Knowledge Article


วัคซีนโควิด-19 ตอนที่ 1 : จากจุดเริ่มต้นสู่การศึกษาทางคลินิก


รองศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรหญิง นงลักษณ์ สุขวาณิชย์ศิลป์
หน่วยคลังข้อมูลยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพประกอบจาก : https://dp9bxf2pat5uz.cloudfront.net/wp-content/uploads/coronavirus-roundup-image-2-750x500.jpg
9,723 View,
Since 2020-04-07
Last active: 2h ago
https://tinyurl.com/yflp5uld
Scan to read on mobile device
 
A - | A +


โควิด-19 (COVID-19) เป็นโรคติดเชื้อที่ทางเดินหายใจ เกิดจากโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ คือ “2019-nCoV (2019 novel coronavirus)” หรือ “SARS-CoV-2” เริ่มเกิดการระบาดที่เมืองอู่ฮั่นในประเทศจีน (Wuhan, China) เมื่อเดือนธันวาคมปี พ.ศ. 2562 (ค.ศ. 2019) และปัจจุบันการระบาดของโรคนี้ยังคงดำเนินอยู่ ผู้ป่วยโควิด-19 มีอาการที่สำคัญคือ มีไข้ ไอ และหายใจลำบาก มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมากเนื่องจากการหายใจล้มเหลวและอาการแทรกซ้อนอื่น ขณะนี้ยังไม่มียาใดที่มีข้อบ่งใช้สำหรับรักษาโควิด-19 และไม่มีวัคซีนใช้ การรักษาโควิด-19 เป็นแบบประคับประคองอาการตามวิธีการรักษาที่เป็นมาตรฐาน สำหรับรายที่มีอาการรุนแรงซึ่งวิธีการรักษาที่เป็นมาตรฐานไม่เพียงพอที่จะช่วยชีวิต และเพื่อมนุษยธรรมอาจมีความจำเป็นต้องนำยาที่คาดว่ามีศักยภาพในการรักษาโควิด-19 แต่ยังไม่ได้รับอนุมัติทะเบียนยาในข้อบ่งใช้นี้มาใช้ก่อนเพื่อเป็นการช่วยชีวิต (compassionate use) ในด้านวัคซีนขณะนี้กำลังเร่งพัฒนาเพื่อให้มีวัคซีนออกใช้โดยเร็ว อย่างไรก็ตามในการพัฒนาวัคซีนชนิดใหม่โดยทั่วไปอย่างเร็วจะใช้เวลาไม่น้อยกว่า 2-3 ปี จึงวางจำหน่ายได้ เนื่องจากต้องผ่านการทดสอบด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัยก่อน ในบทความนี้ให้ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับวัคซีน การพัฒนาวัคซีนโควิด-19 และการศึกษาทางคลินิกของวัคซีนโควิด-19



ภาพจาก : https://images.theconversation.com/files/315546/original/file-20200214-11005-1l6czo1.jpg?ixlib=rb-1.1.0&q=45&auto=format&w=1200&h=1200.0&fit=crop

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับวัคซีน

วัคซีน (vaccine) เป็นผลิตภัณฑ์ชีวภาพ เมื่อให้เข้าสู่ร่างกายจะกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันหรือแอนติบอดีที่จำเพาะขึ้นมาเพื่อต่อต้านเชื้อโรค ในการสร้างภูมิคุ้มกันจะใช้เวลาสักระยะหนึ่ง ดังนั้นวัคซีนจึงให้เมื่อยังไม่เป็นโรคเพื่อการป้องกันโรค (แม้จะมีการใช้วัคซีนบางชนิดเพื่อการรักษาโรคด้วยก็ตาม) ต่างจากยาต้านจุลชีพที่ให้เมื่อมีการติดเชื้อเกิดขึ้นแล้ว วัคซีนมีหลายประเภท องค์ประกอบในวัคซีนมีความแตกต่างกัน อาจประกอบด้วยตัวเชื้อก่อโรคครบ (กรณีแบคทีเรียหมายถึงครบทั้งเซลล์ ส่วนไวรัสหมายถึงครบทั้งอนุภาค) หรือมีเฉพาะชิ้นส่วนจากเชื้อก่อโรคซึ่งสามารถกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันได้ หรือประกอบด้วยสิ่งที่มนุษย์ผลิตขึ้นมาด้วยกรรมวิธีทางเทคโนโลยีชีวภาพซึ่งสิ่งนั้นสามารถกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันได้ วัคซีนที่มีองค์ประกอบต่างกันดังกล่าวจะมีประสิทธิภาพในกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันได้แตกต่างกัน ในการให้วัคซีนเข้าสู่ร่างกายส่วนใหญ่ทำโดยการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ (intramuscular injection) หรือฉีดเข้าใต้ผิวหนัง (subcutaneous injection) ในปริมาณน้อย แต่บางชนิดอาจฉีดเข้าในผิวหนัง (intradermal injection) หรือหยอดเข้าทางปาก หรือสเปรย์เข้าทางจมูก ภูมิคุ้มกันที่ร่างกายสร้างขึ้นนั้นมีสามารถในการจดจำและพร้อมที่จะออกปฏิบัติการเมื่อร่างกายได้รับเชื้อก่อโรคชนิดที่เกี่ยวข้องกับการนำมาทำวัคซีนนั้น

