Knowledge Article


วัคซีนโควิด-19 ให้ประสิทธิผลในการป้องกันโรคเพียงใด?


รองศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรหญิง นงลักษณ์ สุขวาณิชย์ศิลป์
หน่วยคลังข้อมูลยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพประกอบจาก : https://www.paho.org/sites/default/files/styles/max_1500x1500/public/2021-06/covid-vaccines-americas-1500px.jpg?itok=onqiiWwj
6,603 View,
Since 2022-04-28
Last active: 15h ago
https://tinyurl.com/y6l64gpg
Scan to read on mobile device
 
A - | A +


วัคซีนเป็นผลิตภัณฑ์ชีวภาพ เมื่อให้เข้าสู่ร่างกายจะกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อป้องกันโรค เช่นเดียวกับวัคซีนโควิด-19 ที่ให้เพื่อป้องกัน “โควิด-19 (COVID-19)” ซึ่งเป็นโรคติดเชื้อที่ทางเดินหายใจ เกิดจากโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ คือ “2019-nCoV (2019 novel coronavirus)” หรือ “severe acute respiratory syndrome coronavirus 2 (SARS-CoV-2)” เริ่มเกิดการระบาดที่เมืองอู่ฮั่นในประเทศจีน (Wuhan, China) เมื่อเดือนธันวาคมปี พ.ศ. 2562 (ค.ศ. 2019) และการระบาดดำเนินมาจนถึงทุกวันนี้ ขณะนี้มีวัคซีนโควิด-19 ชนิดต่าง ๆ ซึ่งมีกรรมวิธีในการผลิตแตกต่างกันออกใช้แล้วมากมาย ในขณะเดียวกันไวรัสก่อโรคมีการกลายพันธุ์อย่างต่อเนื่องจนทำให้ประสิทธิผลของวัคซีนโควิด-19 ในการป้องกันโรคไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ขณะนี้ยังคงมีผู้เสียชีวิตด้วยโควิด-19 เป็นจำนวนมากซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผู้ที่ได้รับวัคซีนมาแล้ว จึงเป็นที่กังวลถึงประสิทธิภาพของวัคซีนที่ใช้อยู่ อีกทั้งยังไม่อาจคาดหวังว่าจะต้องได้รับวัคซีนเพิ่มเติมอีกเท่าใดจึงจะป้องกันโควิด-19 ได้ ในบทความนี้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับวัคซีนและประสิทธิผลของวัคซีนโควิด-19 ในด้านเหล่านี้ ได้แก่ วัคซีนกับการป้องกันโรค, สิ่งที่ใช้ประเมินประสิทธิผลของวัคซีน, ประสิทธิผลของวัคซีนลดลงในช่วงที่ผ่านมา, ภูมิคุ้มกันระยะยาวของวัคซีน, ภูมิคุ้มกันลูกผสมหรือภูมิคุ้มกันไฮบริด, การให้วัคซีนเข็มกระตุ้นเพิ่มเติม และปัจจัยที่ส่งผลต่อประสิทธิผลของวัคซีน

วัคซีนกับการป้องกันโรค

วัคซีนเป็นผลิตภัณฑ์ชีวภาพที่มีส่วนประกอบของสารก่อภูมิต้านทานหรือแอนติเจน (antigen) หรือมีส่วนประกอบของสิ่งที่ไปทำให้ร่างกายสร้างแอนติเจน เมื่อให้วัคซีนเข้าสู่ร่างกายจะกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันโรคคล้ายกับการกระตุ้นเมื่อเกิดการติดเชื้อ ในกรณีของวัคซีนโควิด-19 แอนติเจนเป็นสไปก์โปรตีนหรือโปรตีนเอส (spike protein หรือ protein S) ซึ่งเป็นโปรตีนบนผิวไวรัสโควิด-19 ทำหน้าที่กระตุ้นร่างกายให้สร้างภูมิคุ้มกันแบบจำเพาะ (acquired immunity หรือ adaptive immunity) มีทั้งภูมิคุ้มกันชนิดสารน้ำหรือแอนติบอดี (humoral immunity หรือ antibody-mediated immunity) ซึ่งอาศัยการทำงานของเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดบี-ลิมโฟไซต์ (B lymphocyte หรือ B cell) และภูมิคุ้มกันชนิดพึ่งเซลล์ (cellular immunity หรือ cell-mediated immunity) ซึ่งอาศัยการทำงานของเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดที-ลิมโฟไซต์ (T lymphocyte หรือ T cell) ในกระบวนการสร้างภูมิคุ้มกันนี้บี-ลิมโฟไซต์ที่ถูกปลุกฤทธิ์จะเปลี่ยนเป็นพลาสมาเซลล์ (plasma cell) และสร้างแอนติบอดีที่จำเพาะต่อแอนติเจนนั้นอย่างรวดเร็วภายใน 2-3 วันเพื่อใช้กำจัดแอนติเจน ส่วนการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันชนิดพึ่งเซลล์โดยที-ลิมโฟไซต์ต้องอาศัยเซลล์แสดงแอนติเจน (antigen presenting cell หรือ APC เช่น dendritic cell, macrophage, B lymphocyte ซึ่งทำหน้าที่เป็น APC ได้ด้วย) ที่รับเอาแอนติเจนไว้เพื่อให้เกิดกระบวนการกระตุ้นทำงานของที-ลิมโฟไซต์และการปลุกฤทธิ์ที-ลิมโฟไซต์ชนิดที่ทำหน้าที่ฆ่าเซลล์ที่ติดไวรัสได้ (ที-ลิมโฟไซต์ที่ทำหน้าฆ่าเซลล์ได้ มีชื่อเรียกหลายอย่าง เช่น cytotoxic T lymphocyte, killer T cell) เป็นการหยุดยั้งการเพิ่มจำนวนของไวรัส (เนื่องจากไวรัสจะเพิ่มจำนวนได้ต้องอยู่ภายในเซลล์) และหยุดการแพร่กระจายของไวรัสไปสู่เซลล์อื่น ด้วยเหตุนี้วัคซีนจึงช่วยป้องไม่ให้เกิดโรค

