เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


คุณสวยแค่ไหน? เบื้องหลังความสวยกับปฏิบัติการดูแลผิวชะลอวัย


รองศาสตราจารย์ ดร.ภญ.พิมลพรรณ พิทยานุกุล ภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

อ่านแล้ว 36,855 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 22/06/2557
อ่านล่าสุด 4 ช.ม.ที่แล้ว

Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
 

ความสวยเป็นสิ่งที่สังคมมนุษย์นิยมชมชอบ ในอดีต คนเราไม่ได้ให้ความสำคัญกับความสวยมากมายนัก เป็นการยอมรับกฏเกณฑ์ที่ได้รับจากธรรมชาติโดยกำเนิดมากกว่า ในปัจจุบันที่วิทยาศาสตร์ได้รุดหน้าไปอย่างมากมายจนมนุษย์สามารถถอดรหัสจีโนมได้ ทำให้วิทยาศาสตร์เข้ามามีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงธรรมชาติหรือแก้ไขข้อบกพร่อง รวมทั้งให้บริการแก่ผู้ที่ต้องการแก้ไขและทำให้สวยกว่าธรรมชาติที่ตนเองได้รับจากกำเนิด
 

 

ตัวชี้วัดความสวยแตกต่างกันตามสังคมและวัฒนธรรม โดยส่วนมาก คนเอเซียมักจะนิยมชมชอบที่จะเลียนแบบชาวตะวันตก ซึ่งมีผิวขาวอมชมพู เส้นผมสีน้ำตาลหรือผมสีทอง มีตาสองชั้นและดวงตากลมโต จมูกโด่ง ศัลยกรรมจึงเข้ามามีบทบาทอย่างมากในการให้บริการดังกล่าว


เบื้องหลังความสวยกับวิทยาศาสตร์ 
อะไรทำให้คนสวย? นิยามสากลของความสวยคืออะไร?

นักวิทยาศาสตร์บอกว่าคนเราสวยที่สุดในช่วงอายุระหว่าง 14 ถึง 24 ปี เนื่องจากเป็นวัยเจริญพันธุ์ ร่างกายมีฮอร์โมนเพศสูงทั้งชายหญิง มีโกรทฮอร์โมน มีพละกำลัง มีเลือดฝาด กล้ามเนื้อแน่นเป็นมัด ผิวหนังเต่งตึง เส้นผมงามสลวยและดกหนา กระดูกและฟันแข็งแรง

นอกจากนี้นักวิทยาศาสตร์ยังพบว่า ความสมดุลและสัดส่วนของใบหน้าคนเราเป็นสิ่งสำคัญ ยิ่งใบหน้ามีสัดส่วนสมดุล ทั้งขวาซ้าย บนล่าง จมูกและดวงตา 2 ข้างสมดุลได้สัดส่วน จะเสริมให้ใบหน้าดูดีและสวยงามขึ้น อย่างไรก็ตามแม้ว่าคนสวยไม่ใช่จะประสพความสำเร็จในชีวิตเสมอไป แต่แน่นอนที่สุดคนสวยย่อมได้เปรียบในการใช้ชีวิตไม่มากก็น้อย


ข้อเท็จจริงอีกประการหนึ่งของความสวยอยู่ที่สุขภาพผิวหนังทั่วร่างกาย ผิวหนังที่สะอาดสดใส เต่งตึงไร้ริ้วรอย เนียนนุ่ม สะท้อนถึงสุขภาพผิวและสุขภาพกายของเจ้าของ ดึงดูดสายตาผู้พบเห็น
 

เมื่อคนเราเริ่มมีอายุมากขึ้น ความเป็นผู้สูงวัยจะปรากฏทั้งที่ใบหน้าและบุคคลิกภาพอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เมื่อพ้นวัยที่สุดสวยไป ความสดใสเริ่มลดลง ทำให้ผู้คนในสังคมมีการเติมแต่งปกปิดขอบกพร่องของผิวหนังด้วยเครื่องสำอางนานาชนิด เพื่อให้แลดูเนียนผุดผาดเหมือนหนุ่มสาวแรกรุ่น เรียกว่าเป็นการดูแลผิวชะลอวัย ซึ่งทำให้ศัลยกรรมตกแต่งเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อความสวยของผู้คนอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก


นิยามความสวยในแง่วิทยาศาสตร์?

นักวิทยาศาตร์พบว่า จิตวิทยาและชีวะวิทยาของความสวย (The Psychology and Biology of Beauty) คือ บุคคลิกของคน ความสมดุลของสัดส่วน ตั้งแต่ใบหน้าและรูปร่างเป็นสิ่งสำคัญที่จะเสริมให้หญิงชายดูสวยงาม และเพิ่มแรงดึงดูดต่อสายตาของผู้พบเห็น รวมทั้งความสวยงามของสัตว์ทุกชนิดก็เช่นกัน


 

