เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


สารบำรุงตาจากพืชมีสี


รองศาสตราจารย์ ดร.ภญ. อ้อมบุญ วัลลิสุต ภาควิชาเภสัชวินิจฉัย คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล


ภาพประกอบจาก: http://global.rakuten.com/en/store/korep...ke10000-1/
อ่านแล้ว 23,918 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 14/10/2559
อ่านล่าสุด 6 ช.ม.ที่แล้ว

Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
 


ดวงตาทำหน้าที่เป็นอวัยวะรับความรู้สึกด้านการมองเห็น เป็น 1 ใน 5 อวัยวะรับความรู้สึกของมนุษย์ เราใช้ดวงตาของเราตั้งแต่เกิดและใช้ไปจนตราบเท่าอายุขัย โดยไม่ได้ใส่ใจกับการทะนุถนอมและบำรุงดวงตาเท่าที่ควร ถ้าเรานอนวันละ 6 ชั่วโมงนั่นคือเราใช้ดวงตาวันละ 18 ชั่วโมง เดือนละ 540 ชั่วโมง ปีละ 6480 ชั่วโมง ดังนั้น อาการเสื่อมถอยของสุขภาพตาจึงหลีกเลี่ยงได้ยาก แต่สามารถชะลอได้ หากเรารู้วิธีการป้องกัน และรู้จักสารอาหารที่จะเข้าไปฟื้นฟูสภาพหรือบำรุงเซลล์ต่างๆ ภายในดวงตา องค์การอนามัยโลกรายงานว่า ประชากรโลกมีความผิดปกติทางสายตา 285 ล้านคน ตาบอด 391 ล้านคน อีก 246 ล้านคนมองเห็นได้น้อย 90% เป็นผู้ที่มีรายได้ต่ำ และ 82% ของผู้ที่ตาบอดมีอายุ 50 ปีขึ้นไป ที่น่าเสียดายคือ 80% ของความผิดปกติทางสายตาสามารถป้องกันและรักษาได้ (1) 
 
ประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคตาเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ประมาณ 1,759,044 รายต่อปี ผ่าตัดต้อกระจก 82,666 ราย ต้อหิน 3,983 ราย จอประสาทตา 3,684 ราย ตาเหล่ 1,391ราย และเปลี่ยนกระจกตา 375 ราย (2) หากประชาชนรู้วิธีการป้องกันความเสื่อมของตาและกินสารอาหารที่สามารถชะลอการเสื่อมของดวงตาให้มากขึ้น ก็มีความเป็นไปได้ที่จำนวนผู้ป่วยหรือพิการทางสายตาจะลดลง 
ส่วนประกอบที่สำคัญของดวงตา (3) 
ตาขาว (Sclera) คือส่วนที่นอกเหนือไปจากตาดำ อยู่ชั้นนอกสุดเห็นเป็นสีขาวต่อกับกระจกตา 
ตาดำ หรือ ม่านตา (Iris) คือส่วนที่เราเห็นเป็นสีของลูกตา มีสีต่างๆ กันตามเชื้อชาติและพันธุกรรม มีกล้ามเนื้อเพื่อการหดม่านตาซึ่งจะอยู่รอบๆ รูม่านตา (Pupil) และกล้ามเนื้อขยายม่านตา เพื่อปรับปริมาณแสงที่จะผ่านเข้าทางรูม่านตาไปสู่เลนส์ตาในปริมาณที่พอเหมาะ 
รูม่านตา (Pupil) คือช่องตรงกลางของม่านตา ทำหน้าที่ให้แสงผ่านเข้าไปสู่เลนส์ตา 
กระจกตา(Cornea) คือเนื้อเยื่อโปร่งใสที่อยู่ด้านหน้าสุดของดวงตา ทำหน้าที่ให้แสงผ่านเข้าไปภายในดวงตา เมื่อกระจกตาขุ่น หรือถูกทำลายจะมีผลกระทบต่อการมองเห็น สามารถทำการเปลี่ยนกระจกตาได้จากการรับบริจาค 
เลนส์ตา หรือ แก้วตา (Lens) มีลักษณะเป็นเลนส์นูนใส ยืดหยุ่นได้ ทำหน้าที่โฟกัสลำแสงจากภาพให้ไปตกบนจุดรับภาพของจอตา 
จอรับภาพหรือจอตา (Retina) ส่วนที่ทำให้เรามองเห็นภาพได้ มีเซลล์รับแสงสองชนิด (Rod cell และ Cone cell) และเซลล์ประสาท Rod cell มีความไวต่อการรับแสง เราจึงมองเห็นในที่สลัวได้ แต่ไม่สามารถบอกสีได้ ส่วนเซลล์รูปกรวย (cone cell) สามารถแยกความแตกต่างของสีได้แต่ต้องการแสงสว่างมากจึงบอกสีของวัตถุได้ถูกต้อง 
จุดรับภาพชัด (Macula) บริเวณเล็กๆ บน Retina ที่สามารถรับภาพได้ชัดที่สุดมีพื้นที่เพียง 5.5 มม ตรงกลางเป็นรอยบุ๋มคือ fovea มีพื้นที่ 1.55 มม เป็นบริเวณที่เห็นภาพได้ชัดสุด มีเซลล์แบบกรวย (Cone cell) หนาแน่นที่สุด มีเม็ดสี zeaxanthin มากกว่าบริเวณอื่นๆ ของจอตา ซึ่งมีเม็ดสี lutein มากกว่า เนื่องจากมาคูลามีสีเหลืองจึงดูดซับแสงสีฟ้าและยูวีที่เข้ามาในลูกตาเป็นเสมือนแว่นกันแดดให้จอตา 
วุ้นตา (Vitreous humor) คือของเหลวที่อยู่ในช่องหลังแก้วตาจนถึงจอตา มีปริมาตร 4 มิลลิลิตร ใสไม่มีสี หนืดกว่าน้ำ 2 เท่า มีส่วนประกอบเป็นน้ำ ประมาณ 98% ที่เหลือเป็น Collagen, Hyaluronan และโปรตีน วุ้นตาทำหน้าที่คงรูปของลูกตา และเป็นแหล่งอาหารแก่ แก้วตา เนื้อเยื่อ Ciliary body และจอตา เมื่ออายุมากขึ้นวุ้นตาจะค่อยๆคลายความหนืดลง เมื่ออายุ 80 ปี มากกว่าครึ่งหนึ่งของวุ้นตาจะกลายเป็นน้ำใส ในผู้ป่วยสายตาสั้น วุ้นตาจะเริ่มเสื่อมเร็วกว่าคนทั่วไป การเสื่อมของวุ้นตา จะทำให้บริเวณที่เคยยึดเกาะกับจอตาที่ค่อนข้างแน่นหลุดออก จนอาจนำไปสู่ภาวะจอตาหลุดลอกได้ในผู้ที่มีสายตาสั้นมาก 
เมื่อรู้จักส่วนประกอบของดวงตาแล้ว มาทำความรู้จักกับโรคตายอดฮิต 4 อันดับ ได้แก่ (2,4,5)

  1. โรคต้อกระจก (Cataract) คือสภาวะที่เลนส์ตาเกิดอาการขุ่นมัวขึ้น ความสามารถในการมองเห็นในที่สลัวหรือกลางคืนลดลง อาจเห็นแสงกระจายจากดวงไฟในที่มืด
  2. โรคต้อหิน (Glaucoma) เกิดจากความดันในลูกตาสูงผิดปกติจนส่งผลให้เส้นใยประสาทที่ทำหน้าที่ส่งข้อมูลการมองเห็นไปสมองถูกทำลาย จึงไม่สามารถประมวลข้อมูลเป็นภาพได้ ชนิดที่พบบ่อยที่สุดคือ ต้อหินชนิดเรื้อรัง (chronic glaucoma) ผู้ป่วยจะเสียการมองเห็นบริเวณรอบนอกของลานสายตา การมองเห็นจะค่อยๆ แคบลงจนเสมือนมองผ่านท่อ ต้อหินชนิดเฉียบพลัน (Acute angle closure glaucoma) พบได้น้อยกว่ามีอาการ ตาแดง ตามัว ปวดตาอย่างรุนแรง เนื่องจากความดันในลูกตาสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว
  3. โรคเอเอ็มดี (Age-related macular degeneration, AMD) หรือโรคจอตาเสื่อม เป็นโรคที่เกิดขึ้นที่บริเวณเนื้อเยื่อรับภาพของจอตา ทำให้เกิดจุดบอดขึ้นตรงใจกลางของภาพ การมองเห็นโดยรวมลดลง
  4. โรควุ้นตาเสื่อม (Vitreous degeneration) เกิดจากวุ้นตาเปลี่ยนสถานะเป็นของเหลวมากขึ้น เมื่อมีอายุมากขึ้น เส้นใยโปรตีนในวุ้นตาเกิดการตกตะกอนลักษณะคล้ายลิ่ม เส้นใยที่หนาขึ้นทำให้เกิดเงาตกกระทบบนจอตาทำให้ผู้ที่มีวุ้นตาเสื่อมเห็นเป็นเส้นเป็นขีดลอยไปมา เงานี้ขยับได้เล็กน้อยเมื่อมีการกลอกตา ประเทศไทยมีคนเป็นโรควุ้นตาเสื่อมถึง 14 ล้านคน จากการใช้สายตามากเกินไป ใช้งานคอมพิวเตอร์ โนตบุค หรือสมาร์ทโฟนอย่างต่อเนื่องนานเกินไป

