Knowledge Article


การค้นคว้ายาต้านไวรัสโควิด-19 ตอนที่ 3 : คลอโรควิน ไฮดรอกซีคลอโรควิน และยาอื่น


รองศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรหญิง นงลักษณ์ สุขวาณิชย์ศิลป์
หน่วยคลังข้อมูลยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพประกอบจาก : https://www.monaldi-archives.org/public/journals/1/article_1290_cover_en_US.jpg
10,239 View,
Since 2020-04-17
Last active: 14h ago

Scan to read on mobile device
 
A - | A +


ปัจจุบันอยู่ในช่วงที่เกิดโรคระบาดจากโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ หรือ “โควิด-19 (COVID-19)” ทำให้มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ขณะนี้ยังไม่มียาใดที่มีข้อบ่งใช้สำหรับรักษาโควิด-19 และไม่มีวัคซีนใช้ การรักษาโควิด-19 เป็นแบบประคับประคองอาการตามวิธีการรักษาที่เป็นมาตรฐาน สำหรับรายที่มีอาการรุนแรงซึ่งวิธีการรักษาที่เป็นมาตรฐานไม่เพียงพอที่จะช่วยชีวิต และเพื่อมนุษยธรรมอาจมีความจำเป็นต้องนำยาที่คาดว่ามีศักยภาพในการรักษาโควิด-19 แต่ยังไม่ได้รับอนุมัติทะเบียนยาในข้อบ่งใช้นี้มาใช้ก่อนเพื่อเป็นการช่วยชีวิต (compassionate use) ในจำนวนนี้มียาคลอโรควิน (รวมถึงไฮดรอกซีคลอโรควินซึ่งมีอาการไม่พึงประสงค์ต่ำกว่าคลอโรควิน) รวมอยู่ด้วย อย่างไรก็ตามข้อมูลจนถึงปัจจุบันยังไม่ชัดเจนที่จะสนับสนุนทั้งด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัยของคลอโรควินและไฮดรอกซีคลอโรควินในการใช้รักษาโควิด-19 หลายหน่วยงานจึงกำลังเร่งทำการศึกษาทางคลินิกเพื่อนำมาสนับสนุนประสิทธิภาพและความปลอดภัยของยาเหล่านี้ ขณะเดียวกันองค์การอนามัยโลกได้ทำการศึกษาภายใต้ชื่อ “Solidarity Trial” เพื่อประเมินประสิทธิภาพของยาที่นำมาใช้รักษาโควิด-19 ซึ่งมียาคลอโรควินและไฮดรอกซีคลอโรควินอยู่ในการศึกษาด้วย ในบทความนี้ให้ข้อมูลทั่วไปถึงการค้นคว้ายาต้านไวรัสโควิด-19, ข้อมูลทั่วไปของยาคลอโรควินและไฮดรอกซีคลอโรควิน, ข้อกังวลขณะนี้เกี่ยวกับการนำยาคลอโรควินและไฮดรอกซีคลอโรควินมาใช้รักษาโควิด-19 และแผนการศึกษาทางคลินิกของยาคลอโรควิน ไฮดรอกซีคลอโรควิน และยาต้านไวรัสโควิด-19 ชนิดอื่น



ภาพจาก : https://s.abcnews.com/images/Politics/hydoxychloroquine-tablets-ap-jc-200406_hpMain_16x9_992.jpg

