Knowledge Article


วัคซีนโควิด-19 ตอนที่ 2 : วัคซีนโควิด-19 ชนิดที่นำมาใช้แล้ว


รองศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรหญิง นงลักษณ์ สุขวาณิชย์ศิลป์
หน่วยคลังข้อมูลยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพประกอบจาก : https://imagevars.gulfnews.com/2020/11/20/2201120-covid-19-vaccine_175e43c0db0_medium.jpg
10,292 View,
Since 2021-01-19
Last active: 1 days ago

Scan to read on mobile device
 
A - | A +


โควิด-19 (COVID-19) เป็นโรคติดเชื้อที่ทางเดินหายใจ เกิดจากโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ คือ “2019-nCoV (2019 novel coronavirus)” หรือ “SARS-CoV-2” เริ่มเกิดการระบาดที่เมืองอู่ฮั่นในประเทศจีน (Wuhan, China) เมื่อเดือนธันวาคมปี พ.ศ. 2562 (ค.ศ. 2019) และปัจจุบันการระบาดของโรคนี้ยังคงดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่อง ผู้ป่วยโควิด-19 มีอาการที่สำคัญคือ มีไข้ ไอ และหายใจลำบาก มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมากเนื่องจากการหายใจล้มเหลวและอาการแทรกซ้อนอื่น การคิดค้นยาเพื่อใช้กำจัดไวรัสที่เป็นต้นเหตุและการพัฒนาวัคซีนเพื่อป้องกันโรคนี้ดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่อง กรณีวัคซีนได้เริ่มมีการพัฒนาตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี พ.ศ. 2563 และการพัฒนาเป็นไปอย่างเร่งด่วนเพื่อให้ได้วัคซีนมาใช้โดยเร็ว ขณะนี้มีวัคซีนโควิด-19 ออกใช้แล้วหลายผลิตภัณฑ์ดังที่จะกล่าวถึงในบทความนี้ นอกจากนี้ยังมีวัคซีนโควิด-19 อีกหลายชนิดที่คาดว่าจะนำมาใช้ได้ในอีกไม่ช้า



ภาพจาก : https://cdn.koreabiomed.com/news/photo/202011/9703_9643_1053.jpg

การพัฒนาวัคซีนโควิด-19

วัคซีนเป็นผลิตภัณฑ์ชีวภาพ เมื่อให้เข้าสู่ร่างกายจะกระตุ้นเซลล์ร่างกายให้สร้างภูมิคุ้มกันหรือแอนติบอดีที่จำเพาะขึ้นมาเพื่อต่อต้านเชื้อโรค วัคซีนมีหลายแบบและกรรมวิธีในการผลิตวัคซีนมีมากมาย องค์ประกอบในวัคซีนมีความแตกต่างกันไป วัคซีนอาจได้มาจากชิ้นส่วนของเชื้อที่ก่อโรคซึ่งสามารถกระตุ้นเซลล์ร่างกายให้สร้างภูมิคุ้มกันได้ หรือได้จากสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นมาด้วยกรรมวิธีทางเทคโนโลยีชีวภาพซึ่งสิ่งนั้นสามารถกระตุ้นเซลล์ร่างกายให้สร้างภูมิคุ้มกันได้ วัคซีนโควิด-19 ที่ผลิตออกใช้แล้วมีหลายแบบ ตัวอย่างได้แก่ (1) วัคซีนเชื้อตาย (inactivated vaccine) ซึ่งเมื่อให้เข้าสู่ร่างกายจะไม่ก่อโรคแต่สามารถกระตุ้นเซลล์ร่างกายให้สร้างภูมิคุ้มกันต่อไวรัสที่ก่อโรค (คือ SARS-CoV-2) ได้ (2) วัคซีนที่ประกอบด้วยชิ้นส่วนของเชื้อก่อโรค (subunit vaccine) ซึ่งสามารถกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันได้ดี ชิ้นส่วนนั้นคือสไปก์โปรตีน (spike protein) ซึ่งเป็นโปรตีนบนผิวไวรัสโควิด-19 ทำหน้าที่เป็นแอนติเจนกระตุ้นเซลล์ร่างกายให้สร้างภูมิคุ้มกันต่อไวรัส วัคซีนชนิดนี้จะใส่สารเสริมฤทธิ์ (adjuvant) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการกระตุ้นเซลล์ร่างกายให้สร้างภูมิคุ้มกัน (3) วัคซีนชนิดที่กระตุ้นเซลล์ร่างกายให้สร้างแอนติเจนคือสไปก์โปรตีนขึ้นเอง โดยใช้ไวรัสเป็นพาหะ (viral vector vaccine) ในการนำสารพันธุกรรมเข้าสู่ร่างกาย เพื่อส่งรหัสให้เซลล์ร่างกายสร้างแอนติเจน เช่น วัคซีนชนิดที่อะดีโนไวรัสเป็นพาหะ (adenoviral vector vaccine) และ (4) วัคซีนชนิดที่กระตุ้นเซลล์ร่างกายให้สร้างแอนติเจนคือสไปก์โปรตีนขึ้นเอง โดยการใช้สารพันธุกรรมโดยตรงไม่ต้องอาศัยพาหะ ได้แก่ วัคซีนกรดนิวคลิอิก (nucleic acid vaccine) ซึ่งแบ่งเป็นวัคซีนชนิดดีเอ็นเอ (deoxyribonucleic acid vaccine หรือ DNA vaccine) และวัคซีนชนิดเอ็มอาร์เอ็นเอ (messenger ribonucleic acid vaccine หรือ mRNA vaccine)

การพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ได้เริ่มขึ้นตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี พ.ศ. 2563 ในการพัฒนาวัคซีนชนิดใหม่โดยทั่วไปอย่างเร็วจะใช้เวลาไม่น้อยกว่า 2-3 ปีจึงได้รับอนุมัติให้วางจำหน่ายได้ วัคซีนบางชนิดใช้เวลาศึกษานานถึง 5 ปีหรือกว่านั้น เนื่องจากต้องผ่านการทดสอบด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัยก่อนเริ่มการศึกษาทางคลินิก (ทำในคน) โดยทั่วไปการศึกษาทางคลินิกมี 3 ระยะ คือการศึกษาทางคลินิกระยะที่ 1 (phase 1 clinical trial) ทดสอบกับอาสาสมัครที่มีสุขภาพดีจำนวนไม่มาก ต่อมาการศึกษาทางคลินิกระยะที่ 2 (phase 2 clinical trial) ทดสอบกับผู้ที่อาศัยอยู่ในแหล่งที่มีการระบาดของโรคในจำนวนมากขึ้นถึงระดับหลายร้อยคน เพื่อดูประสิทธิภาพของวัคซีนเป็นหลัก ระยะนี้ใช้เวลาหลายเดือนจนถึงหลายปี และการศึกษาทางคลินิกระยะที่ 3 (phase 3 clinical trial) ทดสอบกับผู้ที่อาศัยอยู่ในแหล่งที่มีการระบาดของโรคในจำนวนที่มากขึ้นระดับหลายพันคน โดยทั่วไประยะนี้ใช้เวลาหลายปี อย่างไรก็ตามในกรณีเร่งด่วนที่เกิดโรคระบาดอย่างรุนแรงเช่นกรณีของโควิด-19 นี้ มีความจำเป็นต้องเร่งการผลิตและกระบวนอนุมัติเพื่อให้มีวัคซีนออกมาใช้โดยเร็ว