ความเสื่อมของส่วนประกอบดวงตาเกิดจากรังสี 2 ชนิด คือสีม่วง หรือ ยูวี (UV ray) และสีฟ้า (blue ray) ซึ่งมีอยู่ในแสงแดดดังแสดงในรูป 
 
รังสียูวีเป็นคลื่นแสงที่มีพลังงานสูงอยู่เหนือแสงสีม่วงและน้ำเงินในแสงแดด ประมาณ 99% ของยูวีถูกดูดซับไว้ที่ส่วนต้นของลูกตา และบางส่วนสามารถเข้าถึงจอตาได้ มีสองชนิดหลักคือ ยูวีเอ และยูวีบี ยูวีเอ มีขนาดความยาวคลื่น 315-400 นาโนเมตร มีผลทำให้ผิวคล้ำขึ้นและอาการแก่ของผิวหนังตลอดจนมะเร็งผิวหนัง ส่วนยูวีบีมีขนาดความยาวคลื่น 280-315 นาโนเมตร ทำให้เกิด sunburn และมะเร็งผิวหนังรอบดวงตา (6,7) แสงสีฟ้าหรือ Blue light อยู่ในช่วงแสงที่ตามองเห็นได้ เป็นองค์ประกอบ 25-30% ในแสงแดด มีความยาวคลื่น 415- 455 nm มีอันตรายต่อจอตา และอาจทำให้จอตาเสื่อมในที่สุด เซลล์ชั้นนอกสุดของจอตา (Retinal Pigment Epithelium, RPE) เมื่อสัมผัสกับแสงสีฟ้า (blue ray) ทำให้เซลล์ตายได้ เพราะแสงสีฟ้ามีพลังงานสูงพอที่จะทำให้เกิดอนุมูลอิสระภายในลูกตาจึงมีผลทำให้เซลล์ตาย 
พืชผักผลไม้ที่มีสีหลายๆ ชนิด มีสารต้านอ๊อกซิไดส์ที่สามารถชะลอความเสื่อมสภาพและบำรุงสุขภาพตาได้ สารเหล่านี้ ได้แก่