การชะลอวัย: ปฏิบัติการดูแลผิวชะลอวัยตามอายุ 20-30-40 หรือมากกว่า 50 ปี

  1. สำหรับวัยทีน หรือ วัยรุ่น ที่มีอายุน้อยกว่า 20 ปี 
    ขอจงดีใจว่าคุณอยู่ในช่วงอายุที่สวยที่สุดจากข้อมูลของนักวิทยาศาสตร์ ผิวหนังเต่งตึง สดใสแน่นอน ไม่มีอะไรต้องเป็นห่วง ไม่ควรใช้เครื่องสำอางเกินวัยเด็ดขาด มิฉะนั้นผิวอาจจะแก่เกินวัยได้ ผิวในวัยนี้เป็นห่วงอย่างเดียวเท่านั้นคือ หน้ามันมากและเป็นสิวง่าย ดูแลผิวเพียงรักษาความสะอาด ล้างหน้าบ่อยๆ ด้วยครีมล้างหน้าอ่อนใส ปราศจากฟองหรือน้อยที่สุด จะได้ไม่สะสมหรือเป็นต้นเหตุก่อสิว ระวังอาหารการกิน ไม่ควรกินของทอด ของมัน จะได้ช่วยลดความมันบนใบหน้า การใช้ครีมชุ่มชื้นผิวจึงไม่จำเป็น หรือจะทาบางๆหลังล้างหน้าเสร็จก็ย่อมได้ หรือครีมป้องกันแสงแดดได้ก็ดี ผิวพรรณในวัยทีนนี้จะสดใสที่สุด ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาเครื่องสำอางทุกชนิด
  2. ช่วงปลายของอายุ 20 และ 30 ปี
    ผิวหนังจะเริ่มมีคุณภาพในการเก็บรักษาความชุ่มชื้นลดน้อยลง ระดับออกซิเจนที่กระแสเลือดส่งผ่านไปยังผิวหนังจะลดลงประมาณ 1 ใน 4 เป็นสาเหตุให้ผิวหนังเริ่มต้นสูญเสียพลังงานและสุขภาพ ผิวหนังจะกระจ่างและสดใสลดน้อยลง อย่างไรก็ตามในวัยนี้ยังเร็วเกินไปที่จะดูแลผิวด้วยผลิตภัณฑ์ชะลอวัยทั้งหลายที่เข้มข้นด้วยสารอาหารต่างๆ การดูแลผิวในวัยนี้ง่าย ไม่ยุ่งยาก เพียงแค่รักษาผิวด้วยผลิตภัณฑ์ที่ให้ความชุ่มชื้นผิวอย่างสม่ำเสมอ เช่น มอยส์เจอร์ไลซ์เซอร์ และป้องกันผิวด้วยครีมป้องกันแสงแดดก็เพียงพอ
    ในวัย 30 จะเริ่มพบริ้วรอยแห่งวัยปรากฏบนใบหน้า ผิวหนังจะผลิตสารคอลลาเจนลดน้อยลง ซึ่งสารดังกล่าวทำหน้าที่รักษาความยืดหยุ่นของผิวหนัง เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ผิวหนังเริ่มปรากฏริ้วรอย หากเป็นรอยร่องลึกแทนที่จะเป็นเพียงรอยเนื่องจากผิวแห้ง จะรักษาให้กลับคืนได้ยาก อายุในวัยนี้ ผิวหนังบางคนจะเริ่มอ่อนไหว แพ้ง่ายต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ฝุ่นละออง แสงแดด และสังเกตได้ถึงคุณภาพของผิวผสม ทั้งผิวมันและผิวแห้งผสมกัน ทำให้ดูแลและเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ได้ยากขึ้น นอกจากนั้นยังพบว่าธรรมชาติในวัยนี้ อัตราการผลิตหรือสร้างเซลใหม่ทดแทนเซลเก่าที่เสื่อมและหลุดลอกจะน้อยลง ทำให้ผิวหมอง ไม่สดใสไม่เต่งตึง ปัจจัยอื่นๆที่ส่งเสริมให้ผิวปรากฏริ้วรอยได้ในวัยนี้ เช่น ความเครียดและความรับผิดชอบมากมายต่อหน้าที่การงานและต่อครอบครัว อนุมูลอิสสระจากสารเคมีรอบตัว การรับประทานอาหารที่ไม่เหมาะสม การขาดการออกกำลังกาย ปัจจัยเหล่านี้จะเสริมให้ผิวหนังในวัย 30 เสื่อมถอย ช้าหรือเร็วจะขึ้นอยู่กับเจ้าของที่ดูแล ผลิตภัณฑ์สำหรับดูแลผิวในวัยนี้ เช่น ครีมชุ่มชื้นผิวป้องกันผิวแห้ง ครีมช่วยเสริมสร้างการสร้างผลัดเซลผิวหนัง ครีมต้านการเกิดอนุมูลอิสสระ และครีมป้องกันแสงแดด ตัวอย่างสารอาหารเหล่านี้ที่มักผสมอยู่ในเครื่องสำอาง เช่น ไฮยาลูโรนิคแอซิด เป็นสารให้ความชุ่มชื้นได้สูงแก่ผิวหนัง ทำให้ริ้วรอยแห่งวัยแลดูจางลง วิตามินซี นับเป็นสารต้านอนุมูลอิสสระที่มีประสิทธิภาพสูง ช่วยส่งเสริมการผลัดเซลใหม่ของชั้นผิวหนังได้ดี ส่งเสริมให้ผิวหนังแลดูกระจ่างใส วิตามินอี มีคุณสมบัติช่วยปรับสมดุลของผิวหนัง ช่วยให้ผิวหนังชุ่มชื้นและพัฒนาความยืดหยุ่นของผิวหนังได้ดีมากนอกเหนือจากประสิทธิภาพการต้านอนุมูลอิสสระ
