เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

ผลงานวิจัยเพื่อสังคม


เห็ดหลินจือ จากงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์


Soonthornchareonnon N. Ganoderma lucidum spore: The reason why its wall should be broken for medicinal use. J Thai Tradit Altern Med 2008; 6(3): 313-21.
https://tinyurl.com/y8june2x
Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
อ่านแล้ว 272,381 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 2013-07-12 11:18:00
อ่านล่าสุด 4 ช.ม.ที่แล้ว

รองศาสตราจารย์ ดร. นพมาศ สุนทรเจริญนนท์ 
ภาควิชาเภสัชวินิจฉัย คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

เห็ดหลินจือ [Ganoderma lucidum (Fr.) Karst.] หรือที่รู้จักกันดีในประเทศไทย “เห็ดหมื่นปี เห็ดจวักงู” ชื่ออังกฤษ “Lacquered mushroom” ชื่อญี่ปุ่น “Mannantake” เห็ดหลินจือ จัดเป็นราชาแห่งสมุนไพรจีน ที่มีการใช้มานานกว่า 4,000 ปี เป็นยาอายุวัฒนะและรักษาโรคต่าง ๆ ในเภสัชตำรับของสาธารณรัฐประชาชนจีน ระบุสรรพคุณเป็นยาบำรุงร่างกาย บรรเทาอาการอ่อนเพลีย แก้หลอดลมอักเสบเรื้อรัง รักษาโรคหัวใจ และช่วยให้นอนหลับ(1)  มีรายงานการศึกษาทางคลินิกพบว่า เห็ดหลินจือมีผลกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันในผู้ป่วยมะเร็งปอด(2) ผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่(3) และผู้ป่วยมะเร็งขั้นลุกลาม(4) มีฤทธิ์ต้านปวดและมีความปลอดภัยในการใช้ในผู้ป่วยโรค rheumatoid arthritis(5) รักษาโรค neurasthenia(6) โรคทางเดินปัสสาวะส่วนล่าง(7,8) อาการปวดหลังจากการติดเชื้องูสวัด(9)  นอกจากนี้ยังพบว่าเห็ดหลินจือมีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยามากมาย เช่น ฤทธิ์กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน(10-13)  ฤทธิ์ต้านเนื้องอกและมะเร็ง(10,14-16)  ฤทธิ์ป้องกันเส้นประสาทเสื่อม(17-20)  ฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด(21-22) ฤทธิ์ลดไขมันในเลือด(23-24) ฤทธิ์ต้านออกซิเดชัน(25-27) ฤทธิ์ต้านการอักเสบ (anti-inflammation)(28-29) เป็นต้น ซึ่งสารสำคัญคือ สารกลุ่ม polysaccharides(10,11,13) สารกลุ่ม triterpenoids(30-33) สารกลุ่ม sterols(34-36) สารกลุ่ม fatty acids(37) สารกลุ่มโปรตีน(38-41) เป็นต้น ซึ่งสารสำคัญดังกล่าวจะพบได้ในส่วนสปอร์มากกว่าส่วนดอก(42) และสปอร์ที่กะเทาะผนังหุ้มมีฤทธิ์กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันและต้านมะเร็งได้ดีกว่าสปอร์ที่ไม่กะเทาะผนังหุ้ม และส่วนดอก(43-45)  มีการศึกษาเกี่ยวกับพิษวิทยาของเห็ดหลินจือทั้งพิษแบบเฉียบพลันและพิษแบบเรื้อรังพบว่ามีความเป็นพิษต่ำมาก และมีความปลอดภัยสำหรับการใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน

ประเทศไทยมีการปลูกเห็ดหลินจือในเชิงพาณิชย์มาเป็นเวลานานกว่า 20 ปี โดยจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ในรูปดอกเห็ดหั่นเป็นแผ่น น้ำเห็ดหลินจือ เครื่องดื่มชาเห็ดหลินจือ กาแฟเห็ดหลินจือ เป็นต้น แต่ส่วนใหญ่ยังไม่มีการศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ทั้งสรรพคุณในการรักษาโรคภัยต่าง ๆ หรือการศึกษาการเพาะปลูกตามหลักเกณฑ์ที่ดีในการเพาะปลูก (Good agricultural Practice; GAP) หรือการเก็บสปอร์เห็ดหลินจือมาใช้ประโยชน์ เพื่อการสร้างมูลค่าเพิ่ม ทั้งนี้เนื่องจากขาดการประสานงานของหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีองค์ความรู้แต่ไม่มีการบูรณาการในการศึกษาวิจัยและพัฒนาอย่างจริงจัง

ปี 2551-2554 สถาบันการแพทย์แผนไทย-จีน เอเซียตะวันออกเฉียงใต้ กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข ได้เป็นองค์หลักในการประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ ได้แก่ โครงการพิเศษสวนเกษตรเมืองงาย ในพระองค์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิต์ พระบรมราชินีนาถ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ สถาบันบริการตรวจสอบคุณภาพมาตรฐานผลิตภัณฑ์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ คณะแพทยศาสตร์ และ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล และ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในการวิจัยและพัฒนาเห็ดหลินจือตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงการใช้ประโยชน์  คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เข้าร่วมโครงการฯ เป็นคณะทำงานการวิจัยเห็ดหลินจือและสปอร์เห็ดหลินจือในระดับพรีคลินิก และคณะทำงานการพัฒนาผลงานการวิจัยเห็ดหลินจือและสปอร์เห็ดหลินจือสู่การใช้ประโยชน์

