เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


โรคพิษสุนัขบ้า ร้ายแรง แต่ป้องกันได้!


คณาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
อ่านแล้ว 470,627 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 26/03/2553
อ่านล่าสุด 5 ช.ม.ที่แล้ว

Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
 

โรคพิษสุนัขบ้าคืออะไร?

โรคพิษสุนัขบ้า”“โรคกลัวน้ำ”หรือ “โรคหมาว้อ”(ในภาษาอีสาน) เป็นโรคติดเชื้อที่มีสาเหตุมาจาก Rabies virusซึ่งเป็นเชื้อไวรัสก่อโรคในสัตว์เลือดอุ่นเลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด เช่น สุนัข แมว วัว ควาย ลิง ชะนี กระรอก กระแต เสือ หมี หนู ค้างคาว รวมถึงคนด้วย ซึ่งในประเทศไทยพบมากที่สุดในสุนัข (96% ของจำนวนที่พบเชื้อจากการวินิจฉัยในห้องปฏิบัติการ) รองลงมา คือ แมว

“ หากถูกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ไม่ใช่สุนัขกัดก็มีโอกาสที่จะติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าได้เช่นกัน “

เชื้อไวรัสชนิดนี้สามารถติดต่อสู่คนได้โดยการถูกสัตว์ที่เป็นโรค กัด ข่วน เลีย น้ำลายกระเด็นเข้าทางตา ปาก หรือทางผิวหนังที่มีบาดแผล ซึ่งเชื้อไวรัสจะเพิ่มจำนวนมากขึ้นในบริเวณแผลที่ถูกกัด หลังจากนั้นเชื้อจะเข้าสู่แขนงประสาท และระบบประสาทส่วนกลาง หากเชื้อเข้าสู่สมองและเพิ่มจำนวนขึ้นอีก ผู้ป่วยจะมีอาการคลุ้มคลั่ง ดุร้าย กระวนกระวาย และหากเชื้อเข้าสู่ไขสันหลังแล้วมีการเพิ่มจำนวนจะทำให้สมองและไขสันหลังทำงานผิดปกติ ผู้ป่วยมีอาการอัมพาตและเสียชีวิตในที่สุด

ระยะฟักตัวหลังจากเชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกายไปจนเกิดอาการ ใช้เวลาประมาณ 2 - 8 สัปดาห์ หรืออาจสั้นเพียง 5 วัน หรือยาวนานเกินกว่า 1 ปี โดยระยะฟักตัวจะสั้นหรือยาวขึ้นกับปัจจัยบางอย่าง เช่น ความรุนแรงของบาดแผล ปริมาณของปลายประสาทที่ตำแหน่งของแผล และระยะทางแผลไปยังสมอง เช่น แผลที่หน้า ศีรษะ คอ หรือมืออีกทั้งลักษณะของเครื่องนุ่งห่ม และ การล้างแผลจะมีส่วนช่วยลดจำนวนเชื้อลงได้มาก

ในปัจจุบันยังไม่มียาใดที่รักษาโรคพิษสุนัขบ้าได้ ซึ่งผู้ที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้านั้นมีอัตราการเสียชีวิต 100% แต่อย่างไรก็ดีโรคพิษสุนัขบ้าก็สามารถป้องกันได้โดยการฉีดวัคซีน

วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าคืออะไร?

วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าได้จากการนำเชื้อ Rabies virus ที่เกิดจากการเพาะเลี้ยงโดยวิธีการเฉพาะ ซึ่งเชื้อจะถูกทำให้ตายก่อนที่จะนำมาฉีดเพื่อกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสชนิดนี้ การฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าสามารถทำได้ 2 แบบ คือ ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ (Intramuscular; IM)และฉีดเข้าในผิวหนัง (Intradermal; ID)

วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าที่มีจำหน่ายในประเทศไทยมีอยู่ 4 ชนิด ได้แก่

- Lyssavac N® (Purified Duck Embryo Cell Rabies Vaccine; PDEV) เป็นวัคซีนที่ได้จากการเพาะเลี้ยงไวรัสในตัวอ่อนไข่เป็ดที่ฟักแล้ว (embryonated duck eggs)แนะนำให้ฉีดแบบ IM เท่านั้นมีลักษณะเป็นวัคซีนผงแห้งพร้อมน้ำสำหรับทำละลาย (sterile water for injection) เมื่อละลายแล้วมีลักษณะเป็นสารแขวนตะกอนสีขาว ขุ่นเล็กน้อย เนื่องจากมี thimerosal เป็นสารกันเสีย ปริมาตรรวม 1 ml