ประสิทธิผลของวัคซีนโควิด-19 ประเมินจากอะไร?

ประสิทธิผลของวัคซีน (vaccine effectiveness) ในการป้องกันโรคเมื่อให้กับประชาชนกลุ่มเสี่ยง สามารถประเมินผลจากการป้องกันสิ่งเหล่านี้ ได้แก่ การป้องกันการติดเชื้อ (SARS-CoV-2), การป้องกันการป่วย, การป้องกันการป่วยรุนแรงที่ต้องเข้ารักษาในแผนกผู้ป่วยหนักหรือแผนกผู้ป่วยวิกฤติ (intensive care unit หรือ ICU) และการป้องกันการแพร่เชื้อ (รูปที่ 1) ซึ่งการประเมินในด้านการป้องกันการแพร่เชื้อทำได้ค่อนข้างยากเนื่องจากมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องหลายอย่าง ในการศึกษาโดยทั่วไปจึงไม่ได้กล่าวถึง



“วัคซีนให้ประสิทธิผล 95%” หมายความว่าอย่างไร?

ประสิทธิผลของวัคซีนโควิด-19 ที่พบในการศึกษาต่าง ๆ เป็นการบอกถึงการลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคที่ช่วงเวลาหนึ่งหลังจากได้รับวัคซีน อาจเป็นการลดความเสี่ยงด้านการติดเชื้อ การป่วย หรือการป่วยรุนแรง (แล้วแต่กรณี) ในกลุ่มประชากรที่ได้รับวัคซีนเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้รับวัคซีน (เป็น relative risk reduction) โดยคิดเป็นค่าร้อยละ ซึ่งตัวเลขที่ระบุสามารถคำนวณจาก 100 คูณด้วยอัตราส่วนระหว่างร้อยละของความเสี่ยงที่ลดลงในกลุ่มที่ได้รับวัคซีนกับร้อยละของความเสี่ยงในกลุ่มที่ไม่ได้รับวัคซีน เช่น วัคซีนโควิด-19 ยี่ห้อหนึ่งหลังจากฉีดครบแล้วนาน 1 เดือน ในกลุ่มที่ได้รับวัคซีน 100,000 คน มีผู้ป่วย 100 คน (0.1%) ในขณะที่กลุ่มที่ไม่ได้รับวัคซีน 100,000 คน มีผู้ป่วย 2,000 คน (2%) ดังนั้นอัตราส่วนระหว่างร้อยละของความเสี่ยงที่ลดลงในกลุ่มที่ได้รับวัคซีนกับร้อยละของความเสี่ยงในกลุ่มที่ไม่ได้รับวัคซีนเท่ากับ (2–0.1)/2=0.95 เมื่อคูณด้วย 100 จึงเท่ากับ 95% ดังนั้นวัคซีนโควิด-19 ยี่ห้อนั้นให้ประสิทธิผลในการป้องกันการป่วยได้ 95% หลังจากฉีดครบแล้วนาน 1 เดือน จะเห็นได้ว่า “ประสิทธิผลในการป้องกันการป่วย 95%” ไม่ได้หมายความว่าในผู้ที่ฉีดวัคซีนครบแล้ว 100 คน วัคซีนจะช่วยไม่ให้ป่วยได้ 95 คน และไม่ได้หมายความว่าวัคซีนทำงานได้เพียง 95%

