เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


อันตรายจากขบวนการฟอกหน้าขาว


รองศาสตราจารย์ ดร.ภญ.พิมลพรรณ พิทยานุกุล ภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

อ่านแล้ว 25,442 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 06/07/2557
อ่านล่าสุด 2 วันที่แล้ว

Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
 

ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง โดยนิยามแล้วหมายถึงผลิตภัณฑ์สำหรับบำรุงผิว ปกปิดผิว เสริมแต่งผิวหนังให้มีสีสัน มีความปลอดภัย จะเริ่มใช้และเลิกใช้เมื่อไหร่ก็ได้ สามารถหาซื้อได้ทั่วไป แต่ปัจจุบันจะพบว่ามีผู้บริโภคบางส่วนได้รับอันตรายจากการใช้ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางปลอม โดยเฉพาะอย่างยิ่งศูนย์บริการความงามที่เปิดกันมากมายทั่วเมือง มีทั้งนวดหน้า ขัดผิว ฟอกหน้าให้ขาวทันใจภายใน 3-7 วัน ส่วนใหญ่มักจะมีอุปกรณ์ไฮเทคทางการแพทย์ร่วมอยู่ด้วยเพื่อให้เกิดความทันสมัย ความแปลกใหม่ที่จะดึงดูดลูกค้าได้ หลายแห่งขาดผู้มีความรู้ที่แท้จริง ก่อให้เกิดปัญหาความเสียโฉมตามมา

เครื่องมือไฮเทคกับการฟอกหน้าขาว

  • เซลล์ผิวโดยธรรมชาติจะมีการผลัดเปลี่ยนเซลล์ใหม่ทุกๆ 28 วันโดยที่เราไม่ต้องไปเร่งรัดหรือทำอะไรเลย เซลล์ผิวเก่าจะหลุดลอกและเซลล์ใหม่จะขึ้นมาแทนที่ แน่นอนเซลล์ผิวใหม่จะเปล่งปลั่งกว่าเซลล์เก่าที่เสื่อมโทรม ทำให้ภาพรวมผิวหนังแลดูอิ่มเอิบและขาวนวล เมื่อเซลล์ผิวมีอายุมากขึ้นบวกกับการได้กระทบกับสิ่งแวดล้อม เช่น ฝุ่นละออง รังสีดวงอาทิตย์ และสารเคมี ผิวหนังจะมีปฏิกิริยาปกป้องตัวเองโดยเอนไซม์ใต้ผิวหนังชื่อ “ไทโรซิเนส” จะกระตุ้นให้ผิวหนังสร้างเม็ดสีทำให้ผิวหนังมีสีเข็มขึ้น ผลิตภัณฑ์ช่วยให้หน้าขาวหรือครีมหน้าขาว ครีมหน้าใส ที่มีจำหน่ายโดยทั่วไป มีองค์ประกอบหลักคือสารยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ดังกล่าว เพื่อมิให้มีการสร้างเม็ดสี แต่ผู้บริโภคต้องทำความเข้าใจให้ถูกต้องว่า ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางได้ถูกออกแบบมาให้ปลอดภัย ดังนั้นจึงจะให้ผลในระยะยาว เพราะเป็นการบำรุงผิว ไม่ใช่เห็นผลได้ใน 3 วัน 7 วัน เนื่องจากไม่ใช่ยารักษาโรค
  • การทำงานของสารกลุ่มช่วยให้หน้าขาว หน้าใส จะมีฤทธิ์เป็นกรดอ่อนๆ และมักจะมีองค์ประกอบของสารช่วยเร่งรัดการลอกเซลล์ผิวร่วมอยู่ด้วย มีคุณสมบัติเป็นกรดอ่อนเช่นกัน ตัวอย่างเช่น กรดแลคติค กรดซาลิไซลิค เวลาพอกหน้าในปริมาณมากๆ ทำให้ผิวหน้าคันและแสบได้ ควรทาบางๆ เว้นรอบดวงตา ศูนย์บริการความงามทั้งหลายที่มีอุปกรณ์ไฮเทคที่เรียกว่า “ไอออนโฟเรซิส” ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ใช้เพื่อให้กระแสไฟอ่อนๆกับผิวหนัง ทำให้กรดและเคมีที่พอกอยู่เข้าสู่ผิวอย่างรวดเร็วในปริมาณที่อาจจะมากเกินไปสำหรับคนที่มีปัญหาผิวหนังเป็นทุนเดิม สิ่งที่ตามมาคืออาการอักเสบของเซลล์ผิวคล้ายโดนน้ำกรดสาด นอกจากนี้ยังมีการใช้อุปกรณ์ไฮเทคอีกชนิดร่วมด้วยคือ “โฟโนโฟเรซิส” เป็นอุปกรณ์ที่ใช้นวดผิวหนังโดยใช้คลื่นความถี่สูงกระตุ้นผิวหนัง แรงสั่นสะเทือนทำให้เส้นเลือดใต้ผิวหนังขยาย รูขุมขนขยาย เพื่อวัตถุประสงค์เสริมให้สารเคมีที่ต้องการเข้าสู่เซลล์ผิวได้เร็วยิ่งขึ้น
  • เครื่องมือไฮเทคทางการแพทย์ที่กล่าวมานั้นออกแบบมาเพื่อให้แพทย์เป็นผู้พิจารณาความเหมาะสมในการใช้งานเพื่อนำส่งตัวยาสำคัญเข้าสู่ผิวหนังสำหรับรักษาโรค การนำมาประยุกต์ใช้ในด้านความงาม ควรจะมีผู้รู้เฉพาะทางร่วมอยู่ด้วยเพื่อความปลอดภัยต่อผู้บริโภค และการดูแลผิวก็ไม่ใช่เรื่องราวของระยะเวลาเพียง 3 วัน 7 วันตามที่เห็นในโฆษณา ต้องสม่ำเสมอและค่อยเป็นค่อยไป เพราะผิวหน้าไม่ใช่กระดาษ จะใช้น้ำยาลบคำผิดมาป้ายออกทันทีไม่ได้ สารเคมีที่รุนแรงและมากเกินไปอาจทำให้เสียโฉมได้
  • ผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่ใช้พอกหน้าพอกตัว ก็มีอันตรายได้หากได้มาอย่างไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ เพราะสมุนไพรสดนั้นเป็นอาหารเชื้อจุลินทรีย์อย่างดีทำให้เชื้อเจริญเติบโตได้รวดเร็ว เกิดอันตรายต่อผู้บริโภคได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ผิวหนังมีแผลเปิด และหากผลิตภัณฑ์มีการใส่สารกันเสียมากเกินไป ผลเสียคือทำให้ผิวหน้าแพ้ คันและอักเสบได้ ผู้เขียนเองได้เคยไปทดลองใช้บริการพอกตัว (โชคดีที่ไม่กล้าเสี่ยงพอกหน้าด้วย) ที่ศูนย์บริการความงามด้วยสมุนไพรยี่ห้อดังเพื่อเก็บข้อมูลทางวิชาการ ผลคือมีอาการแพ้ คันไม่ทราบสาเหตุ เป็นตุ่มแดงทั่วตัวจนถึงรอบคอ (ผิวหนังทั่วตัวที่สัมผัสผลิตภัณฑ์สมุนไพร) ต้องใส่เสื้อแขนยาวปิดคอไปทำงานอยู่เป็นอาทิตย์ คาดว่าน่าจะเกิดจากองค์ประกอบในผลิตภัณฑ์ที่ไม่เหมาะสม เช่น อาจมีองค์ประกอบของสารกันเสียมากเกินไป หรือมีการผสมผสานเคมีอื่นลงไปในสมุนไพรของผู้ให้บริการฯอย่างไม่มีความรู้