วัคซีนโควิด-19 ชนิดที่นำมาใช้แล้ว

ขณะนี้มีวัคซีนโควิด-19 หลายผลิตภัณฑ์นำมาใช้แล้ว มีทั้งชนิดที่ได้รับอนุมัติทะเบียนอย่างสมบูรณ์ (full authorization) และชนิดที่ได้รับอนุมัติให้ใช้กรณีฉุกเฉิน (emergency use authorization) จำนวนไม่น้อยกว่า 8 ชนิดดังที่จะกล่าวถึงข้างล่างนี้ การศึกษาทางคลินิกระยะที่ 3 ของวัคซีนบางผลิตภัณฑ์ที่ได้รับอนุมัติให้ใช้กรณีฉุกเฉินขณะนี้ยังคงดำเนินอยู่
  1. โทซินาเมแรน (tozinameran ชื่ออื่นคือ BNT162b2 และชื่อการค้าคือ Comirnaty) ที่รู้จักในชื่อว่า “Pfizer-BioNTech COVID-19 vaccine” พัฒนาโดยบริษัท BioNTech (Biopharmaceutical New Technologies) ร่วมกับบริษัทไฟเซอร์ (Pfizer) ผลิตโดยบริษัทไฟเซอร์ เป็นวัคซีนชนิดเอ็มอาร์เอ็นเอที่ผ่านการดัดแปลง (nucleoside-modified mRNA vaccine) มีใช้ในประเทศสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรปรวมถึงสหราชอาณาจักร และอีกหลายประเทศ ลักษณะเป็นยาน้ำแขวนตะกอน (suspension) ที่แช่แข็ง บรรจุในขวดยาสำหรับการใช้ฉีดหลายครั้ง (multiple-dose vial) เก็บที่อุณหภูมิ -80oC ถึง -60oC โดยเก็บพ้นแสง ก่อนใช้เจือจางด้วยน้ำเกลือ 0.9% ใช้ป้องกันโควิด-19 ในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไป ในขนาด 0.3 มิลลิลิตร ฉีดเข้ากล้ามเนื้อจำนวน 2 เข็ม โดยเว้นช่วงห่างกัน 3 สัปดาห์
  2. เอ็มอาร์เอ็นเอ-1273 (mRNA-1273) ที่รู้จักในชื่อว่า “Moderna COVID-19 vaccine” พัฒนาโดยหน่วยงาน NIAID (National Institute of Allergy and Infectious Diseases), BARDA (Biomedical Advanced Research and Development Authority) และบริษัทโมเดอร์นา (Moderna) ผลิตโดยบริษัทโมเดอร์นา เป็นวัคซีนชนิดเอ็มอาร์เอ็นเอที่ผ่านการดัดแปลง มีใช้ในประเทศสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรปรวมถึงสหราชอาณาจักร แคนาดาและอีกหลายประเทศ ลักษณะเป็นยาน้ำแขวนตะกอนที่แช่แข็ง บรรจุในขวดยาสำหรับการใช้ฉีดหลายครั้ง เก็บที่อุณหภูมิ -25oC ถึง -15oC โดยเก็บพ้นแสง ทิ้งให้หลอมถึงอุณหภูมิห้องก่อนฉีด ใช้ป้องกันโควิด-19 ในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป ในขนาด 0.5 มิลลิลิตร ฉีดเข้ากล้ามเนื้อจำนวน 2 เข็ม โดยเว้นช่วงห่างกัน 1 เดือน