  1. เบตาแคโรทีน ร่างกายสามารถเปลี่ยนเบต้าแคโรทีนเป็นวิตามินเอได้ตามปริมาณที่ร่างกายต้องการ (8, 9) ช่วยในการสร้างเม็ดสี Rhodopsin ของ Rod Cell เพื่อให้สามารถมองเห็นในตอนกลางคืนได้ดี ช่วยลดความเสื่อมของเซลล์ตา และลดความเสี่ยงในการเป็นโรคต้อกระจก (10) 
    แหล่งธรรมชาติของเบต้าแคโรทีน พบมากในผัก และผลไม้ที่มีสีส้ม เหลือง หรือแดง เช่น ฟักทอง แครอท ข้าวโพดอ่อน แตงโม หน่อไม้ฝรั่ง แคนตาลูป และมะละกอสุก เป็นต้น รวมถึงผักที่มีสีเขียวทุกชนิด เช่น บร๊อคโคลี ผักคะน้า ตำลึง ผักบุ้ง ผักกวางตุ้ง และมะระ เป็นต้น ปริมาณเบต้าแคโรทีนต่อวันอยู่ที่ประมาณ 5 มิลลิกรัม อย่างไรก็ดีการกินวันละ 200 มิลลิกรัมนาน 6 เดือน ไม่พบอาการข้างเคียงใดๆนอกจากอาการตัวเหลือง (Carotenemia) ซึ่งหายไปได้เองเมื่อหยุดบริโภค (10,11)
  2. Lycopene เป็นสารสีแดงพบในมะเขือเทศ ผลไม้สีแดงเช่นฟักข้าว (Gac) แครอตแดง แตงโม มะละกอ ในผักเขียวเช่น asparagus และ parsley เป็น antioxidant ที่มีฤทธิ์แรง เป็นสารตัวกลางในการสังเคราะห์เบตาแคโรทีนและแซนโทฟิล เมื่อรับประทานเข้าไปจะเข้าไปอยู่ในทุกเนื้อเยื่อและทำหน้าที่ต้านอนุมูลอิสระ จากการเก็บข้อมูลระหว่างปี คศ. 1988-1990 ประชากร 167 คนซึ่งเป็น late AMD และกลุ่มควบคุมซึ่งไม่มีอาการ AMD จำนวน167 คน เท่าๆ กันพบว่าคนที่มีระดับ lycopene ในเลือดต่ำมีโอกาสเป็น AMD มากกว่าถึงสองเท่า ดังนั้น lycopene จึงเป็นสารสำคัญที่ช่วยป้องกัน AMD ช่วยยับยั้งการเสื่อมของกล้ามเนื้อกระบอกตา และยังสามารถทำลาย singlet oxygen ได้อีกด้วย (12)
  3. แซนโทฟิล (Xanthophyll) คือแคโรทีนอยด์ ที่มี oxygen ในโมเลกุล ได้แก่ Lutein และ Zeaxanthin เม็ดสีทั้งสองชนิดพบในจอตาและมาคูลาช่วยกรองแสงสีฟ้าและยังเป็นสารต้านออกซิเดชัน ช่วยกำจัดอนุมูลอิสระ จากการทดลองทางในผู้ป่วย AMD พบว่าเมื่อให้สารทั้งสองชนิดในรูปอาหารเสริมสามารถเพิ่มระดับความเข้มข้นของเม็ดสีทั้งสองในพลาสมาและในมาคูลา (13) Lutein และ Zeaxanthin ป้องกันความเสื่อมของจอตาได้ (14) แหล่งธรรมชาติของแซนโทฟิล พบได้ในดอกดาวเรือง (Marigold) ไข่แดง ผักใบเขียว ตัวอย่างเช่น ผักคะน้าจะมีลูทีนในปริมาณ 4.8 – 13.4 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักผักสด 100 กรัม และผักปวยเล้ง (Spinach; Spinacia Oleracea L.) จะมีลูทีน 6.5 – 13.0 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักผักสด 100 กรัม นอกจากนั้นก็พบได้ในไข่แดง แม้พบในปริมาณน้อย แต่ลูทีนในไข่แดงก็เป็นชนิดที่สามารถถูกนำไปใช้ได้ดี ขนาดรับประทาน ลูทีนในรูปผลิตภัณฑ์เสริมอาหารในขนาด 10 มิลลิกรัมร่วมกับซีแซนทีนในขนาด 1 มิลลิกรัมต่อวัน (15)
  4. สารกลุ่มแอนโทไซยานิน (Anthocyanins) แอนโธไซยานินมีในผลไม้ที่มีสีม่วงเข้ม Black currant, Bilberry, Mulberry, etc สามารถเพิ่มการมองเห็นชัดได้ทั้งในคนและสัตว์ เพิ่มการมองเห็นในที่มืดได้อย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากช่วยในการฟื้นตัวของ Rhodopsin ที่จอตา (16,17,18)