จากความแตกต่างขององค์ประกอบในวัคซีนและความแตกต่างกันในกรรมวิธีการผลิต จึงมีการจำแนกวัคซีนออกเป็นประเภทต่าง ๆ ซึ่งมีทั้งวัคซีนเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ (live attenuated vaccines) เช่น วัคซีนโรคหัด วัคซีนโรคหัดเยอรมัน วัคซีนวัณโรค, วัคซีนเชื้อตาย (inactivated หรือ killed vaccines) เช่น วัคซีนโรคพิษสุนัขบ้า วัคซีนโรคตับอักเสบเอ วัคซีนโรคไอกรน, ท็อกซอยด์ (toxoids) ซึ่งได้จากชีวพิษ (toxin) ที่ผ่านกระบวนการทำลายพิษแล้ว เช่น วัคซีนโรคบาดทะยัก วัคซีนโรคคอตีบ, วัคซีนซับยูนิต (subunit vaccines) ซึ่งใช้เฉพาะชิ้นส่วนของเชื้อก่อโรคที่สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดี เช่น วัคซีนฮิบบี (Hib vaccine ที่ใช้ป้องกันโรคจากเชื้อ Haemophilus influenzae type B) นอกจากนี้ในปัจจุบันวิทยาการทางด้านชีวโมเลกุล พันธุศาสตร์ และพันธุวิศวกรรมเจริญรุดหน้าไปมาก จึงนำองค์ความรู้เหล่านั้นมาใช้ทางด้านต่าง ๆ รวมถึงการผลิตวัคซีน เช่น การผลิตวัคซีนลูกผสม (recombinant vaccines) ในหลากหลายลักษณะ, การผลิตวัคซีนกรดนิวคลิอิก (DNA vaccines), การผลิตวัคซีนชนิดโปรตีนพื้นฐาน (protein-based vaccines) ซึ่งกรรมวิธีการผลิตวัคซีนแบบต่าง ๆ เหล่านี้นำมาใช้ในผลิตวัคซีนโควิด-19 ด้วย