การค้นคว้ายาต้านไวรัสโควิด-19

โควิด-19 เป็นโรคติดเชื้อที่ทางเดินหายใจ เกิดจากโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ คือ “2019-nCoV (2019 novel coronavirus)” หรือ “SARS-CoV-2” เริ่มเกิดการระบาดที่เมืองอู่ฮั่นในประเทศจีน (Wuhan, China) เมื่อเดือนธันวาคมปี พ.ศ. 2562 (ค.ศ. 2019) ปัจจุบันการระบาดยังดำเนินอยู่ในหลายประเทศ ผู้ป่วยมีอาการที่สำคัญคือ มีไข้ ไอ และหายใจลำบาก มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมากเนื่องจากการหายใจล้มเหลวและอาการแทรกซ้อนอื่น ขณะนี้ยังไม่มียาใดที่มีข้อบ่งใช้สำหรับรักษาโควิด-19 และไม่มีวัคซีนใช้ ในการค้นคว้ายาต้านไวรัสโควิด-19 ยังคงดำเนินต่อไป ตัวอย่างยาที่มีศักยภาพในการรักษาโควิด-19 ซึ่งได้ทดลองใช้รักษาผู้ป่วยในช่วงที่เกิดการระบาดนี้แล้ว เช่น ฟาวิพิราเวียร์ ( การค้นคว้ายาต้านไวรัสโควิด-19 ตอนที่ 1 : ฟาวิพิราเวียร์ (favipiravir)), เรมเดซิเวียร์ ( การค้นคว้ายาต้านไวรัสโควิด-19 ตอนที่ 2 : เรมเดซิเวียร์ (remdesivir) และยาอื่น), โลพินาเวียร์ที่ให้ร่วมกับริโทนาเวียร์ (lopinavir/ritonavir), ไรบาวิริน (ribavirin), อินเตอร์เฟียรอน (interferon-alpha หรือ interferon-beta), อาร์บิดอล (arbidol), คลอโรควินฟอสเฟต (และรวมถึงไฮดรอกซีคลอโรควิน) นอกจากนี้ยังมียาอื่นอีกหลายชนิดที่กำลังการศึกษาถึงฤทธิ์ต้านไวรัสโควิด-19 เช่น กาลิเดซิเวียร์ (galidesivir) เป็นยาต้านไวรัสที่มีฤทธิ์กว้าง, ไอเวอร์เมกติน (ivermectin) เป็นยากำจัดปรสิตพวกเหา หิดและหนอนพยาธิ, นิโคลซาไมด์ (niclosamide) เป็นยากำจัดหนอนพยาธิ ผลการศึกษาในหลอดทดลองพบว่ายาเหล่านี้ให้ผลดีในการต้านไวรัสโควิด-19

ข้อมูลทั่วไปของยาคลอโรควินและไฮดรอกซีคลอโรควิน



คลอโรควินค้นพบเมื่อปี พ.ศ. 2477 และไฮดรอกซีคลอโรควินสังเคราะห์ได้ในปี พ.ศ. 2489 จึงเป็นยาที่ใช้กันมานานมากแล้ว ในทางยาผลิตคลอโรควินในรูปเกลือฟอสเฟตเป็นส่วนใหญ่ ส่วนไฮดรอกซีคลอโรควินผลิตในรูปเกลือซัลเฟตเป็นส่วนใหญ่ ยาทั้งสองชนิดมีโครงสร้างคล้ายกัน (ดูรูป) ต่างกันตรงที่หมู่ไฮดรอกซีซึ่งทำให้ไฮดรอกซีคลอโรควินมีเภสัชจลนศาสตร์และอาการไม่พึงประสงค์ต่างจากคลอโรควิน โดยมีอาการไม่พึงประสงค์ต่ำกว่าคลอโรควินจึงนิยมใช้มากกว่า คลอโรควินมีช่วงขนาดยาที่ถือว่าปลอดภัยเมื่อนำมาใช้ในคนแคบ (narrow therapeutic window) จึงเสี่ยงที่จะเกิดอาการพิษจากการใช้ยาเกินขนาด ซึ่งเป็นอันตรายอาจถึงเสียชีวิตได้ ก่อนหน้านี้การใช้คลอโรควินลดลงมาก แต่ช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 ได้เริ่มนำยานี้กลับมาใช้มากขึ้น คลอโรควินและไฮดรอกซีคลอโรควินใช้ประโยชน์ทางการแพทย์สำหรับป้องกันและรักษาโรคมาลาเรีย นอกจากนี้ยาดังกล่าวมีฤทธิ์ปรับภูมิคุ้มกันและลดการอักเสบที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน จึงนำมาใช้รักษาโรคเอสแอลอี (systemic lupus erythematosus) และโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (rheumatoid arthritis) อีกด้วย นอกจากนี้คลอโรควินยังใช้รักษาฝีบิดในตับ (hepatic amoebiasis)