ประสิทธิผลของวัคซีนโควิด-19 ลดลงในช่วงที่ผ่านมา

มีการศึกษามากมายถึงประสิทธิผลของวัคซีนโควิด-19 ในการป้องกันโรคที่ช่วงเวลาต่าง ๆ หลังจากได้รับการฉีดวัคซีนครบแล้ว วิธีการศึกษามีหลากหลาย (randomised controlled trial, retrospective cohort, prospective cohort, test negative case-control study เป็นต้น) ซึ่งคุณภาพของการศึกษาต่างกันได้ตามข้อจำกัดในวิธีการศึกษาเหล่านั้น ประกอบกับมีปัจจัยอื่นอีกหลายอย่างที่ส่งผลต่อประสิทธิผลของวัคซีน (มีกล่าวต่อไป) อย่างไรก็ตามจากรายงานที่เผยแพร่ตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี พ.ศ. 2564 ถึงไตรมาสแรกของปี พ.ศ. 2565 พบว่าประสิทธิผลของวัคซีนโควิด-19 ลดลง ไม่ว่าจะเป็นวัคซีนที่มีแพลตฟอร์ม (platform ซึ่งในที่นี้หมายถึงโครงสร้างพื้นฐานของวัคซีนที่เกิดจากกรรมวิธีหรือเทคโนโลยีที่ใช้ผลิตวัคซีน) ชนิดเอ็มอาร์เอ (messenger ribonucleic acid หรือ mRNA) เช่น วัคซีนไฟเซอร์ (Pfizer COVID-19 vaccine ที่มีชื่อการค้า Comirnaty), วัคซีนโมเดอร์นา (Moderna COVID-19 vaccine หรือ mRNA-1273) หรือแพลตฟอร์มชนิดที่มีอะดีโนไวรัสเป็นพาหะ (adenovirus vector) เช่น วัคซีนแอสทราเซเนกา (AstraZeneca COVID-19 vaccine ที่มีชื่อการค้า Vaxzevria) ล้วนให้ประสิทธิผลลดลงหลังจากได้รับวัคซีนครบแล้วราว 4-6 เดือน ไม่ว่าจะประเมินในด้านป้องกันการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ไม่ว่าสายพันธุ์ใด (ในช่วงที่ทำการศึกษาส่วนใหญ่พบสายพันธุ์เดลตา), ป้องกันการป่วย และป้องกันการป่วยรุนแรง ทั้งในกลุ่มเด็ก (ตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป), ผู้ใหญ่ (ตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป) และผู้สูงอายุ (ตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป) โดยภาพรวมแล้วหลังจากได้รับวัคซีนครบจะให้ประสิทธิผลโดยประมาณดังนี้ ด้านป้องกันการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ไม่ว่าสายพันธุ์ใดในเดือนแรกค่าอยู่ที่มากกว่า 80% และหากเกิน 5 เดือนเหลือค่ามากกว่า 50%, ด้านป้องกันการป่วยในเดือนแรกค่าอยู่ที่มากกว่า 90% และหากเกิน 5 เดือนเหลือค่ามากกว่า 60% และด้านป้องกันการป่วยรุนแรงในเดือนแรกค่าอยู่ที่มากกว่า 90% และหากเกิน 5 เดือนเหลือค่ามากกว่า 70% หากเปรียบเทียบประสิทธิผลระหว่างวัคซีนทั้งสองแพลตฟอร์มพบว่าวัคซีนชนิดเอ็มอาร์เอให้ประสิทธิผลในด้านต่าง ๆ ที่กล่าวมาสูงกว่าวัคซีนชนิดที่มีอะดีโนไวรัสเป็นพาหะ จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นได้ว่าแม้ประสิทธิผลของวัคซีนในการป้องกันการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จะลดลงมาก แต่ยังคงให้ประสิทธิผลสูงในด้านป้องกันการป่วยรุนแรงแม้ได้รับวัคซีนเกิน 5 เดือนแล้ว

