หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

5-Fluorouracil (i.v.), capecitabine และ tegafur กับคำเตือนให้ทดสอบฤทธิ์ dihydropyrimidine dehydrogenase ในผู้ป่วยทุกรายก่อนให้ยา

ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 1 เดือน พฤศจิกายน ปี 2563 -- อ่านแล้ว 4,804 ครั้ง
 
5-Fluorouracil (5-FU), capecitabine และ tegafur เป็นยาต้านมะเร็งในกลุ่ม fluoropyrimidines ซึ่ง 5-FU เป็นยาฉีดเข้าหลอดเลือดดำ ส่วน capecitabine และ tegafur เป็นยารับประทาน ยาสองชนิดหลังเป็น prodrug ที่เปลี่ยนเป็น 5-FU เพื่อออกฤทธิ์ เอนไซม์ dihydropyrimidine dehydrogenase (DPD) มีบทบาทสำคัญในการกำจัด 5-FU เอนไซม์ดังกล่าวมีความหลากหลายทางพันธุกรรม เป็นที่ทราบกันแล้วว่าภาวะพร่องเอนไซม์ DPD ทำให้เกิดความเป็นพิษจากการใช้ยาเหล่านี้ เช่น ทำให้เกิดเยื่อบุช่องปากอักเสบ ท้องเดิน เยื่อเมือกอักเสบ ภาวะเม็ดเลือดขาวนิวโตรฟิลต่ำและความเป็นพิษต่อระบบประสาท ซึ่งพบได้ตั้งแต่เริ่มใช้ยารอบแรกหรือเมื่อเพิ่มขนาดยา ซึ่งการพร่องเอนไซม์ DPD หรือการขาดเอนไซม์นี้โดยสิ้นเชิงจะเสี่ยงต่อการเกิดความเป็นพิษจากยาที่กล่าวมาจนอาจอันตรายถึงชีวิตได้

เมื่อเร็ว ๆ นี้หน่วยงาน Medicines and Healthcare products Regulatory Agency (MHRA) ในสหราชอาณาจักรได้ให้ข้อมูลถึงรายงานเกี่ยวกับการเสียชีวิตในผู้ใช้ 5-FU และ capecitabine ที่ส่งมายังหน่วยงานนับจนถึงวันที่ 17 มิถุนายน ปี ค.ศ. 2020 มีจำนวน 30 รายงาน โดยในผู้เสียชีวิตเหล่านี้มีทั้งรายที่รู้หรือเป็นเพียงการสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับภาวะพร่องเอนไซม์ DPD ซึ่งบางรายที่ได้รับ capecitabine ได้มีการยืนยันผลว่ามีภาวะพร่องเอนไซม์ DPD จริง ทำให้หน่วยงานดังกล่าวได้ให้ข้อมูลและข้อแนะนำแก่บุคลากรทางการแพทย์เกี่ยวกับการให้ยา 5-FU (i.v.), capecitabine และ tegafur ไว้ดังนี้

 ผู้ป่วยที่พร่องเอนไซม์ DPD มีความเสี่ยงต่อความเป็นพิษจากการใช้ 5-FU (i.v.), capecitabine และ tegafur เช่น ทำให้เกิดเยื่อบุช่องปากอักเสบ ท้องเดิน เยื่อเมือกอักเสบ ภาวะเม็ดเลือดขาวนิวโตรฟิลต่ำและความเป็นพิษต่อระบบประสาท และหากขาดเอนไซม์นี้โดยสิ้นเชิงจะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อความเป็นพิษของยาที่รุนแรงและอาจอันตรายถึงชีวิตได้

 ให้สอบถามผู้ป่วยถึงประวัติของตนเองและบุคคลในครอบครัวถึงการมีภาวะพร่องเอนไซม์ DPD หรือขาดเอนไซม์นี้โดยสิ้นเชิง เพื่อประเมินความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นหากใช้ยาที่กล่าวถึง และให้ทดสอบฤทธิ์เอนไซม์ DPD ในผู้ป่วยทุกรายก่อนให้ยา

 ไม่ให้ยาที่กล่าวถึงกับผู้ป่วยที่ขาดเอนไซม์ DPD โดยสิ้นเชิง ส่วนผู้ป่วยที่พร่องเอนไซม์ DPD ควรพิจารณาลดขนาดยาเหล่านั้น

 ให้คำแนะนำผู้ป่วยถึงความเป็นพิษของยาที่อาจเกิดขึ้นได้แม้ไม่พบว่ามีภาวะพร่องเอนไซม์ DPD

 ติดตามผู้ป่วยที่ได้รับยา เพื่อเฝ้าระวังความเป็นพิษจากยา โดยเฉพาะในช่วงแรกที่เริ่มใช้ยาและเมื่อมีการเพิ่มขนาดยา

อ้างอิงจาก:

(1) 5-Fluorouracil (intravenous), capecitabine, tegafur: DPD testing recommended before initiation to identify patients at increased risk of severe and fatal toxicity. Drug Safety Update volume 14, issue 3: October 2020:1; (2) Wigle TJ, Tsvetkova EV, Welch SA, Kim RB. DPYD and fluorouracil-based chemotherapy: mini review and case report. Pharmaceutics 2019. doi: 10.3390/pharmaceutics11050199.
 
คลิปความรู้เรื่องยา

EP.4 ยาอันตรายควบคุม (Controlled dangerous drugs)

ดูคลิปทั้งหมด

ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้