ขนาดยาคลอโรควินที่แนะนำให้ใช้ตามแนวทางการวินิจฉัยและการรักษาโรคปอดอักเสบจากโควิค-19 ฉบับที่ 7 ของประเทศจีน (Chinese Clinical Guidance for COVID-19 Pneumonia Diagnosis and Treatment, 7th edition–March 4, 2020) ระบุขนาดคลอโรควินฟอสเฟตที่ให้กับผู้ป่วยผู้ใหญ่ดังนี้ หากมีน้ำหนักตัวเกิน 50 กิโลกรัม รับประทานในขนาด 500 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 7 วัน หากมีน้ำหนักตัวน้อยกว่า 50 กิโลกรัม รับประทานในขนาด 500 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง ใน 2 วันแรก จากนั้นรับประทานในขนาด 500 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง เป็นเวลา 5 วัน (ในวันที่ 3-7) ในขณะนี้ยังไม่มีขนาดยาที่ชัดเจนสำหรับไฮดรอกซีคลอโรควิน หากพิจารณาจากโมเดลทางเภสัชจลนศาสตร์ที่อาศัยข้อมูลด้านสรีรวิทยา มีผู้แนะนำให้เริ่มด้วยขนาด 400 มิลลิกรัม รับประทานวันละ 2 ครั้ง จากนั้นลดเหลือขนาด 200 มิลลิกรัม รับประทานวันละ 2 ครั้ง อีก 4 วัน

เภสัชวิทยาของยาคลอโรควินและไฮดรอกซีคลอโรควิน

มีการศึกษาในหลอดทดลองที่แสดงให้เห็นถึงฤทธิ์ของยาคลอโรควินและไฮดรอกซีคลอโรควินในการต้านโคโรนาไวรัสบางสายพันธุ์รวมถึงไวรัสโควิด-19 (SARS–CoV-2) ด้วย กลไกการออกฤทธิ์ของยาอาจเกี่ยวข้องกับสิ่งเหล่านี้ (1) ขัดขวางไม่ให้ไวรัสเข้าสู่เซลล์โฮส (เช่นเซลล์ที่ทางเดินหายใจคน) โดยขัดขวางการจับของโปรตีนเอสบนไวรัส (spike protein S) กับตัวรับ (angiotensin-converting enzyme 2 receptor หรือ ACE2 receptor) บนเซลล์โฮส, (2) ขัดขวางการเพิ่มจำนวนไวรัสโดยเพิ่มสภาพด่าง (เพิ่มพีเอช) ภายในเอนโดโซม (endosome) และไลโซโซม (lysosome), (3) ลดปฏิกิริยาการอักเสบที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการทางภูมิคุ้มกัน โดยลดการปลุกฤทธิ์ทีเซลล์ (T cell), ลดการปรากฏของซีดี 154 (CD154) และลดการสร้างสารไซโตไคน์ (cytokines) ที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบ เช่น อินเตอร์ลิวคิน-1 (interleukin-1), อินเตอร์ลิวคิน-6 (interleukin-6), ทีเอนเอฟ-แอลฟา (tumor necrosis factor-alpha หรือ TNF-α) (ไซโตไคน์เป็นสารที่สร้างและหลั่งโดยเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกัน นอกจากมีบทบาทเกี่ยวกับภูมิคุ้มกันแล้วยังมีบทบาทด้านอื่นรวมถึงการเกิดการอักเสบ), และ (4) ยาขัดขวางการถอดรหัส (transcription) ของยีนที่เกี่ยวข้องกับการสร้างสารไซโตไคน์ชนิดก่อการอักเสบ ด้วยเหตุนี้คลอโรควินและไฮดรอกซีคลอโรควินจึงยับยั้งไวรัสในขั้นตอนการเข้าสู่เซลล์ ยับยั้งการเพิ่มจำนวนไวรัส และยังอาจลดการเกิดภาวะพายุไซโตไคน์ (cytokine storm) ซึ่งภาวะนี้ทำให้เกิดกลุ่มอาการต่าง ๆ อันเกิดจากฤทธิ์ของไซโตไคน์ และเป็นภาวะแทรกซ้อนที่ทำให้ผู้ป่วยโควิด-19 เสียชีวิตได้

