หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Baricitinib…JAK inhibitor (jakinib) ชนิดใหม่ที่ใช้รักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์

ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 4 เดือน สิงหาคม ปี 2560 -- อ่านแล้ว 9,128 ครั้ง
 
โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (rheumatoid arthritis) เป็นโรคภูมิต้านตนเอง (autoimmune disease) ชนิดหนึ่งที่เป็นเรื้อรังและพบได้บ่อย มีสาเหตุที่ซับซ้อน เกี่ยวข้องกับเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกัน signaling proteins หลายชนิด และเอนไซม์ใน signaling pathways รวมทั้ง JAKs (Janus-associated kinases หรือ Janus kinases) ซึ่งมี 4 ชนิด ได้แก่ JAK1, JAK2, JAK3 และ tyrosine kinase 2 (TYK2) เอนไซม์เหล่านี้มีบทบาทในโรคภูมิต้านตนเองที่มีการอักเสบร่วมด้วย ซึ่งรวมถึงโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (ดูข้อมูลเพิ่มเติมเรื่อง “JAK inhibitors...เป็นมากกว่ายารักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์” ใน “ข่าวยา” ประจำสัปดาห์ที่ 3 เดือน สิงหาคม ปี 2560 ได้ที่ https://pharmacy.mahidol.ac.th/dic/news_week_full.php?id=1419) ดังนั้นยาที่ออกฤทธิ์ยับยั้ง JAKs (JAK inhibitors หรือ jakinibs) จึงมีบทบาทในการรักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ ยาในกลุ่ม jakinibs ที่ใช้รักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ที่วางจำหน่ายเป็นตัวแรก คือ tofacitinib และเมื่อไม่นานมานี้ baricitinib เป็น jakinib เช่นเดียวกัน ได้รับอนุมัติเพื่อใช้รักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์แล้วในหลายประเทศ เช่น กลุ่มประเทศในสหภาพยุโรป ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ประเทศญึ่ปุน โดยใช้กับโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ระดับปานกลางจนถึงรุนแรงในผู้ใหญ่ที่ใช้ยาหยุดยั้งการรุดหน้าของโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (disease-modifying antirheumatic drugs หรือ DMARDs) มาแล้วอย่างน้อย 1 ชนิด แล้วให้การตอบสนองไม่เพียงพอหรือทนต่อยาไม่ได้ โดยอาจใช้ baricitinib เพียงตัวเดียวหรือใช้ร่วมกับ methotrexate

Baricitinib เป็นยาหยุดยั้งการรุดหน้าของโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ในกลุ่มยาเคมีสังเคราะห์ที่ออกฤทธิ์ตรงเป้าหมาย (targeted synthetic chemical DMARDs หรือ tsDMARDs) เช่นเดียวกับ tofacitinib ยาในกลุ่ม tsDMARDs มีโมเลกุลขนาดเล็ก (small molecules) ประมาณ 300-400 ดาลตัน (dalton) เมื่อเทียบกับยาที่เป็นชีววัตถุ (biological DMARDs) ซึ่งมีขนาดโมเลกุล 90,000-150,000 ดาลตัน ดังนั้นกลุ่ม tsDMARDs จึงอาจเรียกอย่างสั้นว่ากลุ่ม targeted small molecules ยา baricitinib ออกฤทธิ์ยับยั้ง JAK1 และ JAK 2 ได้แรงกว่า JAK3 (ประมาณ 100 เท่า) ผลิตออกจำหน่ายในรูปยาเม็ด ความแรง 2 และ 4 มิลลิกรัม ขนาดยาที่แนะนำ คือ 4 มิลลิกรัม รับประทานวันละ 1 ครั้ง ส่วนผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 75 ปีขึ้นไป หรือผู้ที่มีประวัติเกี่ยวกับการติดเชื้อเรื้อรังหรือเป็นๆ หายๆ หรือผู้ที่ควบคุมโรคให้สงบได้แล้วด้วยขนาดยาที่แนะนำข้างต้นแล้ว ให้รับประทานขนาด 2 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง มีการศึกษาทางคลินิกหลายการศึกษาที่สนับสนุนประสิทธิผลของยา โดยศึกษาในผู้ป่วยโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ที่ไม่เคยใช้ DMARDs ชนิดใดมาก่อนและผู้ที่ใช้ methotrexate หรือ DMARDs ชนิดอื่นรวมถึงยาชีววัตถุแล้วให้ผลการรักษาไม่เพียงพอ การศึกษามีทั้งการใช้ baricitinib เพียงอย่างเดียวและการใช้ร่วมกับ methotrexate ใช้เวลาศึกษานาน 24 หรือ 52 สัปดาห์ ประเมินผลการศึกษาด้วยหลายวิธี มีทั้ง ACR20 เป็น primary endpoint ในสัปดาห์ที่ 12 หรือ 24, ACR50 หรือ ACR70 เป็น secondary endpoint, physical function (HAQ-DI), radiographic progression (mTSS), low disease activity และ remission (SDAI) และอาการตึงข้อช่วงตื่นนอนตอนเช้า (morning joint stiffness) ผลการศึกษาโดยรวมพบว่า baricitinib ที่รับประทานในขนาด 2 หรือ 4 มิลลิกรัม (แล้วกรณี) วันละ 1 ครั้ง ให้ผลดีกว่ายาหลอก หรือ methotrexate หรือ adalimumab อาการไม่พึงประสงค์ที่อาจพบ เช่น คลื่นไส้ ระดับโคเลสเตอรอล (ชนิด LDL cholesterol) และ creatinine เพิ่มขึ้น เม็ดเลือดขาวชนิดนิวโทรฟิลมีจำนวนลดลง เกิดการติดเชื้อที่ทางเดินหายใจส่วนบนและที่อื่นซึ่งรวมถึงโรคเริม (herpes simplex) และโรคงูสวัด (herpes zoster)

อ้างอิงจาก:

(1) Markham A. Baricitinib: first global approval. Drugs 2017;77:697-704; (2) Taylor PC, Keystone EC, van der Heijde D, Weinblatt ME, del Carmen Morales L, Gonzaga JR, et al. Baricitinib versus placebo or adalimumab in rheumatoid arthritis. N Engl J Med 2017;376:652-62; (3) Baricitinib ̶ Summary of product characteristics http://www.ema.europa.eu/docs/en_GB/document_library/EPAR_-_Product_Information/human/004085/WC500223723.pdf; (4) Kuriya B, Cohen MD, Keystone E. Baricitinib in rheumatoid arthritis: evidence-to-date and clinical potential. Ther Adv Musculoskelet Dis 2017;9:37-44.

คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ rheumatoid arthritis โรคภูมิต้านตนเอง autoimmune disease signaling protein molecule JAK Janus-associated kinase Janus kinase JAK1 JAK2 JAK3 tyrosine kinase TYK2 JAK inhibitor jakinib tofacitinib baricitinib dise
 
ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้