Knowledge Article


วัคซีนโควิด-19 ตอนที่ 3 : การพัฒนาสู่รูปแบบที่ไม่ใช้เข็มฉีดยา


รองศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรหญิง นงลักษณ์ สุขวาณิชย์ศิลป์
หน่วยคลังข้อมูลยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพประกอบจาก : https://qtxasset.com/styles/breakpoint_xl_880px_w/s3/fiercebiotech/1585825001/VaccinePatch.jpg
15,197 View,
Since 2021-02-03
Last active: 4m ago
https://tinyurl.com/y8xjbvtz
Scan to read on mobile device
 
A - | A +


โควิด-19 (COVID-19) เป็นโรคติดเชื้อที่ทางเดินหายใจ เกิดจากโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ คือ “2019-nCoV (2019 novel coronavirus)” หรือ “SARS-CoV-2” เริ่มเกิดการระบาดที่เมืองอู่ฮั่นในประเทศจีน (Wuhan, China) เมื่อเดือนธันวาคมปี พ.ศ. 2562 (ค.ศ. 2019) และปัจจุบันการระบาดของโรคนี้ยังคงดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่อง ผู้ป่วยโควิด-19 มีอาการที่สำคัญคือ มีไข้ ไอ และหายใจลำบาก มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมากเนื่องจากการหายใจล้มเหลวและอาการแทรกซ้อนอื่น การคิดค้นยาเพื่อใช้กำจัดไวรัสที่เป็นต้นเหตุและการพัฒนาวัคซีนเพื่อป้องกันโรคนี้ดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่อง ขณะนี้มีวัคซีนโควิด-19 ออกใช้แล้วหลายผลิตภัณฑ์ วัคซีนเหล่านั้นให้โดยการฉีดเข้ากล้ามเนื้อซึ่งหลายคนไม่ชอบเนื่องจากทำให้เจ็บปวดบริเวณที่ฉีดและไม่สะดวก ในบทความนี้จะกล่าวถึงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 สู่รูปแบบที่ไม่ใช้เข็มฉีดยา โดยทำเป็นวัคซีนชนิดฉีดแบบไร้เข็ม วัคซีนชนิดให้ทางจมูก วัคซีนชนิดกิน วัคซีนชนิดสูดทางปาก และวัคซีนชนิดแผ่นติดผิวหนัง



ภาพจาก : https://www.businesscloud.co.uk/wp-content/uploads/2020/10/Pharmajet.jpg

ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับวัคซีนและรูปแบบการให้วัคซีน

วัคซีน (vaccine) เป็นผลิตภัณฑ์ชีวภาพ เมื่อให้เข้าสู่ร่างกายจะกระตุ้นร่างกายให้สร้างภูมิคุ้มกันหรือแอนติบอดีที่จำเพาะขึ้นมาเพื่อต่อต้านเชื้อโรค จึงใช้ป้องกันโรค องค์ประกอบในวัคซีนมีความแตกต่างกันทำให้มีประสิทธิภาพในการกระตุ้นร่างกายให้สร้างภูมิคุ้มกันได้แตกต่างกัน วัคซีนอาจประกอบด้วยตัวเชื้อก่อโรคครบ (กรณีแบคทีเรียหมายถึงครบทั้งเซลล์ ส่วนไวรัสหมายถึงครบทั้งอนุภาค) หรือมีเฉพาะชิ้นส่วนจากเชื้อก่อโรคซึ่งชิ้นส่วนนั้นสามารถกระตุ้นร่างกายให้สร้างภูมิคุ้มกันได้ หรือประกอบด้วยสิ่งที่มนุษย์ผลิตขึ้นมาด้วยกรรมวิธีทางเทคโนโลยีชีวภาพซึ่งสิ่งนั้นสามารถกระตุ้นร่างกายให้สร้างภูมิคุ้มกันได้ วัคซีนจึงมีทั้งชนิดเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ (live attenuated vaccine) ซึ่งกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีแต่อาจทำให้เกิดการติดเชื้อได้, วัคซีนเชื้อตาย (inactivated หรือ killed vaccine) ไม่ทำให้เกิดการติดเชื้อ, วัคซีนซับยูนิต (subunit vaccine) ซึ่งใช้เฉพาะชิ้นส่วนของเชื้อก่อโรคที่สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดี ในกรณีวัคซีนโควิด-19 เป็นสไปก์โปรตีน (spike protein) ของเชื้อก่อโรคโควิด-19 (SARS-CoV-2), วัคซีนซึ่งสิ่งกระตุ้นภูมิคุ้มกันเป็นสิ่งที่มนุษย์ผลิตขึ้นด้วยกรรมวิธีทางเทคโนโลยีชีวภาพที่หลากหลาย ก่อให้เกิดวัคซีนชนิดต่าง ๆ มากมายในลักษณะของวัคซีนลูกผสม (recombinant vaccines) เป็นต้น