คลอโรควินและไฮดรอกซีคลอโรควินถูกดูดซึมจากทางเดินอาหารได้เร็วและเกือบสมบูรณ์ ยากระจายสู่ส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้ดีและสะสมได้ในเนื้อเยื่อ การกำจัดยาออกจากร่างกายเป็นไปได้ช้ามาก ยาถูกขับออกจากร่างกายทั้งในรูปเดิมและรูปที่เปลี่ยนสภาพไป คลอโรควินในขนาด 5 กรัมอาจทำให้เสียชีวิตได้ ในการใช้รักษาโควิค-19 ขนาดที่แนะนำให้รับประทาน 500 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง เป็นขนาดที่สูงมากเมื่อเทียบกับขนาดที่ใช้รักษาโรคมาลาเรีย จึงเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายหากใช้ยาต่อเนื่องหลายวัน อาการไม่พึงประสงค์ของยาเหล่านี้ที่อาจพบ โดยเฉพาะเมื่อใช้เป็นเวลานานหรือใช้ในขนาดสูง เช่น เกิดอาการผิดปกติทางผิวหนัง เป็นพิษต่อหัวใจ หัวใจเต้นผิดจังหวะ การสร้างเม็ดเลือดและเกล็ดเลือดลดลง เกิดโรคของกล้ามเนื้อและเส้นประสาท กล้ามเนื้ออ่อนแรง เป็นพิษต่อตา กลัวแสง อาจเกิดภาวะตับวายเฉียบพลันได้ (ซึ่งเสี่ยงต่อการเสียชิวิตแม้จะพบได้น้อย) อาการไม่พึงประสงค์เหล่านี้เกิดกับคลอโรควินได้มากกว่าไฮดรอกซีคลอโรควิน

ข้อกังวลขณะนี้เกี่ยวกับการนำยาคลอโรควินและไฮดรอกซีคลอโรควินมาใช้รักษาโควิด-19

ขณะนี้ผลการศึกษาทางคลินิก (ทำการศึกษาในคน) ที่จะสนับสนุนด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัยของคลอโรควินและไฮดรอกซีคลอโรควินในการใช้รักษาโควิด-19 ยังไม่ชัดเจน แม้ว่าผลการศึกษาในหลอดทดลองจะพบว่ายามีประสิทธิภาพดีต่อเชื้อไวรัสโควิด-19 แต่ไม่ได้เป็นสิ่งยืนยันเสมอไปว่าจะให้ผลดีในการรักษาผู้ป่วย จากข้อมูลในอดีตยาต้านไวรัสอีโบลาให้ผลดีในขั้นตอนก่อนมีการศึกษาในคน ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาในหลอดทดลองหรือในสัตว์ทดลอง แต่กลับให้ผลไม่ดีเมื่อทำการศึกษาทางคลินิก ในกรณีของคลอโรควินและไฮดรอกซีคลอโรควินแม้มีข้อมูลว่ายาช่วยลดความรุนแรงของปอดอักเสบในผู้ป่วยโควิด-19 และบางการศึกษาพบว่าให้ผลดีขึ้นหากใช้ร่วมกับอะซิโทรไมซิน (azithromycin) ซึ่งเป็นยาต้านแบคทีเรีย แต่การศึกษาเหล่านั้นทำในผู้ป่วยจำนวนน้อย บางการศึกษาไม่ได้บอกถึงวิธีการที่ชัดเจน อีกทั้งไม่มีกลุ่มควบคุมที่ดีพอเพื่อนำมาเปรียบเทียบ ข้อมูลที่ได้จึงไม่เพียงพอที่จะยืนยันประสิทธิผลของยา นอกจากนี้การใช้ยาในขนาดสูงทำให้เสี่ยงต่อการเกิดอาการไม่พึงประสงค์ที่รุนแรงได้ง่าย โดยเฉพาะความเป็นพิษต่อตาและความเป็นพิษต่อหัวใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีการใช้ร่วมกับอะซิโทรไมซิน เมื่อเร็ว ๆ นี้ มีข้อมูลว่าในบางประเทศ เช่น สวีเดนต้องหยุดใช้คลอโรควินชั่วคราวในหลายโรงพยาบาลเนื่องจากอาการไม่พึงประสงค์เกี่ยวกับการเกิดตะคริวและรบกวนการมองเห็น ด้วยเหตุนี้จึงมีการเรียกร้องให้มีการศึกษาทางคลินิกอย่างมีแบบแผนที่ดีเพื่อยืนยันประสิทธิภาพของยาดังกล่าว ขณะนี้หลายหน่วยงานรวมถึงองค์การอนามัยโลก (WHO) กำลังดำเนินการศึกษาอยู่ นอกจากนี้การที่ยาคลอโรควินและไฮดรอกซีคลอโรควินมีราคาไม่แพงเมื่อเทียบกับยาต้านไวรัสชนิดอื่น หากมีการใช้กันมากในขณะนี้ อาจนำไปสู่การขาดแคลนยาสำหรับใช้รักษาโรคที่ต้องพึ่งยาดังกล่าว เช่น โรคเอสแอลอี, โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์