เพื่อเป็นการชะลอความเสื่อมของดวงตาจึงควรกินพืชผักผลไม้ที่มีสีเหลือง แสด แดง เขียว น้ำเงินและม่วง ดังตัวอย่างข้างบนเป็นประจำและหลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยตรงกับแสงแดดจ้า ควรป้องกันสายตาด้วยแว่นกันแดดที่กันยูวี 
 

แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. WHO, Visual impairment and blindness, Fact Sheet N?282,Updated August 2014.http://www.who.int/mediacentre/factsheets/fs282/en/ Accessed 16/06/2016
  2. สสส ข้อมูลผู้ป่วยโรคตา 9 กันยายน 2553. http://www.thaihealth.or.th/Content/21272.html Accessed 18/06/2016
  3. สกาวรัตน์ คุณาวิศรุต กายวิภาคและสรีรวิทยาของตา (Anatomy and Physiology of the eye) http://haamor.com/th
  4. การมองเห็น http://www.il.mahidol.ac.th/e-media/nervous/chapter3.html
  5. WHO, Priority Eye Diseases http://www.who.int/blindness/causes/priority/en/index7.html Accessed 16/06/ 2016
  6. STATEMENT ON Ocular Ultraviolet Radiation Hazards In Sunlight. A Cooperative Initiative of: The National Society to Prevent Blindness, The American Optometric Association, The American Academy of Ophthalmology, November 10, 1993, 3 p http://www.aoa.org/Documents/optometrists/ocular-ultraviolet.pdf
  7. American Optometric Association (AOA), UV Protection: http://www.aoa.org/patients-and-public/caring-for-your-vision/uv-protection
  8. Biesalski HK, Chichili GR, Frank J, Lintig J, Nohr D, Conversion of ß-carotene to retinal pigment. Vitamins and hormones. Vitamins & Hormones 2007;75: 117–130. doi:10.1016/S0083-6729(06)75005-1. ISBN 978-0-12-709875-3. PMID 17368314.
  9. Tanumihardjo SA, Factors influencing the conversion of carotenoids to retinol: bioavailability to bioconversion to bioefficacy, Int J Vit Nutr Res, 2002;72(1): 40–5. doi:10.1024/0300-9831.72.1.40. PMID 11887751.
  10. Beta-Carotene https://en.wikipedia.org/wiki/Beta-Carotene
  11. เริงฤทธิ์ สัปปะพันธุ์ บรรณาธิการ คู่มืออาหารเสริม กรุงเทพฯ เอ็มไอเอส ISBN 978-616-527-392-3, 2556:เบตาแคโรทีน 315-318, วิตามินบี 2;71-72
  12. Mares-Perlman JA, Brady WE, Klein R, Klein BE, Bowen P, Stacewicz-Sapuntzakis M, Palta M. Serum antioxidants and age-related macular degeneration in a population-based case-control study. Arch Ophthalmol. 1995;113(12):1518-23.
  13. Bone RA, Landrum JT, Guerra LH, and Ruiz CA, Lutein and zeaxanthin dietary supplements raise macular pigment density and serum concentrations of these carotenoids in humans, Journal of Nutrition, 2003;133 (4):992-998.
  14. Haegerstrom-Portnoy G, Short-wavelength-sensitive-cone sensitivity loss with aging : a protective role of macular pigment?, Journal of the Optical Society of America A, 1988;5(12):2140-2144.
  15. วิมล ศรีศุข กินอะไร...ชะลอจอประสาทตาเสื่อม บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล 23/03/2557 http://www.pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article
  16. Nakaishi H, Matsumoto H, Tominaga S, Hirayama M. Effects of black currant anthocyanoside intake on dark adaptation and VDT work-induced transient refractive alteration in healthy humans. Altern Med Rev. 2000;5(6):553–562.
  17. Muth E.R, Laurent J, Jasper P. The effect of bilberry nutritional supplementation on night visual acuity and contrast sensitivity. Altern Med Rev. 2000;5(2):164–173.
  18. Matsumoto H, Nakamura Y, Tachibanaki S, Kawamura S, Hirayama M. Stimulatory effect of cyanidin 3-glycosides on the regeneration of rhodopsin. J Agric Food Chem.2003;51(12):3560–3563.


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


สารบำรุงตาจากพืชมีสี 1 วินาทีที่แล้ว
1 นาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้