เครื่องสำอางอันตรายกับหน้าขาว 
เมื่อกล่าวถึงการฟอกหน้าขาว ก็ไม่ลืมที่จะเตือนผู้บริโภคถึงอันตรายของผลิตภัณฑ์ที่มีองค์ประกอบของสารต้องห้าม เช่น ปรอท ไฮโดรควิโนน (hydroquinone) และสารสเตียรอยด์ สารต้องห้ามเหล่านี้ยังพบในผลิตภัณฑ์หน้าขาวที่แอบวางจำหน่ายทั่วไปโดยเฉพาะอย่างยิ่งตามชานเมือง สังเกตุได้ง่ายเมื่อทาครีมเหล่านี้ลงบนใบหน้าเพียง 1-2 สัปดาห์ ผิวหน้าจะผ่อง สิวฝ้าจะจางลงอย่างรวดเร็ว แต่เมื่อเวลาผ่านไปสักระยะ หน้าจะเริ่มไหม้ดำและค่อยๆแผ่วงกว้างขึ้น ควรรีบหยุดใช้และไปปรึกษาแพทย์ผิวหนัง 
สารต้องห้ามและเป็นอันตรายทำให้หน้าเสียโฉม ที่ตรวจพบในเครื่องสำอางต้องห้าม ผิดกฏหมาย ที่ อย.สุ่มตรวจพบ