- SII Rabivax® (Human Diploid Cell Rabies Vaccine; HDCV) เป็นวัคซีนที่ได้จากการเพาะเลี้ยงไวรัสในhuman diploid cellแนะนำให้ฉีดแบบ IM เท่านั้นมีลักษณะเป็นวัคซีนผงแห้งพร้อมน้ำสำหรับทำละลาย (sterile water for injection) เมื่อละลายแล้วมีลักษณะใส สีชมพู ปริมาตรรวม 1 ml

- Rabipur® (Purified Chick Embryo Cell Rabies Vaccine; PCECV)เป็นวัคซีนที่ได้จากการเพาะเลี้ยงไวรัสใน primary chick embryo fibroblast cell สามารถฉีดได้ทั้งแบบ IM และ ID มีลักษณะเป็นวัคซีนผงแห้งพร้อมน้ำสำหรับทำละลาย (sterile water for injection) เมื่อละลายแล้วมีลักษณะใส ไม่มีสี ปริมาตรรวม 1 ml

- Verorab® (Purified Vero Cell Rabies Vaccine; PVRV)เป็นวัคซีนที่ได้จากการเพาะเลี้ยงไวรัสใน vero cells สามารถฉีดได้ทั้งแบบ IM และ ID มีลักษณะเป็นวัคซีนผงแห้งพร้อมน้ำเกลือสำหรับทำละลาย (solution of sodium chloride 0.4%) เมื่อละลายแล้วมีลักษณะใส ไม่มีสี ปริมาตรรวม 0.5 ml

วัคซีนทั้ง 4 ชนิดมีชื่อเรียกรวมๆ ว่า วัคซีนเซลล์เพาะเลี้ยง ซึ่งจะมีความปลอดภัยและมีความบริสุทธิ์มากกว่าวัคซีนแบบเก่าที่ผลิตจากการนำเชื้อ Rabies virus จากสมองสัตว์ที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้ามาใช้ ซึ่งในปัจจุบัน ประเทศไทยไม่มีการนำวัคซีนดังกล่าวมาใช้แล้ว

ประสิทธิภาพและผลข้างเคียงเป็นอย่างไร ?

ประสิทธิภาพในการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าของวัคซีนเซลล์เพาะเลี้ยงทั้ง 4 ชนิดที่มีอยู่ในประเทศไทยมีความใกล้เคียงกัน อย่างไรก็ดีแม้ว่าจะได้รับการฉีดวัคซีนไปแล้ว แต่โอกาสในการเป็นโรคพิษสุนัขบ้าก็ยังมีอยู่หากได้รับเชื้อเป็นจำนวนมาก หรือถูกกัดบริเวณที่มีเส้นประสาทจำนวนมาก นอกจากนี้ยังพบว่าการป้องกันโรคด้วยการฉีดวัคซีนก่อนสัมผัสเชื้อจะมีประสิทธิผลที่ดีกว่าการฉีดวัคซีนหลังสัมผัสเชื้อ

ผลข้างเคียงของวัคซีนเซลล์เพาะเลี้ยงเกิดขึ้นได้น้อยและไม่รุนแรงเหมือนวัคซีนที่ทำจากสมองสัตว์ ซึ่งผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าแบบเซลล์เพาะเลี้ยงที่พบการรายงาน ได้แก่ ปฏิกิริยาบริเวณที่ฉีดวัคซีน เช่น ปวด แดง ร้อน คัน หรือ ปฏิกิริยาทั่วไป เช่น ไข้ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ซึ่งอาการเหล่านี้มักจะหายเองเมื่อได้รับการรักษาตามอาการ ส่วนในเรื่องของการแพ้วัคซีนรุนแรงนั้นยังไม่พบการรายงานแต่อย่างใด พบแต่เพียงรายงานการเกิด serum sickness ซึ่งผู้ป่วยมักจะมีอาการไข้ ต่อมน้ำเหลืองโต ข้ออักเสบ ปวดข้อ และพบผื่นที่ผิวหนัง นอกจากนี้ยังพบรายงานการเกิดลมพิษที่ไม่รุนแรงจากการได้รับการฉีดวัคซีนกระตุ้นซ้ำบ่อยๆ ได้เช่นกัน

การฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า

การฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ

  1. การฉีดวัคซีนก่อนการสัมผัสสัตว์(prophylaxis) มักจะทำในผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการถูกสัตว์กัด เช่น สัตวแพทย์ บุรุษไปรษณีย์ เจ้าหน้าที่ที่ทำงานเกี่ยวกับเชื้อไวรัสพิษสุนัขบ้า หรือเด็ก เนื่องจากเด็กเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการเป็นโรคพิษสุนัขบ้าเช่นกัน

