หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Baricitinib (ยารักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์) กับความเสี่ยงต่อภาวะลิ่มเลือดหลุดอุดหลอดเลือดดำ

ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 4 เดือน เมษายน ปี 2563 -- อ่านแล้ว 7,122 ครั้ง
 
Baricitinib เป็นยาในกลุ่ม JAK inhibitors หรือ jakinibs ออกฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ JAKs (Janus-associated kinases หรือ Janus kinases) ได้ทั้ง JAK1, JAK2 และ JAK3 (ด้วยความแรงต่างกัน) ใช้รักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โดยเป็นยาที่หยุดยั้งการรุดหน้าของโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ในกลุ่มยาเคมีสังเคราะห์ที่ออกฤทธิ์ตรงเป้าหมาย (targeted synthetic chemical disease-modifying antirheumatic drugs หรือ “tsDMARDs”) และจัดอยู่ในกลุ่มยารักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์จำพวกโมเลกุลขนาดเล็ก (small molecules) เมื่อเปรียบเทียบกับยาในกลุ่มที่เป็นชีววัตถุ (biological DMARDs) ยานี้สามารถให้โดยการรับประทาน (ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Baricitinib…JAK inhibitor (jakinib) ชนิดใหม่ที่ใช้รักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์)

เมื่อเร็ว ๆ นี้หน่วยงาน Medicines and Healthcare products Regulatory Agency (MHRA) ในสหราชอาณาจักรได้รายงานถึงผลจากการทบทวนความเสี่ยงของ baricitinib จากข้อมูลการศึกษาทางคลินิกเมื่อเดือนเมษายนปี ค.ศ. 2017 ที่พบว่าความถี่ในการเกิดภาวะลิ่มเลือดหลุดอุดหลอดเลือดดำ (venous thromboembolism) ทั้งภาวะลิ่มเลือดอุดหลอดเลือดดำลึก (deep vein thrombosis) และภาวะลิ่มเลือดอุดตันในปอด (pulmonary embolism) ในกลุ่มที่ใช้ baricitinib มีสูงกว่ากลุ่มยาหลอก อุบัติการณ์ของภาวะลิ่มเลือดหลุดอุดหลอดเลือดดำในกลุ่มยาหลอก (exposure-adjusted incidence rate) เท่ากับ 0 เทียบกับ 1.3 เหตุการณ์ ต่อ 100 คน-ปี ในกลุ่มที่ได้รับ baricitinib 4 มิลลิกรัม) ส่วนข้อมูลของภาวะลิ่มเลือดหลุดอุดหลอดเลือดดำหลังยาวางจำหน่ายจากรายงานทั่วโลกมี 102 ราย บางรายพบมากกว่า 1 เหตุการณ์ ในจำนวนนี้เป็นภาวะลิ่มเลือดอุดตันในปอด 63 เหตุการณ์และภาวะลิ่มเลือดอุดหลอดเลือดดำลึก 51 เหตุการณ์ ระยะเวลาที่เริ่มเกิดภาวะเหล่านี้ (เฉพาะรายงานที่ระบุเวลาไว้) เกิดระหว่าง 6-12 เดือนหลังเริ่มใช้ยา มีผู้ป่วยรายหนึ่งหลังเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดหลอดเลือดดำลึกแล้วยังคงใช้ยาต่อไป ต่อมามีภาวะลิ่มเลือดหลุดอุดหลอดเลือดดำขึ้นมาอีกและทำให้เกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันในปอด จึงหยุดใช้ baricitinib อย่างถาวร จากข้อมูลดังกล่าวทำให้หน่วยงาน MHRA ในสหราชอาณาจักร ได้ให้ข้อมูลและข้อแนะนำแก่บุคลากรทางการแพทย์ดังนี้

 ข้อมูลจากการศึกษาทางคลินิกพบความถี่ในการเกิดภาวะลิ่มเลือดหลุดอุดหลอดเลือดดำในกลุ่มที่ใช้ baricitinib สูงกว่ากลุ่มยาหลอก โดยถือว่าพบได้ไม่บ่อย (≤1 ใน 100 คน)

 หยุดใช้ baricitinib ถาวรหากเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดหลอดเลือดดำลึกหรือภาวะลิ่มเลือดอุดตันในปอด

 ระมัดระวังการสั่งใช้ยา baricitinib กับผู้ป่วยที่มีปัจจัยเสี่ยง (นอกเหนือจากโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์) ที่จะเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดหลอดเลือดดำลึกหรือภาวะลิ่มเลือดอุดตันในปอด เช่น มีประวัติของภาวะลิ่มเลือดหลุดอุดหลอดเลือดดำ, ได้รับการผ่าตัด, อยู่ในสภาพเคลื่อนไหวไม่ได้, สูงอายุ, เป็นโรคอ้วน

 ให้คำแนะนำผู้ป่วยที่ได้รับ baricitinib ให้เข้ารับการรักษาทันทีหากเกิดเท้าปวดบวม, เจ็บหน้าอก, หายใจลำบาก

นอกจากนี้ในสหราชอาณาจักรมี upadacitinib ออกวางจำหน่ายแล้ว เป็นยาในกลุ่ม JAK inhibitors เช่นเดียวกัน (ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Peficitinib และ upadacitinib...Janus kinase inhibitors ชนิดใหม่ที่ใช้รักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์) พบรายงานถึงการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดหลอดเลือดดำลึกและภาวะลิ่มเลือดอุดตันในปอดในผู้ที่ใช้ยานี้ด้วย จึงได้มีคำเตือนทำนองเดียวกันกับ baricitinib ส่วน tofacitinib นั้นในสหราชอาณาจักรได้เคยมีคำเตือนทำนองเดียวกันก่อนหน้านี้แล้ว เช่นเดียวกับประเทศสหรัฐอเมริกาที่ได้เตือนถึงความเสี่ยงต่อการเกิดลิ่มเลือดที่ปอดจากการใช้ tofacitinib (ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Tofacitinib (ยารักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์) กับความเสี่ยงต่อการเกิดลิ่มเลือดที่ปอด)

อ้างอิงจาก:

(1) Baricitinib (Olumiant): risk of venous thromboembolism. Drug Safety Update volume 13, issue 8: March 2020: 3; (2) Harigai M. Growing evidence of the safety of JAK inhibitors in patients with rheumatoid arthritis. Rheumatology 2019;58(Suppl 1):i34-i42.
 
ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้