การพัฒนาวัคซีนโควิด-19

ไวรัสโควิด-19 เป็นเชื้อที่อันตรายมาก การผลิตวัคซีนด้วยกรรมวิธีแบบเดิมไม่ว่าจะเป็นวัคซีนเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ หรือวัคซีนเชื้อตาย ต้องใช้ความระมัดระวังสูง จึงไม่นิยม ประกอบกับในปัจจุบันวิทยาการทางด้านชีวโมเลกุล พันธุศาสตร์ และพันธุวิศวกรรมเจริญรุดหน้าไปมาก จึงนำองค์ความรู้เหล่านี้มาใช้ในการผลิตวัคซีนดังที่กล่าวข้างต้น ขณะนี้มีโครงการศึกษาและพัฒนาวัคซีนโควิด-19 จำนวนมากมายกระจายอยู่ในประเทศต่าง ๆ ในจำนวนนี้มีประมาณ 50 ชนิดที่กำลังศึกษาในขั้นตอนก่อนการทดลองใช้ในคน (preclinical study) วัคซีนเหล่านี้มีหลายประเภท มีทั้งวัคซีนเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ (เช่น deoptimized live attenuated vaccine โดยหน่วยงาน Codagenix/Serum Institute ในประเทศอินเดีย), วัคซีนเชื้อตาย (เช่น formaldehyde-inactivated vaccine โดยบริษัท Sinovac), วัคซีนที่ใช้ไวรัสเป็นพาหะ (viral vector vaccines) มีไม่น้อยกว่า 10 ชนิด ซึ่งพาหะที่ใช้มีทั้งอะดีโนไวรัส ไวรัสโรคหัดและไวรัสโรคฝีดาษ, วัคซีนกรดนิวคลิอิก (nucleic acid vaccines) มีไม่น้อยกว่า 11 ชนิด ในจำนวนนี้เป็นวัคซีนชนิดดีเอ็นเอ (DNA vaccines) ไม่น้อยกว่า 3 ชนิด ที่เหลือเป็นวัคซีนชนิดอาร์เอ็นเอ (RNA vaccines), วัคซีนโปรตีนเป็นพื้นฐาน (protein-based vaccines) มีไม่น้อยกว่า 15 ชนิด นอกจากนี้ยังมีวัคซีนอนุภาคเหมือนไวรัสชนิดพัฒนาจากพืช (plant-derived virus-like particle vaccine) อย่างน้อย 1 ชนิด (โดยบริษัท Medicago) และวัคซีนชนิดที่ให้ทางปากอย่างน้อย 1 ชนิด (non-replicating viral vector oral vaccine โดยบริษัท Vaxart) กรรมวิธีในการผลิตวัคซีนเหล่านี้ส่วนใหญ่เคยใช้ในการผลิตวัคซีนที่ใช้กับโรคอื่นมาแล้ว

อีกนานเท่าใดกว่าจะได้วัคซีนโควิด-19 มาใช้?

ดังได้กล่าวแล้วว่าในการพัฒนาวัคซีนชนิดใหม่โดยทั่วไปอย่างเร็วจะใช้เวลาไม่น้อยกว่า 2-3 ปี จึงวางจำหน่ายได้ วัคซีนบางชนิดใช้เวลาศึกษานานถึง 5 ปีหรือกว่านั้น ในกรณีเร่งด่วนเช่นมีการระบาดของโควิด-19 ที่เกิดขึ้นขณะนี้อาจใช้เวลาเร็วขึ้น อย่างไรก็ตามคาดกันว่าใช้เวลาไม่น้อยกว่า 18 เดือนนับจากเริ่มการศึกษาทางคลินิกระยะที่ 1 ทั้งนี้เนื่องจากต้องมั่นใจว่าวัคซีนมีประสิทธิภาพและมีความปลอดภัย ซึ่งโดยทั่วไปการศึกษาทางคลินิก (ทำในคน) มี 3 ระยะ คือการศึกษาทางคลินิกระยะที่ 1 (phase 1 clinical trial) ทดสอบกับอาสาสมัครที่มีสุขภาพดีจำนวนไม่มาก ประมาณ 100 คน เพื่อดูความปลอดภัยของวัคซีนและดูประสิทธิภาพในการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ต่อมาการศึกษาทางคลินิกระยะที่ 2 (phase 2 clinical trial) ทดสอบกับผู้ที่อาศัยอยู่ในแหล่งที่มีการระบาดของโรคในจำนวนมากขึ้นถึงระดับหลายร้อยคน เพื่อดูประสิทธิภาพของวัคซีนเป็นหลัก ระยะนี้ใช้เวลาหลายเดือนจนถึงหลายปี และการศึกษาทางคลินิกระยะที่ 3 (phase 3 clinical trial) ทดสอบกับผู้ที่อาศัยอยู่ในแหล่งที่มีการระบาดของโรคในจำนวนที่มากขึ้นระดับหลายพันคน โดยทั่วไประยะนี้ใช้เวลาหลายปี ในการศึกษาทางคลินิกระยะต่าง ๆ ดังกล่าวข้างต้นอย่างเร็วในแต่ละระยะอาจใช้เวลา 6-8 เดือน นอกจากนี้ก่อนที่วัคซีนจะวางจำหน่ายได้นั้น ผลการศึกษาที่สนับสนุนประสิทธิภาพและความปลอดภัยรวมถึงข้อมูลอื่น ๆ ต้องผ่านการประเมินจากหน่วยงานที่กำกับดูแลด้านยาของแต่ละประเทศ เท่าที่ผ่านมาวัคซีนที่อยูในการศึกษาทางคลินิกระยะที่ 1 มีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จในการศึกษาทางคลินิกระยะที่ 3 จนได้รับการอนุมัติให้จำหน่ายได้มีราว 10% เท่านั้น