การให้วัคซีนเข้าสู่ร่างกายส่วนใหญ่ทำโดยการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ (intramuscular injection) หรือฉีดเข้าใต้ผิวหนัง (subcutaneous injection) ในปริมาณน้อย แต่วัคซีนบางชนิดอาจให้โดยการฉีดเข้าในผิวหนัง (intradermal injection) หยอดเข้าปาก พ่นจมูก หรือให้โดยวิธีอื่น ๆ ภูมิคุ้มกันที่ร่างกายสร้างขึ้นนั้นมีความสามารถในการจดจำและพร้อมที่จะออกปฏิบัติการเมื่อร่างกายได้รับเชื้อก่อโรคชนิดที่เกี่ยวข้องกับการนำมาทำวัคซีนชนิดนั้น

ข้อจำกัดของวัคซีนโควิด-19 ชนิดฉีดผ่านเข็มฉีดยา

วัคซีนโควิด-19 ที่นำมาใช้แล้วขณะนี้ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับอนุมัติทะเบียนอย่างสมบูรณ์ (full authorization) หรือผลิตภัณฑ์ที่ได้รับอนุมัติให้ใช้กรณีฉุกเฉิน (emergency use authorization) นั้นเป็นชนิดฉีดผ่านเข็มฉีดยา โดยการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ เช่น โทซินาเมแรน (tozinameran ชื่ออื่นคือ BNT162b2 และชื่อการค้าคือ Comirnaty) ที่รู้จักในชื่อว่า “Pfizer-BioNTech COVID-19 vaccine”, เอ็มอาร์เอ็นเอ-1273 (mRNA-1273) ที่รู้จักในชื่อว่า “Moderna COVID-19 vaccine”, เอแซดดี-1222 (AZD1222 ชื่ออื่นคือ ChAdOx1 nCoV-19) ที่รู้จักในชื่อว่า “Oxford-AstraZeneca vaccine”, BBIBP-CorV ที่รู้จักในชื่อว่า “Sinopharm COVID-19 vaccine”, CoronaVac ที่รู้จักในชื่อว่า “Sinovac vaccine” วัคซีนที่กล่าวมานี้จะฉีด 2 ครั้ง การฉีดกระตุ้นในครั้งที่สองจะห่างจากครั้งแรก 3-12 สัปดาห์ ขึ้นกับแต่ละผลิตภัณฑ์ การฉีดวัคซีนผ่านเข็มทำให้เจ็บปวดบริเวณที่ฉีดซึ่งหลายคนไม่ชอบหรือมีความกลัวเข็มฉีดยา ยิ่งต้องมีการฉีดกระตุ้นในครั้งที่สองจะเพิ่มความไม่สะดวกที่ต้องเดินทางมาสถานพยาบาลอีก ทำให้บางคนมารับวัคซีนในครั้งที่สองไม่ตรงตามกำหนดหรือไม่มาเลย การฉีดวัคซีนผ่านเข็มฉีดยายังเสี่ยงต่อการติดเชื้อขณะฉีดและการเกิดอุบัติเหตุจากเข็มฉีดยา นอกจากนี้การเร่งรีบพัฒนาวัคซีนเพื่อป้องกันการระบาดของโควิด-19 ทำให้การพัฒนาตำรับมีข้อจำกัด อาจมีความคงตัวไม่ดีจึงต้องแช่แข็ง จึงเกิดความยุ่งยากในการขนส่งและเสียค่าใช้จ่ายมาก อีกทั้งบางหน่วยงานขาดความพร้อมในการจัดเก็บวัคซีน