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ศึกษา “คุณภาพและปริมาณสารสำคัญของดอกเห็ดและสปอร์เห็ดหลินจือที่ปลูกในประเทศไทย”(46)  โดยตรวจวิเคราะห์ปริมาณสารสำคัญกลุ่ม terpenoids(47) และสารกลุ่ม polysaccharides(48,49)   การศึกษานี้จะเป็นข้อมูลบ่งชี้พันธุ์เห็ดหลินจือที่เหมาะสมในการปลูกในประเทศไทย อายุในการเก็บเกี่ยวสปอร์และดอกเห็ด ชนิดของท่อนไม้ที่เหมาะสมในการเพาะเลี้ยงเห็ด และและได้พิสูจน์ให้เห็นว่าสปอร์เห็ดหลินจือ ก่อนนำไปใช้ทางยาจะต้องกะเทาะผนังหุ้ม(50)  ผลการศึกษาคุณภาพและปริมาณสารสำคัญของดอกเห็ดและสปอร์เห็ดหลินจือพันธุ์ MG1, MG2, MG5 พบว่า ระยะเวลาเก็บเกี่ยวที่เหมาะสมคือ 110 วัน และพันธุ์เห็ดที่มีปริมาณสารกลุ่ม polysaccharides สูงคือ พันธุ์ MG2 โดยพบในสปอร์ที่กระเทาะผนังหุ้ม (4.77%) มากกว่าดอกเห็ด (3.06%) ส่วนพันธุ์ที่มีปริมาณสารกลุ่ม triterpenoids สูง คือ พันธุ์ MG5 โดยพบในก้านดอก (0.55%) มากที่สุด รองลงมาคือดอกเห็ด (0.40%) และสปอร์ (0.27%) ตามลำดับ และพันธุ์ไม้ที่เหมาะสมในการเพาะเลี้ยงเห็ด คือ ไม้ลำไย และไม้สะเดา และงานวิจัยนี้ได้พิสูจน์ว่าสปอร์ที่กะเทาะผนังหุ้มมีสารสำคัญและฤทธิ์ทางยาดีกว่าสปอร์ที่ไม่กะเทาะผนังหุ้ม ทั้งนี้เพราะว่าผนังหุ้มสปอร์มีผนังหนา 2 ชั้น ผนังชั้นนอกเรียบ ผนังชั้นในยื่นคล้ายหนามไปชนผนังชั้นนอก ซึ่งผลการศึกษานี้แสดงให้เห็นว่าตัวทำละลายแอลกอฮอล์ หรือ dichloromethane ไม่สามารถสกัดสารสำคัญกลุ่ม triterpenoids ออกจากสปอร์เห็ดหลินจือที่ไม่กะเทาะผนังหุ้ม แต่การต้มสปอร์ที่ไม่กะเทาะผนังหุ้มด้วยน้ำจะสกัดสารกลุ่ม polysaccharides ได้บ้าง แต่ปริมาณน้อยกว่าสปอร์ที่กะเทาะผนังหุ้ม นอกจากนี้ในสภาวะที่เป็นกรด หรือเป็นด่าง เลียนแบบสภาวะของกระเพาะและลำไส้ ตามลำดับ ก็ไม่สามารถทำลายผนังหุ้มของสปอร์ได้ ซึ่งพิสูจน์ได้จากการศึกษาภายใต้กล้องจุลทรรศน์อิเลกตรอน และ TLC chromatogram ซึ่งจะสอดคล้องกับกรณีศึกษาที่เกิดขึ้นที่โรงพยาบาลศิริราชพยาบาล เมื่อผู้ป่วยคนหนึ่งที่รับประทานผงเห็ดหลินจือแล้วมีอาการท้องเสีย เมื่อตรวจอุจจาระพบว่ามีสปอร์เห็ดหลินจือที่มีขนาดและรูปร่างคล้ายกับไข่พยาธิ ซึ่งอาจจะทำให้เข้าใจผิดได้ว่าอาการท้องเสียเกิดจากพยาธิ หลังจากหยุดการรับประทานผงเห็ดหลินจือ อาการต่าง ๆ ก็ดีขึ้น(51) กรณีศึกษานี้แสดงให้เห็นว่าการรับประทานสปอร์เห็ดหลินจือที่ไม่กะเทาะผนังหุ้ม ร่างกายคนไม่สามารถย่อยผนังหุ้มได้ ทำให้จึงยังคงพบสปอร์ในอุจจาระ ฉะนั้นการรับประทานสปอร์เห็ดหลินจือจึงต้องทำการกะเทาะผนังหุ้มก่อน เพื่อให้สารสำคัญถูกสกัดออกจากสปอร์และดูดซึมเข้าร่างกายได้ ซึ่งจะมีคุณค่าทางยาตามรายงานการวิจัยทางคลินิกหรือพรีคลินิก

 



บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


สิวเชื้อรา และการรักษา 37 วินาทีที่แล้ว
สิว...สาเหตุจากยา 38 วินาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้