แจ้งงดให้บริการเว็บไซต์ เนื่องจากมีการปรับปรุงระบบการจ่ายกระแสไฟฟ้าของอาคาร ตั้งแต่วันศุกร์ที่ 17 ม.ค. 2568 เวลา 17.00 น. ถึงวันจันทร์ที่ 20 ม.ค. 2568 เวลา 08.00 น.
ขออภัยในความไม่สะดวกมา ณ ที่นี้

เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


เลือดจาง โลหิตจาง กับยาฉีดอีพีโอ (EPO)


เภสัชกรหญิง ศยามล สุขขา (บริบาลเภสัชกรรม) ภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

อ่านแล้ว 300,769 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 23/06/2558
อ่านล่าสุด 33 นาทีที่แล้ว

Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
 


EPO เป็นชื่อย่อของยาอีริโทรโพอิติน (erythropoietin) ซึ่งเป็นยาประเภทฮอร์โมนที่สังเคราะห์ขึ้น ยานี้มีที่ใช้ในผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง ใช้แก้ไขภาวะโลหิตจาง โดยเมื่อการทำงานของไตลดลงจนระดับของเสียในเลือดที่เรียกว่าครีเอตินีน (creatinine) สูงกว่า 2-3 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร จะเริ่มพบผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่มีภาวะโลหิตจาง ยิ่งเมื่อการทำงานของไตลดลงไปอีก จะพบผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่มีภาวะโลหิตจางได้บ่อยขึ้นและมักมีอาการรุนแรงขึ้นโดยเฉพาะเมื่อการทำงานของไตลดลงจนเหลือความสามารถที่ต่ำกว่าร้อยละ 25 ของภาวะปกติ 
การวินิจฉัยภาวะโลหิตจาง ทำได้โดยการตรวจวัดระดับฮีโมโกลบิน (Hemoglobin; Hgb) ในเลือด โดยหากระดับฮีโมโกลบินต่ำกว่า 13 กรัมต่อเดซิลิตรในผู้ชาย หรือต่ำกว่า 12 กรัมต่อเดซิลิตรในผู้หญิงที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป ถือว่ามีภาวะโลหิตจาง 
 
