Knowledge Article


เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ mRNA COVID-19 vaccine


อาจารย์ ภญ.วิภารักษ์ รัตนวิภานนท์
รองศาสตราจารย์ ดร.ภก.จิรพงศ์ สุขสิริวรพงศ์
ภาควิชาเภสชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพประกอบจาก : https://cdn.aarp.net/content/dam/aarp/health/drugs_supplements/2020/12/1140-mnra-covid-vaccine.jpg
61,337 View,
Since 2021-07-28
Last active: 1h ago

Scan to read on mobile device
 
A - | A +


สถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ยังคงสร้างความกังวลใจไปทั่วโลก และนับวันจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น เชื้อไวรัส COVID-19 นี้เป็นไวรัสชนิดอาร์เอ็นเอ (RNA virus) ที่มีความสามารถในการกลายพันธุ์ได้ง่าย จึงกลายเป็นปัญหาที่สำคัญของการควบคุมโรค นอกจากการค้นคว้าหายาที่จะช่วยบรรเทาความรุนแรงของโรครวมถึงช่วยลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยแล้ว การป้องกันการติดเชื้อ COVID-19 และการลดความรุนแรงของโรคผ่านการสร้างภูมิคุ้มกันด้วยการฉีดวัคซีนยังเป็นอีกกลไกสำคัญในการจัดการการระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ปัจจุบันมีการพัฒนาวัคซีนสำหรับเชื้อไวรัส COVID-19 หลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นวัคซีนที่พัฒนามาจากเชื้อตาย (inactivated vaccine) วัคซีนชนิดไวรัลเวคเตอร์ (viral vector vaccine) วัคซีนชนิดเอ็มอาร์เอ็นเอ (mRNA vaccine) และวัคซีนชนิดชิ้นส่วนโปรตีน (protein subunit vaccine) การพัฒนาวัคซีนด้วยวิธีการผลิตที่แตกต่างกันนี้ทำให้เกิดความแตกต่างในหลายด้าน บทความนี้จะกล่าวลงรายละเอียดเกี่ยวกับวัคซีนชนิด mRNA โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับส่วนประกอบของวัคซีนรวมถึงข้อกังวลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับวัคซีนชนิดนี้



ภาพจาก : https://www.news-medical.net/image.axd?picture=2021%2F6%2Fshutterstock_1907619673.jpg

mRNA vaccine กระตุ้นภูมิคุ้มกันต่อเชื้อ COVID-19 ได้อย่างไร?

mRNA เป็นสารพันธุกรรมชนิดหนึ่งในสิ่งมีชีวิตรวมถึงไวรัสด้วย แนวคิดของการพัฒนาวัคซีนด้วย mRNA คือ เมื่อนำส่งสารพันธุกรรมชนิดนี้เข้าสู่ร่างกายมนุษย์ ร่างกายจะมีการสร้างโปรตีนหนาม (spike protein) ซึ่งเป็นโปรตีนส่วนที่จะกระตุ้นให้ร่างกายเกิดการสร้างภูมิคุ้มกันต่อไวรัส COVID-19 ต่อไป อย่างไรก็ตาม สารพันธุกรรมนี้มีความคงตัวต่ำ เมื่อฉีดเข้าสู่ร่างกาย จะสลายตัวได้อย่างรวดเร็วโดยเอนไซม์ไรโบนิวคลีเอส (ribonucleases, RNase) และอาจไม่คงตัวในเซลล์เนื่องจากกลไกการปกป้องของเซลล์เจ้าบ้าน จึงไม่สามารถนำส่ง mRNA เข้าสู่ร่างกายโดยตรง นอกจากนี้ mRNA เกิดการเสื่อมสลายได้ทั้งทางกายภาพและทางเคมี จึงเป็นที่มาของการพัฒนาระบบนำส่งสารพันธุกรรมชนิด mRNA นั่นคือ การใช้อนุภาคนาโนชนิดไขมัน (lipid nanoparticles, LNP) ซึ่งวัคซีนสำหรับการติดเชื้อไวรัส COVID-19 ชนิด mRNA ที่มีการใช้ในปัจจุบันและรู้จักกันคือ Pfizer-BioNTech COVID-19 vaccine และ Moderna COVID-19 vaccine วัคซีนของทั้ง 2 บริษัทนี้ใช้ระบบอนุภาคนาโนชนิดไขมันเพื่อเพิ่มความคงตัวของ mRNA และสามารถนำส่ง mRNA เข้าสู่ร่างกายเพื่อกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันได้

