติดเชื้อและก่อให้เกิดโรคร้ายแรงอื่นๆตามมาจนถึงขั้นสูญเสียการมองเห็นไปได้ ดังนั้นการใช้และดูแลรักษาคอนแทคเลนส์อย่างถูกวิธีจึงมีความสำคัญ องค์การอาหารและยา (อย.) ได้มอบคาถาสามข้อเพื่อการใช้คอนแทคเลนส์อย่างปลอดภัย สรุปสั้นๆได้เป็น 3C คือ ใช้คอนแทคเลนส์ที่ได้รับอนุญาตจาก อย. (Certificate) ใช้อย่างถูกวิธี (Correct) และรักษาความสะอาดอยู่เสมอ (Clean) เท่านี้ผู้ใช้ก็ปลอดภัยจากอันตรายของคอนแทคเลนส์ 
 

แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. กระจกตาติดเชื้อ[อินเทอร์เน็ต]. 2556[อัพเดต 17 กันยายน 2556; สืบค้นเมื่อ 9 กันยายน 2558]. แหล่งที่มา : http://www.chakshustan.com/กระจกตาติดเชื้อ/
  2. สุนันทา สุขสุมิตร. ความเข้าใจผิดของวิธีทำความสะอาดคอนแทคเลนส์[อินเทอร์เน็ต]. 2554[อัพเดต 23 ธันวาคม 2554; สืบค้นเมื่อ 9 กันยายน 2558]. แหล่งที่มา: http://www.thaihealth.or.th/Content/1351-ความเข้าใจผิดของวิธีทำความสะอาดคอนแทคเลนส์.html
  3. สุนันทา สุขสุมิตร. คอนแทคเลนส์ใช้งานให้ถูกวิธี[อินเทอร์เน็ต]. 2553[อัพเดต 17 กันยายน 2553; สืบค้นเมื่อ 9 กันยายน 2558].แหล่งที่มา: http://www.thaihealth.or.th/Content/10211-คอนแทคเลนส์ใช้งานให้ถูกวิธี.html
  4. อรทัย ชาญสันติ. ภาวะแทรกซ้อนจากการใช้คอนแทคเลนส์[อินเทอร์เน็ต]. 2552[สืบค้นเมื่อ 9 กันยายน 2558]. แหล่งที่มา: http://www.isoptik.com/isoptik/datas/eyecare1/8-7_13.php
  5. Kimbom. เคล็ดลับ เลือกน้ำยาล้างคอนแทคเลนส์[อินเทอร์เน็ต]. 2553[อัพเดพ 18 มกราคม 2553; สืบค้นเมื่อ 9 กันยายน 2558]. แหล่งที่มา: http://www.thaihealth.or.th/node/13628 Yvonne Tzu-Ying Wu, Mark Willcox, Hua Zhu, Fiona Stapleton. Contact lens hygiene compliance and lens case contamination. ARTICLE IN PRESS[internet]. 2558[สืบค้นเมื่อ 9 กันยายน 2558]; 1-10.
เปิดอ่านด้วย Google Doc Viewer ดาวน์โหลดบทความ (pdf) ดูบทความอื่นๆ

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


คอนแทคเลนส์ ภัยใกล้ตา 1 วินาทีที่แล้ว
ยี่โถ...มีพิษจริงหรือ 21 วินาทีที่แล้ว
มะตูมซาอุ ผักหลายชื่อ 35 วินาทีที่แล้ว
ขยับกาย สบายชีวี 1 นาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้