การพัฒนาวัคซีนโควิด-19 สู่รูปแบบที่ไม่ใช้เข็มฉีดยา

วัคซีนโควิด-19 ที่นำมาใช้แล้วขณะนี้เป็นชนิดฉีดเข้ากล้ามเนื้อผ่านเข็มฉีดยาซึ่งทำให้เจ็บปวดบริเวณที่ฉีด อีกทั้งยังมีข้อจำกัดบางอย่างดังกล่าวข้างต้น จึงมีการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 สู่รูปแบบที่ไม่ใช้เข็มฉีดยา เช่น วัคซีนชนิดฉีดแบบไร้เข็ม วัคซีนชนิดให้ทางจมูก วัคซีนชนิดกิน วัคซีนชนิดสูดทางปาก วัคซีนชนิดแผ่นติดผิวหนัง ซึ่งวิธีการให้วัคซีนเหล่านี้ไม่ทำให้เจ็บ จึงคาดว่าจะเป็นที่ยอมรับมากขึ้นในผู้ที่กลัวเข็มฉีดยาโดยเฉพาะเด็ก การให้วัคซีนในรูปแบบที่กล่าวมา (ยกเว้นชนิดฉีดแบบไร้เข็ม) สามารถเรียนรู้และให้วัคซีนได้ด้วยตนเอง ไม่ต้องอาศัยบุคลากรสาธารณสุข จึงเพิ่มความสะดวก ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปสถานพยาบาล ช่วยให้การกระตุ้นภูมิคุ้มกันจากการได้รับวัคซีนครั้งที่สองเป็นไปได้มากขึ้น ทำให้โครงการป้องกันโรคระบาดประสบความสำเร็จสูง ในการให้วัคซีนรูปแบบที่ไม่ใช้เข็มฉีดยาอาจนำมาใช้โดยสมบูรณ์ คือให้ครั้งแรกและให้ครั้งที่สองเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน (กรณีที่ต้องกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ซึ่งขึ้นกับวัคซีนแต่ละชนิด) หรือนำมาใช้เฉพาะการให้ครั้งที่สองเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันภายหลังได้รับวัคซีนครั้งแรกโดยการฉีดผ่านเข็มฉีดยามาแล้ว คาดว่าวัคซีนโควิด-19 รูปแบบที่ไม่ใช้เข็มฉีดยานี้อาจมีบทบาทมากภายหลังพ้นการระบาดครั้งใหญ่ไปแล้ว การพัฒนาวัคซีนโควิด-19 สู่รูปแบบที่ไม่ใช้เข็มฉีดยาที่จะกล่าวถึงมีดังนี้
  1. วัคซีนโควิด-19 ชนิดฉีดแบบไร้เข็ม เทคโนโลยีการฉีดแบบไร้เข็ม (needle-free jet injection) มีใช้มานานแล้ว ทั้งการให้ยาทั่วไปและการให้วัคซีน โดยมีอุปกรณ์ที่เป็นตัวฉีด (jet injector) ซึ่งทำให้เกิดแรงดันยาผ่านหัวฉีดที่มีรูเปิดขนาดเล็กกว่าเส้นผม (แทนที่จะเป็นเข็มฉีดยา) ทำให้ยาปริมาณน้อยเคลื่อนที่ด้วยแรงดันและความเร็วสูง พุ่งผ่านผิวหนังลงสู่ชั้นเป้าหมายที่ต้องการให้ยาออกฤทธิ์คล้ายการฉีดผ่านเข็มฉีดยา ไม่ว่าจะเป็นการฉีดเข้าในผิวหนัง การฉีดเข้าใต้ผิวหนัง หรือการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ (รูปที่ 1) สามารถใช้ได้กับยาไม่ว่าจะเป็นของเหลวหรือผง การให้ยาแบบนี้จะช่วยดันยาเข้าใต้ผิวหนังชั้นลึกและทำให้ยากระจายตัวได้ดี จึงใช้ยาในปริมาณที่น้อยกว่าการฉีดผ่านเข็ม กรณีการให้วัคซีนโควิด-19 โดยการฉีดแบบไร้เข็มนี้เหมาะกับวัคซีนชนิดดีเอ็นเอและสามารถให้วัคซีนเข้าถึงชั้นกล้ามเนื้อได้ ขณะนี้มีหลายหน่วยงานกำลังพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ชนิดฉีดแบบไร้เข็ม โดยวัคซีนที่นำพัฒนาอาจเป็นวัคซีนชนิดใหม่หรือเป็นวัคซีนชนิดที่นำออกใช้แล้ว ดังตัวอย่างที่กล่าวถึงข้างล่างนี้