  1. สารไฮโดรควิโนน มีคุณสมบัติในการฟอกสีผิว (Skin bleaching agent) เป็นสารที่เคยอนุญาต ให้ใช้ในครีมแก้ฝ้า แต่ภายหลังพบว่า สารไฮโดรควิโนน ทำให้เกิดการระคายเคือง และจุดด่างขาวที่หน้าผิวหน้าดำ เป็นฝ้าถาวรรักษาไม่หาย (ochronosis หรือ defiguring effect) นอกจากนี้พบว่า สารไฮโดรควิโนน มีความเป็นพิษ โดย พบว่ามีฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์ และก่อมะเร็งในหนู สารไฮโดรควิโนน ถูกกำหนดเป็นสารห้ามใช้ในผลิตภัณฑ์สำหรับใบหน้า ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539 ตาม พระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. 2535 
    *** บทความ "อันตรายของครีมหน้าขาว ที่ผสมไฮโดรควิโนน : 
    https://pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/14/อันตรายของครีมหน้าขาวที่ผสมไฮโดรควิโนน"
  2. กรดเรทิโนอิก (retinoic acid) เป็นสารที่ช่วยให้เกิดการแบ่งตัวของเซลล์ผิวหนัง และหลุดลอก ได้ (peecling agent) จึงช่วยให้สิวเสี้ยนและผิวหนังที่หยาบกร้านหลุดลอกออกง่าย ขึ้นทำให้ผิวผ่องใสและนุ่มเนียน โดยเฉพาะเมื่อใช้ร่วมกับ สารไฮโดรควิโนน จะช่วยให้ สารไฮโดรควิโนน ซึมเข้าสู่ผิวหนังและออกฤทธิ์ได้มากกว่าปกติ ความเป็นพิษ คือ ทำให้หน้าแดง และแสบร้อนรุนแรง เกิดการระคายเคือง อักเสบ แพ้แสงแดดหรือแสงไฟได้ง่าย เป็นอันตรายต่อทารก ในครรภ์ กรด เรทิโนอิก ถูกกำหนดเป็นสารห้ามใช้ในเครื่องสำอาง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2532 และเป็นสารห้ามใช้ลำดับที่ 375 ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดวัตถุที่ห้ามใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอาง ตามที่ปรากฏใน ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 125 ตอนพิเศษ 80 ง ลงวันที่ 12 พฤษภาคม 2551
  3. ปรอทแอมโมเนีย ออกฤทธิ์รบกวนการทำงานของเอนไซม์ tyrosinase ทำให้ ลดการสร้างเม็ดสีผิว เมลานิน จึงช่วยให้ผิวขาวขึ้น ปรอทแอมโมเนีย มี ฤทธิ์ฆ่า เชื้อแบคทีเรีย ชนิด staphylococcus จึงป้องกันสิวได้ด้วย ปรอทแอมโมเนียสามารถทำลายไต ระบบประสาท เยื่อบุและทางเดินหายใจ การใช้ปรอทแอมโมเนียติดต่อกัน เป็นเวลานานจะทำให้เกิดพิษสะสมของสารปรอทในผิวหนัง และดูดซึมเข้าสู่กระแส โลหิต ทำให้ตับและไตอักเสบ เกิดโรคโลหิตจาง ทางเดินปัสสาวะอักเสบ ทำลายสี ของผิวหนังและเล็บมือ ทำให้ผิวบางขึ้นเรื่อยๆ เกิดการแพ้หรือเป็นแผลเป็นได้ มี ความเป็นพิษเฉียบพลัน ถูกกำหนดเป็นสารห้ามใช้ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2532 และเป็นสารห้ามใช้ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดวัตถุที่ห้ามใช้เป็นส่วนผสม ใน การผลิตเครื่องสำอาง ลำดับที่ 221 ตามที่ปรากฏในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 125 ตอน พิเศษ 80 ง ลงวันที่ 12 พฤษภาคม 2551 โดยกำหนดชื่อสารห้ามใช้ คือ “ปรอท และสารประกอบของปรอท”


จากผลการตรวจวิเคราะห์ของกองเครื่องสำอางและวัตถุอันตราย ในปีงบประมาณ 2547 ถึง มิถุนายน 2551 พบว่า สารห้ามใช้ที่ตรวจพบมากที่สุด คือ

  • ปรอทแอมโมเนีย โดยตรวจพบ ร้อยละของตัวอย่างที่ตรวจวิเคราะห์ทั้งหมด ดังนี้ ร้อยละ 14 (71 จาก 501 ตัวอย่าง), ร้อยละ 19.6 (62 จาก 317 ตัวอย่าง) ร้อยละ 10.6 (43 จาก 405 ตัวอย่าง), ร้อยละ 16.9 (90 จาก 531 ตัวอย่าง) และ ร้อยละ 8.5 (42 จาก 493 ตัวอย่าง) ตามลำดับ

รองลงมาคือ ตรวจพบสารไฮโดรควิโนน รวมกับกรดเรทิโนอิก และพบตัวอย่างที่มี สารไฮโดรควิโนน หรือ กรดเรทิโนอิกอย่างเดียว รองลงมาตามลำดับ

 

แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. รศ.ดร.ภญ.พิมลพรรณ พิทยานุกุล ภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล (จากวารสารฉลาดซื้อ คอลัมน์สวยอย่างฉลาด มูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภคแห่งประเทศไทย) http://webdb.dmsc.moph.go.th/ifc_cosmetic/news/cos_0951/cos_1002.htm
  2. ศูนย์ข้อมูลเครื่องสำอาง กองเครื่องสำอางและวัตถุอันตรายhttp://webdb.dmsc.moph.go.th/ifc_cosmetic/news/


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


โรคไลม์ (Lyme disease) 22 วินาทีที่แล้ว
วัณโรคระยะแฝง 1 นาทีที่แล้ว
ยาแก้ไอ ... มีกี่แบบ ?? 1 นาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2025
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้