ยาต้านไซโตไคน์กับการรักษาโควิด-19
ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 3 เดือน พฤษภาคม ปี 2563 -- อ่านแล้ว 16,459 ครั้ง
ไซโตไคน์ (cytokines) เป็นสารที่สร้างและหลั่งโดยเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกัน มีบทบาทเกี่ยวกับภูมิคุ้มกันและบทบาทด้านอื่นรวมถึงการเกิดการอักเสบ ซึ่งการอักเสบเป็นปฏิกิริยาทางภูมิคุ้มกันอย่างหนึ่งของร่างกายในการต่อสู้กับสิ่งแปลกปลอม ตัวอย่างไซโตไคน์ เช่น interferon-γ (IFN-γ), interleukin-1 (IL-1), interleukin-6 (IL-6), tumor necrosis factor-alpha (TNF-α) แม้ว่าไซโตไคน์เหล่านี้จะมีบทบาทในการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันตามปกติ แต่ถ้ามีปฏิกิริยาตอบสนองที่รุนแรงโดยการหลั่งไซโตไคน์หลายชนิดทันทีพร้อมกันในปริมาณมากสู่กระแสเลือด (hypercytokinemia) จะทำให้เกิด “พายุไซโตไคน์ (cytokine storm)” และเป็นอันตรายได้
ผู้ป่วยโควิด-19 (COVID-19) มีอาการที่สำคัญคือ มีไข้ ไอ และหายใจลำบาก หากเป็นไม่รุนแรงภายหลังได้รับการรักษาแบบประคับประคองอาการตามวิธีการรักษาที่เป็นมาตรฐานจะดีขึ้นและสามารถกลับบ้านได้ ส่วนผู้ที่มีอาการปานกลางโดยเฉพาะผู้สูงอายุหรือมีโรคอื่นอยู่แล้วหรือเริ่มเกิดโรคแทรกซ้อน หลังพ้นสัปดาห์แรกไปแล้วอาจมีอาการรุนแรงขึ้น ประมาณว่ามีผู้ป่วยราว 5% ที่เข้าสู่ขั้นวิกฤติ ซึ่งนอกจากพบเชื้อในปอดแล้วอาจพบที่อื่น เช่น หัวใจและหลอดเลือด ไต ทางเดินอาหาร สมอง ผู้ป่วยเกิดกลุ่มอาการหายใจลำบากเฉียบพลัน (acute respiratory distress syndrome) การทำงานของหัวใจล้มเหลว ภาวะช็อกจากการติดเชื้อ การแข็งตัวของเลือดผิดปกติ เกิดจับก้อนง่ายและอุดหลอดเลือดที่อวัยวะต่าง ๆ ทำให้อวัยวะหลายอย่างทำงานล้มเหลว และอาจมีอาการทางระบบประสาทส่วนกลาง เช่น อาการชัก ในรายที่มีอาการรุนแรงพบว่าระดับไซโตไคน์หลายชนิดในกระแสเลือดสูงผิดปกติ ซึ่งแสดงถึงการเกิดพายุไซโตไคน์ ไซโตไคน์ที่พบมีทั้งชนิดก่อการอักเสบและชนิดต้านการอักเสบ สำหรับชนิดที่ก่อการอักเสบมีหลายชนิด รวมถึง IL-1, IL-6 และ TNF-α ซึ่งไซโตไคน์เหล่านี้พบได้ในโรคภูมิต้านตนเอง เช่น โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ ในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 ได้นำยาต้านไซโตไคน์บางชนิด รวมถึงยาที่ใช้รักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ มาทดลองใช้รักษาเพื่อเป็นการช่วยชีวิตตามความจำเป็น (compassionate use) อย่างไรก็ตามผลการรักษายังไม่ชัดเจน ยาบางชนิดดูเหมือนให้ผลดี แต่บางชนิดทำให้ผู้ป่วยบางรายมีอาการแย่ลง นอกจากนี้พายุไซโตไคน์ที่เกิดขึ้นมีการหลั่งไซโตไคน์ออกมาหลายชนิดและรูปแบบการหลั่งในผู้ป่วยแต่ละรายอาจแตกต่างกัน การใช้ยาต้านไซโตไคน์ที่ออกฤทธิ์เจาะจงต่อไซโตไคน์ชนิดใดชนิดหนึ่งจึงอาจให้ผลดีเฉพาะกับบางราย ขณะนี้หลายหน่วยงานกำลังเร่งทำการศึกษายาต้านไซโตไคน์ทั้งชนิดที่ใช้กันอยู่แล้วในการรักษาโรคอื่นและยาใหม่ที่ยังไม่เคยวางจำหน่ายมาก่อน ตัวอย่างยาที่มีใช้อยู่แล้ว เช่น anakinra (IL-1 receptor antagonist), siltuximab (chimeric IL-6 monoclonal antibody), tocilizumab (humanized IL-6 receptor monoclonal antibody), sarilumab (human IL-6 receptor monoclonal antibody), ruxolitinib (Janus kinase inhibitor ชนิด JAK1/JAK2 inhibitor), barcitinib (JAK1/JAK2 inhibitor), tofacitinib (JAK1/JAK3 inhibitor), adalimumab (human TNF-α monoclonal antibody) ซึ่งส่วนใหญ่เริ่มทำการศึกษาช่วงเดือนเมษายน 2563 (เป็นช่วงที่สามารถหาผู้ป่วยเข้าร่วมโครงการได้มาก) ซึ่งคาดว่าจะเริ่มประเมินผลเบื้องต้นได้ในเดือนมิถุนายน 2563 เป็นต้นไป
อ้างอิงจาก:
(1) Lythgoe MP, Middleton P. Ongoing clinical trials for the management of the COVID-19 pandemic. Trends Pharmacol Sci 2020. doi:10.1016/j.tips.2020.03.006; (2) Treatment of COVID-19 patients with anti-interleukin drugs (COV-AID). https://clinicaltrials.gov/ct2/show/NCT04330638; (3) TOFAcitinib in SARS-CoV2 pneumonia. https://clinicaltrials.gov/ct2/show/NCT04332042; (4) Mountfort K. Treatments for COVID-19 – an update on current clinical trials. https://www.touchophthalmology.com/insight/treatments-for-covid-19-an-update-on-current-clinical-trials/