    • DIOS-CoVax ชนิดฉีดแบบไร้เข็ม เป็นวัคซีนชนิดดีเอ็นเอ พัฒนาในสหราชอาณาจักร โดย DIOSynVax ซึ่งเป็นบริษัทภายใต้มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ (University of Cambridge) ร่วมกับบริษัทฟาร์มาเจ็ต (PharmaJet) ในประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นผู้ผลิตอุปกรณ์ที่เป็นตัวฉีด (รูปที่ 2 ก)

    • COVIGEN ชนิดฉีดแบบไร้เข็ม พัฒนาในประเทศออสเตรเลีย โดยมหาวิทยาลัยซิดนีย์ (University of Sydney) ร่วมกับมหาวิทยาลัยอื่น ๆ โดยนำ COVIGEN ซึ่งเป็นวัคซีนชนิดดีเอ็นเอที่พัฒนาโดยบริษัท BioNet และบริษัท Technovalia ส่วนอุปกรณ์ที่เป็นตัวฉีดเป็นของบริษัทฟาร์มาเจ็ต เริ่มมีการศึกษาทางคลินิก (การศึกษาในคน) ระยะที่ 1 (phase 1 clinical trial) เมื่อปลายปี พ.ศ. 2563
    • Pfizer COVID-19 vaccine ชนิดฉีดแบบไร้เข็ม เป็นวัคซีนชนิดเอ็มอาร์เอ็นเอ (Pfizer COVID-19 vaccine ชนิดฉีดเข้ากล้ามเนื้อมีใช้แล้ว) พัฒนาในประเทศแคนาดา โดยมหาวิทยาลัยวอเตอร์ลู (University of Waterloo) และนักวิจัยจากหน่วยงานอื่น ขณะนี้อยู่ในขั้นการศึกษาก่อนการทดลองใช้ในคน (preclinical study)
  2. วัคซีนโควิด-19 ชนิดให้ทางจมูก ไวรัสโควิด-19 เข้าสู่ทางเดินหายใจได้โดยผ่านทางจมูกเข้าสู่ปอด การให้วัคซีนทางจมูกสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันที่ชั้นเมือก (mucosal immunity) ในทางเดินหายใจได้ ซึ่งที่ทางเดินหายใจตั้งแต่จมูกจนถึงปอดมีเซลล์ภูมิคุ้มกัน (immune cells) มากมาย การให้วัคซีนทางจมูกและสูดเข้าทางเดินหายใจจึงน่าจะกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันได้ดีทั้งการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันด้วยสารน้ำหรือแอนติบอดี (humoral immunity หรือ antibody-mediated immunity) และการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันชนิดพึ่งเซลล์ (cellular immunity หรือ cell-mediated immunity) ซึ่งอาศัยเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดที-ลิมไฟไซต์ (T lymphocyte หรือ T cell), แมคโครฟาจ (macrophage) และสารไซโตไคน์ (cytokines) ชนิดต่าง ๆ จึงต่างจากการฉีดเข้ากล้ามเนื้อซึ่งจะกระตุ้นการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันด้วยสารน้ำหรือแอนติบอดีเกือบทั้งสิ้น ด้วยเหตุนี้วัคซีนโควิด-19 ชนิดให้ทางจมูกจึงน่าจะช่วยป้องกันการแพร่กระจายของไวรัสได้ดีกว่าการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ การให้วัคซีนทางจมูก (รูปที่ 2 ข) อาจเป็นชนิดพ่นหรือสเปรย์จมูก (nasal spray), ชนิดหยอดจมูก (nose drop) หรือ ชนิดฉีดเข้าจมูกโดยไม่ใช้เข็ม (nasal shot) ซึ่งการให้วัคซีนทางจมูกมีใช้แล้วกับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ (influenza vaccine) โดยใส่วัคซีนในอุปกรณ์คล้ายกระบอกฉีดยา (syringe-like device) ที่มีหัวฉีดพ่นละออง (aerosol sprayer) แทนเข็มฉีดยา (กรณีที่เป็นชนิดพ่นหรือสเปรย์จมูก) ตัวอย่างการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ชนิดให้ทางจมูกที่จะกล่าวถึงมีดังนี้