เมื่อบริหาร mRNA COVID-19 vaccine เข้าสู่ร่างกายโดยการฉีดเข้ากล้ามเนื้อจะเกิดกระบวนการอักเสบแบบเฉพาะที่และเหนี่ยวนำให้เม็ดเลือดขาวนิวโทรฟิลและเซลล์ชนิด antigen presenting (APCs) มารวมกันบริเวณที่ฉีด จากนั้นเซลล์ชนิด APCs จะกลืนกินอนุภาคนาโนที่ห่อหุ้ม mRNA เข้าไป แล้วจึงเคลื่อนที่ไปยังระบบระบายน้ำเหลือง (draining lymph nodes) ซึ่งเป็นบริเวณที่มีเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกันชนิด T (T cells) อยู่ จากนั้นจึงเกิดการกระตุ้นให้เกิดการสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัส COVID-19 จากกระบวนการดังกล่าว อนุภาคนาโนชนิดไขมัน (lipid nanoparticles) นี้เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายโดยไม่ต้องอาศัยสารเสริมฤทธิ์ (adjuvant) อื่นเพิ่มเติม และอาจเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ mRNA vaccine กระตุ้นภูมิคุ้มกันขึ้นได้ค่อนข้างสูงเมื่อเปรียบเทียบกับวัคซีนชนิดอื่น ๆ

องค์ประกอบของ mRNA COVID-19 vaccine

mRNA COVID-19 vaccine ของทั้ง 2 บริษัทนี้ มีส่วนประกอบหลัก 3 ส่วน ได้แก่ mRNA ซึ่งเป็นสารออกฤทธิ์ (active ingredient) ของวัคซีน อนุภาคนาโนชนิดไขมัน และสารช่วยอื่น ๆ อนุภาคนาโนชนิดไขมันนี้ มีองค์ประกอบหลัก 4 ส่วนได้แก่ คอเลสเตอรอล ไขมันชนิดประจุบวก (ionizable cationic lipid) ไขมันชนิดเป็นกลาง (neutral lipid) และ ไขมันชนิด PEGylated (PEGylated lipid) ซึ่งสารแต่ละชนิดมีหน้าที่ในตำรับที่แตกต่างกัน และสารที่ทั้ง 2 บริษัทนี้เลือกใช้ มีทั้งความเหมือนและความแตกต่างกันในรายละเอียด ดังแสดงไว้ในตารางที่ 1 จากองค์ประกอบเหล่านี้ ทำให้อนุภาคนาโนชนิดไขมันที่บรรจุ mRNA อยู่มีขนาดอนุภาคอยู่ในช่วง 60-100 นาโนเมตร



ความคงตัวและการเก็บรักษา mRNA COVID-19 vaccine

จากข้อมูลความคงตัวของ mRNA และอนุภาคนาโนชนิดไขมัน พบว่า mRNA มีความไม่คงตัวมากกว่าอนุภาคนาโนชนิดไขมัน ในการเตรียมอนุภาคนาโนชนิดไขมันนี้ mRNA จะถูกห่อหุ้มไว้ด้านในอนุภาค และโมเลกุลของน้ำล้อมรอบโมเลกุลของ mRNA อยู่ภายในอนุภาคนาโนด้วย เนื่องจาก mRNA เป็นโมเลกุลที่ละลายในน้ำได้ดี อย่างไรก็ตาม น้ำที่ล้อมรอบ mRNA อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการเสื่อมสลายของ mRNA โดยปฏิกิริยา hydrolysis ได้หากเก็บที่อุณหภูมิสูงกว่าจุดเยือกแข็งของน้ำ ทำให้วัคซีนชนิดนี้ต้องเก็บในสภาวะที่ถูกแช่แข็งที่อุณหภูมิต่ำมากๆ ตลอดเวลาเพื่อเพิ่มความคงตัวของ mRNA ในระหว่างการเก็บรักษา การขนส่งหรือการกระจายวัคซีน และอายุของวัคซีนที่ค่อนข้างสั้น เมื่อเทียบกับวัคซีนชนิดอื่นๆ อย่างไรก็ตามความแตกต่างของอายุและอุณหภูมิที่ใช้ในการเก็บรักษาของวัคซีนทั้ง 2 บริษัทนี้ ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดว่าเกิดจากสาเหตุใด อาจต้องรอข้อมูลการศึกษาความคงตัวจากบริษัทที่อาจมีการเผยแพร่เพิ่มเติมในอนาคต นอกจากนี้ หากมีการศึกษาที่มากพอหรือมีการเปลี่ยนรูปแบบของวัคซีนให้อยู่ในรูปผงแห้งด้วยกระบวนการทำให้แห้งด้วยการแช่เยือกแข็ง (lyophilization) ก็อาจสามารถยืดอายุการเก็บรักษาของวัคซีนชนิดนี้ และอาจไม่จำเป็นต้องเก็บที่อุณหภูมิเยือกแข็งต่ำมาก ๆ ดังเช่นในปัจจุบัน