การศึกษาทางคลินิกของวัคซีนโควิด-19

ขณะนี้มีวัคซีนสำหรับโควิด-19 ที่พร้อมเข้าสู่การศึกษาทางคลินิกระยะที่ 1 จำนวนหลายผลิตภัณฑ์ มีทั้งชนิดที่เป็นวัคซีนใหม่ไม่เคยใช้ในโรคใดมาก่อนและวัคซีนเก่าที่เคยใช้กับโรคอื่นมาแล้ว ในจำนวนที่เป็นวัคซีนใหม่มีไม่น้อยกว่า 2 ชนิดที่ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาคลินิกระยะที่ 1 ชนิดแรก คือ “เอ็มอาร์เอ็นเอ-1273 (mRNA-1273)” เป็นวัคซีนอาร์เอ็นเอตามการจำแนกข้างต้น (เป็น mRNA-based vaccine ทำเป็น lipid nanoparticle dispersion โดยมี mRNA เป็นตัวสร้าง spike protein ของไวรัสโควิด-19) พัฒนาโดย National Institute of Allergy and Infectious Disease (NIAID) ของสหรัฐอเมริการ่วมมือกับบริษัท Moderna การศึกษาทำที่เมือง Seattle ในรัฐ Washington ประเทศสหรัฐอเมริกา เริ่มเมื่อต้นเดือนมีนาคม พ.ศ. 2563 คาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ในต้นเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2564 โดยศึกษาในอาสาสมัครที่มีสุขภาพดีจำนวน 45 คน อายุ 18-55 ปี การศึกษาเป็นแบบเปิดเผยว่าใครได้รับวัคซีนดังกล่าวหรือได้รับวัคซีนหลอก และไม่มีการสุ่มว่าใครจะอยู่ในกลุ่มใด (non-randomized, open-label trial) แบ่งอาสาสมัครออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มละ 15 คน เพื่อให้วัคซีน 3 ขนาด ที่มี mRNA-1273 ปริมาณ 25, 100 และ 250 ไมโครกรัม โดยฉีดวัคซีนเข้ากล้ามเนื้อเดลทอยด์ (บริเวณไหล่) ในวันที่ 1 และวันที่ 29 (ฉีด 2 ครั้งห่างกัน 28 วัน) ติดตามดูผลตลอดช่วง 12 เดือนหลังการฉีดครั้งที่ 2 (คือวันที่ 394 ของการศึกษา) คาดว่าการศึกษาทางคลินิกระยะที่ 2 ของวัคซีนเอ็มอาร์เอ็นเอ-1273 จะเริ่มขึ้นในเร็ว ๆ นี้

วัคซีนใหม่อีกชนิดหนึ่งที่อยู่ระหว่างการศึกษาทางคลินิกระยะที่ 1 ที่จะกล่าวถึง คือ “วัคซีนเวกเตอร์ลูกผสมที่มีอะดีโนไวรัส ไทป์ 5 เป็นพาหะ (recombinant adenovirus type 5 vector vaccine)” พัฒนาโดย Beijing Institute of Biotechnology ร่วมกับบริษัท CanSino Biologics ทำการศึกษาที่เมืองอู่ฮั่น (Wuhan) ในประเทศจีน เริ่มต้นช่วงกลางเดือนมีนาคม พ.ศ. 2563 คาดว่าจะมีการประเมินผลเบื้องต้นในปลายเดือนธันวาคม พ.ศ. 2563 และการศึกษาจะเสร็จสมบูรณ์ในปลายเดือนธันวาคม พ.ศ. 2565 โดยศึกษาในอาสาสมัครสุขภาพดี จำนวน 108 คน อายุ 18-60 ปี การศึกษาเป็นแบบเปิดเผยว่าใครได้รับวัคซีนดังกล่าวหรือได้รับวัคซีนหลอก และไม่มีการสุ่มว่าใครจะอยู่ในกลุ่มใด (non-randomized, open-label trial) แบ่งอาสาสมัครออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มละ 36 คน เพื่อให้วัคซีน 3 ขนาด คือ ขนาดต่ำ 5E10vp Ad5-nCoV, ขนาดกลาง 1E11vp Ad5-nCoV และขนาดสูง 1.5E11vp Ad5-nCoV โดยฉีดวัคซีนเข้ากล้ามเนื้อเดลทอยด์ (บริเวณไหล่) ในวันที่ 1 เพียงครั้งเดียว ติดตามดูอาการไม่พึงประสงค์หลังจากได้รับวัคซีนและประเมินด้านประสิทธิภาพในช่วงเวลาต่าง ๆ

