Knowledge Article


ยาคลายเครียดกับภาระกิจช่วยเหลือหมูป่าติดถ้ำ


อาจารย์ ดร.ภก. พงศธร มีสวัสดิ์สม
ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
12,372 View,
Since 2018-07-18
Last active: 2m ago
https://tinyurl.com/2d37f7h6
Scan to read on mobile device
 
A - | A +


จากข่าวตามสื่อต่างๆ เกี่ยวกับน้องๆ ทีมหมูป่าอะคาเดมี่ ที่ทุกท่านร่วมทั้งคนทั่วโลกคงได้ติดตามกันมาอย่างต่อเนื่อง ในช่วงที่ทีมช่วยเหลือกำลังจะนำน้องๆ ออกมาจากถ้ำได้มีการให้ยาบางอย่างเพื่อช่วยให้การช่วยเหลือเป็นไปได้ง่ายขึ้น ท่านอาจสงสัยว่าเพราะเหตุใดจึงต้องให้ยา และอาจสับสนว่ายาเป็นยาสลบ ยาระงับประสาท หรือยาคลายกังวลกันแน่เพราะมีการใช้คำที่แตกต่างกันไป



การทำงานของสมองเมื่อมีความวิตกกังวล

ความวิตกกังวล ความกลัว ความเครียด เป็นความรู้สึกปกติที่มีประโยชน์ทำให้เราหลีกหนีจากภยันตราย เอาตัวรอด หรือทำงานให้ลุล่วง อาการเหล่านี้เกิดจากการทำงานประสานกันของสมองหลายส่วนทั้งส่วนที่รับรู้ แปลผลความรู้สึกต่างๆ ส่วนที่ควบคุมอารมณ์ และส่วนที่ควบคุมการตอบสนองต่างๆ ของอวัยวะภายในร่างกาย เพื่อให้ง่ายต่อความเข้าใจจะกล่าวโดยย่อคือ ปกติในร่างกายของเราจะมีสมองส่วนหนึ่งเรียกว่า อะมิกดาลา (amygdala) เป็นส่วนหนึ่งของสมองที่ควบคุมความรู้สึกและอารมณ์ เมื่อมีสิ่งกระตุ้นความกลัวต่างๆ เข้ามากระตุ้นประสาทสัมผัสของเรา ไม่ว่าจะเป็นภาพ เสียง กายสัมผัส จะกระตุ้นให้ อะมิกดาลาทำงาน และทำให้เกิดความรู้สึกในเชิงวิตกกังวล หวาดกลัว ตื่นตระหนก ตกใจ เครียด รวมทั้งยังส่งสัญญาณไปกระตุ้นสมองส่วนอื่นๆ ทำให้การเปลี่ยนแปลงในร่างกายหลายอย่างดังในรูปที่ 1 ตัวอย่างเช่น เมื่อเราเห็นงูกำลังเลื้อยเข้ามา นอกเหนือจากความรู้สึกกลัวแล้ว ร่างกายจะตอบสนองต่อสถานการณ์นี้หลายด้าน เช่น ใจสั่น แสดงสีหน้าหวาดกลัว การตอบสนองของร่างกายจะเร็วและมากกว่าปกติอย่างเด่นชัด เราอาจจะรีบวิ่งหนีอย่างทันทีทันใด วิ่งเร็วมากกว่าปกติ หรือบางครั้งสามารถกระโดดขึ้นที่สูงที่ปกติทำไม่ได้ การตอบสนองเหล่านี้เกิดจากการกระตุ้นการทำงานของอะมิกดาลา และในสถานการณ์นี้สมองส่วนอื่นๆ จะช่วยควบคุมด้วยไม่ให้เราทำสิ่งที่เสี่ยงเกินไปจนได้รับอันตราย เช่น กระโดดลงจากสะพานสูง และเมื่อรอดพ้น สมองส่วนอะมิกดาลาก็กลับมาทำงานปกติอีกครั้ง ความกลัวหรือวิตกกังวลก็จะหายไปเมื่อเหตุการณ์ผ่านไป และการตอบสนองต่อความกลัวหรือความวิตกกังวลของแต่ละคนจะแตกต่างกันไปขึ้นกับสถานการณ์ ประสบการณ์ในชีวิตที่ผ่านมา พื้นฐานจิตใจ และปัจจัยภายในสมอง ร่วมทั้งมีอาการทางกายที่แตกต่างกันเช่น บางคนอาจมีปวดท้อง หรือปัสสาวะราด



