หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Kinase inhibitors ชนิดใหม่ (pemigatinib, selumetinib และ tucatinib) สำหรับรักษาเนื้องอกและโรคมะเร็ง

ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 2 เดือน พฤษภาคม ปี 2563 -- อ่านแล้ว 4,472 ครั้ง
 
ช่วงเวลาไม่นานมานี้มียาในกลุ่ม kinase inhibitors ออกวางจำหน่ายหลายชนิด เพื่อใช้รักษาเนื้องอกและโรคมะเร็ง เช่น pemigatinib, selumetinib, tucatinib

Pemigatinib ออกฤทธิ์ยับยั้ง tyrosine kinase ที่ fibroblast growth factor receptor (FGFR) 1, 2 และ 3 ทำให้ไม่เกิด phosphorylation และ signaling ส่งผลให้เซลล์มะเร็งตาย ยานี้ได้รับอนุมัติแบบเร่งด่วนในบางประเทศสำหรับรักษาโรคมะเร็งท่อน้ำดี (cholangiocarcinoma) ชนิดที่พบ FGFR2 fusion หรือเกิด rearrangement แบบอื่น ซึ่งโรคอยู่ในระยะลุกลามหรือแพร่กระจายและเคยได้รับการรักษาอย่างอื่นมาแล้ว โดยใช้กับผู้ใหญ่ ผลิตเป็นยาเม็ดขนาด 4.5, 9 และ 13.5 มิลลิกรัม รับประทานครั้งละ 13.5 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง พร้อมอาหารหรือไม่ก็ได้ ติดต่อกัน 14 วัน แล้วหยุด 7 วัน ก่อนเริ่มรับประทานรอบใหม่ (รอบละ 21 วัน) ให้ยาจนกว่าโรคจะลุกลาม (ยาใช้ไม่ได้ผล) หรือทนต่ออาการพิษของยาไม่ได้ ผลไม่พึงประสงค์ที่พบได้บ่อยที่สุด (≥20%) ได้แก่ ภาวะฟอสเฟตในเลือดสูงหรือต่ำ คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร การรับรสผิดปกติ เยื่อบุช่องปากอักเสบ ปวดท้อง ท้องเดินหรือท้องผูก เล็บผิดปกติ อ่อนล้า ปากแห้ง ตาแห้ง ปวดข้อ ปวดหลัง ผมร่วง และผิวแห้ง

Selumetinib ออกฤทธิ์ยับยั้ง mitogen-activated protein kinase kinase 1 และ 2 (MEK1/2) ซึ่ง MEK1/2 มีบทบาทร่วมกับโปรตีนชนิดอื่นในการกระตุ้นการเจริญของเซลล์และการเกิดโรคมะเร็งหลายชนิด ยานี้ได้รับอนุมัติแล้วในบางประเทศสำหรับรักษา neurofibromatosis type 1 (NF1 หรือ von Recklinghausen syndrome) ในเด็กอายุตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป ซึ่ง NF1 เป็นความผิดปกติทางพันธุกรรมที่มีการกลายพันธุ์ของยีน NF1 (neurofibromin 1 gene) ยีนนี้สร้างโปรตีน neurofibromin ซึ่งควบคุมการเจริญของเซลล์และยับยั้งการเจริญเติบโตที่ผิดปกติ (ทำหน้าที่เป็น tumor suppressor protein) พบในเซลล์หลายชนิดรวมทั้งเซลล์ประสาท การกลายพันธุ์ของยีนดังกล่าวทำให้เกิดความผิดปกติหลายอย่าง เช่น ความบกพร่องในการเรียนรู้ ความบกพร่องในการมองเห็น การเจริญของกระดูกผิดปกติ เกิดก้อนนูนตามผิวหนัง (โรคท้าวแสนปม) โรคความดันโลหิตสูง โรคลมชัก ผลิตเป็นยาแคปซูลขนาด 10 และ 25 มิลลิกรัม รับประทานครั้งละ 25 มิลลิกรัม/ตารางเมตรผิวกาย วันละ 2 ครั้ง ขณะท้องว่าง ผลไม่พึงประสงค์ที่พบได้บ่อยที่สุด (≥40%) ได้แก่ ผื่นขึ้น คัน คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเดิน เยื่อบุช่องปากอักเสบ ผิวแห้ง อ่อนล้า ปวดกล้ามเนื้อและกระดูก มีไข้ ปวดศีรษะ และการติดเชื้อที่ผิวหนังรอบเล็บ

Tucatinib ออกฤทธิ์ยับยั้ง tyrosine kinase ที่ human epidermal growth factor receptor 2 (HER2) ทำให้ไม่เกิด phosphorylation และ signaling ส่งผลให้เซลล์มะเร็งตาย ยานี้ได้รับอนุมัติแล้วในบางประเทศสำหรับรักษาโรคมะเร็งเต้านมชนิดที่พบ HER2 ซึ่งโรคอยู่ในระยะลุกลามหรือแพร่กระจาย รวมถึงแพร่กระจายไปสมอง และผ่านการรักษาด้วยยาอื่นที่ออกฤทธิ์ต่อ HER2 มาแล้วอย่างน้อย 1 ชนิด โดยใช้ tucatinib ร่วมกับ trastuzumab และ capecitabine ยานี้ใช้กับผู้ใหญ่ ผลิตเป็นยาเม็ดขนาด 50 และ 150 มิลลิกรัม รับประทานครั้งละ 300 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง พร้อมอาหารหรือไม่ก็ได้ ผลไม่พึงประสงค์ที่พบได้บ่อยที่สุด (≥20%) ได้แก่ คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ปวดท้อง เยื่อบุช่องปากอักเสบ ท้องเดิน อ่อนล้า เป็นพิษต่อตับ เกิด hand-foot syndrome (palmar-plantar erythrodysesthesia) ปวดศีรษะ โรคโลหิตจาง และผื่นขึ้น

อ้างอิงจาก:

(1) Pemazyre (pemigatinib) tablets. Highlights of prescribing information. Reference ID: 4591160, revised: 04/2020. https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2020/213736s000lbl.pdf; (2) Koselugo (selumetinib) capsules. Highlights of prescribing information. Reference ID: 4590043, revised: 04/2020. https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2020/213756s000lbl.pdf; (3) Tukysa (tucatinib) tablets. Highlights of prescribing information. Reference ID: 4593756, revised: 04/2020. https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2020/213411s000lbl.pdf; (4) Novel drug approvals for 2020. https://www.fda.gov/drugs/new-drugs-fda-cders-new-molecular-entities-and-new-therapeutic-biological-products/novel-drug-approvals-2020.
 
คลิปความรู้เรื่องยา

EP.2 เกลือแร่สำหรับท้องเสีย ORS (Oral Rehydration Salts)

ดูคลิปทั้งหมด

ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้