Knowledge Article


คัดเลือกยาคุณภาพเข้าโรงพยาบาลทำกันอย่างไร


รองศาสตราจารย์ ดร.ภญ. ชะอรสิน สุขศรีวงศ์
ภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพประกอบจาก : https://www.ncadd.org/images/stories/
In-the-news/Shopping-cart-of-pills.jpg
26,710 View,
Since 2016-07-06
Last active: 2h ago
https://tinyurl.com/2yyscpje
Scan to read on mobile device
 
A - | A +


เนื่องจากโรคแต่ละโรคนั้นสามารถเลือกใช้ยารักษาโรคได้หลายประเภท หลายกลุ่ม อีกทั้งยามีความแตกต่างกันในเรื่องกลไกการออกฤทธิ์ อาการข้างเคียง และความเหมาะสมกับสภาวะร่างกายของผู้ป่วย เช่นผู้ป่วยเป็นเด็ก เป็นโรคตับ เป็นโรคไต หรือแพ้ยา รวมถึงแม้แต่ยาชื่อสามัญเดียวกันยังมีราคาจำหน่ายที่แตกต่างกันและมีหลายชื่อการค้า ในปัจจุบันยาใหม่ๆ มักมีราคาแพง จึงเป็นไปไม่ได้ที่แต่ละโรงพยาบาลจะมียาทุกๆ ตัว โรงพยาบาลจำเป็นต้องมีระบบการคัดเลือกยาที่เหมาะสมเพื่อมาใช้ในโรงพยาบาล



ในการคัดเลือกยาเพื่อใช้ในโรงพยาบาลจะดำเนินการในรูปของคณะทำงานที่มีชื่อว่าคณะกรรมการเภสัชกรรมและการบำบัด (Pharmacy and Therapeutic Committee, PTC) คณะกรรมการชุดนี้มีเภสัชกรเป็นกรรมการและเลขานุการ งานของคณะกรรมการชุดนี้มีความสำคัญ โดยงานอันดับแรกคือการกำหนดเกณฑ์ที่นำมาใช้พิจารณาคัดเลือกยาและเวชภัณฑ์เข้าโรงพยาบาล กรณียาทั่วไป คณะกรรมการฯ จะพิจารณาถึงความเหมาะสมในหลายๆ ประเด็น ที่สำคัญได้แก่ ประโยชน์ในการนำมาใช้รักษาผู้ป่วย อาการไม่พึงประสงค์และพิษของยา มาตรฐานผลิตภัณฑ์และราคายา สำหรับกรณียานั้นมีสูตรหรือส่วนประกอบทางเคมีเหมือนกัน คณะกรรมการฯ อาจจะมีนโยบายให้มียานั้นอยู่ในห้องยา 2 ตำรับ สำหรับยาต้นแบบ (original product) และยาชื่อสามัญ (generic product) หรือให้เป็นยาชื่อสามัญทั้งสองตำรับ การดำเนินงานจัดซื้อยาจะหมุนเวียนซื้อในแต่ละบริษัท และหากว่าเป็นยาตัวใหม่ๆ จะต้องมีเหตุผลในการนำเสนอยาเข้าเมื่อเทียบกับยาเดิมที่มีคุณสมบัติคล้ายกัน แสดงเปรียบเทียบผลการประเมินประสิทธิภาพ ซึ่งวิธีการคัดเลือกเบื้องต้นคล้ายกันคือ จะพิจารณาประเด็นมาตรฐานผลิตภัณฑ์และราคา ซึ่งมักจะคัดเลือกบริษัทคู่ค้าเพียง 1 บริษัทเท่านั้น (รายการยาสามัญแต่ละรายการจะมีเพียงหนึ่งชื่อการค้าเท่านั้น) แต่ในกรณียาที่ขาดคราวบ่อยอาจคัดเลือกบริษัทสำรอง กรณีที่เป็นรายการยาใหม่ ที่ยังไม่เคยมีในโรงพยาบาล จะพิจารณาในประเด็น ประโยชน์ในการนำมาใช้รักษาผู้ป่วย อาการไม่พึงประสงค์และพิษของยา แสดงประสิทธิผลและราคาที่ใช้ในการรักษา เพิ่มเติม โดยเปรียบเทียบกับยาที่มีคุณสมบัติคล้ายกัน หรือข้อบ่งใช้เดียวกัน ที่มีหรือไม่มีอยู่ในบัญชียาโรงพยาบาล

