หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

mRNA COVID-19 vaccine กับการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบและเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบในเด็ก

ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 2 เดือน ธันวาคม ปี 2564 -- อ่านแล้ว 4,195 ครั้ง
 

ผลไม่พึงประสงค์ของวัคซีนโควิด-19 ที่เกี่ยวกับเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ (pericarditis) และ/หรือ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ (myocarditis) พบได้น้อย เกิดจากปฏิกิริยาการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย มีรายงานถึงการเกิดผลไม่พึงประสงค์ดังกล่าวภายหลังการฉีดวัคซีนชนิดเอ็มอาร์เอ็นเอ (mRNA COVID-19 vaccine) ได้แก่ วัคซีน tozinameran หรือวัคซีนไฟเซอร์ (Pfizer-BioNTech BNT162b2 COVID-19 vaccine) และวัคซีน elasomeran หรือวัคซีนโมเดอร์นา (Moderna mRNA-1273 COVID-19 vaccine) โดยพบในวัยรุ่นและผู้ที่มีอายุไม่เกิน 30 ปี (บางแหล่งข้อมูลระบุไว้ที่ไม่เกิน 40 ปี) ได้บ่อยกว่าคนที่มีอายุมาก และพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ที่ผ่านมาในบางประเทศมีข้อเสนอแนะว่าการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบในผู้ชายทุกกลุ่มอายุพบภายหลังการฉีดวัคซีนโมเดอร์นาได้มากกว่าวัคซีนไฟเซอร์ ขณะนี้วัคซีนโควิด-19 มีการใช้ในเด็กกว้างขวางขึ้น จึงเกิดความกังวลถึงผลไม่พึงประสงค์ดังกล่าวในเด็กเปรียบเทียบกับความจำเป็นในการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในเด็ก เมื่อเร็ว ๆ นี้มีรายงานเผยแพร่ในเบื้องต้นถึงผลการศึกษาเกี่ยวกับการเกิดเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบและกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบในเด็กอายุ 12-17 ปีที่ได้รับวัคซีนไฟเซอร์ (tozinameran) และวัคซีนโมเดอร์นา (elasomeran) โดยใช้ข้อมูลจาก Vigibase® ซึ่งเป็น World Health Organization’s (WHO) global Individual Case Safety Report (ICSR) database ในช่วงตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมถึงวันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2564 ผลการศึกษาพบว่าจากรายงานที่มาจากการฉีดชนิดเอ็มอาร์เอ็นเอ 4,942 รายงาน เป็นของวัคซีนไฟเซอร์ 4,659 รายงานและวัคซีนโมเดอร์นา 283 รายงาน พบเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบและ/หรือกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ 242 ราย ซึ่งส่วนใหญ่มาจากยุโรป โดยมาจากการฉีดเป็นวัคซีนไฟเซอร์ 233 รายและวัคซีนโมเดอร์นา 9 ราย แยกเป็นเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบอย่างเดียว 49 ราย กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบอย่างเดียว 191 ราย และมีทั้งเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบและกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ 2 ราย ส่วนใหญ่เป็นเด็กผู้ชาย (205 ราย คิดเป็น 85%) อายุเฉลี่ย 15.8 ปี ส่วนใหญ่เกิดรุนแรง (229 ราย คิดเป็น 95%) ในจำนวนนี้ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล 191 ราย (79%) โดยมีผู้เสียชีวิตเพียง 1 ราย ผู้ที่เกิดเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบและ/หรือกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบส่วนใหญ่มีอาการเจ็บหน้าอก มีไข้ หรือหายใจลำบาก ส่วนใหญ่เริ่มเกิดใน 4 วันภายหลังฉีดเข็มแรก และ 3 วันภายหลังฉีดเข็มที่สอง เกิดกับวัคซีนทั้งสองชนิดได้ไม่แตกต่างกัน พบจากการฉีดเข็มที่สองมากกว่าฉีดเข็มแรกประมาณ 5 เท่า (ROR 4.95, 95%CI = 3.14-7.89) พบในเด็กช่วงอายุ 12-15 ปีและ 16-17 ปีได้ไม่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะได้รับเข็มแรกหรือเข็มที่สอง (ยกเว้นรายที่ไม่มีข้อมูลว่าได้รับเข็มใดซึ่งพบในเด็กช่วงอายุ 12-15 ปีได้ต่ำกว่า แต่การศึกษานี้จะพิจารณาเฉพาะที่มีข้อมูลว่าได้รับการฉีดเข็มใด) และความเสี่ยงที่จะได้รับรายงานถึงเกิดในเด็กผู้ชายสูงกว่าในเด็กผู้หญิงประมาณ 10 เท่า ไม่ว่าจะเป็นการฉีดเข็มแรกหรือเข็มที่สอง (ดูรูป)

อ้างอิงจาก:

(1) Zimmermann P, Pittet LF, Finn A, Pollard AJ, Curtis N. Should children be vaccinated against COVID-19? Arch Dis Child 2021. doi: 10.1136/archdischild-2021-323040; (2) World Health Organization. Interim statement on COVID-19 vaccination for children and adolescents, updated: November 29, 2021. https://www.who.int/news/item/24-11-2021-interim-statement-on-covid-19-vaccination-for-children-and-adolescents; (3) Foltran D, Delmas C, Flumian C, De Paoli P, Salvo F, Gautier S, et al. Myocarditis and pericarditis in adolescents after first and second doses of mRNA COVID-19 vaccines. Eur Heart J Qual Care Clin Outcomes 2021. doi: 10.1093/ehjqcco/qcab090.
 
ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้