ความวิตกกังวลเมื่อประสบเหตุร้าย

หากเราลองจินตนาการว่าตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกับน้องๆ ทีมหมูป่า เราอาจทำอะไรไม่ถูกไม่รู้ว่าจะมีชีวิตรอดอยู่ได้อย่างไรและยาวนานแค่ไหน จากเหตุการณ์นี้จะเห็นได้ว่าน้องๆ ทีมหมูป่าสามารถควบคุมตนเองได้ไม่ตื่นตกใจมากเกินไป ยังสามารถสื่อสารได้ดีเมื่อทีมช่วยเหลือเข้าไปพบครั้งแรก แสดงว่าได้รับการฝึกฝนทางจิตใจมาดีในระดับหนึ่ง แต่การติดอยู่ในถ้ำเป็นเวลานานอาจมีผลกระตุ้นสมองส่วนอะมิกดาลาเป็นอย่างมากจนน้องๆ เองไม่รู้ตัว และอาจไม่สามารถควบคุมความตื่นตะหนกได้โดยเฉพาะในสภานการณ์คับขัน การที่ทีมช่วยเหลือต้องนำน้องๆ ดำน้ำออกมาจากถ้ำที่มีเส้นทางคดเคี้ยวยากลำบากและซับซ้อนอาจส่งผลต่อร่างกายและจิตใจ สมองส่วนอะอะมิกดาลาอาจถูกกระตุ้นมากเกินไป จนอาจก่อให้เกิดปัญหาขณะที่ทีมช่วยเหลือดำน้ำนำตัวออกมา เช่นการหายใจอาจผิดปกติหรือหลอดลมหดเกร็งจนเกิดภาวะขาดออกซิเจนทำให้ตัวเขียวและเสียชีวิต ความตื่นตะหนกอาจทำให้ตัวแข็งทื่อหรือไม่ทำตามที่ได้ตกลงไว้ได้ โดยเฉพาะเมื่อเกิดเหตุไม่คาดฝันขณะที่อยู่ใต้น้ำ ซึ่งทีมช่วยเหลือที่มีวิสัญญีแพทย์ชาวออสเตรเลียร่วมทีมจึงตัดสินใจให้ยาบางชนิดโดยมีวัตถุประสงค์หลักคือลดความรู้สึกวิตกกังวล ความตื่นตะหนกและลดการตอบสนองต่างๆ ของร่างกายที่มากเกินไป หรือที่เรียกว่ายาคลายเครียดนั่นเอง ส่วนจะใช้ยาอะไรนั้นเราคงไม่สามารถก้าวล่วงไปถึงจุดนั้นได้ บทความนี้จะชี้ให้เห็นถึงยากลุ่มนี้ประเภทต่างๆ เท่านั้น

ยาคลายความกังวลหรือยาคลายเครียด

ยาคลายกังวลมีหลายกลุ่มมาก แต่ละกลุ่มมีที่ใช้ทางการแพทย์แตกต่างกัน แบ่งเป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆคือ
  • กลุ่มที่ออกฤทธิ์สงบประสาท หรืออาจถูกเรียกในชื่ออื่นๆ เช่นยากล่อมประสาทชนิดมีฤทธิ์อ่อน ยากลุ่มนี้สามารถลดการกระตุ้นสมองส่วนอะมิกดาลาได้รวดเร็ว ระดับการสงบประสาทของยากลุ่มนี้ดังแสดงในรูปที่ 2 จะเห็นได้ว่าเมื่อให้ในขนาดที่เหมาะสมยาจะลดการทำงานของสมองส่วนอะมิกดาลาลงบางส่วน ให้ผลลดความวิตกกังวล และเมื่อเพิ่มขนาดยาขึ้นเรื่อยๆ จะมีผลกดการทำงานของสมองส่วนอื่นด้วย ซึ่งอาจให้ทั้งผลการรักษาและผลข้างเคียงได้อีกหลายอย่างเช่น
    • ผลการรักษา อาจใช้รักษาอาการชักในผู้ป่วยโรคลมชัก ใช้ทำให้ผู้ป่วยง่วงซึมและสงบลงก่อนผ่าตัด หรือใช้สลบผู้ป่วยเพื่อผ่าตัด ใช้ระยะสั้นเพื่อลดผลข้างเคียงของยาอื่นที่กระตุ้นสมอง และใช้ระยะสั้นในผู้ป่วยนอนไม่หลับ
    • ผลข้างเคียงอื่นๆ เช่น เดินเซ ความจำเสื่อมชั่วคราวในช่วงที่ยาออกฤทธิ์ และหมดสติหากได้รับในขนาดสูงมากเกินไป
    ยากลุ่มนี้จึงสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในทางการแพทย์ได้หลากหลายเป็นได้ทั้งยาคลายกังวล ยาระงับประสาท และยาสลบ ขึ้นกับขนาดของยา และวัตถุประสงค์ทางการแพทย์ ดังนั้นการใช้ยากลุ่มนี้จะต้องใช้ในขนาดที่เหมาะสม เพื่อให้เกิดผลตามที่ต้องการ และต้องได้รับการดูแลจากแพทย์อย่างใกล้ชิด

