Lefamulin (systemic pleuromutilin ชนิดแรก) สำหรับรักษาโรคปอดอักเสบชนิด community-acquired pneumonia
ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 2 เดือน กันยายน ปี 2562 -- อ่านแล้ว 4,182 ครั้ง
Pleuromutilins เป็นกลุ่มยาปฏิชีวนะที่ได้จากเห็ดรา (fungi) ยาในกลุ่มนี้มีโครงสร้างต่างจากยาปฏิชีวนะกลุ่มอื่น ๆ การดื้อยาของแบคทีเรียที่มีต่อยาอื่นคาดว่าจะส่งผลกระทบน้อยต่อยาในกลุ่มนี้ เริ่มนำยาในกลุ่มนี้มาใช้กับคนเป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 2007 ได้แก่ retapamulin โดยผลิตในรูปยาขี้ผึ้งความแรง 1% สำหรับใช้ภายนอกเพื่อรักษาโรคติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนัง (ดูข้อมูลเพิ่มเติม เรื่อง “Pleuromutilins…ยาปฏิชีวนะกลุ่มล่าสุดกับบทบาทในการรักษาโรคติดเชื้อแบคทีเรียในคน” ได้ที่ https://pharmacy.mahidol.ac.th/dic/news_week_full.php?id=1528) เมื่อเร็ว ๆ นี้มียาชนิดใหม่คือ lefamulin ออกวางจำหน่ายแล้วในบางประเทศ โดยผลิตในรูปยาเม็ดขนาด 600 มิลลิกรัมสำหรับรับประทาน และยาน้ำใสสำหรับฉีดเข้าหลอดเลือดดำ ความแรง 150 มิลลิกรัมใน 0.9% sodium chloride ปริมาตร 15 มิลลิลิตร สำหรับใช้กับผู้ใหญ่ในข้อบ่งใช้เพื่อรักษาโรคปอดอักเสบชนิด community-acquired pneumonia ที่เกิดจากแบคทีเรียที่ไวต่อยา ได้แก่ Streptococcus pneumoniae, Staphylococcus aureus (ชนิดที่ไวต่อ methicillin), Haemophilus influenzae, Legionella pneumophila, Mycoplasma pneumoniae และ Chlamydophila pneumoniae (หรือ Chlamydia pneumoniae) ก่อนใช้ยานี้ควรผ่านการทดสอบความไวของเชื้อต่อยามาแล้ว เพื่อลดปัญหาเรื่องเชื้อดื้อยา ขนาดยาที่แนะนำในกรณียาเม็ดให้รับประทานครั้งละ 600 มิลลิกรัม ทุก 12 ชั่วโมง เป็นเวลา 5 วัน และในกรณียาฉีดให้นำไปเจือจางก่อนหยดเข้าหลอดเลือดดำในขนาด 150 มิลลิกรัม ทุก 12 ชั่วโมง ใช้เวลาหยดยาแต่ละครั้งนาน 60 นาที ให้ยาเป็นเวลา 5-7 วัน โดยสามารถเปลี่ยนเป็นชนิดรับประทานได้จนครบระยะเวลาตามที่แนะนำ
การที่ lefamulin ได้รับอนุมัติในข้อบ่งใช้ข้างต้นเนื่องจากมีการศึกษาทางคลินิกระยะที่ 3 มาสนับสนุนจำนวน 2 การศึกษา ที่เป็น multicenter, multinational, double-blind, double-dummy, non-inferiority trials ในผู้ป่วย community-acquired pneumonia ในการศึกษาที่ 1 ให้ lefamulin ชนิดฉีด (ผู้ป่วย 276 คน) ในขนาด 150 มิลลิกรัม ทุก 12 ชั่วโมง ใช้เวลาหยดยาแต่ละครั้งนาน 60 นาที และภายหลังได้รับยาฉีดไปแล้วไม่น้อยกว่า 3 วัน สามารถเปลี่ยนเป็นยาชนิดรับประทานได้ ขนาดยา 600 มิลลิกรัม ทุก 12 ชั่วโมง รวมให้ยานาน 