ไวรัสกลายพันธุ์ทำให้ประสิทธิผลของวัคซีนโควิด-19 ลดลง

ไวรัสเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมและกลายพันธุ์ได้ทุกขณะเมื่อมีการเพิ่มจำนวน โดยอาร์เอ็นเอไวรัส (RNA virus ซึ่งหมายถึงไวรัสที่มีสารพันธุกรรมเป็น ribonucleic acid หรือ RNA) จะกลายพันธุ์ได้เร็วกว่าดีเอ็นเอไวรัส (DNA virus ซึ่งหมายถึงไวรัสที่มีสารพันธุกรรมเป็น deoxyribonucleic acid หรือ DNA) และไวรัสชนิดพันธุกรรมสายเดี่ยว (single-stranded virus) ซึ่งพบเป็นส่วนใหญ่จะกลายพันธุ์ได้เร็วกว่าไวรัสชนิดพันธุกรรมสายคู่ (double-strand virus) สำหรับไวรัสโควิด-19 เป็นอาร์เอ็นเอไวรัสชนิดพันธุกรรมสายเดี่ยวจึงพบการกลายพันธุ์ได้เร็ว มีสายพันธุ์ใหม่เกิดขึ้นมากมาย การกลายพันธุ์อาจเพิ่มหรือลดความรุนแรงในการก่อโรคซึ่งไม่อาจพยากรณ์ได้ สายพันธุ์ที่มีการระบาดและทำให้มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมากนับตั้งแต่เริ่มต้นมาจนถึงขณะนี้ ได้แก่ สายพันธุ์แอลฟา (Alpha: B.1.1.7), สายพันธุ์เบตา (Beta: B.1.351), สายพันธุ์แกมมา (Gamma: P.1), สายพันธุ์เดลตา (Delta: B.1.617.2) และสายพันธุ์โอมิครอน (Omicron: B.1.1.529) ซึ่งบางสายพันธุ์ยังแบ่งเป็นสายพันธุ์ย่อย เช่น โอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.1, BA.1.1, BA.2 และ BA.3 ในการกลายพันธุ์นั้นหากเกิดที่สไปก์โปรตีนและมีการกลายพันธุ์หลายตำแหน่ง ไวรัสจะสามารถหลบหนีแอนติบอดีและเข้าจับกับตัวรับที่ทางเดินหายใจได้ดีขึ้น เพิ่มการเข้าสู่ภายในเซลล์ทางเดินหายใจ ทำให้ไวรัสเจริญและเพิ่มจำนวน ตลอดจนแพร่กระจายไปยังเซลล์อื่น มีรายงานถึงประสิทธิผลของวัคซีนโควิด-19 ชนิดเอ็มอาร์เอนเอซึ่งป้องกันไวรัสสายพันธุ์ดั้งเดิมได้ 94-95%, ป้องกันสายพันธุ์เดลตาได้ 63-88% และป้องกันสายพันธุ์โอมิครอนได้ 23-37% ส่วนวัคชีนชนิดที่มีอะดีโนไวรัสเป็นพาหะป้องกันไวรัสสายพันธุ์ดั้งเดิมได้ 70%, ป้องกันสายพันธุ์เดลตาได้ 42-60% และป้องกันสายพันธุ์โอมิครอนแทบไม่ได้เลย ด้วยเหตุนี้หากผลิตวัคซีนที่มีความจำเพาะต่อสายพันธุ์ที่ระบาดจะให้ประสิทธิผลในการป้องกันโรคได้สูง อย่างไรก็ตามอาจประสบปัญหาเช่นเดิมเนื่องจากการกลายพันธุ์ของไวรัสโควิด-19 เกิดได้เร็ว

ภูมิคุ้มกันที่เกิดจากวัคซีนโควิด-19 ค่อย ๆ ลดลง

เมื่อเกิดการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 หรือได้รับการกระตุ้นด้วยแอนติเจนจากวัคซีนจะมีสารภูมิต้านทานชนิดที่เป็นแอนติบอดีต่อสไปก์โปรตีนออกมาภายใน 2-3 วันเพื่อต่อสู้กับเชื้อโรคหรือแอนติเจน แอนติบอดีจะเพิ่มขึ้นและอยู่ในระดับสูงนานเป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือนก่อนที่จะค่อย ๆ ลดลง การฉีดวัคซีนโควิด-19 เข้ากล้ามเนื้อแอนติบอดีที่ร่างกายสร้างเป็นชนิดอิมมูโนโกลบูลินจีหรือไอจีจี (immunoglobulin G หรือ IgG) มีประสิทธิภาพไม่เท่าแอนติบอดีชนิดอิมมูโนโกลบูลินเอหรือไอจีเอ (immunoglobulin A หรือ IgA) ซึ่งพบที่ชั้นเมือก เช่น ในจมูก ปาก ทางเดินหายใจ แต่ไอจีจีอยู่ในกระแสเลือดจึงสามารถเดินทางไปทำหน้าที่ต่อสู้กับเชื้อโรคในเนื้อเยื่อต่าง ๆ ได้แม้ว่าจะต้องใช้เวลาและต้องการปริมาณแอนติบอดีที่มากพอ เมื่อได้จัดการกับเชื้อโรคหรือแอนติเจนแล้วแอนติบอดีจะลดลงจนตรวจไม่พบ เช่นเดียวกันที-ลิมโฟไซต์ชนิดฆ่าเซลล์จะลดลงมากด้วย การวัดที-ลิมโฟไซต์ชนิดนี้ทำได้ยุ่งยากส่วนใหญ่จึงวัดเฉพาะแอนติบอดี จากข้อมูลที่ผ่านมาแอนติบอดีต่อให้สไปก์โปรตีนลดลงมากภายหลังได้รับวัคซีนแล้วราว 4-6 เดือนไม่ว่าจะเป็นวัคซีนแพลตฟอร์มใด แต่ในผู้ที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 แอนติบอดีจะอยู่ได้นานไม่น้อยกว่า 11 เดือนหลังการติดเชื้อ อย่างไรก็ตามแม้ว่าแอนติบอดีและที-ลิมโฟไซต์ชนิดฆ่าเซลล์จะลดลงจนตรวจไม่พบแต่ภูมิคุ้มกันยังไม่หมดไป ยังคงมีภูมิคุ้มกันระยะยาวดังที่จะกล่าวต่อไป