อะไรเป็นสาเหตุของภาวะโลหิตจางในผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง 
สาเหตุส่วนใหญ่ของภาวะโลหิตจางในผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง คือการขาดฮอร์โมนอีริโทรโพอิติน ซึ่งในภาวะปกติร้อยละ 90 ของฮอร์โมนนี้สร้างจากเนื้อไต และไปออกฤทธิ์กระตุ้นให้ไขกระดูกสร้างเม็ดเลือดแดง ดังนั้นเมื่อเกิดโรคไตวายเรื้อรังจึงมีการสร้างฮอร์โมนนี้ลดลง มีผลให้การสร้างเม็ดเลือดแดงที่ไขกระดูกลดลงและเกิดภาวะโลหิตจางตามมา 
สาเหตุอื่นๆ ที่พบได้ร่วมกันของภาวะโลหิตจางในผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง ได้แก่ การขาดธาตุเหล็ก การขาดวิตามินบี 12 การขาดกรดโฟลิค การเสียเลือดจากระบบทางเดินอาหาร นอกจากนี้เม็ดเลือดแดงในผู้ป่วยไตวายเรื้อรังยังแตกง่าย ทำให้อายุของเม็ดเลือดแดงสั้นลงอีกด้วย ผลเสียของโลหิตจางคืออะไร 
ภาวะโลหิตจางในผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง ทำให้เกิดอาการในหลายระบบ ได้แก่ อาการในระบบหัวใจและหลอดเลือด ทำให้เกิดปัญหาด้านความทรงจำและสมาธิ ซึ่งการแก้ไขภาวะโลหิตจางในผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าว จะทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และมีการตอบสนองต่อระบบภูมิต้านทานที่ดีขึ้นด้วย 
การรักษาโลหิตจางในผู้ป่วยไตวายเรื้อรังทำได้อย่างไร 
การรักษาภาวะโลหิตจางในผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง ต้องทำการหาสาเหตุที่แก้ไขได้ก่อน เช่น สาเหตุจากการเสียเลือดในทางเดินอาหาร สาเหตุจากการขาดธาตุเหล็ก และวิตามินอื่นๆ ซึ่งหากแก้ไขสาเหตุต่างๆ แล้วแต่ผู้ป่วยยังมีภาวะโลหิตจางอยู่ หรือไม่พบความผิดปกติจากสาเหตุดังกล่าว แพทย์จะพิจารณาให้การรักษาด้วยยาฮอร์โมนอีริโทรโพอิติน (หรือที่นิยมเรียกว่า EPO, อีพีโอ) ซึ่งใช้เพื่อทดแทนการขาดฮอร์โมนอีริโทรโพอิตินในร่างกาย ซึ่งเป็นสาเหตุหลักในผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง 
ยาอีพีโอ (EPO) คืออะไร 
ยาอีพีโอ (EPO) คือยาฮอร์โมนอีริโทโพอิติน (erythropoietin) มีโครงสร้างเป็นไกลโคโปรตีน ผลิตโดยใช้เทคโนโลยีการตัดต่อดีเอ็นเอ (recombinant DNA) โดยมีการเรียงต่อของลำดับกรดอะมิโนเหมือนกับฮอร์โมนอีริโทรโพอิตินที่ถูกสร้างในร่างกาย โดยผลิตภัณฑ์ที่มีจำหน่ายในประเทศไทย ได้แก่ epoetin-alfa, epoetin-beta, darbepoetin alfa และ methoxy polyethylene glycol epoetin-beta 
เมื่อให้ยา EPO ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ใดเข้าสู่ร่างกายแล้วยา EPO จะจับกับตัวรับของอีริโทรโพอิตินที่ผิวของเซลล์ตั้งต้นเม็ดเลือดแดง และกระตุ้นการส่งสัญญาณในเซลล์ ซึ่งมีผลกระตุ้นให้เกิดการแบ่งตัวและการเจริญของเซลล์เม็ดเลือดแดง และรักษาภาวะโลหิตจางได้ 
นอกจากยา EPO จะมีข้อบ่งใช้ในการรักษาภาวะโลหิตจางในผู้ป่วยไตวายเรื้อรังแล้ว ยังสามารถใช้ในการรักษาภาวะโลหิตจางในโรคอื่นๆ เช่น ผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็ง ผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวีที่ได้รับยา zidovudine, ผู้ป่วย myelodysplatic syndrome (MDS) เป็นต้น 
ยา EPO แต่ละชนิดมีความแตกต่างกันอย่างไร 
Epoetin-alfa, epoetin-beta, darbepoetin alfa และ methoxy polyethylene glycol epoetin-beta เป็นยา EPO ที่มีจำหน่ายในประเทศไทย โดยมีความแตกต่างของยาแต่ละชนิดอยู่ที่ จำนวนสายของคาร์โบไฮเดรต ปริมาณ sialic acid ในโครงสร้าง หรือการเพิ่มสารที่ทำให้โมเลกุลยามีน้ำหนักเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ความสามารถในการจับกับตัวรับของอีริโทรโพอิตินต่างกัน ค่าครึ่งชีวิตของยาต่างกัน จึงทำให้ยาฮอร์โมนอีริโทรโพอิตินแต่ละชนิดมีความถี่ของการบริหารยาที่แตกต่างกัน 