  • กลุ่มที่ออกฤทธิ์ปรับการทำงานของสารสื่อประสาทในสมอง กลุ่มนี้ออกฤทธิ์ช้ามากต้องรับประทานอย่างน้อย 1-2 สัปดาห์กว่าจะเริ่มเห็นผลการรักษา ส่วนใหญ่จะใช้ในการปรับสภาพจิตใจในกรณีที่ผ่านเหตุการณ์เลวร้าย แต่ยังมีความวิตกกังวล กลัว เครียดจนผิดปกติ ทำให้แม้เหตุการณ์ผ่านไปนานแล้วแต่ยังมีรำลึกเกี่ยวกับเหตุการณ์นั้นอยู่เช่น กลัวความมืด กลัวน้ำ กลัวที่แคบ คิดถึงหรือฝันถึงเหตุการณ์นั้นๆ ซ้ำแล้วซ้ำอีก หรือเรียกว่า post-traumatic stress disorder หรือ PTSD โรคนี้ยังอาจพบได้จากผู้ประสบเหตุภัยพิบัติอื่นๆ เช่น สึนามิ น้ำท่วมเฉียบพลัน หรือหลังสงคราม ยากลุ่มออกฤทธิ์ปรับการทำงานของสารสื่อประสาทในสมองนี้จะมีประโยชน์ในการรักษาโรคดังกล่าวโดยต้องรับประทานอย่างสม่ำเสมอและรับการรักษาในระยะยาว อาจใช้ร่วมกับยากลุ่มที่ออกฤทธิ์สงบประสาท และการรักษาอื่นๆ เช่น จิตบำบัด
  • กลุ่มที่ออกฤทธิ์ลดอาการทางกายจากความวิตกกังวล เช่น ลดอาการใจสั่น หรือปวดท้อง โดยที่ไม่ได้ลดความรู้สึกกลัวหรือวิตกกังวล
สรุป

อาการวิตกกังวล กลัว เครียด สามารถเกิดขึ้นได้ แต่หากมีมากกว่าปกติ หรือในบางสถานการณ์อาจต้องได้รับการดูแลรักษา ยาที่ใช้ลดอาการเหล่านี้มีหลายกลุ่มซึ่งมีที่ใช้ในทางการแพทย์แตกต่างกัน การใช้ยาที่มีผลคลายกังวล ลดอาการตื่นตระหนกเพื่อช่วยในการลำเลียงทีมหมูป่าออกมาจากถ้ำก็เป็นตัวอย่างที่ดีของการใช้ยากล่าวคือ ยามีทั้งผลการรักษาและผลข้างเคียงเสมอ ยิ่งยามีผลข้างเคียงที่อันตรายยิ่งต้องอยู่ในความดูแลของบุคลากรทางการแพทย์ การตัดสินใจใช้ยาเพื่อให้ได้ผลการรักษาตามต้องการจะต้องบูรณาการความรู้เรื่องยาเพื่อตัดสินว่าใช้แล้วจะได้ประโยชน์มากกว่าความเสี่ยง และการใช้ยาให้ถูกคน ถูกโรค ถูกขนาด ถูกวิธี และถูกเวลา อย่างที่ทีมผู้ช่วยเหลือสามารถนำทีมหมูป่าออกมาได้อย่างปลอดภัยทุกคนโดยไม่ได้รับผลข้างเคียงที่รุนแรงจากการใช้ยาจนเป็นอันตราย

แม้ทีมหมูป่าทุกคนจะรอดชีวิตออดมาอย่างปลอดภัย แต่ทั้งแต่หากชุมชนและสังคมปราถนาดีและอยากมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือเยียวยาและสนับสนุนอย่างเหมาะสมโดยเฉพาะทางด้านจิตใจ ทางสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทยได้ให้คำแนะนำตามลิงค์ https://www.facebook.com/483246708446017/posts/1485607524876592/

Public Knowledge Articles



View all articles
-->

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

Faculty of Pharmacy, Mahidol University.

447 Sri-Ayuthaya Road, Rajathevi, Bangkok 10400, THAILAND
Designed & Developed by Department of Information Technology, Faculty of Pharmacy, Mahidol University.
Copyright © 2013-2020
 

We use Cookies

This site uses cookies to personalise your experience and analyse site traffic. By Clicking ACCEPT or continuing to browse the site you are agreeing to our use of cookies.