  3. เอแซดดี-1222 (AZD1222 ชื่ออื่นคือ ChAdOx1 nCoV-19) ที่รู้จักในชื่อว่า “Oxford-AstraZeneca vaccine” พัฒนาโดยมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด (Oxford University) ร่วมกับบริษัทแอสทราเซเนกา (AstraZeneca) ผลิตโดยบริษัทแอสทราเซเนกา เป็นวัคซีนที่มีอะดีโนไวรัสเป็นพาหะ (modified chimpanzee adenovirus-vectored vaccine) มีใช้ในสหราชอาณาจักร อินเดีย เม็กซิโกและอีกบางประเทศ ลักษณะเป็นยาน้ำใสหรือออกเหลือบเล็กน้อย บรรจุในขวดยาสำหรับการใช้ฉีดหลายครั้ง เก็บที่อุณหภูมิ 2oC-8oC (ห้ามแช่แข็ง) โดยเก็บพ้นแสง ใช้ป้องกันโควิด-19 ในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป ในขนาด 0.5 มิลลิลิตร ฉีดเข้ากล้ามเนื้อจำนวน 2 เข็ม โดยเข็มที่สองห่างจากเข็มแรก 4-12 สัปดาห์
  4. BBIBP-CorV ที่รู้จักในชื่อว่า “Sinopharm COVID-19 vaccine” เป็นวัคซีนชนิดเชื้อตาย ผลิตโดยบริษัทซีโนฟาร์ม (Sinopharm--China National Pharmaceutical Group) มีใช้ในประเทศจีนและอีกบางประเทศ
  5. Ad5-nCoV พัฒนาโดยหน่วยงาน Beijing Institute of Biotechnology ร่วมกับบริษัท CanSino Biologics ผลิตโดยบริษัท CanSino Biologics เป็นวัคซีนที่มีอะดีโนไวรัสเป็นพาหะ มีใช้ในประเทศจีน
  6. CoronaVac ที่รู้จักในชื่อว่า “Sinovac vaccine” ผลิตโดยบริษัท Sinovac Biotech เป็นวัคซีนชนิดเชื้อตาย มีใช้ในประเทศจีนและอีกบางประเทศ
  7. Gam-COVID-Vac ที่รู้จักในชื่อการค้าว่า “Sputnik V” พัฒนาโดยหน่วยงาน Gamaleya Research Institute of Epidemiology and Microbiology เป็นวัคซีนที่มีอะดีโนไวรัส 2 ชนิดเป็นพาหะ มีใช้ในประเทศรัสเซียและอีกหลายประเทศ
  8. BBV152 (ชื่อการค้าคือ Covaxin) ที่รู้จักในชื่อว่า Bharat Biotech's COVID-19 vaccine พัฒนาโดยหน่วยงาน ICMR (Indian Council of Medical Research) ร่วมกับบริษัท Bharat Biotech ผลิตโดยบริษัท Bharat Biotech เป็นวัคซีนชนิดเชื้อตาย มีใช้ในประเทศอินเดีย
สำหรับอาการไม่พึงประสงค์ของวัคซีนเหล่านี้ที่อาจพบได้มีหลายอย่าง ส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรงยกเว้นรายที่เกิดการแพ้ยา อาการที่พบ เช่น ปวด บวม แดง คันและมีรอยช้ำบริเวณที่ฉีด ร่างกายอ่อนล้า ปวดศีรษะ ปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อ มีไข้ หนาวสั่น คลื่นไส้ อาเจียน รู้สึกไม่สบาย ต่อมน้ำเหลืองโต ควรเพิ่มความระมัดระวังเรื่องการแพ้วัคซีนในผู้สูงอายุ