ผลิตภัณฑ์ที่ออกมาลำดับแรก ได้แก่ epoetin-alfa และ epoetin-beta ยา 2 ขนิดนี้ต้องให้ 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ ในปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ยา darbepoetin alfa ซึ่งพัฒนามาจาก epoetin-alfa โดยจะเพิ่มสายคาร์โบไฮเดรตทำให้มีน้ำหนักโมเลกุลเพิ่มขึ้น และมีค่าครึ่งชีวิตยาวนานขึ้น ซึ่งสามารถบริหารยาเป็นสัปดาห์ละครั้ง หรือสองสัปดาห์ครั้งได้ ส่วนยา methoxy polyethylene glycol epoetin-beta มีการเชื่อมต่ออีริโทรโพอิตินด้วยโปรตีนโมเลกุลใหญ่ ทำให้สามารถกระตุ้นตัวรับอีริโทรโพอิตินอย่างต่อเนื่อง ทำให้ค่าครึ่งชีวิตของยายาวนานขึ้น และสามารถให้ยาห่างขึ้นคือให้เดือนละครั้งได้ 
การติดตามประสิทธิภาพในการรักษาจากยาทำได้อย่างไร 
เป้าหมายของระดับฮีโมโกลบินในผู้ป่วยไตวายเรื้อรังคือ 10-11.5 กรัมต่อเดซิลิตร โดยแพทย์จะติดตามระดับฮีโมโกลบินทุก 2-4 สัปดาห์ จนกระทั่งระดับฮีโมโกลบินคงที่ และตรวจติดตามเป็นระยะหลังจากนั้นโดยแพทย์จะควบคุมให้ระดับฮีโมโกลบินอยู่ในเป้าหมาย รวมทั้งระวังไม่ให้ค่าฮีโมโกลบินมากเกินไป เนื่องจากมีรายงานว่าหากระดับฮีโมโกลบินสูงกว่า 13 กรัมต่อเดซิลิตร จะเพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคในระบบหัวใจและหลอดเลือด เช่นหลอดเลือดสมอง ความดันโลหิตสูง การอุดตันของเส้นที่ใช้ฟอกเลือดในผู้ป่วยที่ทำการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม เป็นต้น 
ผู้ป่วยกลุ่มใดที่ควรระวังในการใช้ยา 
เนื่องจากยา EPO มีผลเพิ่มความดันโลหิตได้ ดังนั้นจึงต้องระวังการใช้ในผู้ป่วยที่มีความดันโลหิตสูงที่ไม่สามารถควบคุมได้ดี และในผู้ป่วยโรคลมชัก หรือมีความเสี่ยงต่อการชัก 
ให้ยา EPO เข้าร่างกายอย่างไร 
ยา EPO เป็นยาฉีด สามารถฉีดให้ทางหลอดเลือดดำ หรือฉีดเข้าใต้ผิวหนัง ซึ่งขนาดยาที่ใช้จะแตกต่างกัน โดยการให้ยาทางหลอดเลือดดำจะใช้ขนาดยาอีริโทรโพอิตินที่มากกว่าการฉีดเข้าใต้ผิวหนัง 
การฉีดยาเข้าทางหลอดเลือดดำ ควรฉีดอย่างช้าๆ ประมาณ 1-5 นาทีขึ้นกับขนาดของยาที่ได้รับ ในกรณีที่ผู้ป่วยได้รับการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม สามารถให้ยาเข้าในเส้นเลือดที่ใช้ในการฟอกเลือดได้โดยให้ไปในระหว่างการฟอกเลือดได้เลย 
การฉีดยาเข้าใต้ผิวหนัง ปริมาตรที่มากที่สุดสำหรับการฉีดยาแต่ละครั้งคือ 1 มิลลิลิตร ถ้าต้องให้ยาในปริมาณที่มากกว่านี้ ให้พิจารณาฉีดในตำแหน่งอื่นเพิ่ม ตำแหน่งที่ใช้ในการฉีดเข้าใต้ผิวหนัง ได้แก่ ต้นแขน ต้นขา หรือผนังหน้าท้อง โดยให้ห่างจากสะดือ ฉีดสลับตำแหน่งไปในแต่ละครั้ง 
การฉีดยาต้องไม่ผสมกับยาตัวอื่น และไม่นำไปผสมกับสารละลายใดๆ ในการฉีด นอกจากนี้ห้ามเขย่ายาฉีด EPO เพราะการเขย่าจะทำให้ไกลโคโปรตีนสลายตัวจนอาจทำให้ฤทธิ์การรักษาหมดไปได้ 
บรรจุภัณฑ์ของยา EPO เป็นแบบบรรจุในหลอดฉีดยาสำเร็จรูป (prefilled syringe) หรือในแบบปากกา (prefilled pen) ซึ่งใช้ครั้งเดียวเท่านั้น และเนื่องจากในแต่ละผลิตภัณฑ์ประกอบไปด้วยยาหลายขนาด เช่น 2,000 IU/mL, 4000 IU/mL ดังนั้นจึงต้องทำการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ยาที่ได้รับว่าเป็นขนาดยาที่ต้องการก่อนฉีดยาเสมอ 
การเก็บรักษายา ทำอย่างไร 
เก็บยาในตู้เย็น อุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส โดยให้เก็บในช่องธรรมดาของตู้เย็น (ไม่ใช่ช่องแช่แข็ง) ไม่ให้ถูกแสง และก่อนฉีดยาควรนำออกมาวางไว้จนยามีอุณหภูมิเท่ากับอุณหภูมิห้อง ซึ่งใช้เวลาประมาณ 15-30 นาที หากรับยาจากโรงพยาบาลและนำกลับไปฉีดเองที่บ้าน ควรบรรจุในภาชนะที่เก็บความเย็นในระหว่างเดินทาง เมื่อถึงบ้านจึงนำยาเก็บในตู้เย็นในช่องธรรมดา 
คำแนะนำทั่วไปในการใช้ยา

