หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Remdesivir...ได้รับข้อบ่งใช้สำหรับรักษาโควิด-19 (COVID-19)

ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 2 เดือน พฤศจิกายน ปี 2563 -- อ่านแล้ว 48,157 ครั้ง
 
Remdesivir เป็น adenosine nucleotide prodrug ถูกเปลี่ยนแปลงเป็นสารออกฤทธิ์ nucleoside triphosphate metabolite (GS-443902 หรือ GS-441524 triphosphate) ออกฤทธิ์ขัดขวางการทำงานของ RNA polymerase ของไวรัส มีการศึกษาในหลอดทดลองและในสัตว์ทดลองที่แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของยาในการรักษาโรคจากโคโรนาไวรัสชนิดต่าง ๆ ในช่วงที่มีการระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้มีการทดลองนำยามาใช้รักษาผู้ป่วยบางรายซึ่งผลเป็นที่น่าพอใจ (ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Remdesivir...ความหวังในการรักษาโควิด-19 (COVID-19)) เมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ประเทศสหรัฐอเมริกาได้อนุมัติยานี้ในข้อบ่งใช้สำหรับรักษาโควิด-19 ในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไปที่มีน้ำหนักตัวไม่น้อยกว่า 40 กิโลกรัม และต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล ยานี้ผลิตออกจำหน่ายโดยบรรจุในขวดยาฉีดสำหรับการใช้ครั้งเดียว มีทั้งในรูปยาน้ำใส ไม่มีสี มีตัวยา 100 มิลลิกรัม ใน 20 มิลลิลิตร (5 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร) และในรูปผงยา 100 มิลลิกรัม สำหรับละลายก่อนใช้ และยาทั้งสองรูปแบบนี้ให้เจือจางก่อนหยดเข้าหลอดเลือดดำ ขนาดยาที่ใช้ในวันแรก 200 มิลลิกรัม และตั้งแต่วันที่ 2 เป็นต้นไปใช้ขนาด 100 มิลลิกรัม ใช้เวลาในการให้ยา 30-120 นาที ผู้ที่ไม่สอดท่อช่วยหายใจให้ยาเป็นเวลา 5 วัน หากไม่ดีขึ้นขยายเวลาได้แต่รวมทั้งหมดไม่เกิน 10 วัน ผู้ที่สอดท่อช่วยหายใจ และ/หรือผู้ที่ใช้เครื่องหัวใจ-ปอดเทียม (extracorporeal membrane oxygenation, ECMO) แนะนำให้ใช้ยาทั้งหมด 10 วัน