แผนการศึกษาทางคลินิกของยาคลอโรควิน (รวมถึงไฮดรอกซีคลอโรควิน) และยาต้านไวรัสไวรัสโควิด-19 ชนิดอื่น

ในการศึกษาทางคลินิกของยาต่าง ๆ ที่จะนำมาใช้รักษาโควิด-19 ควรทำในช่วงที่มีการระบาดอย่างหนัก เพื่อให้มีจำนวนผู้ป่วยที่เพียงพอสำหรับการประเมินผล ขณะนี้มีหลายหน่วยงานได้ทำการศึกษาทางคลินิกของยาหลายชนิดรวมถึงคลอโรควินและไฮดรอกซีคลอโรควิน ในจำนวนนี้รวมถึงการศึกษาที่ชื่อ “Solidarity Trial” (หมายถึง “การทดลองอันเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน” หรือ “การทดลองอันสมัครสมานสามัคคี”) ขององค์การอนามัยโลกโดยความร่วมมือของหลายประเทศที่มีผู้ป่วยโควิด-19 รวมถึงประเทศไทยด้วย ยิ่งมีผู้ป่วยจำนวนมากผลการศึกษายิ่งน่าเชื่อถือ ในการศึกษานี้เพื่อความรวดเร็วจะลดงานบางอย่างที่เป็นเอกสารลง ยาที่นำมาศึกษาจะคัดเลือกยาที่ให้ผลการศึกษาดีทั้งในหลอดทดลอง ในสัตว์ทดลองและในการศึกษาทางคลินิกที่ทำมาแล้วในผู้ป่วยจำนวนไม่มาก ได้แก่ คลอโรควินและไฮดรอกซีคลอโรควิน (ใช้อย่างใดอย่างหนึ่ง), เรมเดซิเวียร์ (remdesivir) เป็นยาที่เคยใช้รักษาโรคอีโบลา, โลพินาเวียร์ที่ให้ร่วมกับริโทนาเวียร์ (lopinavir/ritonavir) ยาสูตรผสมนี้ใช้รักษาโรคเอดส์ และโลพินาเวียร์/ริโทนาเวียร์ ที่ให้ร่วมกับอินเตอร์เฟียรอน-เบตา-1 เอ (interferon-beta-1a) ซึ่งยาชนิดหลังนี้ใช้รักษาโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (multiple sclerosis) โดยจะเปรียบเทียบการใช้ยาทั้ง 4 สูตร กับวิธีการรักษาที่เป็นมาตรฐาน โดยจะประเมินประสิทธิภาพของยาในการลดความรุนแรงของโรคและลดอัตราการเสียชีวิต ผู้ป่วยทุกรายได้รับการรักษาตามวิธีการมาตรฐานของแต่ละประเทศ การศึกษาทำในผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป แบ่งกลุ่มผู้ป่วยแบบสุ่มแต่ไม่ได้ปกปิดชื่อยา (randomized, non-blinded trial) เริ่มทำการศึกษาเมื่อเดือนมีนาคม ขณะนี้การศึกษาดำเนินอยู่ และข้อมูลเมื่อวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2563 มีประเทศต่าง ๆ เข้าร่วมกว่า 90 ประเทศ