    • AdCOVID ชนิดให้ทางจมูก เป็นวัคซีนชนิดที่มีอะดีโนไวรัสเป็นพาหะ (adenoviral vector vaccine) พัฒนาในประเทศสหรัฐอเมริกา โดยมหาวิทยาลัย Alabama at Birmingham (UAB) ร่วมกับบริษัท Altimmune เป็นวัคซีนโควิด-19 สำหรับให้ทางจมูกชนิดที่คาดหวังว่าให้เพียงครั้งเดียว (single-dose vaccine) การศึกษาขั้นก่อนการทดลองใช้ในคนพบว่าให้ผลดี วัคซีนชนิดนี้มีแผนการศึกษาทางคลินิกระยะที่ 1 ช่วงปลายปี พ.ศ. 2563 และคาดว่าจะประเมินผลได้ในไตรมาสแรกของปี พ.ศ. 2564
    • COVI-VAC ชนิดให้ทางจมูก เป็นวัคซีนชนิดเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ (live attenuated vaccine) ของบริษัท Codagenix เป็นวัคซีนโควิด-19 ชนิดหยอดจมูกชนิดที่คาดหวังว่าให้เพียงครั้งเดียว ขณะนี้ได้เริ่มการศึกษาทางคลินิกระยะที่ 1 ที่สหราชอาณาจักร
    • วัคซีนชนิดให้ทางจมูกที่พัฒนาโดยสถาบันปาสเตอร์ (Institut Pasteur หรือ Pasteur Institute) ร่วมกับบริษัท TheraVectys ในประเทศฝรั่งเศส เป็นวัคซีนชนิดที่มีเลนติไวรัสเป็นพาหะ (lentiviral vector vaccine) การศึกษาขั้นก่อนการทดลองใช้ในคนพบว่าให้ผลดี
  3. วัคซีนโควิด-19 ชนิดกิน วัคซีนชนิดกินสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันที่ชั้นเมือกในทางเดินอาหารได้ ทั้งการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันด้วยสารน้ำหรือแอนติบอดีและการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันชนิดพึ่งเซลล์ ตัวอย่างการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ชนิดกินที่จะกล่าวถึงมีดังนี้
    • VXA-CoV2-1 ชนิดกิน หรือ Vaxart COVID-19 Oral Vaccine เป็นวัคซีนชนิดที่มีอะดีโนไวรัสเป็นพาหะ ของบริษัท Vaxart ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นวัคซีนชนิดเม็ดเคลือบเพื่อให้แตกตัวในลำไส้เล็ก (enteric coated tablet) ป้องกันไม่ให้วัคซีนถูกทำลายโดยกรดในกระเพาะอาหาร ผลการศึกษาในแฮมสเตอร์พบว่ากระตุ้นภูมิคุ้มกันที่ชั้นเมือกในทางเดินอาหารได้ดีเมื่อให้กินวัคซีน 2 ครั้งห่างกัน 4 สัปดาห์ ขณะนี้เข้าสู่การศึกษาทางคลินิกระยะที่ 1 แล้ว คาดว่าจะประเมินผลเบื้องต้นได้ในราวต้นเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564
    • bacTRL-Spike ชนิดกิน เป็นวัคซีนชนิดดีเอ็นเอ ของบริษัท Symvivo สำหรับกินเพียงครั้งเดียว เริ่มเข้าสู่การศึกษาทางคลินิกระยะที่ 1 ในประเทศออสเตรเลียเมื่อปลายปี พ.ศ. 2563 คาดว่าจะประเมินผลเบื้องต้นได้ในราวต้นปี พ.ศ. 2564 และประเมินผลสมบูรณ์ได้ในราวสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565
    • OraPro-COVID-19 ชนิดกิน เป็นวัคซีนชนิดที่มีอะดีโนไวรัสเป็นพาหะ ของบริษัท iosBio (ชื่อเดิมคือ Stabilitech Biopharma) ในสหราชอาณาจักร เป็นวัคซีนชนิดแคปซูล การศึกษาขั้นก่อนการทดลองใช้ในคนพบว่าให้ผลดี มีแผนการศึกษาทางคลินิกระยะที่ 1 ในประเทศสหรัฐอเมริกาและกลุ่มสหภาพยุโรปในราวไตรมาสแรกของปี พ.ศ. 2564 อาจให้วัคซีนชนิดนี้อย่างเดียวตั้งแต่แรก หรือให้เฉพาะการกระตุ้นครั้งที่สองภายหลังได้รับวัคซีนครั้งแรกโดยการฉีดผ่านเข็มฉีดยามาแล้ว
