เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


โรคระบาดที่มากับน้ำท่วม (ตอนที่ 3) โรคฉี่หนู


ภญ รศ. ม.ล. สุมาลย์ สาระยา ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

อ่านแล้ว 26,329 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 16/11/2554
อ่านล่าสุด 1 วันที่แล้ว

Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
 

โรคฉี่หนู  [โรคเลปโตสไปโรซิส (Leptospirosis ), Weil ' s disease ]  จัดอยู่ในกลุ่มโรคที่นำโดยสัตว์ ( zoonosis) มักจะระบาดหน้าฝนและช่วงที่มีน้ำท่วมขัง โดยจะพบเชื้อโรคในปัสสาวะของหนู สุนัข แมว สัตว์เลี้ยงในบ้าน แต่พบมากในหนูซึ่งสามารถแพร่เชื้อออกมาได้โดยที่ตัวมันไม่เป็นโรค 
 

 

เชื้อก่อโรค
สาเหตุของโรคคือแบคทีเรียชื่อ Leptospira interrogans  มี 16 serogroup เชื้อที่เป็นสาเหตุในกรุงเทพ คือ bataviae และ javanica ส่วนในภูมิภาคคือ akiyami และ icterohemorrhagia เป็นแบคทีเรียรูปเกลียวสว่าน (spirochete) มีขนาดเล็กมากเคลื่อนที่โดยการหมุนอย่างรวดเร็ว เชื้อนี้อยู่ตามดิน โคลน แหล่งน้ำ น้ำตก แม่น้ำลำคลองได้นานเป็นเดือนหลังจากถูกขับออกทางปัสสาวะจากสัตว์ที่มีเชื้อ เคยมีรายงานว่าอยู่ได้นาน 6 เดือนในที่น้ำท่วมขังโดยมีปัจจัยแวดล้อมเหมาะสม เช่น มีความชื้น แสงส่องไม่ถึง  มักจะพบการระบาดของแบคทีเรียนี้ในเดือนตุลาคม และพฤศจิกายน เนื่องจากเป็นฤดูฝนต่อหนาว มีน้ำหลาก 
 

การติดต่อ 
เชื้อ L. interrogans มีสัตว์หลายชนิดเป็นรังโรค (reservoir) เช่น หนู หมู วัว ควาย สุนัข แมว เป็นต้น เชื้อจะถูกขับออกมากับปัสสาวะสัตว์ แล้วปนเปื้อนอยู่ในสิ่งแวดล้อม เช่น บริเวณน้ำท่วมหรือแหล่งน้ำขัง โรคนี้มีอุบัติการสูงในผู้ที่สัมผัสดินและน้ำเป็นเวลานาน ๆ เช่น ชาวไร่ ชาวนา กรรมกร คนจับปลา ผู้ลุยน้ำท่วม เชื้อแบคทีเรียเข้าสู่ร่างกายคนโดยการไชเข้าทางผิวหนังที่มีรอยถลอกและรอยขีดข่วน เยื่อเมือก หรือไชผ่านผิวหนังที่เปียกชุ่มจนยุ่ยจากการแช่น้ำนานๆ   โรคฉี่หนูติดต่อจากคนสู่คนได้น้อยมาก ส่วนใหญ่ติดต่อ โดยการสัมผัสกับปัสสาวะ เลือด หรือเนื้อเยื่อของสัตว์ที่มีการติดเชื้อโดยตรง หรือสัมผัสกับสิ่งแวดล้อมที่มีการปนเปื้อนของเชื้อ โดยเชื้อจะไชผ่านเยื่อบุต่างๆ เช่น ตา และปากจากการกินอาหารหรือน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อ  การหายใจเอาไอละอองของปัสสาวะ หรือ ของเหลวที่ปนเปื้อนเชื้อเข้าไป 
 

อาการ 
ระยะฟักตัวประมาณ 2 - 20 วัน ผู้ป่วยจะมีอาการแตกต่างกันขึ้นกับชนิดและปริมาณของเชื้อ อาการเฉพาะที่พบบ่อยได้แก่ ไข้หนาวสั่น ปวดศีรษะมากโดยเฉพาะบริเวณด้านหน้าหรือหลังเบ้าตา ปวดกล้ามเนื้ออย่างรุนแรง มักปวดที่น่องและโคนขา เยื่อบุตาบวมแดงภายใน 3 วันที่เริ่มมีอาการ  อาการอื่นๆที่อาจพบได้ ได้แก่ เจ็บคอ ไอ เจ็บหน้าอก ผื่น สับสน ไอเป็นเลือด  ต่อมน้ำเหลืองโต คอแดง กดเจ็บบริเวณกล้ามเนื้อ ตับม้ามโต อาจพบอาการดีซ่านได้    อาจมีไข้ติดต่อกันหลายวัน สลับกับระยะไข้ลด ในรายที่มีอาการรุนแรงเฉียบพลัน ผู้ป่วยจะมีอาการดีซ่าน มีเลือดออกตามอวัยวะภายในและตา เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ตับและไตวาย ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้  อาการแทรกซ้อนที่สำคัญคือปอดบวม หัวใจล้มเหลว กล้ามเนื้ออักเสบ สมองและไขสันหลังอักเสบ กล้ามเนื้อและเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ
 

การควบคุมป้องกัน
การป้องกันทำโดยหลีกเลี่ยงการสัมผัสสิ่งแวดล้อมที่อาจปนเปื้อนเชื้อ เช่น สวมถุงมือ สวมรองเท้าบูทขณะทำงานสัมผัสดินและน้ำ หากจำเป็นต้องลุยน้ำที่ท่วมขัง ต้องรีบล้างมือ เท้าและร่างกายส่วนที่สัมผัสกับน้ำที่สกปรกด้วยสบู่และน้ำสะอาดจากนั้นเช็ดด้วยผ้าสะอาดให้แห้ง   ระวังอย่าให้ผิวหนังที่เป็นแผลหรือรอยถลอกโดนน้ำ  กำจัดหนูซึ่งเป็นสัตว์สำคัญในการนำโรค ให้สุขศึกษาประชาสัมพันธ์กับประชาชน ปัจจุบันไม่มีวัคซีนที่ใช้ในการป้องกัน เพราะแบคทีเรียนี้มีสายพันธ์หลากหลายมาก ทำให้ยากในการพัฒนาวัคซีนให้จำเพาะกับโรคได้
 

การรักษา 
โรคฉี่หนู สามารถรักษาได้ด้วยยาปฏิชีวนะ และควรจะได้รับยาภายใน 4-7 วันหลังเกิดอาการของโรค ยาที่ใช้ได้ผลในโรคนี้คือ doxycycline 100 มิลลิกรัมวันละ 2 ครั้ง หรือ amoxicillin 500 มิลลิกรัม วันละ 4 ครั้ง  เป็นเวลา 7 วัน 
 

 

แหล่งอ้างอิง/ที่มา

      1. วิชัย โชควิวัฒน์ คู่มือวิชาการโรคเลปโตสไปโรซิส 2542 กรมควบคุมโรคติดต่อ กระทรวงสาธารณสุข กรุงเทพ       2. Faine S. Leptospirosis. Chapter 42, 849-869. in Collier L, Balows A and Sussman M (ed.) Topley and Wilson's Microbiology and Microbial Infections, 9th ed vol. 3. Bacterial Infections, Hauster WJ and Sussman M (ed), 1998. Arnold, London, UK.       3. Levelt PN. Leptospirosis . Clin Microbiol Review , 2001;14:296 - 326



บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


อันตรายจากการสัก 37 วินาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2025
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้