ภูมิคุ้มกันระยะยาวภายหลังได้รับวัคซีนโควิด-19

ระบบภูมิคุ้มกันมีความซับซ้อนมาก แม้ว่าแอนติบอดีและที-ลิมโฟไซต์ชนิดฆ่าเซลล์จะลดลงจนตรวจไม่พบภายหลังจากจัดการกับเชื้อโรคหรือแอนติเจนแล้ว แต่ภูมิคุ้มกันยังไม่หมดไป ยังมีภูมิคุ้มกันระยะยาวโดยบี-ลิมโฟไซต์และที-ลิมโฟไซต์ กรณีของบี-ลิมโฟไซต์เซล์ที่ทำหน้าที่มีทั้งพลาสมาเซลล์ชนิดอายุยืน (long-lived plasma cell หรือ long-lived B cell) ที่หลบซ่อนในไขกระดูกซึ่งพร้อมที่จะสร้างแอนติบอดีได้อีกนานอาจหลายเดือนหรือหลายสิบปี มีรายงานว่าพบพลาสมาเซลล์ชนิดอายุยืนในผู้ที่เคยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 แต่ไม่พบเซลล์ชนิดนี้ในผู้ได้รับวัคซีนโควิด-19 ชนิดเอ็มอาร์เอ็นเอ (ที่ไม่เคยติดเชื้อมาก่อน) และบี-ลิมโฟไซต์อีกชนิดหนึ่งที่มีบทบาทในการสร้างภูมิคุ้มกันระยะยาวคือบี-ลิมโฟไซต์ชนิดเมมโมรีเซลล์หรือเซลล์ความจำ (memory B cell) จะทำหน้าที่สร้างแอนติบอดีมากมายทันทีหากได้รับเชื้อก่อโรคชนิดเดิม อีกทั้งมีบี-ลิมโฟไซต์ชนิดเมมโมรีเซลล์บางส่วนแต่จำนวนเล็กน้อยที่พร้อมต่อสู้กับพวกเชื้อกลายพันธุ์ ด้วยเหตุนี้จึงเป็นความหวังว่าวัคซีนโควิด-19 แม้ผลิตบนพื้นฐานเพื่อป้องไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์แรกเริ่มก็อาจให้ผลในการป้องกันเชื้อกลายพันธุ์ได้บ้าง ส่วนที-ลิมโฟไซต์ชนิดเมมโมรีเซลล์ (memory T cell) ที่หลงเหลือและหลบซ่อนอยู่ในเนื้อเยื่อบางแห่งก็เช่นเดียวกัน พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเองใหม่กลายเป็นที-ลิมโฟไซต์ชนิดฆ่าเซลล์เพื่อการทำหน้าที่ต่อสู้กับเชื้อก่อโรคชนิดเดิม เมมโมรีเซลล์ที่เกิดหลังการติดเชื้อไวรัสบางชนิดหรือหลังจากได้รับวัคซีนบางชนิดอาจมีอายุนานหลายสิบปีหรือนานตลอดชีวิต เช่น วัคซีนหัด หรือการติดเชื้อไข้ทรพิษในอดีต อย่างไรก็ตามพวกเมมโมรีเซลล์เหล่านี้มีความจำเพาะสูงต่อแอนติเจน ด้วยเหตุนี้หากเชื้อก่อโรคมีการกลายพันธุ์สูงจะทำให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานได้ไม่ดี ขณะนี้ยังไม่อาจคาดการณ์ได้ว่าภูมิคุ้มกันระยะยาวที่เกิดจากวัคซีนโควิด-19 มีมากหรือน้อยและอยู่ได้นานเพียงใด แต่คาดว่าเมมโมรีเซลล์ชนิดที-ลิมโฟไซต์จะยังคงทำหน้าที่ได้ดีภายหลังฉีดวัคซีนเกิน 6 เดือน ตามผลการศึกษาที่พบว่าวัคซีนโควิด-19 ยังให้ประสิทธิผลในการลดอาการป่วยรุนแรงและการเสียชีวิตได้