  4. วัคซีนโควิด-19 ชนิดสูดทางปาก การสูดวัคซีนทางปากโดยใช้อุปกรณ์พ่นละอองยา (nebulizer) เพื่อให้วัคซีนเข้าสู่ทางเดินหายใจ (orally inhaled vaccine) จะคล้ายกับการได้รับเชื้อที่มากับละอองสารคัดหลั่งซึ่งล่องลอยในอากาศตามธรรมชาติ สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันในทางเดินหายใจได้ ตัวอย่างการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ชนิดสูดทางปากที่จะกล่าวถึงมีดังนี้
    • ChAdOx1 nCov-19 ชนิดสูดทางปาก เป็นวัคซีนชนิดที่มีอะดีโนไวรัสเป็นพาหะ (ChAdOx1 nCov-19 ชนิดฉีดเข้ากล้ามเนื้อมีใช้แล้ว) พัฒนาโดยทีมนักวิจัยของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด (University of Oxford) ในสหราชอาณาจักร เริ่มการศึกษาทางคลินิกระยะที่ 1 ในไตรมาสสุดท้ายของปี พ.ศ. 2563
    • Imperial’s saRNA vaccine ชนิดสูดทางปาก พัฒนาโดยทีมนักวิจัยของ Imperial College of London ในสหราชอาณาจักร โดยทำการศึกษาวัคซีนที่ผลิตเองซึ่งเป็นวัคซีนชนิดอาร์เอ็นเอ (saRNA หรือ self-amplifying RNA) เปรียบเทียบกับ ChAdOx1 nCov-19 ชนิดสูดทางปาก เริ่มการศึกษาทางคลินิกระยะที่ 1 ในไตรมาสสุดท้ายของปี พ.ศ. 2563
  5. วัคซีนโควิด-19 ชนิดแผ่นติดผิวหนัง การผลิตวัคซีนชนิดแผ่นติดผิวหนังกำลังได้รับความสนใจจากหลายหน่วยงาน ในการติดแผ่นวัคซีนจะเลือกติดบริเวณที่มีเซลล์ภูมิคุ้มกันอยู่หนาแน่นและติดเป็นเวลาสั้น ๆ เพื่อให้วัคซีนผ่านผิวหนังไปกระตุ้นเซลล์ภูมิคุ้มกัน ก่อนหน้านี้ได้มีการพัฒนาเพื่อใช้กับวัคซีนอื่นอยู่แล้ว เมื่อเกิดการระบาดของโควิด-19 หน่วยงานเหล่านั้นจึงมีการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 เป็นชนิดแผ่นติดผิวหนังด้วยเช่นกัน ดังตัวอย่างที่จะกล่าวถึงข้างล่างนี้
    • PittCoVacc ชนิดแผ่นติดผิวหนัง เป็นวัคซีนชนิดซับยูนิต (S1 subunit vaccine) ที่มหาวิทยาลัยพิตต์สเบิร์ก (University of Pittsburgh) ในประเทศสหรัฐอเมริกา พัฒนาขึ้นในรูปแบบแผ่นเข็มขนาดจิ๋วจำนวนมากเรียงเป็นแนว (microneedle array) โดยทำเป็นแผ่นสำหรับติดผิวหนัง (transdermal microneedle skin patch) ขนาดเท่าปลายนิ้ว (รูปที่ 2 ค) เข็มขนาดจิ๋วนั้นทำด้วยน้ำตาล วัคซีนชนิดนี้ไม่ต้องเก็บในตู้เย็น การศึกษาในหนูถีบจักรพบว่าวัคซีนสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดี
    • Vaxxas' Nanopatch vaccine ช่วงที่เกิดการระบาดของโควิด-19 บริษัท Vaxxas (ประเทศสหรัฐอเมริกาและออสเตรเลีย) อยู่ระหว่างการพัฒนาวัคซีนไข้หวัดใหญ่ชนิดแผ่นสำหรับติดผิวหนัง ทางบริษัทจึงมีแนวคิดในการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ชนิดแผ่นติดผิวหนังด้วยเทคโนโลยีเดียวกัน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการวางแผนดำเนินการ
เอกสารอ้างอิง
  1. Ravi AD, Sadhna D, Nagpaal D, Chawla L. Needle free injection technology: a complete insight. Int J Pharm Investig 2015; 5:192-9.