จากข้อมูลความคงตัวของวัคซีนทั้ง 2 บริษัท ที่มีการเปิดเผยออกสู่สาธารณะ ระบุความคงตัวและการเก็บรักษาสำหรับขวดวัคซีนที่ยังไม่ได้เปิดใช้ โดยสรุปดังนี้

- Pfizer-BioNTech COVID-19 vaccine
  • สำหรับขวดวัคซีนที่แช่แข็ง เก็บที่อุณหภูมิ -90 ถึง -60 องศาเซลเซียส ได้เป็นเวลา 6 เดือน โดยในช่วงเวลาดังกล่าว สามารถเก็บและขนส่งที่อุณหภูมิ -25 ถึง -15 องศาเซลเซียส ได้เพียง 1 ครั้ง เป็นเวลา 2 สัปดาห์เท่านั้น และสามารถนำกลับไปแช่แข็งที่อุณหภูมิ -90 ถึง -60 องศาเซลเซียสได้
  • สำหรับขวดวัคซีนที่ละลายน้ำแข็งแล้ว ที่อุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส มีอายุ 1 เดือน ที่อุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส
- - Moderna COVID-19 vaccine เก็บขวดวัคซีนในรูปสารแขวนลอยที่แช่แข็ง ที่อุณหภูมิ -25 ถึง -15 องศาเซลเซียส ได้เป็นเวลา 7 เดือน และเมื่อเก็บในตู้เย็นที่อุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียสและป้องกันแสง วัคซีนมีอายุ 30 วัน

อย่างไรก็ตามเอกสารกำกับยาของวัคซีนทั้ง 2 บริษัท มีระบุรายละเอียดเกี่ยวกับวิธีการเก็บรักษา การเจือจาง การขนส่ง อายุของวัคซีนขณะเก็บรักษาที่อุณหภูมิต่างๆ อายุของวัคซีนขณะขนส่ง และอายุของวัคซีนหลังเจือจาง ไว้อย่างละเอียด ซึ่งสามารถอ่านเพิ่มเติมได้จากเอกสารกำกับยาของวัคซีนทั้ง 2 บริษัทได้

ข้อกังวลที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับ mRNA COVID-19 vaccine

เนื่องจาก mRNA COVID-19 vaccine เป็นเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนในรูปแบบที่ค่อนข้างใหม่ จึงมีข้อกังวลในหลากหลายประเด็น ดังนี้

- mRNA COVID-19 vaccine ทำให้เกิดการกลายพันธุ์ในมนุษย์ได้หรือไม่?
  • จากข้อมูลในปัจจุบันพบว่า กลไกการออกฤทธิ์ของวัคซีนชนิดนี้ไม่มีการรบกวนการทำงานของนิวเคลียสซึ่งบรรจุดีเอ็นเอ (DNA) ที่เป็นสารพันธุกรรมหลักของมนุษย์ไว้ภายใน อย่างไรก็ตาม วัคซีนชนิดนี้ถือเป็นเทคโนโลยีใหม่ของการพัฒนาวัคซีน จึงยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับผลข้างเคียงในระยะยาว
- mRNA COVID-19 vaccine มีอาการข้างเคียงอะไรบ้าง?
  • อาการข้างเคียงที่พบบ่อยแต่มีความรุนแรงต่ำ คือ อาการข้างเคียงหลังฉีดวัคซีน เช่น เจ็บบริเวณที่ฉีด ไข้ หนาวสั่น ซึ่งส่วนใหญ่จะหายไปภายใน 2-3 วัน
  • อาการข้างเคียงชนิดรุนแรงแต่พบได้น้อยมาก เช่น อาการแพ้แบบรุนแรง (anaphylaxis) ซึ่งพบได้ประมาณ 10 ราย จากการฉีดวัคซีน 1 ล้านโดส (ส่วนใหญ่เกิดภายใน 15 นาทีหลังฉีด ซึ่งอาจเกิดจากส่วนประกอบของไขมันชนิด PEGylated ที่มีรายงานว่าอาจก่อให้เกิดการแพ้ได้บ้าง รวมถึงอาจเกิดจากส่วนประกอบอื่น ๆ ของวัคซีน) รวมถึงมีรายงานการเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบในประชากรเพศชายอายุน้อย ซึ่งส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง จากข้อมูลในปัจจุบันพบประมาณ 12-18 ราย จากการฉีดวัคซีน 1 ล้านโดส
- mRNA vaccine มีส่วนประกอบของแม่เหล็กหรือไม่?
  • จากข้อมูลส่วนประกอบดังที่ระบุในเอกสารกำกับยาของวัคซีนทั้ง 2 บริษัทนี้ ไม่มีส่วนประกอบของสารที่มีคุณสมบัติเป็นแม่เหล็กอยู่ในวัคซีนดังที่มีการส่งต่อข้อมูลกันในสื่อออนไลน์
บทสรุป

