หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

การทานยา Sulfasalazine USP 500 mg วันละ 3 เวลา ครั้งละ 1 เม็ด นาน 6 เดือน จะมีอันตรายอะไรหรือไม่ และต้องปฏิบัติตัวอย่างไรเมื่อต้องทานยาติดต่อกันนาน ๆ

ถามโดย ไพบูลย์ เผยแพร่ตั้งแต่ 13/03/2010-12:50:40 -- 59,435 views
 

คำตอบ

Sulfasalazine เป็นยาที่มีข้อบ่งชี้ในการรักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ และลำไส้ใหญ่อักเสบ (ulcerative colitis) sulfasalazine มีโครงสร้างทางเคมีอยู่ในกลุ่ม salicylate และ sulfonamide Sulfasalazine เป็นยาที่ควรใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์และเภสัชกร ดังนั้นไม่ควรหาซื้อยามารับประทานเองโดยไม่ได้รับการวินิจฉัยหรือซักประวัติ ตรวจร่างกายมาก่อน เนื่องจากผู้ป่วยอาจมีข้อห้ามใช้ยาและอาจได้รับอันตรายจากยาได้ ผู้ป่วยไม่ควรใช้ยา ในกรณีดังต่อไปนี้ 1. มีประวัติแพ้ยา sulfasalazine ,ยาซัลฟา, ยาแอสไพริน หรือยาที่มีโครงสร้างเป็น salicylate 2. มีการอุดตันของลำไส้ หรือกระเพาะปัสสาวะ 3. เป็นโรคพอร์ไฟเรีย (porphyria) ข้อควรปฏิบัติในการรับประทานยา 1. รับประทานยาตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด ไม่เพิ่มหรือลดขนาดยา รวมถึงหยุดการรับประทานยาด้วยตนเอง 2. ควรรับประทานยาพร้อมอาหารเพื่อลดผลข้างเคียงเรื่องการระคายเคืองกระเพาะอาหาร และควรรับประทานยาให้ตรงเวลา (ระยะห่างเวลาระหว่างยาแต่ละมื้อไม่ควรเกิน 8 ชั่วโมง) 3. เมื่อกลืนเม็ดยาไปแล้วให้ดื่มน้ำตามประมาณ 1 แก้ว ห้ามหัก บด หรือเคี้ยวเม็ดยา 4. ดื่มน้ำเพิ่มขึ้นในระหว่างวันเพื่อให้เกิดการขับปัสสาวะมากขึ้น ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดนิ่วที่ไตได้ การปฏิบัติตัวในกรณีที่ลืมรับประทานยา รับประทานยาทันทีที่นึกได้ แต่ถ้านึกได้เมื่อใกล้เวลาที่จะต้องรับประทานยาในมื้อต่อมาให้ข้ามมื้อที่ลืมนั้นไปเลยไม่ต้องรับประทานยา และรอรับประทานยาตามปกติในมื้อถัดไป (ห้ามเพิ่มขนาดยาที่รับประทานเป็นสองเท่าเด็ดขาด) ยาหรืออาหารที่ควรหลีกเลี่ยง หากจำเป็นต้องได้รับยา วิตามิน อาหารเสริมอื่นๆ เพิ่มเติมควรแจ้งแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้งว่ากำลังรับประทานยา sulfasalazine อยู่ นอกจากนี้ หากได้รับยา digoxin หรือ กรดโฟลิก (folic acid) อยู่ ต้องแน่ใจว่าแพทย์ทราบแล้วว่าผู้ป่วยรับประทานยาเหล่านี้อยู่ ข้อควรระวังในการใช้ยา sulfasalazine 1. หากผู้ป่วยมีการตั้งครรภ์ ต้องให้นมบุตร มีความผิดปกติเกี่ยวกับ ตับ ไต เลือดออกผิดปกติ เป็นโรคหืด มีอาการแพ้อย่างรุนแรง หรือมีภาวะพร่องเอนไซม์ G6PD ต้องมั่นใจว่าแพทย์รับรู้ข้อมูลเหล่านี้แล้ว เพื่อให้แพทย์เฝ้าระวังและเตรียมการรองรับผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น 2. แพทย์จำเป็นต้องตรวจเลือดหรือปัสสาวะเพื่อป้องกันความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นจากยา ดังนั้นควรพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง และโดยเฉพาะเมื่อยาหมด ห้ามซื้อมารับประทานต่อโดยไม่ได้พบแพทย์เด็ดขาด 3. ในกรณีที่รับประทานยาสำหรับรักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ อาการของโรคจะดีขึ้นหลังจากรับประทานยาไปแล้วประมาณ 1-3 เดือน ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้จากการรับประทานยา sulfasalazine ผลข้างเคียงที่ต้องแจ้งแพทย์หรือเภสัชกรทันที ได้แก่ ผื่นลมพิษ ผื่นคัน มีอาการบวมหรือลอกตามตัว ผิวหนัง หรือปาก หายใจลำบาก มีไข้ หนาวสั่น เจ็บคอ เจ็บหน้าอก กลืนลำบาก ตัวเหลือง ตาเหลือง ปวดตามข้อหรือกล้ามเนื้อ ผิวหนังซีด มีรอยช้ำหรือเลือดออกผิดปกติ ท้องเสียและอุจจาระมีเลือดปน ปัสสาวะลำบาก เจ็บเวลาปัสสาวะ หรือปัสสาวะมีเลือดปน อ่อนเพลีย เหนื่อยผิดปกติ ผลข้างเคียงอื่นๆ ที่อาจเกิดระหว่างใช้ยา หากเป็นต่อเนื่อง หรือ รบกวนชีวิตประจำวัน ให้ แจ้งแพทย์หรือเภสัชกรทราบ ได้แก่ ท้องเสีย ปัสสาวะอาจเปลี่ยนเป็นสีส้มเหลือง รู้สึกไม่สบายท้อง มึนงง อาหารไม่ย่อย เบื่ออาหาร ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน แพ้แสง หรือไวต่อแสง ควรสวมใส่เสื้อผ้าให้มิดชิด สวมแว่นกันแดด และทาโลชั่นกันแดด ก่อนออกนอกบ้าน ปริมาณเชื้ออสุจิลดลงในเพศชาย สามารถหายเป็นปกติเมื่อหยุดรับประทานยา การรับประทานยาติดต่อกันเป็นเวลานานนั้นมีความจำเป็นในการรักษาอาการ ซึ่งการรับประทานยาอย่างถูกต้องและการพบแพทย์เป็นประจำตามนัดจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการได้รับผลข้างเคียงจากยาลงได้มาก อย่างไรก็ดีหากมีอาการผิดปกติดังที่ระบุไว้หรือเหนือจากที่ระบุไว้ข้างต้น ผู้ป่วยจำเป็นต้องแจ้งแพทย์ผู้ทำการรักษาเช่นเดียวกันครับ

Reference:
1. Sulfasalazine. In: DRUGDEX® Evaluations. [Online]. 2010 Mar 1. Available from: MICROMEDEX® Healthcare Series; 2010. [cited 2010 Mar 15].

2. Sulfasalazine [Online]. [cited 2010 Mar 15. Available from: URL:http://yaandyou.net/search2_web.php?nsetid=3660&genname=Sulfasalazine&dosageform=0&gen_name=sulfasalazine.

Keywords:
-





ทางเดินอาหาร

ดูคำถามทั้งหมด
 
ข่าวยาประจำสัปดาห์ล่าสุด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้