วัคซีนโควิด-19 ชนิดที่คาดว่าจะนำมาใช้ในอีกไม่ช้า

ขณะนี้มีวัคซีนโควิด-19 หลายชนิดที่อยู่ระหว่างการศึกษาทางคลินิกระยะที่ 3 (รวมถึงระยะที่ 2/3) ซึ่งคาดว่าจะได้รับอนุมัติทะเบียนอย่างสมบูรณ์หรืออนุมัติให้ใช้กรณีฉุกเฉินจำนวนหลายผลิตภัณฑ์ ดังตัวอย่างที่จะกล่าวถึงข้างล่างนี้
  1. Ad26.COV2.S ที่รู้จักในชื่อว่า “Janssen COVID-19 vaccine” ผลิตโดยบริษัท Janssen Pharmaceutica (Johnson & Johnson) เป็นวัคซีนที่มีอะดีโนไวรัสเป็นพาหะ
  2. NVX-CoV2373 ผลิตโดยบริษัท Novavax เป็นชนิดวัคซีนซับยูนิต ประกอบด้วยสไปก์โปรตีนชนิดที่พัฒนาขึ้น (SARS-CoV-2 recombinant spike protein nanoparticle) และมีสารเสริมฤทธิ์
  3. ZF2001 (ชื่อการค้าคือ RBD-Dimer) พัฒนาโดยบริษัท Anhui Zhifei Longcom Biopharmaceutical ร่วมกับหน่วยงาน Institute of Microbiology Chinese Academy of Sciences ผลิตโดยบริษัท Anhui Zhifei Longcom Biopharmaceutical เป็นชนิดวัคซีนซับยูนิต ประกอบด้วยสไปก์โปรตีนชนิดที่พัฒนาขึ้นและมีสารเสริมฤทธิ์
  4. Zorecimeran (ชื่ออื่นคือ CVnCoV) ผลิตโดยบริษัท CureVac เป็นวัคซีนชนิดเอ็มอาร์เอ็นเอที่ผ่านการดัดแปลง
  5. CoVLP ผลิตโดยบริษัท Medicago ร่วมกับบริษัทแกล็กโซสมิทไคล์น (GlaxoSmithKline หรือ GSK) เป็นวัคซีนชนิดอนุภาคเหมือนไวรัสที่พัฒนาจากพืช (plant-derived virus-like particle vaccine) และมีสารเสริมฤทธิ์
  6. ZyCoV-D ผลิตโดยบริษัท Cadila Healthcare (Zydus Cadila) เป็นวัคซีนชนิดดีเอ็นเอ
  7. INO-4800 ผลิตโดยบริษัท INOVIO Pharmaceuticals เป็นวัคซีนชนิดดีเอ็นเอ (ชนิด plasmid pGX9501)
เอกสารอ้างอิง
  1. Dai L, Gao GF. Viral targets for vaccines against COVID-19. Nat Rev Immunol 2020. doi: 10.1038/s41577-020-00480-0. Accessed: January 10, 2021.
  2. Cennimo DJ, Bergman SJ. COVID-19 vaccines, updated: January 11, 2021. https://emedicine.medscape.com/article/2500139-overview. Accessed: January 11, 2021.
  3. Wang J, Peng Y, Xu H, Cui Z, Williams RO 3rd. The COVID-19 vaccine race: challenges and opportunities in vaccine formulation. AAPS PharmSciTech 2020. doi: 10.1208/s12249-020-01744-7. Accessed: January 10, 2021.
  4. Li YD, Chi WY, Su JH, Ferrall L, Hung CF, Wu TC. Coronavirus vaccine development: from SARS and MERS to COVID-19. J Biomed Sci 2020. doi: 10.1186/s12929-020-00695-2. Accessed: January 10, 2021.
  5. Sharma O, Sultan AA, Ding H, Triggle CR. A review of the progress and challenges of developing a vaccine for COVID-19. Front Immunol 2020. doi: 10.3389/fimmu.2020.585354. Accessed: January 10, 2021.
  6. Poland GA, Ovsyannikova IG, Kennedy RB. SARS-CoV-2 immunity: review and applications to phase 3 vaccine candidates. Lancet 2020; 396:1595-606.
  7. Haynes BF, Corey L, Fernandes P, Gilbert PB, Hotez PJ, Rao S, et al. Prospects for a safe COVID-19 vaccine. Sci Transl Med 2020. doi: 10.1126/scitranslmed.abe0948. Accessed: January 10, 2021.
  8. Salvatori G, Luberto L, Maffei M, Aurisicchio L, Roscilli G, Palombo F, et al. SARS-CoV-2 SPIKE PROTEIN: an optimal immunological target for vaccines. J Transl Med 2020. doi: 10.1186/s12967-020-02392-y. Accessed: January 10, 2021.
  9. Pfizer-BioNTech COVID-19 vaccine. Fact sheet for healthcare providers administering vaccine (vaccination providers). Revised: 1/2021. https://www.fda.gov/media/144413/download. Accessed: January 10, 2021.
  10. Moderna COVID-19 vaccine. Fact sheet for healthcare providers administering vaccine (vaccination providers). Revised: 12/2020. https://www.fda.gov/media/144637/download. Accessed: January 10, 2021.
  11. AstraZeneca COVID-19 vaccine. Summary of the public assessment report, updated 7 January 2021. https://www.gov.uk/government/publications/regulatory-approval-of-covid-19-vaccine-astrazeneca/summary-of-the-public-assessment-report-for-astrazeneca-covid-19-vaccine. Accessed: January 10, 2021.
Others articles

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้

Public Knowledge Articles



View all articles
-->

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

Faculty of Pharmacy, Mahidol University.

447 Sri-Ayuthaya Road, Rajathevi, Bangkok 10400, THAILAND
Designed & Developed by Department of Information Technology, Faculty of Pharmacy, Mahidol University.
Copyright © 2013-2020
 

We use Cookies

This site uses cookies to personalise your experience and analyse site traffic. By Clicking ACCEPT or continuing to browse the site you are agreeing to our use of cookies.