มีการศึกษาทางคลินิกที่สนับสนุนข้อบ่งใช้ของ remdesivir เป็นการศึกษาแบบ randomized, double-blind, placebo-controlled clinical trial ในผู้ป่วยผู้ใหญ่ที่ได้รับการยืนยันว่ามีการติดเชื้อ SARS-CoV-2 และมีอาการของโควิด-19 ระดับอ่อน ระดับปานกลางและระดับรุนแรง ผู้ป่วยเหล่านี้บางส่วนได้รับการสอดท่อช่วยหายใจหรือใช้เครื่อง ECMO (27%), มีโรคความดันโลหิตสูง (51%), โรคอ้วน (45%) และโรคเบาหวาน (31%) เปรียบเทียบการให้ remdesivir (n=541) กับยาหลอก (n=521) ให้ยาเป็นเวลา 10 วัน ขนาดยาที่ให้ในวันแรก 200 มิลลิกรัม และตั้งแต่วันที่ 2 เป็นต้นไปให้ขนาด 100 มิลลิกรัม โดยหยดเข้าหลอดเลือดดำ หากผู้ป่วยออกจากโรงพยาบาลได้แล้วจะหยุดให้ยาแม้ยังไม่ครบ 10 วัน พบว่าระยะเวลาที่ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น (primary endpoint) กลุ่มที่ได้รับยามีค่ากลาง (median time) 10 วัน เทียบกับกลุ่มยาหลอกซึ่งใช้เวลา 15 วัน โดยที่กลุ่มมีอาการระดับอ่อนถึงปานกลางมีค่ากลางที่อาการทุเลาลงคือ 5 วันทั้งกลุ่มที่ได้รัยยาและยาหลอก แต่ผู้ที่มีอาการรุนแรงมีค่ากลางที่อาการทุเลาลงในกลุ่มที่ได้รับยาคือ 11 วันเทียบกับ 18 วันในกลุ่มที่ได้รับยาหลอก ส่วนการประเมินผลอื่น ๆ (secondary endpoint) ในวันที่ 15 เช่น ความต้องการออกซิเจน การออกจากโรงพยาบาล การทำกิจกรรมทั่วไป การเสียชีวิต พบว่ากลุ่มที่ได้รับยาให้ผลดีกว่า นอกจากนี้ยังมีการศึกษาแบบ randomized, open-label multi-center clinical trial ในผู้ป่วยผู้ใหญ่ที่ยืนยันแล้วว่ามีการติดเชื้อ SARS-CoV-2 และภาพถ่ายด้วยรังสีแสดงถึงภาวะปอดอักเสบ เพื่อศึกษาการใช้ remdesivir นาน 5 วัน (n=200) เทียบกับ 10 วัน (n=197) ขนาดยาที่ให้ในวันแรก 200 มิลลิกรัม และตั้งแต่วันที่ 2 เป็นต้นไปให้ขนาด 100 มิลลิกรัม โดยหยดเข้าหลอดเลือดดำ ผู้ป่วยทุกรายได้รับการรักษาที่เป็นมาตรฐาน ประเมินผลในวันที่ 14 พบว่าการได้รับยา 5 หรือ 10 วันไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ไม่ว่าจะเป็นอัตราการฟื้นตัวหรืออัตราการเสียชีวิต นอกจากนี้ยังมีการศึกษาที่เป็น randomized, open-label multi-center clinical trial ในผู้ป่วยผู้ใหญ่และเด็ก (อายุ 12-95 ปี) ที่ยืนยันแล้วว่ามีการติดเชื้อ SARS-CoV-2 และภาพถ่ายด้วยรังสีแสดงถึงภาวะปอดอักเสบ เพื่อเปรียบเทียบการใช้ยานาน 5 วัน (n=191) หรือ 10 วัน (n=193) เทียบกับกลุ่มที่ได้รับเพียงการรักษาที่เป็นมาตรฐาน (n=200) ขนาดยาที่ให้ในวันแรก 200 มิลลิกรัม และตั้งแต่วันที่ 2 เป็นต้นไปให้ขนาด 100 มิลลิกรัม โดยหยดเข้าหลอดเลือดดำ ประเมินผลในวันที่ 11 พบว่าการได้รับยา 5 ให้ผลดีกว่าการรักษาที่เป็นมาตรฐาน แต่การให้ 10 วันไม่แตกต่างจากการรักษาที่เป็นมาตรฐานอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ไม่ว่าจะเป็นอัตราการฟื้นตัวหรืออัตราการเสียชีวิต ส่วนผลไม่พึงประสงค์ของยาที่พบได้บ่อยที่สุด (≥5%) ได้แก่ คลื่นไส้ และการเพิ่มขึ้นของเอนไซม์ alanine aminotransferase (ALT) และ aspartate aminotransferase (AST)

ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อใช้ remdesivir กับผู้ป่วยนอก เริ่มทำการศึกษาเมื่อกลางเดือนกันยายนนี้ คาดว่าจะรู้ผลเบื้องต้นราวธันวาคมปีนี้ และคาดว่าผลการศึกษาจะเสร็จสมบูรณในเดือนมกราคมปีหน้า นอกจากนี้ยังมีการศึกษาการใช้ remdesivir ร่วมกับยาอื่น และการใช้ในเด็ก

อ้างอิงจาก:

(1) US FDA. FDA approves first treatment for COVID-19. FDA news release, October 22, 2020. https://www.fda.gov/news-events/press-announcements/fda-approves-first-treatment-covid-19; (2) Veklury (remdesivir) for injection, for intravenous use/Veklury (remdesivir) injection, for intravenous use. Reference ID: 4690158, issued: 10/2020. https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2020/214787Orig1s000lbl.pdf; (3) A phase 3 randomized, double-blind placebo-controlled trial to evaluate the efficacy and safety of remdesivir (GS-5734) treatment of covid-19 in an outpatient setting. https://clinicaltrials.gov/ct2/show/NCT04501952
 
ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้