การฉีดวัคซีน จะต้องฉีดทั้งหมด 3 ครั้ง ในวันที่ 0, 7 และ 21 หรือ 28 หลังจากนั้นอีก 1 ปีอาจฉีดกระตุ้นอีก 1 ครั้งเพื่อให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันสูงกว่าระดับที่ป้องกันโรคได้เป็นระยะเวลานาน (หมายเหตุ : วันที่ 0 หมายถึง วันที่ได้รับการฉีดวัคซีนเข็มแรก)

  1. การฉีดวัคซีนหลังการสัมผัสสัตว์ จะต้องพิจารณาถึงความเสี่ยงในการติดเชื้อด้วยเสมอ โดยอาจแบ่งเป็นกรณีได้ดังนี้

2.1 ไม่ต้องฉีดวัคซีนในกรณีที่สัมผัสกับสัตว์โดยที่ผิวหนังไม่มีแผลหรือรอยถลอก เช่น การให้อาหาร ถูกเลีย สัมผัสน้ำลายหรือเลือด (ยกเว้น น้ำลายหรือเลือดของสัตว์กระเด็นเข้าทางตา หรือปากจะต้องรับการฉีดวัคซีน)

2.2 ต้องฉีดวัคซีนในกรณีที่

2.2.1 ถูกงับเป็นรอยช้ำที่ผิวหนัง ไม่มีเลือดออก

2.2.2 ถูกเลีย หรือ น้ำลายถูกผิวหนังที่มีรอยถลอกหรือมีแผล

2.2.3 ถูกข่วนที่ผิวหนังโดยไม่มีเลือดออกหรือออกซิบๆ

2.2.4 ถูกกัดหรือข่วนเป็นแผล (แผลเดียวหรือหลายแผล) และมีเลือดออก

2.2.5 มีน้ำลายหรือสารคัดหลั่ง (เช่น เลือด) จากร่างกายสัตว์ ซากสัตว์ เนื้อสมองสัตว์ รวมถึงการชำแหละหรือลองผิวหนังสัตว์ ถูกเยื่อบุตา ปาก จมูกหรือแผลตามผิวหนัง

ในการเข้ารับการฉีดวัคซีนนั้นสามารถเข้ารับบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าโดยใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า(บัตรทอง) ในสถานพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เช่น สถานีอนามัย หรือโรงพยาบาลรัฐบาลที่ใกล้ที่สุด (ที่ใดก็ได้) ทันที จนครบทุกเข็มโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ใดๆ

ในกรณีที่ต้องฉีดวัคซีนหลังสัมผัสสัตว์ จะพิจารณาจำนวนครั้งของการฉีดวัคซีนตามประวัติของการได้รับวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้า โดยแบ่งเป็น 3 กรณี คือ

  1. ไม่เคยฉีดวัคซีนมาก่อนเลย หรือเคยฉีดมาแล้วแต่น้อยกว่า 3 เข็ม
  2. ในกรณีที่เลือกวัคซีนชนิดฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ต้นแขนจะต้องได้รับการฉีด
  3. 5 ครั้ง ครั้งละ 1 โด๊ส*ในวันที่ 0, 3, 7, 14 และ 28 หรือ
  4. กระทรวงสาธารณสุขของประเทศไทยแนะนำให้เลือกฉีดวิธีที่ 1.1.1, 1.2.1 และ 1.2.2 เท่านั้น

    3 ครั้งในวันที่ 0, 7 และ 28 โดยวันที่ 0 จะได้รับการฉีด 2 โด๊ส* และอีกสองครั้งที่เหลือฉีดครั้งละ 1 โด๊ส*

* หมายเหตุ:1 โด๊ส จะใช้วัคซีนปริมาตร 1 ml สำหรับ HDCV, PCECVและ PDEV หรือ0.5 ml สำหรับ PVRV

  • ในกรณีที่เลือกวัคซีนชนิดฉีดเข้า ในผิวหนัง บริเวณต้นแขน จะต้องได้รับการฉีด
  • 4 ครั้งในวันที่ 0, 3, 7 และ 28 โดยแต่ละครั้งจะต้องฉีด 2 จุด จุดละ 0.1 มล. (ต้นแขนด้านซ้ายและขวา) หรือ
  • 5ครั้งในวันที่ 0, 3, 7,28 และ 90 โดยสามครั้งแรกฉีดครั้งละ 2 จุด และ สองครั้งที่เหลือฉีดอีกครั้งละ 1 จุด จุดละ 0.1 มล. หรือ
  • 4 ครั้งในวันที่ 0, 7, 28 และ 90โดยครั้งแรกฉีดทั้งหมด 8 จุด ครั้งที่สอง 4 จุด และสองครั้งที่เหลืออีกครั้งละ 1 จุดจุดละ 0.1 มล.