การให้วัคซีนโควิด-19 เข็มกระตุ้นเพิ่มเติมช่วยเพิ่มการป้องกันโรค

ภูมิต้านทานที่เกิดจากวัคซีนโควิด-19 ไม่ได้อยู่ถาวร แอนติบอดีต่อให้สไปก์โปรตีนของไวรัสโควิด-19 ลดลงมากราว 4-6 เดือนภายหลังได้รับวัคซีนไม่ว่าแพลตฟอร์มใด ดังได้กล่าวแล้วข้างต้น ประกอบกับการกลายพันธุ์ของไวรัสทำให้ประสิทธิผลของวัคซีนโควิด-19 ลดลงมาก การให้วัคซีนเข็มกระตุ้นเพิ่มเติมในเวลาที่เหมาะสมเมื่อภูมิต้านทานลดลงแล้วจะช่วยเพิ่มการป้องกันโรค อีกทั้งคาดหวังว่าจะช่วยเพิ่มจำนวนบี-ลิมโฟไซต์ชนิดเมมโมรีเซลล์และเพิ่มความหลากหลายในการสร้างแอนติบอดีเพื่อต่อสู้กับพวกเชื้อกลายพันธุ์ ตลอดจนเพิ่มจำนวนที-ลิมโฟไซต์ชนิดเมมโมรีเซลล์เพื่อช่วยป้องกันความรุนแรงของโรค มีการศึกษาในช่วงที่ผ่านมาพบว่าการฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มที่ 3 ช่วยเพิ่มประสิทธิผลในการป้องกันความเจ็บป่วย (ลดการติดเชื้อและลดความรุนแรงของโรค) ที่เกิดจากไวรัสสายพันธุ์เดลตาและสายพันธุ์โอมิครอนได้เพิ่มขึ้น

ในผู้สูงอายุ มีข้อมูลการศึกษาที่ประเทศอิตาลีในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 80 ปีขึ้นไปที่ได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ซึ่งมีทั้งแพลตฟอร์มชนิดเอ็มอาร์เอ ชนิดที่มีอะดีโนไวรัสเป็นพาหะ และชนิดอื่น (ประมาณ 87% เป็นชนิดเอ็มอาร์เอ) แบ่งผู้สูงอายุเป็นกลุ่มที่ไม่ได้รับวัคซีน (216,424 คน), กลุ่มที่ได้รับวัคซีนครบแล้วในช่วงไม่ถึง 5 เดือน (335,458 คน), กลุ่มที่ได้รับวัคซีนครบแล้วตั้งแต่ 5 เดือนขึ้นไป (2,385,897 คน) และผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นเพิ่มเติมอีก (บูสเตอร์เพิ่ม) หลังจากได้รับครบแล้ว (1,549,747 คน) ผลการศึกษาพบว่าผู้ที่ได้รับวัคซีนครบแล้วในช่วงไม่เกิน 5 เดือนช่วยลดการติดเชื้อได้ 80%, ลดการเข้ารักษาในโรงพยาบาลและการเข้าแผนกผู้ป่วยหนักได้ 86% และลดการเสียชีวิตได้ 88% เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้รับวัคซีนเลย และการให้บูสเตอร์เพิ่มช่วยป้องกันโรคได้เพิ่มขึ้น โดยเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ได้รับวัคซีนครบแล้วตั้งแต่ 5 เดือนขึ้นไปพบว่ากลุ่มที่ได้บูสเตอร์เพิ่มช่วยลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ 75%, ลดการเข้ารักษาในโรงพยาบาลและการเข้าแผนกผู้ป่วยหนักได้ 82–83% และลดการเสียชีวิตได้ 81% และหากเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ได้รับวัคซีนครบแล้วในช่วงไม่ถึง 5 เดือนพบว่าการให้บูสเตอร์เพิ่มช่วยป้องกันโรค (ประเมินทุกปัจจัยข้างต้น) ได้สูงกว่าโดยมีค่าอยู่ในช่วง 63-87% (รูปที่ 2)



ภูมิคุ้มกันลูกผสมหรือภูมิคุ้มกันไฮบริด (hybrid immunity) เสริมฤทธิ์กระตุ้นภูมิคุ้มกัน

การติดเชื้อไวรัสโควิด-19 มาแล้วและได้รับวัคซีน หรือผู้ที่เกิดการติดเชื้อภายหลังได้รับวัคซีน จะเกิดการเสริมฤทธิ์กระตุ้นภูมิคุ้มกันเกิดเป็น “ภูมิคุ้มกันลูกผสมหรือภูมิคุ้มกันไฮบริด (hybrid immunity)” มีการศึกษาในผู้ที่เคยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 มาแล้วและได้รับวัคซีนพบว่ามีการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันให้ทำงานได้ดีขึ้นและอยู่นานขึ้นเกินกว่า 1 ปีหลังการติดเชื้อ จนมีผู้เรียกว่า “super immunity” มีการคาดหวังว่าภูมิคุ้มกันลูกผสมจะช่วยต่อสู้กับเชื้อกลายพันธุ์ได้ดีขึ้นด้วย อย่างไรก็ตามยังคงต้องรอผลการศึกษาเพิ่มเติม

ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อประสิทธิผลของวัคซีนโควิด-19