5-10 วัน เปรียบเทียบกับการให้ moxifloxacin ชนิดฉีด (ผู้ป่วย 275 คน) ในขนาด 400 มิลลิกรัม ทุก 24 ชั่วโมง และภายหลังได้รับยาฉีดไปแล้วไม่น้อยกว่า 3 วัน สามารถเปลี่ยนเป็นชนิดรับประทานได้ ขนาดยา 400 มิลลิกรัม ทุก 24 ชั่วโมง รวมให้ยานาน 7-10 วัน ผู้ป่วยรายที่สงสัยว่าติดเชื้อ Staphylococcus aureus ชนิดที่ดื้อต่อ methicillin หากอยู่ในกลุ่ม moxifloxacin จะได้รับ linezolid ร่วมด้วย แต่ถ้าอยู่ในกลุ่ม lefamulin จะได้รับยาหลอกแทนการให้ linezolid ส่วนการศึกษาที่ 2 ให้ lefamulin ชนิดรับประทาน (ผู้ป่วย 370 คน) ในขนาด 600 มิลลิกรัม ทุก 12 ชั่วโมง เป็นเวลา 5 วัน เปรียบเทียบกับการใช้ moxifloxacin ชนิดรับประทาน (ผู้ป่วย 368 คน) ในขนาด 400 มิลลิกรัม ทุก 24 ชั่วโมง เป็นเวลา 7 วัน ผลที่ได้จากการศึกษาที่ 1 พบว่าประสิทธิภาพของ lefamulin ชนิดฉีดตามด้วยชนิดรับประทานมีพอ ๆ กับ moxifloxacin ชนิดฉีดตามด้วยชนิดรับประทาน (ที่ให้ร่วมหรือไม่ร่วมกับ linezolid) ส่วนผลที่ได้จากการศึกษาที่ 2 พบว่าประสิทธิภาพของ lefamulin ชนิดรับประทาน มีพอ ๆ กับ moxifloxacin ชนิดรับประทาน แต่ระยะเวลาที่ใช้ lefamulin (5 วัน) สั้นกว่า moxifloxacin (7 วัน) ส่วนอาการไม่พึงประสงค์ กรณียาเม็ดอาจพบ ท้องเดิน คลื่นไส้ อาเจียน และเอนไซม์จากตับเพิ่มขึ้น ส่วนกรณียาฉีดอาจพบ ปฏิกิริยาตรงตำแหน่งที่ฉีด เอนไซม์จากตับเพิ่มขึ้น คลื่นไส้ ภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำ นอนไม่หลับ และปวดศีรษะ
อ้างอิงจาก:
(1) Xenleta (lefamulin, injection; tablets). Highlights of prescribing information. Reference ID: 4479298, revised: 08/2012. https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2019/211672s000,211673s000lbl.pdf; (2) File TM Jr, Goldberg L, Das A, Sweeney C, Saviski J, Gelone SP, et al. Efficacy and safety of IV-to-oral lefamulin, a pleuromutilin antibiotic, for treatment of community-acquired bacterial pneumonia: the phase 3 LEAP 1 trial. Clin Infect Dis 2019. doi: 10.1093/cid/ciz090; (3) Dillon C, Guarascio AJ, Covvey JR. Lefamulin: a promising new pleuromutilin antibiotic in the pipeline. Expert Rev Anti Infect Ther 2019;17:5-15.
คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
pleuromutilins
ยาปฏิชีวนะ
Pleurotus mutilus
Clitophilus scyphoides
Pleurotus passeckerianus
Clitopilus passeckerianus
แบคทีเรียแกรมบวก
peptidyl transferase center
tiamulin
thiamutilin
valnemulin
retapamulin
Staphylococcus aureus
methicil