หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Statins…ควรให้กับผู้ป่วยโรคเบาหวานทุกรายโดยไม่ต้องคำนึงถึงระดับ cholesterol หรือไม่?

ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 4 เดือน กันยายน ปี 2562 -- อ่านแล้ว 8,647 ครั้ง
 

Statins เป็นยาที่เลือกใช้ในการรักษาภาวะไขมันในเลือดผิดปกติ (dyslipidemia) เพื่อป้องกันโรคหัวใจเหตุจากหลอดเลือดแดงแข็ง (atherosclerotic cardiovascular disease หรือ ASCVD) โดยเฉพาะผู้ที่มีระดับ low-density lipoprotein cholesterol (LDL-C) ≥190 มก./ดล. ภาวะไขมันในเลือดผิดปกติเป็นภาวะที่ในซีรัมมีการเพิ่มสูงขึ้นของ total cholesterol หรือ lipoproteins ชนิด LDL, very low-density lipoprotein (VLDL ซึ่งเป็นตัวพา triglycerides) และ high-density lipoprotein (HDL) การที่มี LDL-C สูง (มีผลเด่นกว่า) ร่วมกับ VLDL สูงจะเพิ่มความเสี่ยงต่อ ASCVD ความเสี่ยงนี้นอกจากขึ้นกับภาวะไขมันในเลือดสูง (LDL-C >100 มก./ดล. หรือ 2.6 มิลลิโมล/ลิตร) แล้ว ยังขึ้นกับปัจจัยอื่น เช่น ความดันโลหิตสูง การสูบบุหรี่ โรคไตเรื้อรัง ภาวะมีอัลบูมินในปัสสาวะ (albuminuria) ประวัติครอบครัวที่เป็น ASCVD ก่อนเวลาอันสมควร

เป็นที่ทราบกันว่าผู้ป่วยโรคเบาหวานมีความเสี่ยงต่อภาวะไขมันในเลือดผิดปกติและนำไปสู่ ASCVD ได้ ที่ผ่านมามีข้อมูลว่า statins ช่วยลดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่เกิดกับหัวใจและหลอดเลือดในผู้ป่วยโรคเบาหวาน ทั้งการเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดโคโรนารีและภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดที่ไม่อันตรายถึงชีวิต อย่างไรก็ตาม statins ไม่ได้ให้ประโยชน์แก่ผู้ป่วยโรคเบาหวานทุกราย ข้อมูลที่ได้จากการศึกษาที่ผ่านมาเกี่ยวกับการให้ statins กับผู้ป่วยโรคเบาหวาน ทำให้บางหน่วยงาน เช่น American College of Cardiology (ACC), American Heart Association (AHA) และ American Diabetic Association (ADA) ได้มีการแนะนำให้ใช้ statins กับผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มีอายุ 40-75 ปี (เป็นอายุผู้ป่วยที่เข้าร่วมในการศึกษาและมีจำนวนมากพอที่จะประเมินผล) เมื่อมี LDL-C >70 มก./ดล. หรือมี 10-year risk of ASCVD score (ดูหมายเหตุข้างล่าง) ≥7.5% แม้จะมีค่า LDL-C <70 มก./ดล. (ดูตาราง) นอกจากนี้บางหน่วยงาน เช่น American Association of Clinical Endocrinologist (AACE) แนะนำการใช้ยาแรงขึ้น โดยให้ statins ขนาดสูงแม้ว่ามี LDL-C <70 มก./ดล. หากว่าผู้ป่วยนั้นมีปัจจัยเสี่ยงสูงอย่างอื่นร่วมด้วย เช่น มีอาการแสดงของโรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นโรคไตเรื้อรังระยะที่ 3-4 มีประวัติครอบครัวที่เป็น ASCVD ก่อนเวลาอันสมควร (ผู้ชายอายุ <55 ปี ส่วนผู้หญิงอายุน้อยกว่า <65 ปี) ซึ่งเป้าหมายของ AACE ในผู้ป่วยดังกล่าว คือต้องการให้มีระดับ LDL-C <55 มก./ดล., non-HDL <80 มก./ดล. และ apoB <70 มก./ดล.

โดยสรุป ไม่ใช่ผู้ป่วยโรคเบาหวานทุกรายจะได้รับประโยชน์จากการใช้ยาในกลุ่ม statins เพื่อป้องกัน ASCVD แต่ยาในกลุ่มดังกล่าวมีประโยชน์และควรให้กับผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มีอายุ 40-75 ปี และมี LDL-C >70 มก./ดล. หรือมี ASCVD risk score ≥7.5% ตลอดจนผู้ที่มี LDL-C <70 มก./ดล. หากว่าผู้ป่วยนั้นมีปัจจัยเสี่ยงสูงอย่างอื่นร่วมด้วยตามที่กล่าวข้างต้น

หมายเหตุ: ในการคำนวน “10-year risk of ASCVD” (สามารถดูได้ที่ http://www.cvriskcalculator.com/ หรือจากเว็บไชต์อื่น) ข้อมูลที่ใช้ในการคำนวณ ได้แก่ อายุ, เผ่าพันธุ์, เพศ, โรคเบาหวาน, total cholesterol, HDL-C, ความดันโลหิต ทั้งขณะหัวใจบีบตัวและคลายตัว, การรักษาโรคความดันโลหิตสูง และการสูบบุหรี่ ระดับความเสี่ยงต่อ ASCVD ขึ้นกับค่าเปอร์เซ็นต์ที่คำนวณได้ซึ่งแบ่งออกเป็น ความเสี่ยงต่ำ (<5%), ความเสี่ยงก้ำกึ่ง (5% ถึง <7.5%), ความเสี่ยงปานกลาง (7.5% ถึง <20%) และความเสี่ยงสูง (≥20%) การคำนวณแบบนี้มีข้อจำกัดบางอย่าง เช่น ไม่มีการนำระยะเวลาที่เป็นโรค ความรุนแรงของโรค ตลอดจนภาวะแทรกซ้อนมาใช้ ในกรณีโรคเบาหวานหากมีภาวะแทรกซ้อน เช่น ภาวะมีอัลบูมินในปัสสาวะ จะเพิ่มความเสี่ยงต่อ ASCVD ได้ อย่างไรก็ตามแม้มีข้อจำกัดเหล่านี้ วิธีคำนวณดังกล่าวก็เป็นที่นิยมใช้หาความเสี่ยงต่อ ASCVD ในผู้ป่วยโรคเบาหวาน

อ้างอิงจาก:

(1) Khalil S, Khayyat S, Al-Khadra Y, Alraies MC. Should all diabetic patients take statin therapy regardless of serum cholesterol level? Expert Rev Cardiovasc Ther 2019;17:237-9; (2) Lazarte J, Hegele RA. Dyslipidemia management in adults with diabetes. Can J Diabetes 2019. doi: 10.1016/j.jcjd.2019.07.003; (3) American Diabetes Association. 9. Cardiovascular disease and risk management: standards of medical care in diabetes-2018. Diabetes Care 2018;41(suppl 1):S86-104.

คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
statins ภาวะไขมันในเลือดสูง ภาวะไขมันในเลือดผิดปกติ dyslipidemia โรคหัวใจเหตุจากหลอดเลือดแดงแข็ง atherosclerotic cardiovascular disease ASCVD low-density lipoprotein cholesterol LDL-C total cholesterol lipoproteins LDL very low-density li
 
ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้