นอกจากที่กล่าวมายังมีวัคซีนบางผลิตภัณฑ์ที่เริ่มต้นทำการศึกษาทางคลินิกระยะที่ 1 ในปลายเดือนมีนาคม พ.ศ. 2563 และอีกหลายผลิตภัณฑ์ที่ดาดว่าจะเริ่มทำการศึกษาทางคลินิกระยะที่ 1 ในเร็ว ๆ นี้ ซึ่งผลการศึกษาทางคลินิกระยะที่ 1 จะทยอยออกมาภายในปลายปี พ.ศ. 2563 นี้

เอกสารอ้างอิง
  1. These 19 companies are working on coronavirus treatments or vaccines – here’s where things stand, updated April 5, 2020. https://www.marketwatch.com/story/these-nine-companies-are-working-on-coronavirus-treatments-or-vaccines-heres-where-things-stand-2020-03-06. Accessed: April 5, 2020.
  2. DRAFT landscape of COVID-19 candidate vaccines – 20 March 2020. Novel-coronavirus-landscape-ncov.pdf. Accessed: April 5, 2020.
  3. Safety and immunogenicity study of 2019-nCoV vaccine (mRNA-1273) to prevent SARS-CoV-2 infection. https://clinicaltrials.gov/ct2/show/NCT04283461?term=vaccine&cond=covid-19&draw=2&rank=4. Accessed: April 5, 2020.
  4. A phase I clinical trial for recombinant novel coronavirus (2019-COV) vaccine (adenoviral vector). http://www.chictr.org.cn/showprojen.aspx?proj=51154. Accessed: April 5, 2020.
  5. Vaxart provides update on its oral COVID-19 vaccine program, March 31, 2020. https://investors.vaxart.com/news-releases/news-release-details/vaxart-provides-update-its-oral-covid-19-vaccine-program. Accessed: April 5, 2020.
  6. Medicago announces production of a viable vaccine candidate for COVID-19, last updated March 26, 2020. https://www.expresspharma.in/covid19-updates/medicago-announces-production-of-a-viable-vaccine-candidate-for-covid-19/. Accessed: April 5, 2020.
  7. Li H, Zhou Y, Zhang M, Wang H, Zhao Q, Liu J. Updated approaches against SARS-CoV-2. Antimicrob Agents Chemother 2020. Doi:10.1128/AAC.00483-20. Accessed: April 5, 2020.
  8. Chen WH, Strych U, Hotez PJ, Bottazzi ME. The SARS-CoV-2 vaccine pipeline: an overview. Curr Trop Med Rep 2020. Doi:10.1007/s40475-020-00201-6. Accessed: April 5, 2020.
  9. Phadke M, Saunik S. COVID-19 treatment by repurposing drugs until the vaccine is in sight. Drug Dev Res 2020. doi:10.1002/ddr.21666. Accessed: April 5, 2020.
Others articles

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้

Public Knowledge Articles



View all articles
-->

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

Faculty of Pharmacy, Mahidol University.

447 Sri-Ayuthaya Road, Rajathevi, Bangkok 10400, THAILAND
Designed & Developed by Department of Information Technology, Faculty of Pharmacy, Mahidol University.
Copyright © 2013-2020
 

We use Cookies

This site uses cookies to personalise your experience and analyse site traffic. By Clicking ACCEPT or continuing to browse the site you are agreeing to our use of cookies.