จากข้อมูลที่มีอยู่ขณะนี้มีปัจจัยหลายอย่างที่ส่งผลกระทบต่อประสิทธิผลของวัคซีนโควิด-19 ดังกล่าวข้างล่างนี้
  1. ชนิดของวัคซีน พบว่าวัคซีนชนิดที่มีแพลตฟอร์มเป็นเอ็มอาร์เอให้ประสิทธิผลในการป้องกันโรคโดยรวม เมื่อประเมินในด้านป้องกันการติดเชื้อ ป้องกันการป่วย หรือป้องกันการป่วยรุนแรง ได้สูงกว่าชนิดที่มีอะดีโนไวรัสเป็นพาหะ
  2. ระยะเวลาหลังฉีดวัคซีน ไม่ว่าวัคซีนที่มีแพลตฟอร์มชนิดใดให้ประสิทธิผลลดลงมากหลังจากได้รับวัคซีนครบแล้วราว 4-6 เดือน
  3. การกลายพันธุ์ของไวรัสก่อโรค ทำให้ประสิทธิผลของวัคซีนที่ใช้อยู่ขณะนี้ซึ่งผลิตบนพื้นฐานเพื่อการป้องกันไวรัสสายพันธุ์ดั้งเดิมนั้นลดลง
  4. การตอบสนองของแต่ละคน เนื่องจากมีความหลากหลายด้านพันธุกรรม อายุ เพศ น้ำหนักตัว สุขภาพทางกายและจิตใจ เป็นต้น ความหลากหลายเหล่านี้อาจส่งผลกระทบต่อประสิทธิผลของวัคซีน อย่างไรก็ตามในด้านที่เกี่ยวกับอายุนั้น ข้อมูลจากการศึกษาที่ผ่านมาพบว่าประสิทธิผลของวัคซีนในเด็ก คนหนุ่มสาว และผู้สูงอายุ ถือได้ว่าไม่แตกต่างกันไม่ว่าจะประเมินด้านป้องกันการติดเชื้อ ป้องกันการป่วย หรือป้องกันการป่วยรุนแรง
  5. จำนวนวัคซีนที่ให้บูสเตอร์ พบว่าการให้บูสเตอร์เพิ่มเติมในช่วงเวลาที่เหมาะสมภายหลังได้รับวัคซีนครบแล้วจะช่วยเพิ่มประสิทธิผลในการป้องกันโรค ไม่ว่าจะประเมินด้วยการป้องกันการติดเชื้อ การป้องกันการป่วย หรือการป้องกันการป่วยรุนแรง โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ อย่างไรก็ตามขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าภูมิคุ้มกันต่อโรคจะเพิ่มขึ้นตามจำนวนครั้งที่ให้บูสเตอร์หรือไม่ มีข้อมูลเพียงว่าการฉีดเข็มที่ 3 ช่วยเพิ่มการป้องกันโรค ข้อมูลเกี่ยวกับการฉีดเข็มที่ 4 ยังมีน้อย
  6. ผู้ที่เคยติดเชื้อมาแล้วและได้รับวัคซีน หรือผู้ที่เกิดการติดเชื้อภายหลังได้รับวัคซีน ทำให้เกิดภูมิคุ้มกันลูกผสมหรือภูมิคุ้มกันไฮบริดซึ่งจะเสริมฤทธิ์กระตุ้นภูมิคุ้มกันดังกล่าวแล้วข้างต้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิผลในการป้องกันโรค
  7. ปัจจัยอื่น เช่น การใช้ยาที่ส่งผลรบกวนฤทธิ์กระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันของวัคซีน (ตัวอย่างเช่น ยาต้านการอักเสบ, ยากดภูมิคุ้มกัน ซึ่งใช้รักษาโรคภูมิต้านตนเองชนิดต่าง ๆ), การเป็นโรคบางอย่าง (ตัวอย่างเช่น โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง, โรคไตระยะสุดท้าย, โรคมะเร็งบางชนิด)
เอกสารอ้างอิง
  1. Hodgson SH, Mansatta K, Mallett G, Harris V, Emary KRW, Pollard AJ. What defines an efficacious COVID-19 vaccine? A review of the challenges assessing the clinical efficacy of vaccines against SARS-CoV-2. Lancet Infect Dis 2021;21(2):e26-e35.
  2. Olliaro P. What does 95% COVID-19 vaccine efficacy really mean? Lancet Infect Dis. 2021; 21:769.
  3. U.S. Department Of Health And Human Services. Lesson 3: Measures of risk/Section 6: Measures of public health impact: vaccine efficacy or vaccine effectiveness, last reviewed: May 18, 2012. https://www.cdc.gov/csels/dsepd/ss1978/lesson3/section6.html. Accessed: April 12, 2022.
  4. Feikin DR, Higdon MM, Abu-Raddad LJ, Andrews N, Araos R, Goldberg Y, et al. Duration of effectiveness of vaccines against SARS-CoV-2 infection and COVID-19 disease: results of a systematic review and meta-regression. Lancet 2022; 399:924-44.
  5. Fiolet T, Kherabi Y, MacDonald CJ, Ghosn J, Peiffer-Smadja N. Comparing COVID-19 vaccines for their characteristics, efficacy and effectiveness against SARS-CoV-2 and variants of concern: a narrative review. Clin Microbiol Infect 2022; 28:202-21.
  6. Tenforde MW, Self WH, Gaglani M, Ginde AA, Douin DJ, Talbot HK, et al. Effectiveness of mRNA vaccination in preventing COVID-19-associated invasive mechanical ventilation and death - United States, March 2021-January 2022. MMWR Morb Mortal Wkly Rep 2022; 71:459-65.