ทั้งนี้เภสัชกรมีบทบาทในการกำหนดคุณลักษณะเฉพาะของเวชภัณฑ์ที่ต้องจัดซื้อ ว่ายาแต่ละรายการควรมีคุณลักษณะเฉพาะอย่างไรโดยอ้างอิงหลักวิชาการ เนื่องจากเวชภัณฑ์ที่ผลิตจากแต่ละบริษัทอาจมีแหล่งวัตถุดิบและกรรมวิธีการผลิตที่แตกต่างกัน ซึ่งมีผลต่อประสิทธิภาพการรักษา ดังนั้นเภสัชกรจึงควรต้องค้นคว้าและติดตามข้อมูลข่าวสารด้านยายู่เสมอ เพื่อนำมาเป็นข้อมูลประกอบการจัดหาและกำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาให้ทันสมัยอยู่ตลอดเวลา เพื่อนำเสนอข้อมูลในที่ประชุมคณะกรรมการเพื่อพิจารณาตัดสินใจ ยกตัวอย่างข้อมูลเหล่านี้ เช่น
  1. ข้อมูลของบริษัทผู้ผลิต เน้นหลักเกณฑ์และวิธีการผลิตที่ดี โดยพิจารณาจาก GMP Certificate และความน่าเชื่อถือด้านอื่นๆ ของบริษัท ตามสภาพที่เป็นจริงและประวัติการให้บริการ
  2. Certificate of Analysis และวิธีวิเคราะห์ที่ได้มาตรฐาน
  3. คุณภาพของวัตถุดิบ พิจารณาจาก แหล่งที่ผลิตและ Certificate of Analysis ของวัตถุดิบ
  4. ฉลากและบรรจุภัณฑ์เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดในเภสัชตำรับ เช่น ลักษณะของภาชนะบรรจุ การแจ้งวันที่หมดอายุ (Expire Date) วันที่ผลิต (Manufacturing Date)
  5. ผลการศึกษาชีวสมมูลของยา ด้านประสิทธิผล ความปลอดภัย และ เศรษฐศาสตร์ทางยา
นอกจากนี้จะต้องคัดเลือกแหล่งจัดซื้อยา มีการประเมินรายรายการยาโดยใช้เกณฑ์ เช่น
  1. แหล่งผลิตต้องได้รับใบรับรองในหมวดที่ชี้เฉพาะจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ว่ามี GMP ครบถ้วน
  2. แหล่งผลิตสามารถให้ข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ได้ตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ เช่น มีข้อมูลของกระบวนการผลิต เพราะมีเวชภัณฑ์บางรายการ เช่น aspirin ที่ต้องใช้กระบวนการผลิตที่เหมาะสมจึงจะได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและได้มาตรฐาน มีข้อมูลของแหล่งวัตถุดิบ มีข้อมูลทาง Bioavialability ของเวชภัณฑ์บางรายการที่จำเป็น และข้อมูลความคงตัวของยาที่สภาวะต่างๆโดยเฉพาะความคงตัวของยาฉีดหลังการละลาย/เจือจางที่อุณหภูมิต่างๆ แหล่งผลิตที่มีแผนกวิเคราะห์เวชภัณฑ์ที่ได้มาตรฐาน เพื่อให้ข้อมูลการวิเคราะห์และวิธีการวิเคราะห์เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด การจัดซื้อเวชภัณฑ์แต่ละครั้ง บริษัทผู้จำหน่ายต้องแนบใบวิเคราะห์มาพร้อมกับเวชภัณฑ์ทุกครั้ง เพื่อยืนยันคุณภาพเวชภัณฑ์ ทั้งนี้ทางโรงพยาบาลอาจสุ่มตัวอย่างส่งไปตรวจสอบที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ หรือศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์เขตเพื่อเป็นการยืนยันคุณภาพของเวชภัณฑ์
ฉะนั้น เภสัชกรโรงพยาบาลจึงมีบทบาทสำคัญในการคัดเลือกยาที่มีคุณภาพ เพื่อให้ผู้ป่วยมั่นใจว่าได้รับยาที่มีประสิทธิภาพและความปลอดภัย

เอกสารอ้างอิง
  1. สมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาล(ประเทศไทย). คู่มือมาตรฐานวิชาชีพเภสัชกรรมโรงพยาบาล. กรุงเทพมหานคร: จันทร์ม่วงการพิมพ์; 2542.
  2. มังกร ประพัฒน์วัฒนะ. ระบบยาเพื่อความปลอดภัย. กรุงเทพฯ: สมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาล (ประเทศไทย); 2553.
Others articles

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้

Public Knowledge Articles



View all articles
-->

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

Faculty of Pharmacy, Mahidol University.

447 Sri-Ayuthaya Road, Rajathevi, Bangkok 10400, THAILAND
Designed & Developed by Department of Information Technology, Faculty of Pharmacy, Mahidol University.
Copyright © 2013-2020
 

We use Cookies

This site uses cookies to personalise your experience and analyse site traffic. By Clicking ACCEPT or continuing to browse the site you are agreeing to our use of cookies.