นอกจากนี้ผู้ป่วยบางรายที่ถูกสัตว์กัด หรือข่วนจนเป็นแผลและมีเลือดออก หรือถูกกัดเป็นแผลที่ใบหน้า ศีรษะ คอ มือ และนิ้วมือ หรือมีแผลลึก แผลฉีกขาดมาก จะต้องได้รับการฉีดอิมมูโนโกลบุลิน (Immunoglobulin; IG) โดยเร็วที่สุด โดยฉีดบริเวณรอบแผลร่วมกับวัคซีนในวันที่ 0 เนื่องจากผู้ป่วยเหล่านี้เป็นกลุ่มมีโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้สูง

อิมมูโนโกลบุลินเป็นโปรตีนในร่างกายที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย

อิมมูโนโกลบุลินสามารถผลิตได้โดยการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้ม้า(Equine Rabies Immunoglobulin; ERIG)หรือคน (Human Rabies Immunoglobulin; HRIG)และฉีดกระตุ้นจนกระทั่งมีแอนติบอดีอยู่ในระดับสูงพอ จึงเจาะเลือดมาแยกซีรั่มผลิตเป็นอิมมูโนโกลบุลินป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งอิมมูโนโกลบุลินที่ได้จากม้าจะมีโอกาสทำให้เกิดอาการแพ้ได้มากกว่าอิมมูโนโกลบุลินที่ได้จากคน

ส่วนผู้ที่ถูกน้ำลายหรือสารคัดหลั่ง (เช่น เลือด) จากร่างกายสัตว์ ซากสัตว์ เนื้อสมองสัตว์ กระเด็นเข้าสู่เยื่อบุตา ปาก จมูกหรือแผลตามผิวหนัง และผู้ชำแหละซากสัตว์หรือลอกหนังสัตว์จำเป็นต้องได้รับการพิจารณาว่าจะต้องฉีดอิมมูโนโกลบุลินหรือไม่ ตามความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเป็นรายๆ ไป

  1. เคยฉีดมาแล้วอย่างน้อย 3 เข็ม (วันที่ฉีดเข็มสุดท้ายผ่านมาเกิน 6 เดือนแล้ว)

ในกรณีนี้ไม่ว่าจะเลือกฉีดเข้ากล้ามเนื้อต้นแขนหรือในผิวหนังบริเวณต้นแขน จะต้องเข้ารับการฉีดวัคซีนทั้งหมด 2 ครั้งเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้นกัน ในวันที่ 0 และ 3โดยไม่จำเป็นต้องฉีดอิมมูโนโกลบุลิน

  1. เคยฉีดมาแล้วอย่างน้อย 3 เข็ม (วันที่ฉีดเข็มสุดท้ายผ่านมาไม่เกิน 6 เดือน)

ในกรณีนี้ไม่ว่าจะเลือกฉีดเข้ากล้ามเนื้อต้นแขนหรือในผิวหนังบริเวณต้นแขน จะต้องเข้ารับการฉีดวัคซีนเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้นกันเพียงครั้งเดียว ในวันที่ 0 เท่านั้น

โดยไม่จำเป็นต้องฉีดอิมมูโนโกลบุลิน

ปฏิบัติตัวอย่างไรเมื่อถูกสุนัข แมวหรือสัตว์อื่นๆ กัด?

เมื่อถูกสัตว์ข่วนหรือกัดโดยที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าควรรีบปฐมพยาบาลและปฏิบัติตัวดังนี้