  • ไม่ควรใช้ยาเมื่อพบว่ายาหมดอายุจากวันที่ระบุไว้บนฉลากยา และไม่ใช้ยาเมื่อกล่อง หรือพลาสติกบรรจุยาถูกเปิด หรือปิดไม่สนิท หรือพบของเหลวที่เป็นน้ำยา มีสี หรือเห็นได้ว่ามีสารอื่นๆ แขวนลอยอยู่
  • ไม่ควรทิ้งเข็มฉีดยาไปกับขยะเปียก หรือขยะแห้งจากบ้าน แต่ควรรวบรวมมาทิ้งในสถานที่จัดไว้ให้ในโรงพยาบาล
  • เมื่อลืมฉีดยา ให้ฉีดทันทีที่นึกได้ แต่ถ้านึกได้ในวันที่จะต้องฉีดเข็มถัดไป ก็ให้ฉีดตามปกติเพียงเข็มเดียว โดยไม่ต้องฉีดเพิ่ม


 

แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย. การรักษาโลหิตจางในผู้ป่วยโรคไต [อินเตอร์เน็ต]. [เข้าถึงเมื่อ 13 เม.ย. 2558]. เข้าถึงได้จาก: http://www.nephrothai.org/nephrothai_boffice/images_upload/news/35/files/kidney%2081-93.pdf.
  2. Kidney Disease: Improving Global Outcomes (KDIGO) Anemia Work Group. KDIGO clinical practice guideline for anemia in chronic kidney disease. Kidney Inter Suppl 2012;2:279–335.
  3. Prescribing information: Eprex®, Epoetin alfa. Janssen Cilag, 2013.
  4. Prescribing information: Recormon®, Epoetin beta. Roche, Mannheim, Germany, 02/2012.
  5. Prescribing information: Nesp®, Darbepoetin alfa. Teva Pharma Japan Inc, Takayama Plant, Japan, 04/2012.
  6. Prescribing information: Mircera®, Methoxy polyethylene glycol epoetin beta. Roche, Mannheim, Germany, 03/2011.


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


ยาแก้ไอ ... มีกี่แบบ ?? 26 วินาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2025
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้