โดยสรุป mRNA COVID-19 vaccine เป็นอีกหนึ่งความหวังของการลดความรุนแรงของการติดเชื้อ COVID-19 รวมถึงควบคุมการระบาดของโรค วัคซีนชนิดนี้ถือเป็นเทคโนโลยีใหม่ของการพัฒนาวัคซีน โดยใช้ความรู้ทางนาโนเทคโนโลยีเข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพและความคงตัวของสารพันธุกรรมชนิด mRNA อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลในปัจจุบันพบว่า วัคซีนชนิดนี้มีประสิทธิภาพรวมถึงมีความปลอดภัยค่อนข้างสูง เมื่อพิจารณาจากประโยชน์ที่จะได้รับและโทษที่อาจเกิดขึ้นแล้ว พบว่า ความคุ้มค่าของการสร้างภูมิคุ้มกันจากวัคซีนจึงมากกว่าความเสี่ยงที่จะเกิดจากผลข้างเคียง

เอกสารอ้างอิง

  1. Schoenmaker L, Witzigmann D, Kulkarni JA, Verbeke R, Kersten G, Jiskoot W, et al. mRNA-lipid nanoparticle COVID-19 vaccines: Structure and stability. International Journal of Pharmaceutics. 2021;601:120586.
  2. Moderna Biotech Spain, S.L. Summary of Product Characteristics for COVID-19 Vaccine Moderna. Revised: 06/2021. [Accessed 07/25/2021]. Available from: https://www.gov.uk/government/publications/regulatory-approval-of-covid-19-vaccine-moderna/information-for-healthcare-professionals-on-covid-19-vaccine-moderna
  3. EMA, 2020. Assessment report Comirnaty Common name: COVID-19 mRNA vaccine (nucleoside-modified). [Accessed 07/25/2021]. https://www.ema.europa.eu/en/documents/assessment-report/comirnaty-epar-public-assessment-report_en.pdf.
  4. Moderna US, Inc. Fact Sheet for Healthcare Providers Administering Vaccine: Moderna COVID-19 vaccine. Revised: 06/2021. [Accessed 07/25/2021]. Available from: https://www.fda.gov/media/144637/download.
  5. Pfizer Inc., BioNTech Manufacturing GmbH. Fact Sheet for Healthcare Providers Administering Vaccine: Pfizer-Biontech COVID-19 vaccine. Revised: 06/2021. [Accessed 07/25/2021]. Available from: https://www.fda.gov/media/144413/download.
  6. กรมควบคุมโรค, 2564. แนวทางการให้วัคซีนโควิด 19 ในสถานการณ์การระบาดปี 64 ของประเทศไทย กุมภาพันธ์ 2564. กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข [อินเตอร์เน็ต]. 2564. [เข้าถึงเมื่อ 25 กรกฎาคม 2564]. เข้าถึงได้จาก: https://ddc.moph.go.th/vaccine-covid19/getFiles/11/1620107083101.pdf
  7. Izda V, Jeffries MA, Savalha AH. COVID-19: A review of therapeutic strategies and vaccine candidates. Clin Immunol. 2021;222:108634.
  8. Centers for Disease Control and Prevention. COVID-19 mRNA vaccines in adolescents and young adults: Benefit-risk discussion [internet]. 2021. [cited 2021 July 26]. Available from: https://www.cdc.gov/vaccines/acip/meetings/downloads/slides-2021-06/05-COVID-Wallace-508.pdf
  9. Centers for Disease Control and Prevention. Allergic Reactions Including Anaphylaxis After Receipt of the First Dose of Pfizer-BioNTech COVID-19 Vaccine — United States, December 14–23, 2020 [internet]. 2021. [cited 2021 July 26]. Available from: https://www.cdc.gov/mmwr/volumes/70/wr/mm7002e1.htm
Others articles

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้

Public Knowledge Articles



View all articles
-->

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

Faculty of Pharmacy, Mahidol University.

447 Sri-Ayuthaya Road, Rajathevi, Bangkok 10400, THAILAND
Designed & Developed by Department of Information Technology, Faculty of Pharmacy, Mahidol University.
Copyright © 2013-2020
 

We use Cookies

This site uses cookies to personalise your experience and analyse site traffic. By Clicking ACCEPT or continuing to browse the site you are agreeing to our use of cookies.