  7. Zheng C, Shao W, Chen X, Zhang B, Wang G, Zhang W. Real-world effectiveness of COVID-19 vaccines: a literature review and meta-analysis. Int J Infect Dis 2022; 114:252-60.
  8. Ioannou GN, Locke ER, O'Hare AM, Bohnert ASB, Boyko EJ, Hynes DM, et al. COVID-19 vaccination effectiveness against infection or death in a National U.S. Health Care System: a target trial emulation study. Ann Intern Med 2022; 175:352-61.
  9. Huang Z, Su Y, Zhang T, Xia N. A review of the safety and efficacy of current COVID-19 vaccines. Front Med 2022; 16:39-55.
  10. Mistry P, Barmania F, Mellet J, Peta K, Strydom A, Viljoen IM, et al. SARS-CoV-2 variants, vaccines, and host immunity. Front Immunol 2022. doi: 10.3389/fimmu.2021.809244. Accessed: April 12, 2022.
  11. Aleem A, Akbar Samad AB, Slenker AK. Emerging variants of SARS-CoV-2 and novel therapeutics against coronavirus (COVID-19), updated February 6, 2022. In: StatPearls. Treasure Island (FL): StatPearls Publishing; 2022 Jan–. Accessed: April 12, 2022.
  12. Priyanka, Choudhary OP. Vaccine efficacy against COVID-19: a foresight on the host-associated factors. J Formos Med Assoc 2021; 120:1405-7.
  13. Falahi S, Kenarkoohi A. Host factors and vaccine efficacy: implications for COVID-19 vaccines. J Med Virol 2022; 94:1330-5.
  14. Ao D, Lan T, He X, Liu J, Chen L, Baptista-Hon DT, et al. SARS-CoV-2 Omicron variant: immune escape and vaccine development. MedComm 2022. doi: 10.1002/mco2.126. Accessed: April 12, 2022.
  15. Bian L, Gao F, Zhang J, He Q, Mao Q, Xu M, Liang Z. Effects of SARS-CoV-2 variants on vaccine efficacy and response strategies. Expert Rev Vaccines 2021; 20:365-73.
  16. Accorsi EK, Britton A, Fleming-Dutra KE, Smith ZR, Shang N, Derado G, et al. Association between 3 doses of mRNA COVID-19 vaccine and symptomatic infection caused by the SARS-CoV-2 Omicron and Delta variants. JAMA 2022; 327:639-51.
  17. Turner JS, Kim W, Kalaidina E, Goss CW, Rauseo AM, Schmitz AJ, et al. SARS-CoV-2 infection induces long-lived bone marrow plasma cells in humans. Nature 2021; 595:421-5.
  18. Giannotta G, Giannotta N. mRNA COVID-19 vaccines and long-lived plasma cells: a complicated relationship. Vaccines 2021. doi: 10.3390/vaccines9121503. Accessed: April 12, 2022.
  19. Hall V, Foulkes S, Insalata F, Kirwan P, Saei A, Atti A, et al. Protection against SARS-CoV-2 after Covid-19 vaccination and previous infection. N Engl J Med 2022; 386:1207-20.
  20. Lipsitch M, Krammer F, Regev-Yochay G, Lustig Y, Balicer RD. SARS-CoV-2 breakthrough infections in vaccinated individuals: measurement, causes and impact. Nat Rev Immunol 2022; 22:57-65.
  21. Pilz S, Theiler-Schwetz V, Trummer C, Krause R, Ioannidis JPA. SARS-CoV-2 reinfections: overview of efficacy and duration of natural and hybrid immunity. Environ Res 2022. doi: 10.1016/j.envres.2022.112911. Accessed: April 12, 2022.
  22. Mattiuzzi C, Lippi G. Efficacy of COVID-19 vaccine booster doses in older people. Eur Geriatr Med 2022; 13:275-8.
Others articles

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้

Public Knowledge Articles



View all articles
-->

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

Faculty of Pharmacy, Mahidol University.

447 Sri-Ayuthaya Road, Rajathevi, Bangkok 10400, THAILAND
Designed & Developed by Department of Information Technology, Faculty of Pharmacy, Mahidol University.
Copyright © 2013-2020
 

We use Cookies

This site uses cookies to personalise your experience and analyse site traffic. By Clicking ACCEPT or continuing to browse the site you are agreeing to our use of cookies.