หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Haloperidol กับการย้ำเตือนถึงความเสี่ยงที่จะเกิดกับผู้สูงอายุ เมื่อใช้ยานี้รักษาภาวะสับสนเฉียบพลัน (delirium)

ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 3 เดือน ธันวาคม ปี 2564 -- อ่านแล้ว 33,702 ครั้ง
 
Haloperidol อยู่ในกลุ่มยารักษาโรคจิต (antipsychotic drugs) นำมาใช้รักษาภาวะสับสนเฉียบพลันหรืออาการเพ้อ (delirium) ในผู้สูงอายุ ยานี้มี extrapyramidal side effects ทำให้เกิดภาวะที่กล้ามเนื้อและร่างกายมีการเคลื่อนไหวน้อย ช้า และผิดปกติ อาจทำให้ผู้ป่วยกลืนอาหารลำบากและเกิดปอดบวมจากการสำลัก ซึ่งผู้สูงอายุจะไวต่อการเกิดผลข้างเคียงดังกล่าว ยานี้ยังอาจทำให้เกิด QTc prolongation และ ventricular arrhythmias จึงห้ามใช้กับผู้ที่มี QTc prolongation, congenital long QTc syndrome และผู้ที่อยู่ระหว่างใช้ยาที่ทำให้ QTc interval ยาวขึ้นได้ นอกจากนี้ยังทำให้เกิดความดันโลหิตต่ำเมื่อเปลี่ยนอิริยาบถซึ่งเสี่ยงต่อการหกล้ม (จึงต้องระวังในผู้สูงอายุที่เสี่ยงต่อการได้รับอันตรายจนบาดเจ็บรุนแรง) ในเอกสารที่เป็นข้อมูลผลิตภัณฑ์ยังระบุถึงผลไม่พึงประสงค์เกี่ยวกับภาวะกล้ามเนื้อลายสลาย (rhabdomyolysis) และ neuroleptic malignant syndrome (แต่พบน้อย)

เมื่อเร็ว ๆ นี้ หน่วยงาน Medicines and Healthcare products Regulatory Agency (MHRA) ในสหราชอาณาจักรได้มีการทบทวนข้อมูลด้านความปลอดภัยของ haloperidol ที่ใช้รักษา delirium ในผู้สูงอายุที่เสี่ยงต่อการได้รับอันตรายจนบาดเจ็บรุนแรง โดยใช้ข้อมูลจากเอกสารวิชาการที่ตีพิมพ์และรายงานที่พบภายในประเทศ ซึ่งจำนวนรายงานเกี่ยวกับผลไม่พึงประสงค์ของ haloperidol ที่หน่วยงานดังกล่าวได้รับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1964 จนถึงวันที่ 4 กันยายน ค.ศ. 2021 มี 1,341 รายงาน (ผลไม่พึงประสงค์รวม 3,385 รายการ) โดยมี 242 รายงานที่พบในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป และส่วนใหญ่ (171 รายงาน) เกิดกับระบบประสาท ในการทบทวนครั้งนี้ไม่พบข้อมูลใหม่ที่เกี่ยวข้องด้านความปลอดภัยของยา จึงไม่มีการปรับข้อแนะนำใหม่แต่ประการใด อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาพบความหลากหลายในแนวปฏิบัติ หน่วยงานดังกล่าวจึงมีข้อย้ำเตือนไปยังบุคลากรทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับการใช้ haloperidol เพื่อรักษา delirium ในผู้สูงอายุให้เฝ้าถึงความเสี่ยงที่จะเกิดผลไม่พึงประสงค์ต่อหัวใจและระบบประสาท (เช่น extrapyramidal side effects) โดยมีสาระสำคัญดังนี้

 ระมัดระวังเป็นพิเศษเมื่อต้องใช้ haloperidol เพื่อการรักษา delirium ในผู้สูงอายุที่เสี่ยงต่อการได้รับอันตรายจนบาดเจ็บรุนแรง เช่น การหกล้ม พิการ การต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล

 พิจารณาใช้ haloperidol ในการรักษา delirium ต่อเมื่อรักษาด้วยวิธีการที่ไม่ใช้ยาแล้วไม่ได้ผล และผู้ป่วยต้องไม่มีข้อห้ามในการใช้ยานี้ ซึ่งรวมถึงไม่เป็นโรคพาร์กินสันและโรคสมองเสื่อมที่พบ Lewy bodies (dementia with Lewy bodies) ซึ่งโรคนี้จะมีอาการทางประสาทร่วมด้วย

 ก่อนเริ่มการรักษาด้วยยานี้ ควรวัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (electrocardiogram) และหากมีค่าอิเล็กโทรไลต์ที่ผิดปกติให้แก้ไขก่อน และระหว่างที่ใช้ยานี้ควรติดตามการทำงานของหัวใจและค่าอิเล็กโทรไลต์

 ให้ยาแก่ผู้ป่วยในขนาดต่ำที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ และให้ใช้เป็นเวลาสั้นที่สุดเท่าที่เป็นไปได้

 เฝ้าระวังผลไม่พึงประสงค์เกี่ยวกับ extrapyramidal effects เช่น acute dystonia, parkinsonism, tardive dyskinesia, akathisia ตลอดจนภาวะน้ำลายมากเกิน และการกลืนอาหารลำบาก

อ้างอิงจาก:

(1) Haloperidol (Haldol): reminder of risks when used in elderly patients for the acute treatment of delirium. Drug Safety Update volume 15, issue 5: December 2021: 1; (2) Zaporowska-Stachowiak I, Stachowiak-Szymczak K, Oduah MT, Sopata M. Haloperidol in palliative care: indications and risks. Biomed Pharmacother 2020. doi: 10.1016/j.biopha.2020.110772.
 
คลิปความรู้เรื่องยา

EP.2 เกลือแร่สำหรับท้องเสีย ORS (Oral Rehydration Salts)

ดูคลิปทั้งหมด

ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้