  2. Barolet D, Benohanian A. Current trends in needle-free jet injection: an update. Clin Cosmet Investig Dermatol 2018; 11:231-8.
  3. Kazi A, Kakde AP, Khaire MP, Chhajed PN. Needle free injection device: the painless technology. MITIJPS 2018; 4:113-8.
  4. Wang J, Peng Y, Xu H, Cui Z, Williams RO III. The COVID-19 vaccine race: challenges and opportunities in vaccine formulation. AAPS PharmSciTech 2020. doi: 10.1208/s12249-020-01744-7. Accessed: January 25, 2021.
  5. Frederiksen LSF, Zhang Y, Foged C, Thakur A. The long road toward COVID-19 herd immunity: vaccine platform technologies and mass immunization strategies. Front Immunol 2020. doi:10.3389/fimmu.2020.01817. Accessed: January 25, 2021.
  6. Cennimo DJ, Bergman SJ. COVID-19 vaccines, updated: January 29, 2021. https://emedicine.medscape.com/article/2500139-overview. Accessed: January 29, 2021.
  7. Apostolopoulos V, Husaric M, de Courten MA. COVID-19 vaccine may come without a needle, the latest vaccine to protect without jabbing. https://theconversation.com/a-covid-19-vaccine-may-come-without-a-needle-the-latest-vaccine-to-protect-without-jabbing-146564. Accessed: January 25, 2021.
  8. Needle-free injection tech to deliver UK's COVID-19 vaccine. https://www.businesscloud.co.uk/news/needle-free-injection-tech-to-deliver-uks-covid-19-vaccine/. Accessed: January 25, 2021.
  9. PharmaJet's needle-free system to be used in Australian clinical COVID-19 trial. https://www.biospace.com/article/releases/pharmajet-s-needle-free-system-to-be-used-in-australian-clinical-covid-19-trial/. Accessed: January 25, 2021.
  10. Ontario lab is working to develop needle-free COVID-19 vaccine. https://kitchener.ctvnews.ca/ontario-lab-is-working-to-develop-needle-free-covid-19-vaccine-1.5230887. Accessed: January 25, 2021
  11. Safety and immunogenicity of AdCOVID in healthy adults (COVID-19 vaccine study). https://clinicaltrials.gov/ct2/show/NCT04679909. Accessed: January 25, 2021.
  12. King RG, Silva-Sanchez A, Peel JN, Botta D, Meza-Perez S, Allie R, et al. Single-dose intranasal administration of AdCOVID elicits systemic and mucosal immunity against SARS-CoV-2 in mice. bioRxiv 2020. doi: 10.1101/2020.10.10.331348. Accessed: January 25, 2021.
  13. Arthur R. Needle-free COVID-19 vaccine COVI-VAC enters phase 1 trials. https://www.biopharma-reporter.com/Article/2021/01/11/Needle-free-COVID-19-vaccine-COVI-VAC-enters-Phase-1-trials. Accessed: January 25, 2021.
  14. Safety and immunogenicity of COVI-VAC, a live attenuated vaccine against COVID-19. https://clinicaltrials.gov/ct2/show/NCT04619628. Accessed: January 25, 2021.
