ปัจจุบันอยู่ในช่วงที่เกิดโรคระบาดจากโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ หรือ “โควิด-19 (COVID-19)” ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ขณะนี้ยังไม่มียาใดที่มีข้อบ่งใช้สำหรับรักษาโควิด-19 และไม่มีวัคซีนใช้ การรักษาโควิด-19 เป็นแบบประคับประคองอาการตามวิธีการรักษาที่เป็นมาตรฐาน สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงซึ่งวิธีการรักษาที่เป็นมาตรฐานที่ใช้อยู่ไม่เพียงพอที่จะช่วยชีวิต และเพื่อมนุษยธรรมอาจมีความจำเป็นต้องนำยาที่คาดว่ามีศักยภาพในการรักษาโควิด-19 แต่ยังไม่ได้รับอนุมัติทะเบียนยาในข้อบ่งใช้นี้มาใช้ก่อนเพื่อเป็นการช่วยชีวิต (compassionate use) ยาที่นำมาใช้มีทั้ง favipiravir, remdesivir, ยาต้านไวรัสชนิดอื่นอีกหลายชนิด, chloroquine phosphate เป็นต้น โดยอาจใช้ยาแต่ละชนิดโดยลำพังหรือใช้ยาร่วมกัน ขณะนี้มียาบางอย่างที่กล่าวข้างต้นอยู่ระหว่างการศึกษาทางคลินิกเพื่อนำมาใช้รักษาโควิด-19 เช่น favipiravir (ดูข้อมูลเพิ่มเติม เรื่อง “Favipiravir...ความหวังในการรักษาโควิด-19 (COVID-19)” ได้ที่ https://pharmacy.mahidol.ac.th/dic/news_week_full.php?id=1558), remdesivir ยาทั้งสองชนิดนี้จึงเป็นความหวังในการรักษาโควิด-19
Remdesivir (ชื่ออื่นคือ GS-5734 ขณะนี้ยังไม่มีชื่อการค้า) เป็น nucleotide analog อยู่ในรูป monophosphoramidate prodrug ซึ่งยังไม่มีฤทธิ์ ถูกเปลี่ยนแปลงเป็นสารออกฤทธิ์ คือ GS-441524 (ดูรูป) ยานี้ค้นพบโดยบริษัท Gilead Sciences ในประเทศสหรัฐอเมริกาเมื่อปี พ.ศ. 2558 และในปี พ.ศ. 2559 เป็นต้นมามีผลการศึกษาออกมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการศึกษาในหลอดทดลองและการศึกษาในสัตว์ทดลองที่แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของยาในการรักษาโรคจากโคโรนาไวรัสชนิดต่าง ๆ เช่น โรคซาร์ส (SARS หรือ severe acute respiratory syndrome), โรคเมอร์ส (MERS หรือ Middle East respiratory syndrome) และโรคจากไวรัสอีโบลา (Ebola virus disease หรือ Ebola haemorrhagic fever) ในตอนแรกคาดว่าผลิตยานี้ขึ้นมาเพื่อใช้รักษาโรคจากไวรัสอีโบลา ซึ่งได้มีการใช้ยานี้แล้วในช่วงที่มีการระบาดอย่างหนัก อย่างไรก็ตามผลการศึกษาทางคลินิกในผู้ป่วยโรคอีโบลาจำนวน 175 คน ให้ผลไม่ดีนัก ช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 นี้ ได้มีการทดลองนำยามาใช้รักษาผู้ป่วยบางรายซึ่งผลเป็นที่น่าพอใจ ในด้านผลไม่พึงประสงค์ของยาในช่วงที่ทำการศึกษาทางคลินิกในผู้ป่วยโรคอีโบลาและผลจากการทดลองใช้รักษาผู้ป่วยโควิด-19 พบว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ยอมรับได้ ขณะนี้ remdesivir อยู่ระหว่างการศึกษา ยังไม่ได้รับอนุมัติในข้อบ่งใช้ใด
Remdesivir เป็นยาที่มีฤทธิ์ต้านไวรัสได้อย่างกว้างขวาง (broad-spectrum antiviral drug) มีประสิทธิภาพดีต่ออาร์เอนเอไวรัสหลายชนิดรวมถึงไวรัสก่อโรคอีโบลาและโคโรนาไวรัสชนิดต่าง ๆ ในกรณีของโคโรนาไวรัสนั้น ผลการศึกษาในหลอดทดลอง (
