Marstacimab: อีกทางเลือกสำหรับป้องกันเลือดออกในผู้ป่วย hemophilia A และ B
ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 3 เดือน กรกฎาคม ปี 2568 -- อ่านแล้ว 114 ครั้ง
Marstacimab (PF-06741086) เป็นยาชีววัตถุชนิดฉีดใต้ผิวหนังในรูปแบบ pre-filled syringe และ pen ที่พัฒนาโดยบริษัท Pfizer ซึ่งมีข้อบ่งใช้สำหรับป้องกันและลดการเกิดเลือดออกในผู้ป่วย hemophilia A และ B ที่มีอาการรุนแรงซึ่งมีอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป มีน้ำหนักตัวอย่างน้อย 35 กิโลกรัม และไม่มีการสร้าง antibody มายับยั้ง factor VIII หรือ IX โดย marstacimab ออกฤทธิ์จับกับโปรตีน tissue factor pathway inhibitor (TFPI) บริเวณตำแหน่ง K2 domain ทำให้ TFPI ถูกยับยั้ง ส่งผลให้ factor Xa สามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่อง และเกิดกระบวนการแข็งตัวของเลือดโดยไม่ต้องพึ่งพาการทำงานของ factor VIII หรือ IX โดยปัจจุบันยากลุ่ม anti-TFPI ที่ได้รับการพัฒนาและอนุมัติแล้วมีอีกชนิด ได้แก่ concizumab ซึ่งเป็น human monoclonal IgG4 antibody ส่วน marstacimab เป็น human monoclonal IgG1 antibody โดยข้อมูลจากการทดลองในห้องปฏิบัติการ (ex vivo) พบว่า marstacimab สามารถกระตุ้นกระบวนการแข็งตัวของเลือดในระดับที่เทียบเคียงได้กับ recombinant factor VIII หรือ IX
สำหรับ phase 3 BASIS Trial ที่ทำการศึกษากับผู้ป่วยเพศชายที่เป็น severe hemophilia A หรือ moderately severe to severe hemophilia B ซึ่งไม่มีการสร้าง antibody มายับยั้ง factor VIII หรือ IX โดยผู้เข้าร่วมการศึกษาจะได้รับ marstacimab สัปดาห์ละ 1 ครั้ง เป็นระยะเวลา 12 เดือน ทั้งในรูปแบบการให้เพื่อป้องกันเป็นประจำ (routine prophylaxis) และการให้เมื่อต้องการ (on-demand treatment) เปรียบเทียบกับกลุ่มที่ได้รับ factor VIII หรือ IX ทางหลอดเลือดดำเป็นระยะเวลา 6 เดือน โดย primary endpoints คือ annualised bleeding rate (ABR) ซึ่งผลการศึกษาพบว่าการให้ marstacimab แบบ routine prophylaxis มีค่า ABR 5.1 ส่วนการให้ factor VIII หรือ IX ทางหลอดเลือดดำมีค่า ABR 7.9 (ลด ABR ได้ 35%, p=0.0376) และการให้แบบ on-demand treatment พบว่า marstacimab มีค่า ARB เท่ากับ 3.2 ส่วนการให้ factor VIII หรือ IX ทางหลอดเลือดดำมีค่า ARB 38.0 (ลด ABR ได้ 92%, p<0.0001) ส่วน secondary endpoints คือ การลดลงของค่าเฉลี่ยต่อปีในทุกประเภทของภาวะเลือดออก (mean ABR) พบว่า marstacimab สามารถลด mean ARB ได้เหนือกว่าการให้ factor VIII หรือ IX ทางหลอดเลือดดำแบบ on-demand treatment และไม่ด้อยกว่าการให้ factor VIII หรือ IX ทางหลอดเลือดดำแบบ routine prophylaxis โดยเมื่อทำการศึกษาต่อเนื่อง (extension study) เพิ่มเติมอีก 16 เดือน พบว่า ABR มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องในกลุ่มที่ได้รับ marstacimab
ผลด้านความปลอดภัย พบว่าอาการไม่พึงประสงค์ที่เกิดขึ้นบ่อยจากการใช้ marstacimab ได้แก่ เกิดปฏิกิริยาบริเวณที่ฉีด (injection site reaction) 9% โดยอาการเหล่านี้มักเป็นชั่วคราวและไม่จำเป็นต้องหยุดการรักษา นอกจากนี้ยังพบอาการปวดศีรษะ 7% และอาการคัน 3% สำหรับเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์รุนแรง (serious adverse events) ซึ่งไม่พบในการศึกษาในระยะที่ Ib/II แต่ในการศึกษา BASIS มีรายงานเพียงอาการบวมที่ปลายแขน (peripheral swelling) แบบชั่วคราว และมีผู้ป่วย 1 ราย ที่มีประวัติเป็นโรคริดสีดวงทวาร พบว่ามีอาการริดสีดวงทวารอักเสบแบบมีลิ่มเลือด (thrombosed hemorrhoids) ระดับ 2 ซึ่งอาจมีความเกี่ยวข้องกับการใช้ marstacimab อย่างไรก็ตามเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นการอักเสบเฉพาะที่และผู้ป่วยไม่ได้หยุดหรือปรับขนาดยา แต่เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลการใช้ในผู้ที่มีประวัติลิ่มเลือดอุดตัน ในทางปฏิบัติหากผู้ป่วยมีภาวะลิ่มเลือดอุดตันควรหยุดใช้ยาชั่วคราวทันที และติดตามอาการอย่างใกล้ชิด
เอกสารอ้างอิง
1. Lamb YN. Marstacimab: First Approval. Drugs. 2025; 85(2):263-9.
2. Chowdary P. Anti-tissue factor pathway inhibitor (TFPI) therapy: a novel approach to the treatment of haemophilia. Int J Hematol. 2020; 111(1):42-50.
3. Acharya P, Hwang E, McDonald R, Matino D, Taylor CT, Shapiro AD, et al. Efficacy and safety of marstacimab in participants with severe hemophilia A or moderately severe to severe hemophilia B without inhibitors: Results from the phase 3 BASIS trial [poster]. Presented at: Thrombosis and Hemostasis Summit of North America (THSNA) 2024; 2024 Apr 4-6; Chicago, IL.
4. Matino D, Acharya S, Palladino A, Hwang E, McDonald R, Taylor CT, et al. Efficacy and Safety of the Anti-Tissue Factor Pathway Inhibitor Marstacimab in Participants with Severe Hemophilia without Inhibitors: Results from the Phase 3 Basis Trial. Blood. 2023; 142(Supplement 1):285.
คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
Marstacimab
hemophilia