  3. ในวัย 40 ปี 
    ผิวหนังจะสูญเสียสารคอลลาเจนและสารอีลาสตินมากขึ้น ผิวจะแห้งมากขึ้น ทำให้มีริ้วรอยปรากฏชัดขึ้น อาจมีจุดด่างดำต่างๆเพิ่มขึ้น ซึ่งเรียกว่า age spots เนื่องมาจากคุณภาพการทำงานของเซลต่างๆในชั้นผิวหนังเสื่อมถอยลง เซลสร้างเม็ดสีไม่สามารถสร้างเม็ดสีให้ผิวหนังได้สม่ำเสมอ ทำให้เกิดเป็นจุดด่างดำ และเป็นฝ้าได้โดยสัมพันธ์กับฮอร์โมนในร่างกายที่น้อยลง ผิวหนังถูกทำลายด้วยอนุมูลอิสสระทั้งจากภายในร่างกาย เช่นความเครียด การพักผ่อนไม่เพียงพอ จากสิ่งแวดล้อมภายนอก เช่น จากสารเคมี ฝุ่นละออก ในวัยนี้การดูแลผิวด้วยครีมชะลอวัยและครีมต้านริ้วรอยจะดีที่สุด เช่น ครีมผสมคอลลาเจนเพื่อต้านริ้วรอยแห่งวัย ครีมไวท์เทนนิ่ง เพื่อป้องกันจุดด่างดำบนใบหน้า ครีมชุ่มชื้นผิวสำหรับผิวที่แห้งมาก
  4. วัย 50 ปี หรือ สูงกว่า 
    วัยนี้นับเป็นวัยทองที่ฮอร์โมนในร่างกายกำลังจะหมดหรือบางคนก็หมดไปแล้ว การลดลงของฮอร์โมนทั้งเอสโตรเจนของเพศหญิงและโปรเจสเตอร์โรนของเพศชาย ส่งผลให้ผิวหนังแห้ง ผิวบาง และอ่อนไหว นักวิทยาศาสตร์พบว่าการลดลงของฮอร์โมนในร่างกาย มีผลทำให้สารคอลลาเจนถูกทำลาย จะส่งผลให้ผิวหนังเหี่ยวย่น สูญเสียความเต่งตึง และก่อให้เกิดผิวหนังหย่อนยานเป็นถุง ซึ่งเป็นข่าวไม่ดีเลยสำหรับผู้อ่านบทความนี้ (หากอยู่ในวัยนี้) แต่ข่าวดีก็คือ ปัญหาผิวหนังที่สามารถแก้ไขข้อบกพร่องได้มากมาย เช่น ป้องกันผิวแห้งและปรับสมดุลของผิว ป้องกันและต่อต้านริ้วรอย ปรับสมดุลของฮอร์โมนในร่างกายด้วยสารจากพืชโดยเฉพาะอย่างยิ่งสารไฟโตโฮร์โมน ทั้งชนิดกินและชนิดผสมในครีมเครื่องสำอาง เช่น จากพืชตระกูลถั่วเหลืองทั้งหลาย เต้าฮู้ชนิดต่างๆ สารสกัดจากข้าวโอ้ต น้ำนมข้าว ธัญญาพืชทั้งหลายโดยเฉพาะอย่างยิ่ง งาดำ และจากพืชชนิดอื่นๆ เช่น สารสกัดจากกราวเครือ ซึ่งได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ให้ใช้ผสมในเครื่องสำอางได้
แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. http://www.oryor.com/oryor_stemcell/main.html
  2. http://stemcells.nih.gov/info/basics/Pages/Default.aspx
  3. http://www.closerlookatstemcells.org/
  4. Thomson JA, Itskovitz-Eldor J, Shapiro SS, Waknitz MA, Swiergiel JJ, Marshall VS, et al. Embryonic stem cell lines derived from human blastocysts. Science. 1998 Nov 6;282(5391):1145-7.
  5. Giarratana MC, Kobari L, Lapillonne H, et al. (January 2005). "Ex vivo generation of fully mature human red blood cells from hematopoietic stem cells". Nat. Biotechnol. 23 (1): 69–74.
  6. Singec I, Jandial R, Crain A, Nikkhah G, Snyder EY (2007). "The leading edge of stem cell therapeutics". Annu. Rev. Med. 58: 313–28.
  7. Takahashi K, Tanabe K, Ohnuki M, Narita M, Ichisaka T, Tomoda K, et al. Induction of pluripotent stem cells from adult human fibroblasts by defined factors. Cell. 2007 Nov 30;131(5):861-72.

-->



บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


วัคซีนงูสวัด 11 วินาทีที่แล้ว
มะระขี้นก 39 วินาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้