in vitro study) ยานี้มีฤทธิ์ต้านไวรัสได้ทั้งไวรัสโรคซาร์ส (SARS-CoV), ไวรัสโรคเมอร์ส (MERS-CoV) และไวรัสโควิด-19 (SARS-CoV-2) โดยสารออกฤทธิ์ คือ GS-441524 จะขัดขวางการทำงานของ RNA polymerase เอนไซม์นี้มีความสำคัญในกระบวนการถ่ายแบบอาร์เอ็นเอ (RNA replication) ดังนั้นเมื่อเอนไซม์ไม่สามารถทำหน้าที่ได้ จึงยับยั้งการเพิ่มจำนวนไวรัส นอกจากนี้ยายังทำให้เกิดการสร้างสารพันธุกรรมอาร์เอนเอของไวรัสที่ผิดปกติและทำให้ไวรัสตาย คาดว่ายานี้มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างอื่นอีกรวมถึงอาจออกฤทธิ์ในขั้นตอนยับยั้งไวรัสไม่ให้เข้าสู่เซลล์ในร่างกายคน ยานี้ให้เข้าสู่ร่างกายโดยการหยดยาเข้าหลอดเลือดดำ จากการศึกษาในสัตว์ทดลอง (cynomolgus monkey) ยากระจายไปส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้แม้ในสมอง ในพลาสมาค่าครึ่งชีวิตของยาเท่ากับ 0.39 ชั่วโมง ส่วนค่าครึ่งชีวิตของสารออกฤทธิ์ (GS-441524) เท่ากับ 14 ชั่วโมง ในคนค่าครึ่งชีวิตของสารออกฤทธิ์ประมาณ 20 ชั่วโมง
ขณะนี้มีการศึกษาทางคลินิกในระยะที่ 2 และระยะที่ 3 อย่างน้อย 5 การศึกษา เพื่อประเมินประสิทธิภาพและความปลอดภัยของ remdesivir ในจำนวนนี้มี 3 การศึกษาที่เป็นแบบ randomised, double-blind, placebo-controlled clinical trial ซึ่งเริ่มเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 คาดว่าส่วนหนึ่งจะสรุปผลได้ในราวปลายเดือนเมษายน พ.ศ. 2563 การศึกษาดังกล่าวทำในประเทศสหรัฐอเมริกาจำนวน 1 การศึกษา (โดย University of Nebraska Medical Center ใน Omaha) ผู้ป่วยที่เข้าร่วมในการศึกษานี้ส่วนหนึ่งมาจากเรือสำราญ Diamond Princess ที่เคยจอดเทียบท่าที่เมืองโยโกฮามา ประเทศญี่ปุ่น ส่วนอีก 2 การศึกษาทำในประเทศจีน (คาดว่าจะรับผู้ป่วยรวมทั้งหมด 760 คน) ขนาดยาเริ่มด้วย 200 มิลลิกรัมในวันแรก ให้แบบหยดเข้าหลอดเลือดดำ จากนั้นให้ขนาด 100 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง เป็นเวลา 9 วัน (รวมทั้งหมด 10 วัน) ผู้ป่วยทุกรายไม่ว่ากลุ่มที่ได้รับ remdesivir หรือยาหลอกจะได้รับการรักษาอาการตามวิธีการรักษาที่เป็นมาตรฐาน ส่วนอีก 2 การศึกษา (จากทั้งหมด 5 การศึกษาที่กล่าวถึงข้างต้น) ทำโดยบริษัท Gilead Sciences เป็นการศึกษาแบบ open-label trial โดยมีการศึกษาหนึ่งที่เปรียบเทียบกับยาหลอก ขณะนี้การศึกษาที่กล่าวมาทั้งหมดกำลังดำเนินอยู่
อ้างอิงจาก:
(1) Ko WC, Rolain JM, Lee NY, Chen PL, Huang CT, Lee PL, et al. Arguments in favour of remdesivir for treating SARS-CoV-2 infections. Int J Antimicrob Agents 2020. doi:10.1016/j.ijantimicag.2020.105933; (2) Al-Tawfiq JA, Al-Homoud AH, Memish ZA. Remdesivir as a possible therapeutic option for the COVID-19. Travel Med Infect Dis 2020. doi:10.1016/j.tmaid.2020.101615; (3) Lowe D. Covid-19 small molecule therapies reviewed, updated, March 18, 2020. https://blogs.sciencemag.org/pipeline/archives/2020/03/06/covid-19-small-molecule-therapies-reviewed.