  1. ล้างแผลทันทีด้วยน้ำและฟอกด้วยสบู่หลายๆ ครั้ง ล้างสบู่ออกให้หมด ถ้าแผลลึกให้ล้างถึงก้นแผลอย่างน้อย 15 นาที ระวังอย่าให้แผลช้ำ ห้ามใช้ครีมใดๆ ทา ถ้ามีเลือดออกควรปล่อยให้เลือดไหลออก อย่าบีบหรือเค้นแผล เพราะจะทำให้เชื้อแพร่กระจายไปส่วนอื่น
  2. เช็ดแผลด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ ควรใช้โพวีโดนไอโอดีน (povidone iodine) หรือฮิบิเทนในน้ำ (hibitane in water) ถ้าไม่มีให้ใช้แอลกอฮอล์ 70% หรือทิงเจอร์ไอโอดีน นอกจากนี้ไม่ควรปิดปากแผลยกเว้นว่าเลือดออกมากหรือแผลใหญ่มาก
  3. ไปโรงพยาบาลหรือสถานีอนามัยที่ใกล้ที่สุดทันที หรือ เร็วที่สุด เพื่อรับการฉีดป้องกันบาดทะยัก ยาปฏิชีวนะ และยาแก้ปวดตามอาการ รวมถึงวัคซีนหรืออิมมูโนโกลบุลินตามความเหมาะสม
  4. กักสัตว์ที่กัดไว้ดูอาการอย่างน้อย 15 วัน โดยให้น้ำและอาหารตามปกติ อย่าฆ่าสัตว์ให้ตายทันที เว้นแต่สัตว์นั้นดุร้ายกัดคนหรือสัตว์อื่นหรือไม่สามารถกัดสัตว์ไว้ได้ ถ้าสัตว์หนีหายไปให้ถือว่าสัตว์นั้นเป็นโรคพิษสุนัขบ้า
  5. หากสัตว์มีอาการปกติตลอดระยะเวลาที่กักเพื่อดูอาการ สามารถหยุดฉีดวัคซีนได้

วิธีการส่งซากสัตว์และสถานที่สำหรับส่งตรวจโรคพิษสุนัขบ้าทั่วประเทศ
สามารถเข้าไปที่เว็บไซต์ของกองควบคุมโรคระบาด กรมปศุสัตว์ ที่

http://www.dld.go.th/inform/rabies/framdog.html

ลืมมาฉีดวัคซีนตามกำหนดนัดหมายไปเป็นอะไรไหม?

การเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าตามกำหนดจะช่วยป้องกันการติดเชื้อได้ดีที่สุด อย่างไรก็ดีหากลืมหรือไม่สามารถมาตามกำหนดวันนัดหมาย ก็ควรรีบมารับการฉีดวัคซีนต่อจนครบให้เร็วที่สุด (ข้อมูลในปัจจุบันระบุว่าการฉีดวัคซีนล่าช้ากว่ากำหนดไป 2-3 วัน จะไม่ส่งผลถึงประสิทธิภาพของวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า แต่ถ้าช้าเกินกว่านี้ยังไม่พบข้อมูลการรับรองประสิทธิภาพ)

หญิงตั้งครรภ์สามารถฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าได้หรือไม่ ?

หญิงตั้งครรภ์ไม่มีข้อห้ามในการฉีดวัคซีนเนื่องจากเป็นวัคซีนเชื้อตาย และอิมมูโนโกลบุลินก็ไม่ได้เป็นข้อห้ามสำหรับหญิงตั้งครรภ์เช่นกัน

สามารถเปลี่ยนยี่ห้อวัคซีน หรือเปลี่ยนวิธีการฉีดได้หรือไม่ ?

วัคซีนเซลล์เพาะเลี้ยงที่ใช้อยู่ในประเทศไทยขณะนี้ มีคุณภาพประสิทธิภาพและความปลอดภัยใกล้เคียงกัน ในการฉีดเข้ากล้ามเนื้อสามารถใช้ทดแทนกันได้ทุกยี่ห้อ แต่ชนิดที่ฉีดเข้าในผิวหนังนั้นอาจต้องระมัดระวังเนื่องจากบางยี่ห้อไม่แนะนำให้ฉีดเข้าในผิวหนังดังนั้นเพื่อให้เกิดความปลอดภัยควรมีสมุดบันทึกการฉีดวัคซีนที่ระบุทั้งชื่อยี่ห้อวัคซีนและวิธีฉีดวัคซีนไว้ด้วยเสมอ

การฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ควรฉีดวิธีเดียวกันตลอดจนครบชุดไม่ควรเปลี่ยนวิธีการฉีดสลับไปมา

บรรณานุกรม

  1. สมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย. คู่มือวัคซีน 2008. กรุงเทพมหานคร:ธนาเพรส; 2550.
  2. กองควบคุมโรคระบาด กรมปศุสัตว์. โรคพิษสุนัขบ้า.[Online]. [cited 2010 Mar 23]. Available from:URL: http://www.dld.go.th/inform/rabies/framdog.html.
แหล่งอ้างอิง/ที่มา
เปิดอ่านด้วย Google Doc Viewer ดาวน์โหลดบทความ (pdf) ดูบทความอื่นๆ

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


น้ำดื่ม ชะลอวัย? 1 นาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้