เอกสารอ้างอิง
  1. Zhou D, Dai SM, Tong Q. COVID-19: a recommendation to examine the effect of hydroxychloroquine in preventing infection and progression. J Antimicrob Chemother 2020. doi:10.1093/jac/dkaa114. Accessed: April 13, 2020.
  2. Yazdany J, Kim AHJ. Use of hydroxychloroquine and chloroquine during the COVID-19, pandemic: what every clinician should know. Ann Intern Med 2020. doi:10.7326/M20-1334. Accessed: April 13, 2020.
  3. Wang M, Cao R, Zhang L, Yang X, Liu J, Xu M, et al. Remdesivir and chloroquine effectively inhibit the recently emerged novel coronavirus (2019-nCoV) in vitro. Cell Res 2020; 30:269-71.
  4. Ferner RE, Aronson JK. Chloroquine and hydroxychloroquine in covid-19. BMJ 2020. doi:10.1136/bmj.m1432. Accessed: April 13, 2020.
  5. Gao J, Tian Z, Yang X. Breakthrough: chloroquine phosphate has shown apparent efficacy in treatment of COVID-19 associated pneumonia in clinical studies. Biosci Trends 2020; 14:72-3.
  6. Gautret P, Lagier JC, Parola P, Hoang VT, Meddeb L, Mailhe M, et al. Hydroxychloroquine and azithromycin as a treatment of COVID-19: results of an open-label non-randomized clinical trial. Int J Antimicrob Agents 2020. doi:10.1016/j.ijantimicag.2020.105949. Accessed: April 15, 2020.
  7. Liu J, Cao R, Xu M, Wang X, Zhang H, Hu H, et al. Hydroxychloroquine, a less toxic derivative of chloroquine, is effective in inhibiting SARS-CoV-2 infection in vitro. Cell Discov 2020. doi:10.1038/s41421-020-0156-0. Accessed: April 15, 2020.
  8. Mégarbane B.Chloroquine and hydroxychloroquine to treat COVID-19: between hope and caution. Clin Toxicol 2020. doi:10.1080/15563650.2020.1748194. Accessed: April 15, 2020.
  9. Kupferschmidt K, Cohen J. Race to find COVID-19 treatments accelerates. Science 2020; 367:1412-3.
  10. Zhai P, Ding Y, Wu X, Long J, Zhong Y, Li Y. The epidemiology, diagnosis and treatment of COVID-19. Int J Antimicrob Agents 2020. doi:10.1016/j.ijantimicag.2020.105955. Accessed: April 15, 2020.
  11. Cortegiani A, Ingoglia G, Ippolito M, Giarratano A, Einav S. A systematic review on the efficacy and safety of chloroquine for the treatment of COVID-19. J Crit Care 2020. doi:10.1016/j.jcrc.2020.03.005. Accessed: April 15, 2020.
  12. Gbinigie K, Frie K. Should chloroquine and hydroxychloroquine be used to treat COVID-19? A rapid review. BJGP Open 2020. doi:10.3399/bjgpopen20X101069. Accessed: April 15, 2020.
  13. Keshtkar-Jahromi M, Bavari S. A call for randomized controlled trials to test the efficacy of chloroquine and hydroxychloroquine as therapeutics against novel coronavirus disease (COVID-19). Am J Trop Med Hyg 2020. doi:10.4269/ajtmh.20-0230. Accessed: April 15, 2020.
  14. Devaux CA, Rolain JM, Colson P, Raoult D. New insights on the antiviral effects of chloroquine against coronavirus: what to expect for COVID-19? Int J Antimicrob Agents 2020. doi:10.1016/j.ijantimicag.2020.105938. Accessed: April 15, 2020.
  15. Perinel S, Launay M, Botelho-Nevers É, Diconne É, Louf-Durier A, Lachand R, et al. Towards optimization of hydroxychloroquine dosing in intensive care unit COVID-19 patients. Clin Infect Dis 2020. Doi:10.1093/cid/ciaa394. Accessed: April 15, 2020.
  16. Chatre C, Roubille F, Vernhet H, Jorgensen C, Pers YM. Cardiac complications attributed to chloroquine and hydroxychloroquine: a systematic review of the literature. Drug Saf 2018; 41:919-31.
  17. “Solidarity” clinical trial for COVID-19 treatments. https://www.who.int/emergencies/diseases/novel-coronavirus-2019/global-research-on-novel-coronavirus-2019-ncov/solidarity-clinical-trial-for-covid-19-treatments. Accessed: April 15, 2020.
  18. Caly L, Druce JD, Catton MG, Jans DA, Wagstaff KM. The FDA-approved drug ivermectin inhibits the replication of SARS-CoV-2 in vitro. Antiviral Res 2020. doi:10.1016/j.antiviral.2020.104787. Accessed: April 15, 2020.
  19. Xu J, Shi PY, Li H, Zhou J. Broad spectrum antiviral agent niclosamide and its therapeutic potential. ACS Infect Dis 2020. doi:10.1021/acsinfecdis.0c00052. Accessed: April 15, 2020.
Others articles

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้

Public Knowledge Articles



View all articles
-->

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

Faculty of Pharmacy, Mahidol University.

447 Sri-Ayuthaya Road, Rajathevi, Bangkok 10400, THAILAND
Designed & Developed by Department of Information Technology, Faculty of Pharmacy, Mahidol University.
Copyright © 2013-2020
 

We use Cookies

This site uses cookies to personalise your experience and analyse site traffic. By Clicking ACCEPT or continuing to browse the site you are agreeing to our use of cookies.