  15. Ku MW, Bourgine M, Authié P, Lopez J, Nemirov K, Moncoq F, et al. Intranasal vaccination with a lentiviral vector protects against SARS-CoV-2 in preclinical animal models. Cell Host Microbe 2020. doi: 10.1016/j.chom.2020.12.010. Accessed: January 25, 2021.
  16. Safety and immunogenicity trial of an Oral SARS-CoV-2 vaccine (VXA-CoV2-1) for prevention of COVID-19 in healthy adults. https://clinicaltrials.gov/ct2/show/NCT04563702. Accessed: January 28, 2021.
  17. Vaxart announces additional preclinical COVID-19 oral vaccine data and publication, January 26, 2021. https://investors.vaxart.com/node/15686/pdf. Accessed: January 28, 2021.
  18. Developing a groundbreaking solution: oral tablet COVID-19 vaccine. Investor Presentation - January 2021. https://investors.vaxart.com/static-files/76ded565-e448-4d98-910c-f1ae3629789c. Accessed: January 28, 2021.
  19. Evaluating the safety, tolerability and immunogenicity of bacTRL-Spike vaccine for prevention of COVID-19. https://clinicaltrials.gov/ct2/show/NCT04334980. Accessed: January 25, 2021.
  20. Taylor P. Oral COVID-19 vaccine beckons, as ImmunityBio licenses iosBio tech. https://pharmaphorum.com/news/oral-covid-19-vaccine-beckons-as-immunitybio-licenses-iosbio-tech/. Accessed: January 25, 2021.
  21. Trial will assess safety of potential vaccines when inhaled. https://www.ukri.org/our-work/tackling-the-impact-of-covid-19/vaccines-and-treatments/trial-will-assess-safety-of-potential-vaccines-when-inhaled/. Accessed: January 25, 2021.
  22. UPMC and University of Pittsburgh School of Medicine scientists announce potential vaccine. https://www.upmc.com/coronavirus/pittcovacc. Accessed: January 28, 2021.
  23. Vaxxas’ needle-free vaccine tech gets boost from US Government. https://www.biopharma-reporter.com/Article/2020/10/06/Vaxxas-needle-free-vaccine-tech-gets-boost-from-US-Government. Accessed: January 25, 2021.
Others articles

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้

Public Knowledge Articles



View all articles
-->

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

Faculty of Pharmacy, Mahidol University.

447 Sri-Ayuthaya Road, Rajathevi, Bangkok 10400, THAILAND
Designed & Developed by Department of Information Technology, Faculty of Pharmacy, Mahidol University.
Copyright © 2013-2020
 

We use Cookies

This site uses cookies to personalise your experience and analyse site traffic. By Clicking ACCEPT or continuing to browse the site you are agreeing to our use of cookies.